การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2110 ทฤษฎีและจริยธรรมการเมืองตะวันออก

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยมีทั้งหมด 2 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายความแตกต่างระหว่างลัทธิและนิกายดังต่อไปนี้

1.1 นิกายสุหนี่กับนิกายชีอะฮ์

แนวคําตอบ

นิกายสุหนี่ เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมที่เคร่งครัดเป็นอย่างมากในคําสอนตามพระคัมภีร์อัลกุรอาน ซุนนะฮ์ คัมภีร์มิสคาต จารีต) ที่นับถือกันมาแต่เดิม โดยถือว่าผู้ที่สืบทอดตําแหน่งประมุขทางศาสนาและการปกครอง แทนพระนบีมุฮัมหมัด ซึ่งเรียกว่า คอลีฟะฮ์หรือกาหลิบ

นิกายสุหนี่ เห็นว่าศาสนาอิสลามมีฐานะ 2 อย่าง คือ เป็นศาสนาที่พระอัลลอฮ์ทรงประทานให้ และเป็นการเมืองกับกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฏเกณฑ์และเจตนารมณ์ในเรื่องผลประโยชน์สาธารณะของชุมชน โดยส่วนรวม ผู้ที่นับถือนิกายนี้จะสวมหมวกสีขาวเป็นสัญลักษณ์ นับถือกันมากในประเทศตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกา

นิกายชิอะฮ์ เป็นกลุ่มที่ไม่ยอมรับความเป็นคอลีฟะฮ์ของอาบูบัคร์ โอมาร์ และโอธมาน โดยเห็นว่าผู้ที่สมควรได้รับตําแหน่งประมุขต่อจากพระนบีมุฮัมหมัด คือ อาลี เพราะได้รับการแต่งตั้งจากพระนบีมุฮัมหมัด หลังจากไปแสวงบุญที่เมืองเมกกะครั้งสุดท้าย อาลีจึงเป็นอิหม่ามคนแรก ซึ่งอิหม่ามก็คือผู้นําในการสวดของชาวมุสลิม มีบทบาทเป็นผู้นําทางจิตวิญญาณ และเป็นผู้แทนของพระอัลลอฮ์ จึงปลอดจากบาป

นิกายชีอะฮ์ เห็นว่าภาวะผู้นําทางการเมืองของชุมชนมุสลิมเป็นหน้าที่พื้นฐานทางศาสนา ความชอบธรรมทางการเมืองมาจากความชอบธรรมทางศาสนา ซึ่งมาจากพระอัลลอฮ์และสื่อผ่านทางศาสดาพยากรณ์ อํานาจทางการเมืองมาจากภาวะผู้นําทางจิตวิญญาณ คอลีฟะฮ์เป็นเพียงผู้ปกครอง แต่อิหม่ามจะเป็นผู้นํา

ผู้ที่นับถือนิกายนี้จะสวมหมวกสีแดงเป็นสัญลักษณ์ นับถือกันมากในประเทศอิหร่าน อิรัก อัฟกานิสถาน ซีเรีย และอินเดีย นิกายชีอะฮ์นี้ได้แตกแยกออกไปอีกหลายนิกายที่สําคัญคือ นิกายเจ้าเซนหรือมะหงุ่น

1.2 ลัทธิเซียวคังกับพ่อปกครองลูก

แนวคําตอบ

ลัทธิเซียวคัง เป็นแนวคิดที่มีความเป็นไปได้ในปัจจุบัน โดยเสนอว่าถ้ายังไม่สามารถสร้างรัฐบาลโลกได้ ก็ให้มีรัฐบาลของแต่ละชาติ แต่ละประเทศ แต่ละรัฐไปพลาง ๆ ก่อน จุดสําคัญก็คือกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต้องทําหน้าที่ดุจพ่อเมืองอย่างแท้จริง และปกครองแบบพ่อปกครองลูก รัฐบาลต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต สามารถทําให้เกิดความสงบสุขในแต่ละแว่นแคว้นได้ ซึ่งสันติสุขที่เกิดขึ้นนี้จะอยู่ในวงแคบเฉพาะชาติเฉพาะรัฐ เรียกว่า “จุลสันติสุข” (เซ็งเพ้ง)

 

1.3 ลัทธิป้าเจ่งกับลัทธิยิ้นเจ่ง

แนวคําตอบ

เม่งจื้อ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1 การปกครองแบบเดชานุภาพ (ป้าเจ่ง) คือ การใช้อิทธิพลทางทหารและกําลังในการปกครอง ซึ่งการปกครองแบบนี้จะทําให้เกิดการเสียเลือดเนื้ออันเนื่องมาจากการรบพุ่งแย่งชิงอํานาจ

2 การปกครองแบบธรรมานุภาพ (ยิ้นเจ่ง) คือ การใช้คุณธรรมและความเมตตากรุณา ในการปกครอง เพราะสามารถทําให้บรรลุความสําเร็จได้ดีกว่า แม้จะมีเขตแดนเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองที่ดูแลประชาชนเป็นอย่างดีเท่านั้น จึงจะได้รับการสนับสนุนและความจงรักภักดีจากประชาชน พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อผู้ปกครองของตนในสงครามได้

1.4 ลัทธิบัคจื้อกับลัทธิชินโต

แนวคําตอบ

ลัทธิบัคจื้อ เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์อยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้าและผีสางเทวดา พระเจ้าเป็นผู้ให้รางวัลแก่ผู้ทําดีและลงโทษผู้ทําชั่ว ผู้ทําดีเป็นผู้ที่ทําตามเจตนารมณ์ของพระเจ้า คือแผ่ความรักให้แก่คนอื่นและกระทําการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ผู้ทําชั่วเป็นผู้ที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระเจ้า คือไม่รักคนอื่นและทําลายหักล้างประโยชน์ของกันและกัน การทําตามเจตนารมณ์ของพระเจ้าดังกล่าวเรียกว่า “เทียนจี่”

ลัทธิบัคจื้อ เห็นว่าคนเรามิอาจมีความสุขอยู่ได้คนเดียวในขณะที่สังคมพังพินาศ เพราะคนเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม บัคจื้อเรียกหลักการนี้ว่า “หลักแผ่ความรักร่วมกันและมีผลประโยชน์สัมพันธ์กัน” (เกียมเชียงไอ่เกาเชียงหลี) หลักการดังกล่าวนี้จะส่งเสริมให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ลดความขัดแย้งทางสังคม และก่อให้เกิดความร่วมมือกันในการทํางานต่าง ๆ มากขึ้น

ลัทธิชินโต สอนให้เชื่อฟังคําสอนของเทพเจ้าทั้งหลาย และทําหน้าที่ของตนให้บริบูรณ์ด้วย ความซื่อสัตย์ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของวิญญาณบรรพบุรุษ ผู้นับถือศาสนาชินโตจึงต้องประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา บูชาเทพเจ้า และวิญญาณบรรพบุรุษ ส่วนเรื่องจริยธรรมที่สอนไว้ ได้แก่ ให้พูดความจริง ให้เว้นจากความตะกละตะกลามและความละโมบโลภมาก ไม่ให้ทําร้ายผู้อื่น ให้กล้าหาญ ให้เว้นจากความโกรธเคือง ให้เว้นจากกิริยาท่าทางที่แสดงความโกรธเคือง อย่าเป็นคนริษยา เป็นต้น

ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าจักรพรรดิของตน ซึ่งเรียกว่า “มิกาโด” หรือ “เทนโน” เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากสุริยเทพหรือพระอาทิตย์โดยไม่ขาดสาย พระจักรพรรดิเป็นผู้ที่ทรงอวตารมาจากพระอาทิตย์ พระราชอํานาจของพระจักรพรรดิเป็นพระราชอํานาจที่ได้รับมอบหมายมาจากพระอาทิตย์ ชาวญี่ปุ่นถือว่าพระจักรพรรดิเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ และถือว่าคนญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด คือเป็นลูกพระอาทิตย์ ซึ่งความเคารพพระจักรพรรดิดังกล่าวเรียกว่า “ลัทธิมิกาโด” (Mikadoism)

ความที่ว่าพระจักรพรรดิมาจากสุริยเทพนี้เอง ทําให้การเมืองกับศาสนาแยกจากกันไม่ออก ดังนั้นระบบการปกครองของญี่ปุ่นจึงเป็นระบบที่เรียกว่า “ไซเซอิ-อิทชิ” ซึ่งแปลว่า “การรวมกันแห่งศาสนาและการปกครอง” โดยมีพระจักรพรรดิหรือเทนโนเป็นศูนย์รวม เป็นสัญลักษณ์ของชาติและความสามัคคีของประชาชน

1.5 กลุ่มที่ 3 กับลัทธิเต๋า

แนวคําตอบ

แนวความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมการเมืองในลัทธิปรัชญาจีน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 เป็นพวกที่พยายามฟื้นฟูลัทธิธรรมเนียมการปกครองแบบเก่าให้รุ่งโรจน์ เรียกว่า พวกอนุรักษนิยม ได้แก่ ขงจื้อ เม่งจื้อ

กลุ่มที่ 2 เป็นพวกที่ไม่เห็นด้วยกับลัทธิธรรมเนียมการปกครองแบบเก่า ต้องการที่จะปรับปรุง ให้เหมาะสมกับกาลสมัย ได้แก่ บัคจื้อ

กลุ่มที่ 3 เป็นพวกที่ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับสังคมมากเกินไป เพราะจะทําให้ยุ่งไม่รู้จักจบ เห็นว่าควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ได้แก่ เหลาจื้อ

ลัทธิเต๋า (เหลาจื้อ) มีหลักการสําคัญดังนี้

1 มีแนวคิดทางการเมืองการปกครองแบบเสรีนิยมและธรรมชาตินิยม โดยเชื่อว่า กฎ ธรรมชาติเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ดีกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น

2 รัฐบาลชอบใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทดลองนโยบายใหม่ ๆ ที่ตนเชื่อว่าจะได้ผลดี กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองนํามาใช้ไม่ได้ช่วยประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นการปล่อยให้เป็นไปตาม ธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า ไม่จําเป็นต้องมาสร้างกฎเกณฑ์กฎหมายต่าง ๆ

3 ความเฉลียวฉลาดและสติปัญญาของมนุษย์เป็นภัยต่อสังคม เพราะมนุษย์ที่ยังไม่เข้าถึงเต่ชอบใช้ความเฉลียวฉลาดของตนไปในทางกอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเอง ทุจริต และเบียดเบียนผู้อื่น

4 ไม่จําเป็นต้องมีโรงเรียน เพราะถ้ามนุษย์เรียนรู้กว้างขวางมาก ก็ยากที่จะห้ามคนเหล่านี้ ให้ใช้สติปัญญาผลิตสิ่งแปลกใหม่หรือต่อสู้แข่งขันกันได้ โดยคนฉลาดนั้นย่อมรู้วิธีเลี่ยงกฎหมาย รัฐบาลก็ต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมไม่มีที่สิ้นสุด และรัฐบาลก็อาจทําผิดกฎหมายเสียเอง

5 การปกครองควรทําให้เป็นรัฐเล็ก ๆ มีพลเมืองน้อย ๆ เพื่อให้ปกครองง่าย เพราะการ มีคนมากเรื่องก็ยุ่งมาก มีคนน้อยเรื่องก็ยังน้อย

6 นักปกครองที่ดีจะต้องปกครองแบบแม่ปกครองลูก ดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น และมีคุณธรรม

7 การปกครองที่ดีที่สุดเรียกว่า “บ้ออุ้ยยื่อตี่” คือ การปกครองโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับประชาชน มากเกินไป ให้ทุกคนมีอิสรเสรีเต็มที่

8 ควรใช้ความนุ่มนวลในการปกครองประเทศ โดยกล่าวว่า “เมื่อปกครองประเทศด้วย ความนุ่มนวล ประชาชนก็จะซื่อสัตย์และจริงใจ เมื่อปกครองประเทศด้วยความรุนแรง ประชาชนก็จะใช้เล่ห์กล และหลอกลวง

 

ข้อ 2 อธิบายแนวคิดต่อไปนี้มาโดยละเอียด

2.1 แนวคิดทัศนะศาสนาพราหมณ์ในความคิดของนักศึกษา ?

แนวคําตอบ

แนวคิดทัศนะศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู

ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเป็นศาสนาที่มีลักษณะแบบ “เทวนิยม” หรือ “พหุเทวนิยม” คือ เป็นศาสนาที่มีความเชื่อในเรื่องของการมีพระผู้เป็นเจ้า และภูตผีปีศาจ เทวดา เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุมากกว่า 4,000 ปี จึงเป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดา และไม่อาจสืบค้นหาหลักฐานได้ว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งศาสนา

พระเจ้าสูงสุดของชาวฮินดู มี 3 องค์ รวมเรียกว่า “ตรีมูรติ” คือ

1 พระพรหม ผู้สร้างทุกสิ่งในจักรวาล

2 พระวิษณุ (พระนารายณ์) ผู้รักษาทุกสิ่งในจักรวาล

3 พระอิศวร (พระศิวะ) ผู้ทําลายทุกสิ่งในจักรวาล

ตามคําสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูนั้นมีความเชื่อที่สําคัญ คือเรื่องพระพรหม โดยการอธิบายเรื่องพระพรหมนั้นมี 2 แนว คือ

1 แนวเอกเทวนิยม (Monotheism) จะเชื่อในเรื่องเทพองค์เดียว คือ พระพรหม โดย อธิบายว่า พระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด เป็นอปรพรหมหรือพระอิศวรซึ่งสร้างและทําลายโลกได้ กล่าวคือ จะมองว่า พระพรหมนั้นมีรูปร่างมีตัวมีตนเหมือนมนุษย์ แต่จะสมบูรณ์แบบกว่ามนุษย์

2 แนวเอกนิยม (Monism) หรือแนวสัมบูรณนิยม (Absolutism) จะเชื่อในความเป็นหนึ่งเดียวที่สมบูรณ์แบบที่สุด โดยอธิบายว่า พระพรหมเป็นสิ่งแท้จริงสูงสุดและเป็นหนึ่ง ถือว่าเป็นแนวที่มองว่า พระพรหมเป็นสภาวะ ๆ หนึ่ง ที่ไม่เหมือนมนุษย์ เรียกว่า ปรพรหม (The Absolute) ซึ่งมีลักษณะ 3 ประการ คือ

(1) สัต หมายถึง ความมีอยู่จริง

(2) จิต หมายถึง วิญญาณบริสุทธิ์

(3) อานันทะ หมายถึง ความสุขสูงสุด

ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ได้แบ่งสังคมอินเดียออกเป็น 4 วรรณะ คือ

1 พราหมณ์ (ชนชั้นนักบวช/ผู้ประกอบพิธี) เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องพระพรหมอันเป็นหลักการ สูงสุด โดยจะทําหน้าที่เป็นครู (Guru) คือ เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในด้านการให้ความรู้และปัญญาแก่สังคม ให้การศึกษา แก่ผู้อื่น ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเองและเพื่อผู้อื่น โดยเชื่อกันว่าพราหมณ์เกิดจากปากของพระพรหม และมีสีขาว เป็นสีประจําวรรณะ

2 กษัตริย์หรือขัตติยะหรือราชันย์ (ชนชั้นนักรบ) ซึ่งเป็นชนชั้นสูง มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของประเทศทั้งภายนอกและภายใน นอกจากนี้ยังต้องศึกษาในชั้นสูง ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเอง และทําบุญให้ทาน โดยเชื่อกันว่ากษัตริย์เกิดจากแขนของพระพรหม และมีสีแดงเป็นสีประจําวรรณะ

3 แพศย์หรือไวศยะ (ชนชั้นกสิกร/พ่อค้า) เป็นวรรณะที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้าน เศรษฐกิจของอินเดียอย่างยิ่ง คือจะมีบทบาทสําคัญในเรื่องเศรษฐกิจ มีหน้าที่สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย การประกอบอาชีพกสิกรรมและการค้าขาย โดยเชื่อกันว่าแพศย์เกิดจากตะโพกของพระพรหม และมีสีเหลือง เป็นสีประจําวรรณะ

4 ศูทร (ชนชั้นารรมกร/ทาส) เป็นผู้ทําหน้าที่ในด้านการใช้แรงงานและการให้บริการ เป็นพวกที่ทํางานเป็นคนงาน นายช่าง คนเลี้ยงวัวควาย คนไถนา ซึ่งต้องรับใช้ 3 ชนชั้นแรก เป็นชนชั้นที่ไม่มีสิทธิ เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า และไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านพระเวทและใช้อาวุธ โดยเชื่อกันว่าศูทรเกิดจากเท้าของพระพรหม และมีสีดําเป็นสีประจําวรรณะ

อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่มีต่อสังคมอินเดีย ได้แก่

1 ทําให้ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นสังคมปิด คือ เมื่อเกิดวรรณะใด วรรณะหนึ่งแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนหรือย้ายวรรณะได้ จึงทําให้เปลี่ยนแปลงชีวิตไม่ได้

2 การทําหน้าที่ตามวรรณะทั้ง 4 นั้นถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการทําตามพระประสงค์ ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ทําตามความจําเป็นของสังคม และไม่ได้อยู่ภายใต้อํานาจของสังคม รัฐ หรือผู้ปกครอง

3 วรรณะจะเป็นตัวกําหนดหน้าที่ของมนุษย์ ว่าใครทําหน้าที่อะไร และแต่ละหน้าที่ก็จะไม่ก้าวก่ายกัน ซึ่งสามารถลดความขัดแย้งและลดการฆ่าฟันกันเพราะแย่งชิงหน้าที่กัน

4 การแบ่งวรรณะถือเป็นการจัดระเบียบของสังคมที่ยอมรับว่ามนุษย์นั้นมีสถานะทาง สังคมสูง-ต่ำ ลดหลั่นกันตามลําดับ ทําให้มีการดูหมิ่นคนที่อยู่ในวรรณะต่ำกว่า

5 ระบบวรรณะนี้จะก่อให้เกิดความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ อาชีพ ภาษา เผ่าพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัย สังคม และศักดิ์ศรีของมนุษย์

6 ประชาชนจะผูกพันกับครอบครัว วรรณะ กลุ่มอาชีพ และหมู่บ้านมากกว่ารัฐ

7 มีกลุ่มประชาชนที่มิได้อยู่ในระบบสังคม คือ พวก “จัณฑาล” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการ ดูถูกเหยียดหยามหรือถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทางศาสนาของชุมชน ไม่สามารถจะสนทนาหรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนในระบบได้ เป็นต้น

 

2.2 แนวคิดทัศนะศาสนาพุทธที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของประเทศไทย ?

แนวคําตอบ

แนวคิดทัศนะศาสนาพุทธที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของประเทศไทย

พุทธศาสนา เริ่มเป็นที่ยอมรับของคนไทยในพุทธศตวรรษที่ 6 สมัยอาณาจักรอ้ายลาว โดยกษัตริย์ไทยองค์แรกที่นับถือพุทธศาสนาก็คือ ขุนหลวงเม้า ในดินแดนสุวรรณภูมินี้มีการสันนิษฐานกันว่า เริ่มมีการรับพุทธศาสนาเข้ามาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ซึ่งมีอาณาจักรอยู่ระหว่างพม่ากับขอม โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนใต้ แผ่คลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงภาคใต้บริเวณเมืองนครศรีธรรมราช โดยเชื่อกันว่าเมืองหลวงของ ทวาราวดี คือ จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน พุทธศาสนาในอาณาจักรทวาราวดีมีทั้งนิกายเถรวาทและมหายาน แต่นิกายเถรวาทรุ่งเรืองกว่า

นับตั้งแต่การสร้างบ้านแปลงเมืองจนกระทั่งกลายมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบันจะพบว่า พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อชนชาติไทยและแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองของไทย พระมหากษัตริย์ไทยหลายองค์ ทรงยึดแนวคิดทางพุทธศาสนาเป็นหลักในการปกครองประเทศ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ธรรมมิกราช” หรือ “ธรรมราชา” ซึ่งหมายถึง พระราชาผู้มีความชาญฉลาดในการปกครองทางธรรม อันได้แก่ พระเจ้าเม็งรายมหาราช พระเจ้ากือนา พระเจ้าติโลกราช พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราชหรือพระเมืองแก้ว พ่อขุนศรีอินทราทิตย์หรือพระร่วง พ่อขุนรามคําแหงมหาราช พระเจ้ามหาธรรมราชาลิไท พระเจ้าบรมไตรโลกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) เป็นต้น

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) ทรงประกาศอย่างชัดเจนว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งสะท้อนให้ เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน และจะเห็นได้ว่า พุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับการเมืองการปกครองไทยมาโดยตลอด ศาสนจักร และอาณาจักรมีความเกี่ยวข้องกันมาก ท่ามกลางการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของการปกครองประเทศไทย

 

Advertisement