LAW4008 กฎหมายที่ดิน 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4008 กฎหมายที่ดิน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายดําได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดิน ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ใน พ.ศ. 2550 นายดําขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายขาว และนายขาวครอบครองที่ดินต่อมาจนถึง พ.ศ. 2553 ก็ถึงแก่ความตาย นายแดงบุตรชายเพียงคนเดียวเข้าครอบครองและทําประโยชน์ ในที่ดินต่อเนื่องมาใน พ.ศ. 2558 นายแดงก็ได้รับโฉนดที่ดิน ขณะนี้นายแดงตกลงขายที่ดินให้แก่ นางน้อย ดังนี้อยากทราบว่านายแดงจะจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 58 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคห้า “เมื่อได้สํารวจรังวัดทําแผนที่ หรือพิสูจน์ สอบสวนการทํา
ประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครอง เป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทําประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ํา หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชําระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์”

พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง “ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยัง ไม่ได้รับคํารับรองจากนายอําเภอว่าได้ทําประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายดําเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง โดยทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งที่ดินที่มีใบจองนี้เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคํารับรองจากนายอําเภอว่าได้ทําประโยชน์แล้ว นายดํา ผู้ครอบครองจึงโอนให้ใครไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดกตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง

เมื่อได้ความว่า ใน พ.ศ. 2550 นายดําได้ขายที่ดินนั้นให้แก่นายขาว การขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็น การฝ่าฝืน พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง ทั้งก็มิใช่เป็นการตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด ดังนั้น แม้นายขาว
จะได้ครอบครองและทําประโยชน์ต่อเนื่องมาก็ไม่ทําให้นายขาวเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน

แต่อย่างไรก็ดี การขายที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันนั้น มีผลทําให้นายขาวเป็น ผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2497) และเมื่อต่อมาใน พ.ศ. 2553 นายขาวถึงแก่ความตาย นายแดงบุตรชายเพียงคนเดียวเข้าครอบครองและทําประโยชน์ ในที่ดินต่อเนื่องมา ย่อมถือว่านายแดงเป็นผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับด้วย

ดังนั้นการที่นายแดงครอบครองและทําประโยชน์ต่อเนื่องมาจนได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการใน พ.ศ. 2558 นั้น กรณีเช่นนี้ ถือว่านายแดงเป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินและทําประโยชน์ในที่ดินภายหลัง วันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ํา หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (3) นายแดงจึงอยู่ในบังคับ ห้ามโอนที่ดินภายในกําหนด 10 ปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 58 ทวิ วรรคห้าตอนท้าย

ดังนั้น ขณะนี้การที่นายแดงประสงค์จะจดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางน้อยจึงไม่สามารถ ทําได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เพราะเป็นการโอนภายในกําหนดเวลา 10 ปีนับแต่ ได้รับโฉนดที่ดิน ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย เพราะมิใช่การโอนโดยการตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด

สรุป นายแดงจะจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่นางน้อยไม่ได้

 

ข้อ 2. นายหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือรับรองการทําประโยชน์ใน พ.ศ. 2547 ได้มีประกาศของ
ทางราชการเพื่อเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินแต่นายหนึ่งไม่ได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินใน พ.ศ. 2554 นายหนึ่งได้ยกที่ดินนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายสองโดยการส่งมอบที่ดินและเอกสารหนังสือรับรองการทําประโยชน์ให้นายสองครอบครอง ขณะนี้นายสองได้นําที่ดินนั้นไปยื่นขอออก โฉนดที่ดิน ดังนี้อยากทราบว่านายสองจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 4 ทวิ “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 59 “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทํา ประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงาน เจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณีได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กําหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย”

มาตรา 59 ทวิ “ผู้ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจําเป็นจะขอออก โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ประมวลกฎหมายนี้กําหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทําประโยชน์ ได้ยกที่ดิน แปลงนั้นที่ใช้หนี้ให้แก่นายสอง โดยส่งมอบที่ดินพร้อมหนังสือรับรองการทําประโยชน์ให้นายสองครอบครอง โดยมิได้ ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถือเป็นการโอนที่ไม่ทําตามกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ที่กําหนดว่า

“การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ต้องทําเป็นหนังสือและต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” การยกที่ดินให้นายสองดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ ส่งผลให้นายสองเป็น เพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (โดยไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน)

และในขณะนี้ การที่นายสองได้นําที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็นการขอออกเฉพาะรายนั้น นายสอง จะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาการขอออกโฉนดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และ
มาตรา 59 ทวิ

สําหรับการขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ผู้ที่จะขอออก โฉนดที่ดินได้ จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวคือ เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือ แสดงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนายสองเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เนื่องจากการโอนดังกล่าวฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ นายสองจึงขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ไม่ได้ อีกทั้งในกรณีดังกล่าวนี้ นายสองก็จะอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองต่อเนื่อง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคสอง ไม่ได้เช่นกัน เพราะ นายสองมิใช่ผู้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)

ส่วนผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้นั้นกฎหมายกําหนดว่า จะต้องเป็นผู้ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 5 เท่านั้น เมื่อได้ความว่า นายสองเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น นายสองจึงไม่สามารถขอออก โฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้เช่นกัน

สรุป นายสองเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงขอออก โฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้เลย

 

ข้อ 3. นางสมศรีเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม ขณะนี้นางสมศรีต้องการจะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการ มรดกเพื่อจัดการมรดกตามหน้าที่ นางสมศรีจึงนําพินัยกรรมโฉนดที่ดินเป็นมรดกและเอกสารอื่นสําหรับใช้ประกอบการจดทะเบียนไปยื่นขอจดทะเบียน ณ สํานักงานที่ดิน ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับดําเนินการจดทะเบียนให้โดยอ้างว่า นางสมศรียังไม่มีคําสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก ดังนี้อยากทราบว่าข้ออ้างของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก ให้ผู้ได้รับมรดกนําหลักฐานสําหรับที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐานในการได้รับ มรดกมายื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น ให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่มีอํานาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวนั้นได้

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน และเชื่อได้ว่าผู้ขอเป็นทายาทแล้ว ให้ประกาศ โดยทําเป็นหนังสือปิดไว้ในที่เปิดเผยมีกําหนดสามสิบวัน ณ สํานักงานที่ดิน เขตหรือที่ว่าการอําเภอ หรือกิ่งอําเภอ สํานักงานเทศบาล ที่ทําการองค์การบริหารส่วนตําบล ที่ทําการแขวงหรือที่ทําการกํานันท้องที่ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ และ บริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็น ทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทําได้ หากไม่มีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้งภายในกําหนดเวลาที่ประกาศ และมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับมรดกแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียนให้ตามที่ ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 82 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิ ในที่ดิน ให้ยื่นคําขอพร้อมด้วยนําหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้น และหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดงต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคําสั่งศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียนให้ ตามคําขอ แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนและตรวจสอบหลักฐาน และให้นําความ ในมาตรา 81 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อไม่มีผู้โต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการ มรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นได้ แต่ถ้ามีผู้โต้แย้งก็ให้รอเรื่องไว้ และให้คู่กรณีไปฟ้องร้องต่อศาล เมื่อศาล มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดประการใดแล้ว ให้ดําเนินการไปตามคําพิพากษาหรือคําสั่งศาลนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสมศรีเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมนั้น ถือว่านางสมศรีเป็นผู้จัดการ มรดกโดยทางอื่นนอกจากโดยคําสั่งศาล เมื่อนางสมศรีได้นําพินัยกรรมพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานไปยื่นคําขอ จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดําเนินการตามมาตรา 82 ประกอบ มาตรา 81 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้อง ประกาศเป็นหนังสือก่อนมีกําหนด 30 วัน ณ สํานักงานที่ดิน และให้ส่งประกาศดังกล่าวให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็น ทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทําได้ หากไม่มีผู้โต้แย้งภายในกําหนดเวลาที่ประกาศและมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ผู้ขอมีสิทธิตามกฎหมาย ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้เลย แต่ถ้ามีผู้โต้แย้งก็ให้รอเรื่องไว้ และให้คู่กรณีไปฟ้องร้องต่อศาล เมื่อศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดประการใดแล้วให้ดําเนินการไปตามคําพิพากษาหรือคําสั่งศาลนั้น

ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์เมื่อนางสมศรีได้ไปยื่นคําขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับดําเนินการให้โดยอ้างว่า นางสมศรียังไม่มีคําสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกนั้น ข้ออ้างของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป ข้ออ้างของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย s/2565

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW 3010) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบกระบวนวิชานี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5 ล้านบาท โดยนายเมฆนํารถยนต์ของตนมา จํานําไว้เป็นประกันหนี้ ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงบังคับจํานํา ได้เงินมาจํานวน 1 ล้านบาท นายหมอกจึงนําหนี้อีก 4 ล้านบาทที่เหลือ มาฟ้องนายเมฆให้ ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับฟ้อง นายเมฆยื่นคําให้การอ้างว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้ มีประกัน แต่ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าจะสละหลักประกัน หรือตีราคาหลักประกัน ศาลล้มละลายกลางจึงไม่สามารถมีคําสั่งรับฟ้องได้

ดังนี้ คําให้การของนายเมฆชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท…. และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5 ล้านบาท โดยนายเมฆ นำรถยนต์ของตนมาจํานําไว้เป็นประกันหนี้ ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึง บังคับจํานําได้เงินมาจํานวน 1 ล้านบาทนั้น เมื่อมีการบังคับจํานําทรัพย์สินที่จํานําแล้ว จํานําย่อมระงับไป เช่นเดียวกับการบังคับจํานองตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (5) และการครอบครองทรัพย์สินของผู้รับจํานําก็เป็นอัน สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้น นายหมอกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายเมฆอีก 4 ล้านบาท จึงไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ตามนัยของมาตรา 6 เพราะไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานํา

และเมื่อนายหมอกไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน นายหมอกจึงสามารถนําหนี้ที่เหลืออีก 4 ล้านบาท มาฟ้อง ให้นายเมฆล้มละลายได้ตามมาตรา 9 โดยไม่ต้องกล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกัน เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องตามมาตรา 10 (2) แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ นายเมฆยื่นคําให้การอ้างว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคา หลักประกัน ศาลล้มละลายกลางจึงไม่สามารถมีคําสั่งรับฟ้องได้นั้น คําให้การของนายเมฆจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย สรุป คําให้การของนายเมฆไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายใบไม้ได้กู้ยืมเงินนายกิ่งจํานวน 1,000,000 บาท เพื่อนํามาจ่ายค่าแรงคนงาน และนายใบไม้ ยังได้กู้ยืมเงินนายส้มจํานวน 3,000,000 บาท เพื่อนํามาขยายธุรกิจโรงงานเจลแอลกอฮอล์ด้วย โดยการกู้ยืมเงินทั้งสองครั้งดังกล่าว ได้ทําหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายใบไม้ผู้กู้ ต่อมานายใบไม้ถูกนายกล้วยเจ้าหนี้รายหนึ่งยื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์นายใบไม้เด็ดขาด นายใบไม้ได้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายร้อยละ 50 ใน การประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคําขอประนอมหนี้และศาลมีคําสั่ง เห็นชอบด้วยแล้ว แต่กรมสรรพากรซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกรายของนายใบไม้ที่มูลหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ยินยอมกับการขอประนอมหนี้ของนายใบไม้ ต่อมาเจ้าหนี้ทุกราย ยกเว้นนายกิ่งได้มายื่นคําขอรับชําระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด

ดังนี้ การประนอมหนี้ของนายใบไม้ผูกมัดนายกิ่ง นายส้ม นายกล้วย และกรมสรรพากร หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด และหากต่อมานายกิ่งเจ้าหนี้ดังกล่าวจะมาฟ้องนายใบไม้ให้รับผิดตาม สัญญากู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 56 “การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัด เจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคําสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้”

มาตรา 77 “คําสั่งปลดจากล้มละลายทําให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันจึงขอรับ
ชําระได้ เว้นแต่

(1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล

(2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคน ไม่ว่าเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่ไม่ได้ยอมรับการขอประนอมหนี้ แม้กระทั่งเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ที่ไม่ได้ยื่นขอรับชําระหนี้ไว้ก็ตาม และเมื่อลูกหนี้ได้ชําระหนี้ตามข้อตกลง ในการประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ เว้นแต่หนี้ตามมาตรา 77 (1) และ (2) คือ หนี้ภาษีอากร และหนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้ หนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้ ลูกหนี้จะต้องชําระหนี้ต่อไป จนกว่าจะครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ (มาตรา 56)

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายใบไม้ลูกหนี้ได้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายร้อยละ 50 ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับคําขอประนอมหนี้และศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแล้วนั้น การประนอมหนี้ดังกล่าว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคนตามมาตรา 56 ดังนั้น การประนอมหนี้ของนายใบไม้จึงผูกมัด นายกิ่ง นายส้ม และนายกล้วย กล่าวคือ หากนายใบไม้ได้ชําระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว นายใบไม้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ ส่วนนายกิ่งเป็นเจ้าหนี้ในหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้แต่ไม่ยื่นคําขอรับ ชําระหนี้ ดังนั้น นายกิ่งจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชําระหนี้จากลูกหนี้ และนายกิ่งจะนําหนี้ดังกล่าวมาฟ้องนายใบไม้ ให้รับผิดตามสัญญากู้อีกไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม การประนอมหนี้ดังกล่าวของนายใบไม้นั้น จะไม่ผูกมัดกรมสรรพากรตาม มาตรา 56 ประกอบมาตรา 77 (1) เนื่องจากกรมสรรพกรซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายใบไม้ไม่ได้ยินยอมด้วยกับ การประนอมหนี้ดังกล่าว

สรุป การประนอมหนี้ของนายใบไม้ผูกมัดนายกิ่ง นายส้ม และนายกล้วย แต่ไม่ผูกมัดกรม สรรพากร และนายกิ่งจะมาฟ้องนายใบไม้ให้รับผิดตามสัญญากู้อีกไม่ได้

 

ข้อ 3. ในวันที่ 15 กันยายน 2562 นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายหมอกจํานวน 1,000,000 บาท กําหนดชําระคืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา โดยนายเมฆได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2459 ของตนเองให้นายหมอกยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวพร้อมทําบันทึกแนบท้าย สัญญากู้ตกลงยอมให้นายหมอกสามารถบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของตนเกินกว่าตัวทรัพย์ที่ เป็นหลักประกัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมินประมาณ 1,500,000 บาท ต่อมานายเมฆกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลาย ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดตามกฎหมายเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2555 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่มีการโฆษณา คําสั่ง นายหมอกเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายหมอกจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนหรือไม่ อย่างไร ภายในกําหนดระยะเวลาเท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายหมอกจํานวน 1,000,000 บาท ในวันที่ 15 กันยายน 2562 กําหนดชําระคืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา โดยนายเมฆได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2459 ของตนเองให้นายหมอกยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวนั้น แม้จะมีการทําบันทึกแนบท้าย
สัญญากู้ตกลงยอมให้นายหมอกสามารถบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของตนเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกันก็ตาม ก็ไม่ได้ทําให้นายหมอกมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามนัยมาตรา 6 แต่อย่างใด เพราะการจํานองจะเกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้นจะต้องมีการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังนั้น นายหมอกจึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน

เมื่อศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายเมฆลูกหนี้ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 และประกาศให้ เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย ดังนั้น เมื่อมูลหนี้เงินกู้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ และแม้จะยังไม่ถึงกําหนดชําระหนี้ นายหมอกย่อมมีสิทธิขอรับชําระหนี้ได้ตามมาตรา 94

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่มีการประกาศคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น นายหมอกได้เดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น จึงถือว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร ดังนั้น นายหมอกจึงมีสิทธิได้รับการขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับชําระหนี้ออกไปอีกไม่เกิน 2 เดือน ทําให้นายหมอก มีสิทธิยื่นขอรับชําระหนี้ได้ภายในกําหนดระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์เด็ดขาดตามมาตรา 91

สรุป นายหมอกมีสิทธิได้รับชําระหนี้โดยการยื่นขอรับชําระหนี้ตามมาตรา 94 ภายในกําหนดระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91

LAW3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW 3010) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

1. ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ลูกหนี้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายว่าจะชําระหนี้ให้เจ้าหนี้ทุกคนเป็นจํานวนร้อยละ 60 ของมูลหนี้ และ หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้จะยอมให้เจ้าหนี้บังคับเอากับที่ดินของลูกหนี้ได้ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติ พิเศษยอมรับและศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว ต่อมาลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ จึงฟ้องลูกหนี้เพื่อบังคับตามคําขอประนอมหนี้ที่ลูกหนี้ได้ยื่นไว้ ลูกหนี้ยื่นคําให้การยอมรับตามคําฟ้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะมีคําสั่งเกี่ยวกับคําให้การของจําเลยว่าอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 22 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจดังต่อไปนี้

(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้”

มาตรา 25 “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล ในขณะที่มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคําขอโดยทําเป็นคําร้อง ศาลมีอํานาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้”

วินิจฉัย

เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอํานาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของ ลูกหนี้ และมาตรา 25 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ทําให้เจ้าหนี้ เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้เพื่อบังคับตามคําขอประนอมหนี้ที่ลูกหนี้ได้ยื่นไว้ว่า หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ จะยอมให้ เจ้าหนี้บังคับเอากับที่ดินของลูกหนี้ได้นั้น ตามมาตรา 22 (3) ได้กําหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น ที่มีอํานาจในการต่อสู้คดี ดังนั้น การที่ลูกหนี้ยื่นคําให้การยอมรับตามคําฟ้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ย่อมถือว่า ลูกหนี้ได้กระทําไปโดยไม่มีอํานาจ หากข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะมีคําสั่งไม่รับคําให้การของจําเลย

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะมีคําสั่งไม่รับคําให้การของจําเลย

 

ข้อ 2. นายแตงโมเป็นกรรมการบริษัท ผลไม้ไทยแปรรูป จํากัด ต่อมาภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด ของ Covid-19 บริษัทฯ ประสบภาวะขาดทุนและมีหนี้สินล้นพ้นตัว ในวันที่ 10 มกราคม 2565 บริษัทฯ จึงถูกนายมั่นคงเจ้าหนี้รายหนึ่งฟ้องคดีล้มละลาย นายแตงโมต้องการจะพยุงฐานะของ บริษัทฯ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 นายแตงโมจึงได้ทําสัญญาให้บริษัทฯ กู้เงินส่วนตัวจํานวน 2,000,000 บาท กําหนดชําระคืนภายใน 1 ปีนับจากวันทําสัญญา เพื่อนําไปเป็นค่าใช้จ่ายในการ ดําเนินกิจการและชําระค่าจ้างพนักงาน ต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดําเนินการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายในวันที่ 25 มีนาคม 2565 และประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ใน คดีล้มละลาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่มีการโฆษณาคําสั่งฯ นายแตงโมเดินทางไปเจรจาธุรกิจ ที่ประเทศญี่ปุ่น

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายแตงโมจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้เงินกู้คืนหรือไม่ ภายในกําหนดระยะเวลาเท่าใด
จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแตงโมเป็นกรรมการบริษัท ผลไม้ไทยแปรรูป จํากัด นายแตงโมย่อมรู้ ถึงสถานะทางการเงินและความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัทฯ จนถูกนายมั่นคงเจ้าหนี้รายหนึ่งฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ดังนั้น การที่นายแตงโมได้ทําสัญญาให้บริษัทฯ กู้ยืมเงินส่วนตัวจํานวน 2,000,000 บาท กําหนดชําระคืนภายใน 1 ปีนับจากวันทําสัญญา จึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นทั้ง ๆ ที่รู้ถึงความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ แม้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โดยหลักแล้วจะนํามายื่นขอรับชําระหนี้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่านายแตงโมได้ให้บริษัทฯ กู้เงินส่วนตัวเพื่อนําไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการและชําระค่าจ้างพนักงาน จึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้ จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 94 (2) ตอนท้าย ที่นายแตงโมสามารถยื่นขอรับชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวได้

และเมื่อปรากฏว่าในขณะที่มีการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น นายแตงโมได้เดินทางไป เจรจาธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น นายแตงโมจึงเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงสามารถ ขยายกําหนดเวลาในการยื่นขอรับชําระหนี้ออกไปอีก 2 เดือน (จากกําหนดเวลาปกติ 2 เดือนนับแต่วันโฆษณา คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) ดังนั้น นายแตงโมจึงมีสิทธิยื่นขอรับชําระหนี้ได้ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง

สรุป นายแตงโมมีสิทธิได้รับชําระหนี้เงินกู้คืน โดยต้องยื่นขอรับชําระหนี้ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม
2565

 

ข้อ 3. ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ้อยหวาน จํากัด ซึ่งประกอบกิจการโรงงาน น้ําตาล และตั้งผู้ทําแผน ต่อมาผู้ทําแผนได้ซื้ออ้อยจากนายเค็มมาผลิตน้ําตาลเป็นเงิน 200,000 บาท ตกลงชําระราคาภายใน 60 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง ครั้นถึงกําหนด ผู้ทําแผน ไม่ชําระหนี้ นายเค็มทวงถามให้ผู้ทําแผนชําระหนี้ ผู้ทําแผนโต้แย้งว่าสัญญาซื้อขายอ้อยตกเป็นโมฆะ ให้วินิจฉัยว่า ข้อโต้แย้งของผู้ทําแผนฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาล มีคําสั่งรับคําร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการเป็น
ผลสําเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(9) ห้ามมิให้ลูกหนี้จําหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใด ๆ ที่ก่อให้เกิด ภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดําเนิน ต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น”

มาตรา 90/25 “ภายใต้บังคับมาตรา 90/42 และมาตรา 90/64 เมื่อศาลมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนแล้ว ให้อํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทําแผน และให้นําบทบัญญัติมาตรา 90/12 (9) มาใช้บังคับแก่ผู้ทําแผนโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ้อยหวาน จํากัด ซึ่งประกอบกิจการโรงงานน้ําตาล และตั้งผู้ทําแผน ต่อมาผู้ทําแผนได้ซื้ออ้อยจากนายเค็มมาผลิตน้ําตาลเป็นเงิน 200,000 บาท ตกลงชําระราคาภายใน 60 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางนั้น ผู้ทําแผนย่อม สามารถทํานิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางแต่อย่างใด เนื่องจากเป็น การกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดําเนินต่อไปได้ ตามมาตรา 90/25 ประกอบมาตรา 90/12 (9) และมีผลทําให้นิติกรรมซื้อขายดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ แต่ผู้ทําแผนไม่ชําระหนี้ และเมื่อนายเค็มเจ้าหนี้ทวงถามให้ผู้ทําแผนชําระหนี้ ผู้ทําแผนกลับโต้แย้งว่าสัญญา ซื้อขายอ้อยตกเป็นโมฆะนั้น ข้อโต้แย้งของผู้ทําแผนจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อโต้แย้งของผู้ท่าแผนฟังไม่ขึ้น

LAW3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่า ครบกําหนดเวลาในการ ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหนี้มายื่นคําขอรับชําระหนี้เลย ขอให้ศาลสั่งยกเลิก การล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เนื่องจากศาลยังมิได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงไม่อาจมีคําสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายได้ แต่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษา ให้ล้มละลาย จึงพิพากษายกฟ้อง

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า คําพิพากษาของศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 14 “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคําฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นําสืบได้ว่าอาจชําระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง”

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 135 “เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคําขอ ศาลมีอํานาจสั่งยกเลิก การล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(2) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 ซึ่งได้กําหนดว่าในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคําฟ้องของ เจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นําสืบได้ว่าอาจชําระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้องนั้น จะเห็นได้ว่ากรณีที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะมีเหตุ ที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 14 ได้นั้น จะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของ ลูกหนี้เด็ดขาด

แต่ตามอุทาหรณ์ เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่า ครบกําหนดเวลาในการ ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหนี้มายื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 91 เลย ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว และเมื่อเจ้าพนักงาน

พิทักษ์ทรัพย์มีคําขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลาย จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลายตามมาตรา 135 (2) ซึ่งศาลจะต้องมีคําสั่งยกเลิกการล้มละลายต่อไป ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เนื่องจากศาลยังมิได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายจึงไม่อาจมีคําสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายได้ จึงพิพากษายกฟ้องนั้น คําพิพากษาของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําพิพากษาของศาลล้มละลายกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นางกระติ๊บทําสัญญากู้เงิน 4,000,000 บาท จากนางกระติก โดยทําสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือลง ลายมือชื่อนางกระติ๊บ ตกลงจะผ่อนชําระ 10 งวด เมื่อถึงกําหนดชําระเงินนางกระติ๊บผิดนัดชําระหนี้ ตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นมา เป็นเงินที่นางกระติ๊บค้างชําระทั้งหมด 2,000,000 บาท นางกระติกจึงฟ้อง ให้นางกระติ๊บล้มละลาย ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นางกระติ๊บขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยขอชําระร้อยละ 50 ของหนี้ที่เหลือทั้งหมด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ในที่ประชุมมีเจ้าหนี้ครั้งแรกมีเจ้าหนี้มาประชุมทั้งหมด 6 คน แต่เจ้าหนี้คนที่ 6 งดออกเสียง ปรากฏว่า

– นางกระติ๊บเป็นหนี้นางกระติกเจ้าหนี้คนที่ 1 จํานวน 2,000,000 บาท
– นางกระติ๊บเป็นหนี้เจ้าหนี้คนที่ 2 จํานวน 500,000 บาท
– นางกระติ๊บเป็นหนี้เจ้าหนี้คนที่ 3 จํานวน 500,000 บาท
– นางกระติ๊บเป็นหนี้เจ้าหนี้คนที่ 4 จํานวน 500,000 บาท
– นางกระติ๊บเป็นหนี้เจ้าหนี้คนที่ 5 จํานวน 500,000 บาท

ผลการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนั้น เฉพาะเจ้าหนี้คนที่ 1 คนที่ 2 และคนที่ 3 ยอมรับคําขอประนอมหนี้ ของนางกระติ๊บ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ท่านจะรายงานศาลว่า มติของเจ้าหนี้ ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเป็นมติพิเศษ ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนางกระติ๊บหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่ง จํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุม เจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”

มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในคดีล้มละลายเมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดซึ่งเป็นการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก และให้นําคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนี้ เพื่อ

1. ให้ได้มติพิเศษว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ หรือ

2. ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

และกรณีที่จะเป็นมติพิเศษนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ ตาม พ.ร.บ.
ล้มละลายฯ มาตรา 6 คือ

1. เป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก คือ ต้องมีเสียงของเจ้าหนี้มากกว่ากึ่งหนึ่งของเจ้าหนี้ที่ ออกเสียงลงคะแนน และ

2. มีจํานวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางกระติ๊บเป็นหนี้นางกระติกโดยค้างชําระหนี้จากการทําสัญญากู้ทั้งหมด 2,000,000 บาท และนางกระติกได้ฟ้องให้นางกระติ๊บล้มละลาย เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นางกระติ๊บจึง ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยขอชําระหนี้ร้อยละ 50 ของหนี้ที่เหลือทั้งหมด เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ในที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกมีเจ้าหนี้มาประชุมทั้งหมด 6 คน แต่เจ้าหนี้คนที่ 6 งดออกเสียง คงมีเจ้าหนี้ออกเสียงทั้งหมด 5 คน เมื่อผลของการประชุมเจ้าหนี้นั้น ปรากฏว่าเจ้าหนี้คนที่ 1 คนที่ 2 และคนที่ 3 ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนางกระติ๊บ ซึ่งถือเป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก (จาก 5 คน) และเมื่อ รวมจํานวนหนี้ของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากแล้ว มีจํานวนหนี้ทั้งหมด 3 ล้านบาท ซึ่งไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนหนี้ ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน (4 ล้านบาท) ดังนั้น มติที่ได้จึงเป็นมติพิเศษตามนัยของมาตรา 6 ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าพเจ้าจะรายงานศาลว่ามติของเจ้าหนี้ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เป็นมติพิเศษ ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนางกระติ๊บลูกหนี้ที่ขอชําระร้อยละ 50

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานศาลว่า มติของเจ้าหนี้ในการประชุม เจ้าหนี้ครั้งแรกเป็นมติพิเศษ ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนางกระติ๊บลูกหนี้ที่ขอชําระร้อยละ 50

 

ข้อ 3. ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายฟ้าจํานวน 1 ล้านบาท กําหนดชําระ คืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา และทําบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้ว่า หากนายเมฆไม่ชําระหนี้ นายฟ้าสามารถบังคับชําระหนี้เอากับแหวนเพชรของตนได้ โดยนายเมฆมิได้ส่งมอบแหวนเพชร ให้แก่นายฟ้าแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงปรากฏว่าแหวนเพชรมีราคาประเมินประมาณ 3 แสนบาท ต่อมานายเมฆกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลาย ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 และประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหมด มายื่นขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายฟ้าจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตน หรือไม่ ด้วยวิธีการใด หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่มีการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายฟ้าได้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายฟ้า จํานวน 1 ล้านบาท กําหนดชําระ คืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญาคือวันที่ 15 ตุลาคม 2562 และได้ทําบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้ว่าหากนายเมฆ ไม่ชําระหนี้ นายฟ้าสามารถบังคับชําระหนี้เอากับแหวนเพชรของตนได้นั้น เมื่อนายเมฆมิได้ส่งมอบแหวนเพชร ให้แก่นายฟ้า นายฟ้าจึงมิได้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้จํานํา ดังนั้น นายฟ้าจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 แต่อย่างใด

เมื่อศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายเมฆลูกหนี้ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 และประกาศให้ เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย ดังนั้น เมื่อมูลหนี้เงินกู้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ และแม้จะยังไม่ถึงกําหนดชําระหนี้ นายฟ้าย่อมมีสิทธิขอรับชําระหนี้ได้ตามมาตรา 94

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่มีการประกาศคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น นายฟ้าได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงถือว่านายฟ้าเป็นเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร ดังนั้น นายฟ้าจึงมีสิทธิได้รับการขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับชําระหนี้ออกไปอีกไม่เกิน 2 เดือน ทําให้นายฟ้ามีสิทธิ ยื่นขอรับชําระหนี้ได้ภายในกําหนดระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์เด็ดขาดตามมาตรา 91

สรุป นายฟ้ามีสิทธิได้รับชําระหนี้โดยการยื่นขอรับชําระหนี้ตามมาตรา 94 ภายในกําหนดระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91

 

LAW3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย 1/2564

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW 3010) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเมฆเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องนายหมอกลูกหนี้ให้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว
มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายหมอกเด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทําความเห็นเสนอต่อศาลว่า
ไม่มีเจ้าหนี้โต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ แต่ทั้งนี้ หนี้ของนายเมฆ ขาดอายุความไปแล้วก่อนที่นายเมฆจะฟ้องนายหมอกเป็นคดีนี้ จึงเห็นควรยกคําขอรับชําระหนี้ ของนายเมฆ ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคําสั่งว่า หนี้ดังกล่าวมีอยู่จริง อีกทั้งลูกหนี้ ก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้ และขาดนัดพิจารณาจนศาลมีคําสั่งพิทักษ์เด็ดขาดแล้ว แม้ข้อเท็จจะฟังได้ว่า คดีของนายเมฆขาดอายุความก่อนนํามาฟ้องก็ตาม เมื่อไม่มีเจ้าหนี้โต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆ ศาลจึงเห็นควรมีคําสั่งอนุญาตให้นายเมฆยื่นคําขอรับชําระหนี้ได้

ดังนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจทําความเห็นให้ยกคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ และคําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้นายเมฆยื่นคําขอรับชําระหนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 22 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจดังต่อไปนี้

(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องนายหมอกลูกหนี้ให้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายหมอกเด็ดขาดนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทําความเห็นเสนอต่อศาลว่า ไม่มีเจ้าหนี้ โต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ แต่ทั้งนี้ หนี้ของนายเมฆขาดอายุความไปแล้วก่อนที่นายเมฆ จะฟ้องนายหมอกเป็นคดีนี้ จึงเห็นควรยกคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอํานาจ ทําความเห็นให้ยกคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ เพราะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 22 (3)

ส่วนกรณีที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคําสั่งว่า หนี้ดังกล่าวมีอยู่จริง อีกทั้งลูกหนี้ก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้ และขาดนัดพิจารณาจนศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าคดีของนายเมฆ ขาดอายุความก่อนนํามาฟ้องก็ตาม เมื่อไม่มีเจ้าหนี้โต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆ ศาลจึงเห็นสมควรมีคําสั่ง

อนุญาตให้นายเมฆยื่นคําขอรับชําระหนี้ได้นั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 94 เนื่องจากหนี้ที่ขาดอายุความเป็นหนี้ที่ฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ตามมาตรา 94 (1) ซึ่งเจ้าหนี้ ไม่อาจขอรับชําระหนี้ได้ แม้มูลแห่งหนี้จะได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก็ตาม

สรุป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจทําความเห็นให้ยกคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์ได้ และคําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้นายเมฆยื่นคําขอรับชําระหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ในคดีล้มละลายมาที่ร้อยละ 70 และขอผ่อนชําระหนี้ 24 งวด ภายหลัง ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับโดยมติพิเศษและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมด มีนายสิงหาและนายกันยาเป็นเจ้าหนี้มาขอรับชําระหนี้ไว้ และได้รับ ชําระหนี้ร้อยละ 70 แล้ว แต่การกู้ยืมเงินจากนายสิงหามีนายธันวาเป็นผู้ค้ําประกัน นายสิงหาเห็นว่า นายธันวาผู้ค้ําประกันยังเฉยอยู่ไม่ชําระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละ 30 นายสิงหาจึงฟ้อง ลูกหนี้และนายธันวาผู้ค้ําประกันให้ชําระหนี้ที่ยังขาดอยู่ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะรับสํานวน คําฟ้องของนายสิงหาเจ้าหนี้ได้พิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 56 “การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัด เจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคําสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้”

มาตรา 59 “การประนอมหนี้ไม่ทําให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ําประกันของลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับสํานวน 2 สํานวนนี้ไว้พิจารณาหรือไม่นั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีสํานวนที่นายสิงหาฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้

ตามกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคน ไม่ว่าเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่มิได้ยอมรับการขอประนอมหนี้ แม้กระทั่งเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ที่มิได้ยื่นขอรับชําระหนี้ไว้ก็ตาม และเมื่อลูกหนี้ได้ชําระหนี้ตามข้อตกลง ในการประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ เว้นแต่หนี้ตามมาตรา 77 (1) และ (2) คือ หนี้ภาษีอากร และหนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้ หนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้ ลูกหนี้จะต้องชําระหนี้
ต่อไปจนกว่าจะครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ (มาตรา 56)

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า ลูกหนี้ขอประนอมหนี้มาร้อยละ 70 ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว การประนอมหนี้ดังกล่าวย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคนตามมาตรา 56 ดังนั้น เมื่อนายสิงหาเจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้ไปแล้วร้อยละ 70 ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้น จากหนี้สินที่เหลือ เจ้าหนี้จะฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่ไม่ได้ ศาลย่อมไม่รับสํานวนฟ้องไว้พิจารณา (คําพิพากษาฎีกาที่ 1001/2509)

กรณีสํานวนที่นายสิงหาฟ้องเรียกให้นายธันวาชําระหนี้

ตามกฎหมายล้มละลาย ในการขอประนอมหนี้นั้น เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบ ด้วยแล้ว ย่อมมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นเช่นผู้ค้ําประกันหรือผู้ที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้หาได้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ (มาตรา 59)

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่านายสิงหาเจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้เพียงร้อยละ 70 จากลูกหนี้ นายสิงหา เจ้าหนี้จึงสามารถฟ้องเรียกให้นายธันวาผู้ค้ําประกันชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ได้ เพราะการประนอมหนี้ไม่ทําให้ ผู้ค้ําประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 59

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับสํานวนที่นายสิงหาเจ้าหนี้ฟ้องนายธันวาผู้ค้ําประกันไว้พิจารณา แต่จะยกฟ้องสํานวนที่นายสิงหาเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้

 

ข้อ 3. บริษัท ส. จํากัด กู้ยืมเงินจากธนาคาร บี. โดยนําโฉนดที่ดิน 1 แปลงมาทําสัญญาจํานองเป็น ประกันหนี้ให้แก่ธนาคาร บี. บริษัท ส. จํากัด ผิดนัดไม่ชําระหนี้ ธนาคาร บี. จึงฟ้องบังคับจํานอง ต่อศาลแพ่ง ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง บริษัท ส. จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟู กิจการของตนต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ ของบริษัท ส. จํากัด ไว้พิจารณาต่อไป บริษัท ส. จํากัด ยื่นคําแถลงต่อศาลแพ่งขอให้มีคําสั่ง งดการพิจารณาคดีที่ธนาคาร บี. ฟ้องบังคับจํานองดังกล่าว ธนาคาร บี. ยื่นคําคัดค้านต่อศาลแพ่งว่า ธนาคาร บี. เป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิบังคับจํานองต่อไปได้ ศาลแพ่งไม่อาจมีคําสั่งงดการ พิจารณาคดีได้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําคัดค้านของธนาคาร บี. ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/12 “ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้อง ขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง เห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น”

(6) ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับ อนุญาตจากศาลที่รับคําร้องขอ หรือล่วงพ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้องขอ ระยะเวลาดังกล่าว ศาลอาจขยายได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกเดือน”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 90/12 (4) ได้วางหลักไว้ว่า เมื่อศาลได้มีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว ให้ศาล งดการพิจารณาไว้ และมาตรา 90/12 (6) ได้บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สิน ที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคําร้องขอ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท ส. จํากัด กู้ยืมเงินจากธนาคาร บี. โดยนําโฉนดที่ดิน 1 แปลง มาทําสัญญาจํานองเป็นประกันหนี้ให้แก่ธนาคาร บี. เมื่อบริษัท ส. จํากัด ผิดนัดไม่ชําระหนี้ ธนาคาร บี. จึงฟ้อง บังคับจํานองต่อศาลแพ่ง ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง บริษัท ส. จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟู กิจการของตนต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ส. ไว้พิจารณาต่อไป ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ส. จํากัด ไว้แล้ว ย่อมมีผลทําให้ธนาคาร บี. ซึ่งแม้จะเป็นเจ้าหนี้จํานองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ก็จะถูกจํากัดสิทธิในการฟ้องบังคับคดี เอากับทรัพย์สินที่จํานองตามมาตรา 90/12 (6) และเมื่อมีการฟ้องคดีไว้แล้ว ศาลแพ่งก็ต้องมีคําสั่งให้งดการ พิจารณาคดีดังกล่าวไว้ตามนัยแห่งมาตรา 90/12 (4)

ดังนั้น เมื่อบริษัท ส. จํากัด ได้ยื่นคําแถลงต่อศาลแพ่งขอให้มีคําสั่งงดการพิจารณาคดีที่ธนาคาร บี. ฟ้องบังคับจํานองดังกล่าว แต่ธนาคาร บี. ได้ยื่นคําคัดค้านต่อศาลแพ่งว่า ธนาคาร บี. เป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิ บังคับจํานองต่อไปได้ ศาลแพ่งไม่อาจมีคําสั่งงดการพิจารณาคดีได้นั้น คําคัดค้านของธนาคาร บี. จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป คําคัดค้านของธนาคาร บี. ฟังไม่ขึ้น

LAW3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายหนึ่งทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายสองจํานวน 2 ล้านบาท ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายหนึ่ง ไม่ชําระหนี้ นายสองจึงฟ้องนายหนึ่งเป็นคดีล้มละลาย ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายหนึ่งชั่วคราว ในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 คดีของนายสองอยู่ในระหว่างการสืบพยาน นอกจากนี้ นายหนึ่งยังมี เจ้าหนี้อีกหนึ่งราย คือ นายสาม ซึ่งนายหนึ่งได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายสามจํานวน 3 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 หนี้ของนายสามถึงกําหนดชําระ นายสามจึงต้องการฟ้องนายหนึ่งให้ ล้มละลายในวันที่ 20 มิถุนายน 2564

ดังนี้ นายสามจะฟ้องนายหนึ่งให้ล้มละลายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 15 “ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้องลูกหนี้นั้น เป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้จําหน่าย
คดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 15 ได้กําหนดไว้ว่า ก่อนศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ แต่ละรายจะฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายอีกคดีก็ได้ แต่เมื่อศาลเดียวกันหรือศาลหนึ่งศาลใดได้มีคําสั่งพิทักษ์ ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ศาลจะต้องสั่งจําหน่ายคดีล้มละลายอื่น ๆ ซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสองฟ้องนายหนึ่งเป็นคดีล้มละลาย ซึ่งคดีนี้ ศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ ทรัพย์ชั่วคราวแล้วนั้น ในขณะที่คดีของนายสองอยู่ในระหว่างสืบพยาน นายสามซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายหนึ่ง อีกหนึ่งราย ซึ่งจํานวนเงินที่นายหนึ่งเป็นหนี้นายสามนั้นเป็นเงิน 3 ล้านบาท และหนี้นั้นถึงกําหนดชําระแล้ว มีความต้องการที่จะฟ้องให้นายหนึ่งล้มละลายอีกนั้น เมื่อคดีที่นายสองฟ้องให้นายหนึ่งล้มละลาย ศาลยังไม่มี คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายหนึ่งเด็ดขาด ดังนั้น นายสามย่อมสามารถฟ้องให้นายหนึ่งล้มละลายอีกได้ ตามมาตรา 15

สรุป นายสามสามารถฟ้องนายหนึ่งให้ล้มละลายได้

 

ข้อ 2. นายมะนาวทําสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายมะละกอ โดยนายมะนาวตกลงชําระเงินจํานวน 3,000,000 บาท แก่นายมะละกอ โดยขอผ่อนชําระเป็น 6 งวด งวดละ 500,000 บาท กําหนดผ่อน ชําระทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน เริ่มผ่อนชําระงวดแรกในเดือนกรกฎาคม 2564 เมื่อผ่อนชําระไปแล้ว 2 งวด ธุรกิจของนายมะนาวประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จึงทําให้ไม่สามารถชําระหนี้ส่วนที่ เหลือได้อีก ต่อมาหนี้เงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความงวดที่ 3 ถึงกําหนดชําระ แต่นายมะนาว ไม่ชําระหนี้ นายมะละกอจึงได้ส่งหนังสือทวงถามให้นายมะนาวชําระหนี้แล้วสองครั้ง แต่นายมะนาวก็ ยังคงเพิกเฉย นายมะละกอจึงฟ้องให้นายมะนาวล้มละลาย ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายมะนาวจอ ประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย 1 ล้านบาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ที่ ประชุมเจ้าหนี้ลงคะแนนเสียงด้วยมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก ซึ่งมีจํานวนหนี้เท่ากับ 2 ใน 3 ของเจ้าหนี้ ที่ได้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนว่ายอมรับคําขอประนอมหนี้ของนายมะนาว

ดังนี้ เหตุใดนายมะนาวต้องขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และเหตุใดจึงต้องมีการประชุมเจ้าหนี้ ครั้งแรก นอกจากนี้ ถ้าท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ท่านจะรายงานศาลว่า มติของเจ้าหนี้ ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่ง จํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”

มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. เหตุที่นายมะนาวต้องขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายนั้น เป็นเพราะว่าหากการขอประนอมหนี้ ก่อนล้มละลายของนายมะนาวเป็นผลสําเร็จ จะทําให้นายมะนาวลูกหนี้จ่ายหนี้น้อยลง และหากนายมะนาวลูกหนี้ ชําระหนี้ตามคําขอประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว จะทําให้นายมะนาวลูกหนี้ไม่ต้องตกเป็นคนล้มละลายและสามารถ
กลับมาทํานิติกรรมได้ตามปกติ

2. เหตุที่ต้องมีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนั้น เป็นเพราะตามมาตรา 31 วรรคหนึ่งได้กําหนดไว้ว่า เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยเร็วที่สุด ซึ่งต้องมีทุกคดีในคดีล้มละลาย เพื่อปรึกษาว่า

(1) ที่ประชุมเจ้าหนี้จะยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่

(2) หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

(3) และปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป

3. ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ซึ่งเป็นการประชุมเรื่องการขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ก่อน ล้มละลายตามมาตรา 31 นั้น มติที่ใช้จะต้องเป็น “มติพิเศษ” ตามมาตรา 6 คือ

(1) เป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก คือ ต้องมีเสียงของเจ้าหนี้มากกว่ากึ่งหนึ่งของเจ้าหนี้
ที่ออกเสียงลงคะแนน และ

(2) มีจํานวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน

แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงคะแนนเสียงด้วยมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก ซึ่งมีจํานวนหนี้เท่ากับ 2 ใน 3 ของเจ้าหนี้ที่ได้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนว่ายอมรับคําขอ ประนอมหนี้ของนายมะนาวลูกหนี้เท่านั้น จึงไม่ถือว่าเป็นมติพิเศษ มติของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าพเจ้าจะรายงานศาลว่า มติของเจ้าหนี้ในการ
ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. ในวันที่ 10 มกราคม 2564 นายเล็กทําสัญญาขายรถยนต์ให้นายใหญ่ 1 คัน ราคา 500,000 บาท โดยนายใหญ่ได้ออกเช็คสั่งจ่ายชําระราคารถยนต์มอบไว้ให้แก่นายเล็ก เช็คฉบับดังกล่าวลงวันที่ สั่งจ่ายเงินวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ต่อมานายใหญ่กลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงถูกเจ้าหนี้รายอื่น ฟ้องล้มละลาย ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เจ้าหนักงานพิทักษ์ ทรัพย์ได้ดําเนินการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายและประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลาย มายื่นขอรับชําระหนี้ในวันที่ 1 กันยายน 2564 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่มีการโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายเล็กได้เดินทางไปฉีดวัคซีนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายเล็กจะสามารถยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็คจํานวน 500,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้หรือไม่ ภายในกําหนดระยะเวลาเท่าใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
คดีไม่ได้

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับ

(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเล็กทําสัญญาขายรถยนต์ให้นายใหญ่ 1 คัน ราคา 500,000 บาท ในวันที่ 10 มกราคม 2564 โดยนายใหญ่ได้ออกเช็คสั่งจ่ายชําระราคารถยนต์มอบไว้แก่นายเล็กลงวันที่สั่งจ่ายเงิน วันที่ 10 ตุลาคม 2564 นั้น ถือว่าวันที่เกิดมูลหนี้ตามเช็ค คือ วันที่ 10 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ศาลจะมี คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (วันที่ 8 มิถุนายน 2564) แม้ว่าเช็คฉบับดังกล่าวจะลงวันที่สั่งจ่ายเงินเป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ก็เป็นแค่เพียงกําหนดเวลาใช้เงินเท่านั้น ดังนั้น นายเล็กจึงสามารถยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็ค จํานวน 500,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ เพราะมูลแห่งหนี้ดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกําหนดชําระก็ตาม ตามมาตรา 94

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่มีการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น นายเล็กได้ เดินทางไปฉีดวัคซีนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่านายเล็กเป็นเจ้าหนี้ซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร นายเล็กจึงสามารถยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็คจํานวน 500,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ภายใน กําหนดระยะเวลา 4 เดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คือวันที่ 1 กันยายน 2564 ตามมาตรา 91

สรุป ถ้านายเล็กสามารถยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็คจํานวน 500,000 บาท ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ได้ภายในกําหนด 4 เดือนนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

LAW3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโทจํานวน 2,000,000 บาท โดยทําหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายเอกผู้กู้ โดยนายเอกได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายโทยึดถือไว้ เป็นหลักประกัน ต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชําระหนี้ นายโทจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายเอก นายเอก ได้รับหนังสือทวงถามให้ชําระหนี้แล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเอก ก็ไม่ชําระหนี้นั้น นายโทจึงฟ้องนายเอกเป็นคดีล้มละลาย ศาลมีคําสั่งว่า นายโทเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ยอมระบุในคําฟ้องว่า จะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน และนายโทยังมีหนี้ตาม สัญญาซื้อขายอีกจํานวน 1,500,000 บาท ซึ่งยังไม่ถึงกําหนดชําระ แต่ได้ยื่นฟ้องรวมกันมากับ สัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งไม่สามารถฟ้องได้ ศาลจึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องของนายโท

ดังนี้ คําสั่งของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา
หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชําระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมี ห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและลูกหนี้ไม่ชําระหนี้”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท….และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็น
หลักประกัน และ
(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งของศาลล้มละลายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

1. กรณีหนี้เงินกู้จํานวน 2,000,000 บาท

การที่นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโทจํานวน 2,000,000 บาท ต่อมานายเอกผิดนัด ชําระหนี้ นายโทจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายเอก นายเอกได้รับหนังสือทวงถามให้ชําระหนี้แล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเอกก็ไม่ชําระหนี้นั้น กรณีดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายเอก ลูกหนี้เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (9) และเมื่อนายเอกซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้นายโทเจ้าหนี้ ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ล้านบาท นายโทเจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องให้นายเอกล้มละลายได้ตามมาตรา 9

การที่นายเอกกู้ยืมเงินจากนายโท โดยนายเอกได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายโทยึดถือไว้เป็นหลักประกันนั้น ไม่มีผลให้นายโทสามารถบังคับชําระหนี้เอาจากที่ดินตามโฉนดนั้นได้แต่อย่างใด นายโทจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของนายเอกลูกหนี้ นายโทจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน

เมื่อนายโทไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน นายโทย่อมมีสิทธิฟ้องนายเอกให้ล้มละลายได้ตามมาตรา 9 โดยนายโทไม่จําต้องบรรยายฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องตามมาตรา 10 ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายตรวจคําฟ้องแล้วเห็นว่า นายโทเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่นายโทไม่ได้บรรยายฟ้องตามมาตรา 10 ดังกล่าว จึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. กรณีหนี้ตามสัญญาซื้อขายจํานวน 1,500,000 บาท

การที่นายโทฟ้องนายเอกว่า นายเอกยังเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายซึ่งยังไม่ถึงกําหนดชําระแก่ นายโทอีกจํานวน 1,500,000 บาท แต่ศาลล้มละลายเห็นว่าเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระ จึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกรณีดังกล่าวนี้ เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะหนี้ตามสัญญา ซื้อขายจํานวน 1,500,000 บาทนั้น แม้จะเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายโทก็มีสิทธินําหนี้ดังกล่าวมาฟ้อง นายเอกเป็นคดีล้มละลายได้ตามมาตรา 9 (3)

สรุป คําสั่งของศาลล้มละลายทั้ง 2 กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายณภัทรเป็นหนี้นายเศรษฐี จํานวน 3 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2562 นายณภัทร ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นการชําระหนี้ให้แก่นายเศรษฐี โดยระบุวันที่สั่งจ่ายเงินในเช็ค เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายณภัทรตามที่ธนาคารไทยธุรกิจยื่นคําฟ้องต่อศาลเป็นคดีล้มละลาย โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้มีการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 5 กันยายน 2563 เมื่อนายเศรษฐีซึ่งอยู่ใน ราชอาณาจักรไทยทราบเรื่อง จึงยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็คต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ต่อมาธนาคารไทยธุรกิจได้ยื่นคัดค้านคําขอรับชําระหนี้ของนายเศรษฐีว่าหนี้ตามเช็คถึงกําหนดชําระภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงไม่มีสิทธิได้รับชําระหนี้ คําคัดค้านของธนาคารไทยธุรกิจฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และนายเศรษฐีสามารถขอรับชําระหนี้ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว”

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง
พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเศรษฐียื่นขอรับชําระหนี้ตามเช็คจํานวน 3 ล้านบาท ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์นั้น ถือเป็นเรื่องการขอรับชําระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่มีประกันในคดีล้มละลาย ซึ่งตามมาตรา 94 ได้วาง หลักไว้ว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจะขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่เป็นหนี้ต้องห้ามตามมาตรา 94 (1) และ (2)

ตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หนี้ตามเช็คที่นายณภัทรสั่งจ่ายให้แก่นายเศรษฐีเป็นหนี้อันเกิดขึ้นก่อน วันที่ 1 กันยายน 2563 อันเป็นวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยนายณภัทรออกเช็คในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ดังนั้นจึงฟังได้ว่าวันที่ออกเช็คอันถือเป็นวันที่มูลหนี้ตามเช็คเกิดขึ้นนั้น เป็นเวลาก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายเศรษฐีจึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 94 วรรคหนึ่ง

ส่วนคําคัดค้านของธนาคารไทยธุรกิจที่ว่า หนี้ตามเช็คถึงกําหนดชําระภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงไม่มีสิทธิได้รับชําระหนี้นั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะตามมาตรา 94 ได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ว่า แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม หากว่ามูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ย่อมอาจขอรับชําระหนี้ได้ แม้กําหนดชําระเงินตามเช็คจะครบกําหนดในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันหลังจาก วันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม หนี้ตามเช็คนั้นย่อมอาจขอรับชําระหนี้ได้ ดังนั้น คําคัดค้านของ ธนาคารไทยธุรกิจจึงฟังไม่ขึ้น

และกรณีที่นายเศรษฐีซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็คต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 นายเศรษฐีสามารถขอรับชําระหนี้ได้หรือไม่นั้น ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 91 ได้วางหลักไว้ว่า เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย จะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม จะต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาด และคดีนี้เมื่อได้มีการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในวันที่ 5 กันยายน 2563 แต่นายเศรษฐีได้ยื่น คําขอรับชําระหนี้ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ซึ่งเลยกําหนดระยะเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดแล้ว ดังนั้น นายเศรษฐีจึงไม่สามารถขอรับชําระหนี้ได้

สรุป ข้อคัดค้านของธนาคารไทยธุรกิจฟังไม่ขึ้น และนายเศรษฐีจะขอรับชําระหนี้ไม่ได้

 

ข้อ 3. ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท สําราญ จํากัด ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งสําเนา แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด เพื่อทราบในวันที่ 1 กันยายน 2563 ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณา แผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทําแผนเสนอต่อที่ประชุม ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด เจ้าหนี้ ไม่มีประกันซึ่งเป็นผู้ส่งวัสดุพลาสติกในการประกอบชิ้นส่วนให้แก่ บริษัท สําราญ จํากัด ลูกหนี้ ได้ขอให้มีการแก้ไขแผนฟื้นฟูว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้นได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เหมาะสม โดยนําหนี้ของตนไปจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 กลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทเจ้าหนี้ค่าใช้สอยและ ค่าสาธารณูปโภคแทนที่จะเป็นกลุ่มที่ 2 ประเภทกลุ่มเจ้าหนี้การค้า ทําให้ตนได้รับเงื่อนไขในการ ชําระหนี้น้อยกว่ากลุ่มเจ้าหนี้การค้าอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มที่ 2 ดังนั้น จึงขอให้ผู้ทําแผนจัดให้ตนไปอยู่ ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มเจ้าหนี้การค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม ผู้ทําแผนไม่ยินยอมให้แก้ไข การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ตามที่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ร้องขอ ครั้นวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด จึงได้ยื่นคําร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้ผู้ทําแผนแก้ไขแผนโดยจัดกลุ่ม เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูเสียใหม่ดังกล่าวข้างต้น เช่นนี้ ศาลจะสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนเสียใหม่ โดยขอให้จัดไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มเจ้าหนี้การค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม ตามที่ ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ร้องขอได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/42 ทวิ “การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42 (3) (ข) ให้จัดดังต่อไปนี้…

เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง อาจยื่นคําร้องขอต่อศาลภายใน เจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคําสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คําสั่งศาลตาม มาตรานี้ให้เป็นที่สุด”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง ได้กําหนดไว้ว่า หากเจ้าหนี้รายใดเห็นว่า การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง เจ้าหนี้รายนั้นจะต้องยื่นคําร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน 7 นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม คือนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รับสําเนาแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มิฉะนั้น ย่อมถือว่า เจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบกับการจัดกลุ่มนั้นแล้ว

ตามอุทาหรณ์ การที่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับสําเนาแผนฟื้นฟูกิจการของ ลูกหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 1 กันยายน 2563 ดังนี้ หากห้างฯ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เห็นว่าการจัดกลุ่ม เจ้าหนี้ไม่เหมาะสมและต้องการให้ผู้ทําแผนแก้ไขแผนโดยจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูเสียใหม่เพื่อให้เกิดความ เป็นธรรมและเหมาะสมก็จะต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในวันที่ 8 กันยายน 2563 แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าห้างฯ ได้ยื่นคําร้องต่อศาลในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งถือเป็นการยื่นคําร้องขอต่อศาลเมื่อพ้นกําหนดเวลาที่อาจ ยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคําสั่งจัดกลุ่มเสียใหม่ได้แล้ว ดังนั้น ศาลจะสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนเสียใหม่ ตามที่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ร้องขอไม่ได้

สรุป ศาลจะสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนเสียใหม่ตามที่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ร้องขอไม่ได้

LAW3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย s/2562

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกทําสัญญาซื้อเครื่องจักรจากนายโทจํานวน 20 เครื่อง พร้อมทั้งชําระราคาค่าเครื่องจักร เรียบร้อยแล้ว พอถึงวันส่งมอบเครื่องจักรนายโทไม่ส่งมอบเครื่องจักรให้นายเอก ทําให้นายเอกไม่มีเครื่องจักรไปผลิตสินค้าส่งให้ลูกค้า นายเอกได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาเป็นเงิน จํานวน 2,000,000 บาท นายเอกจึงส่งหนังสือบอกกล่าวไปถึงนายโทให้นายโทส่งมอบเครื่องจักร และชําระค่าเสียหายจากการผิดสัญญา นายโทได้รับหนังสือทวงถามจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้ง ห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และนายโทก็ไม่ยอมชําระค่าเสียหายดังกล่าว นายเอกจึงฟ้องนายโท เป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายมีคําสั่งให้รับฟ้อง

ดังนี้ คําสั่งให้รับฟ้องของศาลล้มละลายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชําระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลา ห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชําระหนี้”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท… และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลัน หรือในอนาคตก็ตาม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกทําสัญญาซื้อเครื่องจักรจากนายโทจํานวน 20 เครื่อง พร้อมทั้ง ชําระราคาค่าเครื่องจักรเรียบร้อยแล้ว แต่พอถึงวันส่งมอบเครื่องจักรนายโทไม่ส่งมอบเครื่องจักรให้นายเอก ทําให้ นายเอกไม่มีเครื่องจักรไปผลิตสินค้าส่งให้ลูกค้า ซึ่งทําให้นายเอกได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาเป็นเงิน จํานวน 2,000,000 บาท นายเอกจึงส่งหนังสือบอกกล่าวไปถึงนายโทให้นายโทส่งมอบเครื่องจักรและชําระ ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา นายโทได้รับหนังสือทวงถามจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายโทก็ไม่ยอมชําระค่าเสียหายดังกล่าวนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่านายโทลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (9) แล้ว

แต่อย่างไรก็ดี แม้นายโทลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้นายเอก ผู้เป็นโจทก์เป็นเงินจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทตามมาตรา 9 (1) และ (2) ก็ตาม แต่หนี้ค่าเสียหายจากการ ผิดสัญญานั้นเป็นหนี้ที่ไม่อาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 (3) ดังนั้น นายเอกจึงไม่สามารถฟ้องนายโทให้ล้มละลายได้ การที่นายเอกฟ้องนายโทเป็นคดีล้มละลายและศาล
ล้มละลายมีคําสั่งให้รับฟ้องนั้น คําสั่งให้รับฟ้องของศาลล้มละลายจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งให้รับฟ้องของศาลล้มละลายไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายจนกู้ยืมเงินนายรวยจํานวน 2,000,000 บาท โดยทําหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ นายจนผู้กู้ ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายจนไม่ชําระหนี้ นายรวยจึงฟ้องนายจนเป็นคดีล้มละลาย ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายรวยมายื่นคําขอรับชําระหนี้ ต่อมานายจนยื่นคําขอประนอมหนี้ ก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงคะแนนเสียง ด้วยมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจํานวนหนี้ข้างมาก ซึ่งได้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนว่ายอมรับ คําขอประนอมหนี้ของนายจน

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ท่านจะรายงานศาลว่ามติของเจ้าหนี้ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่งจํานวน หนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และ ได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”

มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”

มาตรา 36 “เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือ ประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาล และ ศาลอาจมีคําสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ”

มาตรา 46 “การยอมรับคําขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายรวยฟ้องนายจนเป็นคดีล้มละลายและศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดแล้ว ต่อมานายจนได้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมหนี้ ครั้งแรกเพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่งนั้น การยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้นั้นจะต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งกรณีที่จะเป็นมติพิเศษนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

1. เป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก คือต้องมีเสียงของเจ้าหนี้มากกว่ากึ่งหนึ่งของเจ้าหนี้ที่ออกเสียงลงคะแนน และ

2. มีจํานวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน(มาตรา 46 ประกอบมาตรา 6)

แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงคะแนนเสียงด้วยมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มี จํานวนหนี้ข้างมากซึ่งได้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนว่ายอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เท่านั้น มติ ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นมติพิเศษ ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าพเจ้าจะรายงานศาลว่ามติของ เจ้าหนี้เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ใช่มติพิเศษ

สรุป ข้าพเจ้าจะรายงานศาลว่ามติของเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ใช่มติพิเศษ

 

ข้อ 3. การปลดจากล้มละลายมีกี่กรณี อะไรบ้าง จงอธิบายโดยละเอียด พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 67/1 “เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจาก ล้มละลายเมื่อศาลได้มีคําสั่งปลดจากล้มละลายตามมาตรา 71 หรือเมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาตามมาตรา 81/1”

จากบทบัญญัติมาตรา 67/1 จะเห็นได้ว่าการปลดจากล้มละลายนั้นมีได้ 2 กรณี ได้แก่

1. การปลดจากล้มละลายโดยคําสั่งศาลตามมาตรา 71

2. การปลดจากล้มละลายโดยผลของระยะเวลาตามกฎหมายตามมาตรา 81/1

1. การปลดจากล้มละลายโดยคําสั่งศาลตามมาตรา 71

ให้ศาลมีคําสั่งปลดจากล้มละลาย เมื่อศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า

(1) ได้มีการแบ่งทรัพย์สินชําระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชําระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ และ

(2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

ซึ่งการปลดจากล้มละลายกรณีนี้ ลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายจะต้องร้องขอให้ศาลมีคําสั่งปลดจากล้มละลายเมื่อเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 71 (1) และ (2) และเมื่อศาลได้มีคําสั่งปลดจากล้มละลาย ศาลอาจ กําหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการปลด
จากล้มละลายตามมาตรา 81/1

2. การปลดจากล้มละลายโดยผลของระยะเวลาตามกฎหมายตามมาตรา 81/1
การปลดจากล้มละลายตามมาตรา 81/1 นี้ ลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายไม่ต้องร้องขอต่อศาล แต่อย่างใด เพราะตามกฎหมายได้กําหนดให้ปลดลูกหนี้จากล้มละลายทันทีที่พ้นกําหนดระยะเวลาสามปีนับจาก
วันที่ศาลได้มีคําพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่

(1) ถ้าบุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้วและยังไม่พ้นกําหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลัง ให้ขยายระยะเวลาเป็นห้าปี

(2) ถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม

(3) ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี (3) ถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดอันมี ลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี

LAW3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3110 (LAW3010)  กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5,000,000 บาท โดยนายเมฆได้นําที่ดินของตน มาจํานองไว้เป็นประกันหนี้ ซึ่งในสัญญาจํานอง นายเมฆและนายหมอกได้ทําข้อตกลงพิเศษว่า หากบังคับจํานองเอากับที่ดินแล้วได้เงินไม่พอชําระหนี้ นายหมอกสามารถบังคับเอากับทรัพย์สินอื่น ของนายเมฆได้อีก ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงฟ้องนายเมฆ เป็นคดีแพ่ง ต่อมาศาลแพ่งมีคําพิพากษาให้นายเมฆชําระหนี้เงินกู้จํานวน 5,000,000 บาท นายหมอกจึงบังคับจํานองเอาที่ดินออกขายทอดตลาด ได้เงินมาจากการขายทอดตลาดจํานวน 3,000,000 บาท นายหมอกจึงนําหนี้ที่ยังขาดอยู่อีก 2,000,000 บาท ไปฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับฟ้องและส่งสําเนาคําฟ้องให้นายเมฆก่อนนายเมฆจะยื่นคําให้การศาลแพ่งมีคําสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของนายหมอก นายเมฆจึงยื่นคําให้การในคดีล้มละลายว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ได้กล่าวในคําฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน คําสั่งรับฟ้องของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนี้ ข้ออ้างของนายเมฆฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชําระหนี้ได้”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท… และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้ออ้างของนายเมฆฟังขึ้นหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5,000,000 บาท โดยนายเมฆนําที่ดิน ของตนมาจํานองไว้เป็นประกันหนี้นั้น ถือได้ว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามนัยของมาตรา 6 เพราะ นายหมอกเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง ต่อมาเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆ
ไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงฟ้องนายเมฆเป็นคดีแพ่งและศาลแพ่งมีคําพิพากษาให้นายเมฆชําระหนี้เงินกู้จํานวน 5,000,000 บาท และนายหมอกได้บังคับจํานองเอาที่ดินออกขายทอดตลาดได้เงินมาจากการขายทอดตลาดจํานวน 3,000,000 บาท เหลือหนี้ที่ยังค้างชําระอีก 2,000,000 บาทนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่านายเมฆลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (5)

2. เมื่อนายเมฆซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้นายหมอกไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และเป็นหนี้ ที่กําหนดจํานวนได้แน่นอนและหนี้นั้นถึงกําหนดชําระแล้วตามมาตรา 9 อีกทั้งนายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกันตาม มาตรา 10(1) เนื่องจากนายเมฆและนายหมอกได้ทําข้อตกลงพิเศษไว้ว่า หากมีการบังคับจํานองเอากับที่ดิน แล้วได้เงินไม่พอชําระหนี้ นายหมอกสามารถบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของนายเมฆได้อีก ดังนั้น นายหมอกย่อม มีสิทธิฟ้องนายเมฆลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ และเมื่อนายหมอกฟ้องให้นายเมฆล้มละลาย การที่ศาลล้มละลายกลาง มีคําสั่งรับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกลางจึงชอบด้วยกฎหมาย

3. ในขณะที่นายหมอกฟ้องนายเมฆให้ล้มละลายนั้น นายหมอกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคําฟ้องนั้น ไม่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ จึงถือว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามนัยของมาตรา 6 ดังนั้น นายหมอกจึงไม่จําต้องบรรยายฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลายหรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องตามมาตรา 10 (2) และแม้ต่อมาภายหลังศาลแพ่งจะมีคําสั่งให้เพิกถอน
การขายทอดตลาดก็ตาม ก็ไม่มีผลถึงการบรรยายฟ้องและคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของศาลล้มละลายกลาง ให้กลายเป็นฟ้องและคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายเมฆยื่นคําให้การในคดีล้มละลายว่า นายหมอกเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ได้กล่าวในคําฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน คําสั่งรับ ฟ้องของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้ออ้างของนายเมฆจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของนายเมฆฟังไม่ขึ้น

ข้อ 2. ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษา ให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางทําการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วนัดฟังคําพิพากษา ลูกหนี้ (จําเลย) ยื่นคําร้องขอให้ศาลงดอ่านคําพิพากษาเนื่องจากลูกหนี้ยังมีความสามารถที่จะ ชําระหนี้ได้ ศาลงดอ่านคําพิพากษาโดยอนุญาตให้ลูกหนี้ไปดําเนินการยื่นคําขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ดังนี้ คําสั่งศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 45 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทําความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชําระหนี้ แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทําคําขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนด เจ็ดวันนับแต่วันยื่นคําชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กําหนดให้”

มาตรา 61 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไปขอให้ศาลพิพากษา ให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับ ความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจจัดการทรัพย์สิน ของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในคดีล้มละลายนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้
เด็ดขาดแล้ว และต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานต่อศาลว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้
ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น ถือเป็นเหตุประการหนึ่งที่ศาลจะต้องมีคําพิพากษาให้ลูกหนี้ ล้มละลายเท่านั้นตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางทําการไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยแล้วนัดฟังคําพิพากษา ลูกหนี้ (จําเลย) ได้ยื่นคําร้องขอให้ศาลงดอ่านคําพิพากษาเนื่องจากลูกหนี้ ยังมีความสามารถที่จะชําระหนี้ได้ และศาลงดอ่านคําพิพากษาโดยอนุญาตให้ลูกหนี้ไปดําเนินการยื่นคําขอ ประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้ง ๆ ที่ล่วงเลยระยะเวลาการยื่นขอประนอมหนี้ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง ซึ่งกําหนดให้ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนด 7 วันนับแต่วันยื่นคําชี้แจง เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินไปแล้วนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้งดอ่านคําพิพากษาและอนุญาตให้ลูกหนี้ ไปดําเนินการยื่นคําขอประนอมหนี้ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง

สรุป คําสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. บริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด ลูกหนี้ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของตนต่อศาล ต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยได้แต่งตั้ง นายเก่ง เป็นผู้บริหารแผนและดําเนิน กิจการของบริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด แทนลูกหนี้ โดยได้แจ้งบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบแล้วทาง หนังสือพิมพ์รายวัน ภายหลังจากนั้นนายเก่งในฐานะผู้บริหารแผน ได้สั่งซื้อสินค้าเพื่อใช้ในการ ประกอบกิจการค้าตามปกติของลูกหนี้จากบริษัท มายโฮม จํากัด เป็นเงิน 3 ล้านบาท ครั้นครบกําหนด ชําระเงิน นายเก่งผู้บริหารแผนมิได้ชําระหนี้ค่าสินค้า บริษัท มายโฮม จํากัด จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล นายเก่งได้ยื่นคําให้การว่า บริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด เป็นหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องจริงแต่ขณะนี้ตน อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีอันเกี่ยวกับทรัพย์สิน ดังนี้ บริษัท มายโฮม จํากัด สามารถฟ้องคดีต่อนายเก่งในฐานะผู้บริหารแผนของลูกหนี้ และคําให้การของนายเก่งรับฟังได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/12 “ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้อง ขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผน
หรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง เห็นชอบ
ด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย….”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ ของตนต่อศาล และต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยได้แต่งตั้งให้นายเก่ง เป็นผู้บริหารแผนและดําเนินกิจการของบริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด แทนลูกหนี้ โดยได้แจ้งให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ทราบแล้วนั้น ย่อมมีผลตามมาตรา 90/12 (4) กล่าวคือ ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หนี้ค่าซื้อสินค้าที่นายเก่งในฐานะผู้บริหารแผนได้สั่งซื้อจากบริษัท มายโฮม จํากัด นั้น เป็นหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว อีกทั้ง เป็นหนี้ที่ถึงกําหนดชําระแล้ว จึงเป็นหนี้ที่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย หนี้รายนี้จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม มาตรา 90/12 (4) ที่ห้ามมิให้ฟ้องคดี ดังนั้น บริษัท มายโฮม จํากัด จึงสามารถยื่นฟ้องเป็นคดีให้ลูกหนี้ชําระหนี้ ค่าสินค้าดังกล่าวได้ และคําให้การของนายเก่งที่ว่าบริษัท กิจสัมพันธ์ จํากัด อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการย่อมได้รับ การคุ้มครองตามกฎหมายห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นรับฟังไม่ได้

สรุป บริษัท มายโฮม จํากัด สามารถฟ้องคดีต่อนายเก่งในฐานะผู้บริหารแผนของลูกหนี้ได้ และคําให้การของนายเก่งดังกล่าวรับฟังไม่ได้

LAW3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย s/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5,000,000 บาท ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์นายเมฆเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าไปในบ้านของนายเมฆเพื่อยึดทรัพย์สิน และสามารถยึดทรัพย์สินมาได้หลายอย่าง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงนําทรัพย์สินของนายเมฆออกขายทอดตลาดทันที

ดังนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจนําทรัพย์สินของนายเมฆออกขายทอดตลาดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 19 “คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายของศาล ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย

ในการยึดทรัพย์สินนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ หรือที่ลูกหนี้ได้ครอบครองอยู่ และมีอํานาจหักพังเพื่อเข้าไปในสถานที่นั้น ๆ รวมทั้งเปิดตู้นิรภัย ตู้ หรือที่เก็บของ
อื่น ๆ ตามที่จําเป็น

ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดไว้ตามมาตรานี้ ห้ามมิให้ขายจนกว่าศาลจะได้มีคําพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเว้นแต่เป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสียงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของ
ทรัพย์สินนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมอกฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย และต่อมาศาลล้มละลายกลาง มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเมฆเด็ดขาดนั้น คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของศาลล้มละลายกลางให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายศาล ทําให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถเข้าไปในบ้านของนายเมฆเพื่อยึดทรัพย์สินต่าง ๆ ได้ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดมาได้นั้น ห้ามมิให้นําออกขาย ทอดตลาดจนกว่าศาลจะได้มีคําพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่จะเป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็น การเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเป็นส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนําทรัพย์สินของนายเมฆออกขายทอดตลาดทันทีโดยที่ศาลล้มละลายกลางยังไม่ได้มีคําสั่งให้นายเมฆล้มละลายนั้นจึงมิอาจทําได้ (ตามมาตรา 19 วรรคสาม)

สรุป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอํานาจนําทรัพย์สินของนายเมฆออกขายทอดตลาด

 

ข้อ 2. นายดินทําสัญญากู้ยืมเงินจากนางสาวน้ําจํานวน 8,000,000 บาท ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายดินไม่ชําระหนี้ นางสาวน้ําจึงฟ้องนายดินให้ล้มละลาย ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์นายดินเด็ดขาด นายดินยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติด้วยจํานวนเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจํานวนหนี้เท่ากับ 2 ใน 3 ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนายดิน

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ท่านจะรายงานศาลว่าอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่งจํานวน หนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และ ได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”

มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในคดีล้มละลายเมื่อศาล ได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นการเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก และให้นําคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนี้ เพื่อ

1. ให้ได้มติพิเศษว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ หรือ

2. ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายดินเด็ดขาด และนายดิน ได้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเพื่อนําคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อให้ได้มติพิเศษว่าควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ ตามมาตรา 31 นั้น เมื่อปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าหนี้มติด้วยจํานวนเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจํานวนหนี้เท่ากับ 2 ใน 3 ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนายดิน มติดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นมติพิเศษ ทั้งนี้เพราะกรณีที่จะเป็นมติพิเศษนั้น ตามมาตรา 6 ได้กําหนดไว้ว่า จะต้องเป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจํานวนหนี้เท่ากับ 3 ใน 4 แห่งจํานวน หนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน และได้ออกเสียงลงคะแนน ในมตินั้น ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าพเจ้าจะรายงานต่อศาลว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่เป็นมติพิเศษ

สรุป ข้าพเจ้าจะรายงานต่อศาลว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่เป็นมติพิเศษ

 

ข้อ 3. ในวันที่ 15 กันยายน 2559 นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายหมอกจํานวน 2,000,000 บาท กําหนดชําระคืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา โดยนายเมฆได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1234 ของตนเองให้นายหมอกยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวพร้อมทําบันทึก แนบท้ายสัญญากู้ตกลงยอมให้นายหมอกสามารถบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของตนเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมินประมาณ 1,500,000 บาท ต่อมานายเมฆกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวและถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลาย ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณา คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายและประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายหมอกจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนหรือไม่ ด้วยวิธีการใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายหมอกจํานวน 2,000,000 บาท ในวันที่ 15 กันยายน 2559 กําหนดชําระคืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา โดยนายเมฆได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1234 ของตนเองให้นายหมอกยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวนั้น มิได้ทําให้นายหมอก มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามนัยมาตรา 6 แต่อย่างใด เพราะการจํานองจะเกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์ตาม กฎหมายนั้นจะต้องมีการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น นายหมอกจึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน

เมื่อหนี้เงินกู้เกิดขึ้นก่อนวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่า หนี้นั้นจะยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายหมอกก็สามารถยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่ต้องยื่นคําขอภายในกําหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 91 วรรคหนึ่ง

สรุป นายหมอกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนได้ โดยการยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

 

WordPress Ads
error: Content is protected !!