การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2110 ทฤษฎีและจริยธรรมการเมืองตะวันออก

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยมีทั้งหมด 2 ข้อ

ข้อ 1 ให้อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับรัฐและอํานาจดังต่อไปนี้โดยสังเขป

1.1 รัฐมุสลิม

แนวคําตอบ

รัฐมุสลิม เป็นรัฐที่เป็นจริงในโลก ผู้ปกครองประเทศและประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับรัฐอิสลาม แต่จะอนุโลมให้ใช้รูปแบบการปกครองแบบสากลได้ มีสภาปกติเหมือนทั่วๆไปที่เป็น ไม่ได้เคร่งครัดแบบรัฐอิสลาม แต่เนื้อหาอาจจะต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม จะได้ไม่ขัดแย้งกัน เช่น ระบอบรัฐสภา (มาเลเซีย) ระบอบประธานาธิบดี (อียิปต์, ลิเบีย, อินโดนีเซีย) และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น

1.2 ลัทธิไต้ท้ง

แนวคําตอบ

ลัทธิใต้ท้ง เป็นแนวคิดที่เป็นอุดมคติสูงสุด เป็นอุดมคติทางการเมืองในรูปสากลนิยม ซึ่งเป็นเหมือนรัฐในอุดมคติ ไม่มีการแบ่งชาติขั้นวรรณะ ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลก มีชาติเพียงชาติเดียวคือมนุษยชาติ ประชาชนทุกคนมีงานทํา มีความเสมอภาคด้านความเป็นอยู่ เด็ก คนชรา และคนทุพพลภาพได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีการคัดเลือกประชาชนที่เป็นคนดีมีความสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ให้ปกครองโดยพรรคหรือคณะใด ๆ รัฐบาลที่เลือกมานี้มีรัฐบาลเดียวคือรัฐบาลโลก ถ้าทําได้ตามนี้ก็จะทําให้เกิด “มหาสันติสุข” (ไท้เพ้ง)

1.3 การปกครองแบบยิ้นเจ่ง

แนวคําตอบ

การปกครองแบบยิ้นเจ่ง (ธรรมานุภาพ) คือ การใช้คุณธรรมและความเมตตากรุณาในการปกครอง เพราะสามารถทําให้บรรลุความสําเร็จได้ดีกว่า แม้จะมีเขตแดนเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยชี้ให้เห็นว่า ผู้ปกครองที่ดูแลประชาชนเป็นอย่างดีเทานั้น จึงจะได้รับการสนับสนุนและความจงรักภักดีจากประชาชน พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อผู้ปกครองของตนในสงครามได้

1.4 สมบัติพระจักรพรรดิ 3 อย่างในลัทธิชินโต

แนวคําตอบ

ความเป็นพระจักรพรรดิในลัทธิชินโตนั้นจะต้องมีสมบัติ 3 อย่าง คือ

1 กระจก หมายถึง ศีลธรรมและความบริสุทธิ์

2 ดาบ หมายถึง ความฉลาดและความเที่ยงธรรม

3 รัตนมณี หมายถึง ความเชื่อฟังและความนอบน้อม

1.5 รัฐบาล 3 แบบตามลัทธิเต๋า

แนวคําตอบ

ตามทัศนะของลัทธิเต๋า (เหลาจื้อ) นั้น รัฐบาลมี 3 แบบ คือ

1 รัฐบาลที่ปกครองประชาชนโดยไม่ก้าวก่ายชีวิตประชาชน ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกปกครอง เพราะใช้การปกครองแบบเสรีนิยมและธรรมชาตินิยม ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการปกครองที่ดีที่สุด

2 รัฐบาลที่ปกครองประชาชนโดยการสร้างความดีให้ประชาชนเห็น เพื่อให้ประชาชนรัก ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการปกครองที่ดีรองลงมาจากแบบที่ 1

3 รัฐบาลที่ปกครองประชาชนโดยใช้อํานาจกดขี่และยุ่งเกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชน จนทําให้ประชาชนไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการปกครองที่เลวที่สุด

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษาทําข้อสอบทั้งข้อ ก. และ ข.

ก จงอธิบายถึงอิทธิพลของแนวคิดและจริยธรรมของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ที่มีผลต่อการเมืองตะวันออก มาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

อิทธิพลของแนวคิดและจริยธรรมของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ที่มีผลต่อการเมืองตะวันออก จะเห็นได้จากแนวคิดของนักการเมืองอินเดียที่รู้จักกันเป็นอย่างดี อย่างเช่น มหาตมะ คานธี

แนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมทางการเมืองของมหาตมะ คานธี

1 การศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า คานธี เห็นว่า ศาสนาต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองและการเมืองต้องใช้ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ผู้ที่เป็นนักการเมืองต้องมีศีลธรรม

2 การมีอุดมการณ์ คานธี เน้นว่าการกระทําของมนุษย์ควรมีอุดมการณ์ เพราะเป็นเป้าหมายในการดําเนินชีวิต คนที่ไม่มีอุดมการณ์เปรียบได้กับเรือที่ไม่มีหางเสือ ซึ่งเรือ ที่ไม่มีหางเสือหรือไม่มีเข็มทิศ ย่อมเดินทางไปโดยไม่มีจุดหมาย เหมือนกับการทํางานที่ไม่มีเป้าหมายหรืออุดมการณ์ก็ยอมปราศจากประโยชน์

3 ศาสนากับการพัฒนาตนเองและสังคม คานธี เห็นว่า การพัฒนาสังคมและประเทศชาติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนมีการพัฒนาตนเองก่อน และการที่จะพัฒนาตนเองได้ก็ต้องมีศาสนา

4 การใช้หลักอหิงสาและสัตยาเคราะห์ คานธี เห็นว่า นักประชาธิปไตยที่แท้จริงคือผู้ที่ใช้วิธีการของอหิงสาเข้ามาปกป้องอิสรภาพของตนเอง ของประเทศชาติ และของมนุษยชาติทั้งมวล ซึ่งการรักษาสัจจะและยึดหลักอหิงสานั้นจะต้องมีความกล้าด้วย คือ ถ้าผู้ปกครองกระทําผิด ผู้ใต้ปกครองจะต้องกล้าแสดงความเห็นและให้คําแนะนําแก่ผู้ปกครองนั้น พร้อมกับเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วย

5 การเสียสละ คานธี เห็นว่า ผู้ปกครองที่ดีนอกจากจะต้องมือหิงสธรรมแล้วต้องมีความเสียสละ และต้องเป็นความเสียสละอย่างมีความสุขด้วย ความเสียสละที่แท้จริงจะต้องให้ความปีติแก่ผู้เสียสละ เพราะการเสียสละเป็นการกระทําที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว ผู้เสียสละโดยหวังที่จะให้ผู้อื่นเห็นใจในการเสียสละของตน เป็นบุคคลที่น่าสงสารที่สุด

6 ความเสมอภาคและความเป็นธรรม สืบเนื่องมาจากระบบวรรณะและการถูกกดขี่ทางเพศในสังคมอินเดีย โดยคานธีได้เสนอแนวคิดที่ส่งเสริมความเสมอภาคขึ้นมา และกล่าวถึงการดูถูกเหยียดหยามในหมู่มนุษย์ว่า การกระทําสองประการของมนุษย์ในขณะเดียวกันย่อมไปด้วยกันไม่ได้ กล่าวคือ บูชาพระเป็นเจ้า แต่ก็เหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และพยายามชี้ให้เห็นว่าการให้ความเป็นธรรมแก่มนุษย์นั้นต้องให้ทั้งคนดีและคนชั่ว

7 วิธีการทํางานและการตัดสินใจ คานธี ชี้ให้เห็นในเรื่องของการทํางานว่า ถ้ามัวแต่คิดถึงความมากมายใหญ่โตของการงาน เราจะเกิดความสับสนและทําอะไรไม่ได้เลย ตรงข้ามหากเราจับงานขึ้นมาทําทันที เราจะพบว่าแม้ใหญ่เท่าภูเขางานก็จะค่อยลดน้อยลง ทุกวัน ๆ แล้วในที่สุดก็จะสําเร็จลงได้ ส่วนในเรื่องของการตัดสินใจนั้น ถ้าหากว่ามี ความจําเป็นที่จะต้องมีการตัดสินใจแล้ว ก็ควรจะตัดสินใจด้วยความรอบคอบเป็นที่สุด แล้วปฏิบัติตนไปตามนั้นโดยไม่มีการท้อถอย

8 การมีระเบียบวินัย คานธี เน้นว่าในการกระทําใด ๆ ก็ตาม สิ่งสําคัญที่จะต้องยึดก็คือระเบียบวินัย เพราะระเบียบวินัยจะทําให้เราควบคุมตนเองได้ ดังนั้นผู้ที่จะเป็นนักปกครอง รับใช้ประชาชนจึงจําเป็นต้องมีระเบียบวินัยเพื่อควบคุมตนเองและผู้ใต้ปกครอง

สําหรับกรณีประเทศไทยนั้น ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในการเมือง การปกครองของไทย โดยปรากฏออกมาในรูปพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชา แม้ว่าคนไทยจะนับถือพุทธศาสนา แต่ก็เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ เชื่อในวรรณะกษัตริย์เช่นเดียวกับ ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ซึ่งจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัยมีพราหมณ์ปุโรหิตประจําราชสํานัก อีกทั้ง ยังเชื่อว่ากษัตริย์ทุกพระองค์เป็นอวตารของพระนารายณ์ โดยจะเห็นได้จากพระนามของพระมหากษัตริย์ไทย บางพระองค์มีคําว่า “ราม” หรือ “นารายณ์” เช่น พ่อขุนรามคําแหงมหาราช พระรามาธิบดี พระราเมศวร

พระนารายณ์มหาราช และพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์แม้จะมีพระนามเฉพาะแล้วก็ยังเรียกกันว่า พระรามที่ 1 จนถึงพระรามที่ 9 นอกจากนี้ ตราแผ่นดินของไทยก็ยังใช้ตรา “ครุฑ” ซึ่งเป็นพาหนะของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์เป็นสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

ข จงอธิบายถึงแนวคิดเรื่องการเกิดรัฐในศาสนาพุทธ มาพอเข้าใจ

แนวคําตอบ

แนวคิดเรื่องการเกิด “รัฐ” ในศาสนาพุทธนั้น จะเห็นได้จากคําสอนในอัคคัญญสูตรซึ่ง ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเกิดคนและสังคม ปัญหาสังคมย่อมตามมา มีการแข่งขันแย่งชิงและทําร้ายซึ่งกันและกัน ดังนั้น จึงต้องมีผู้เข้าไปจัดการแก้ไข ทําให้เกิดระบบการปกครอง เกิดรัฐและผู้มีอํานาจขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากคําสอนตอนหนึ่ง ที่บรรยายไว้ว่า เมื่อมีการกั้นเขตเพื่อครอบครองข้าวสาลีแล้ว คนบางคนได้พยายามเข้าไปขโมยข้าวสาลีในเขต ของคนอื่น เมื่อถูกจับได้ก็ถูกลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตักเตือน ตบด้วยมือ ขว้างด้วยก้อนหิน ตีด้วยไม้ เป็นต้น แต่พวกขโมยที่ถูกจับได้นี้บางคนทําแล้วทําอีก ไม่รู้จักหลาบจํา บางคนรับปากว่าจะไม่ทําอีกแต่กลับทํา กลุ่มคนที่ครอบครองพื้นที่เหล่านั้นจึงประชุมกันเกี่ยวกับปัญหาการลักทรัพย์ การติเตียน การพูดปด และการทําร้ายที่เกิดขึ้น โดยมีมติว่าควรจะแต่งตั้งคนทําหน้าที่ติเตียนคนที่ควรติ และขับไล่คนที่ควรขับไล่ โดยพวกเขาจะแบ่งส่วนข้าวสาลี ให้เป็นค่าตอบแทน

หลังจากนั้นจึงมีการเลือกคนเป็นหัวหน้าเพื่อปกครองคน คือการทําหน้าที่ติเตียนคนที่ควรติเตียน และขับไล่คนที่ทําผิดควรแก่การขับไล่ ซึ่งทําให้เกิดคํา 3 คําขึ้นมา คือ “มหาสมมุติ” (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง), “กษัตริย์” (ผู้เป็นใหญ่แห่งนา) และ “ราชา” (ผู้ทําตามความอิ่มใจสุขใจแก่ผู้อื่น)

ดังนั้นมหาสมมุติหรือกษัตริย์หรือราชาจึงเป็นบุคคลที่มาจากกลุ่มคนในสังคมเป็นผู้เลือก และแต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้า ซึ่งถือว่าเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่มาจากสิ่งสูงส่งใด ๆ แต่เป็นผู้ที่มีจริยธรรมหรือคุณธรรม มากกว่าผู้อื่นและเป็นผู้ที่ประเสริฐในกลุ่มชนชั้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การเกิดปัญหาสังคมนั้นเป็นที่มาของการปกครองระบบกษัตริย์นั่นเอง

Advertisement