การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 2201 (MCS 2260) การรายงานข่าว

คำแนะนำ ข้อสอบมีทั้งหมด 8 ข้อ ให้นักศึกษาทำข้อสอบทุกข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน

Advertisement

ข้อ 1. ถ้านักศึกษาเป็นผู้สื่อข่าวที่ได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวการชุมนุมประท้วงรัฐบาล จะรายงาน เหตุการณ์นี้ในแง่มุมหรือประเด็นใดได้บ้าง ไม่ต้องเขียนเนื้อข่าว  

แนวคำตอบ (คำบรรยาย)

แง่มุมหรือประเด็นที่ควรรายงานในข่าวดังกล่าว 

–           มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ไหน วันที่-เวลาใด

–           การชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งนี้มีสาเหตุมาจากอะไร ผู้ชุมนุมเรียกร้องอะไรจากรัฐบาล

–           ใครเป็นแกนนำ และมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณกี่คน

–           มีการตั้งเวทีการชุมนุมที่ไหน และแกนนำปราศรัยว่าอย่างไรบ้าง

–           หากมีการยกระดับการชุมนุม โดยการเคลื่อนไหวไปปิดการจราจร หรือปิดสถานที่ต่าง ๆ ให้ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

–           ฝ่ายรัฐบาลมีความเคลื่อนไหว หรือมีมาตรการอย่างไรต่อการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ มีการ ส่งใครมาเป็นตัวแทนเจรจาหรือไม่

–           มีเหตุปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมหรือไม่ ตำรวจใช้อาวุธในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไร และผู้ชุมนุมตอบโต้ตำรวจด้วยวิธีการใด

–           ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงครั้งนี้มีหรือไม่ จำนวนเท่าใด ความเสียหาย ต่อทรัพย์สินต่าง ๆ และผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป

–           เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งนี้จบลงอย่างไร หรือมีบทสรุปอย่างไร

ข้อ 2. สมมุตินักศึกษาเป็นผู้สื่อข่าวที่ได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.รามคำแหง ชนะเลิศการประกวดร้องเพลง เดอะวอยซ์ ไทยแลนด์

2.1       มีประเด็นข่าวอะไรบ้างที่ควรรายงาน 

2.2       จะหาข้อมูลได้จากแหล่งข่าวใด แต่ละแหล่งข่าวให้ข้อมูลได้ในประเด็นใด    

แนวคำตอบ หน้า 15 – 17189, (คำบรรยาย)

2.1 ประเด็นข่าวที่ควรรายงานในข่าวดังกล่าว มีดังนี้

–           มีการแข่งขันร้องเพลงรายการอะไร แข่งที่ไหน วันที่-เวลาที่แข่ง

–           บรรยากาศก่อนการแข่งขันเป็นอย่างไร มีผู้ชมมาเชียร์ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนคึกคักเพียงใด 

–         กติกาการแข่งขันในรอบสุดท้ายเป็นอย่างไร ผู้ชนะจะได้รับรางวัลอะไร

–           ผู้เข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายประกอบด้วยใครบ้าง แต่ละคนมีใครเป็นโค้ช และต้องร้องเพลงอะไรในการแข่งขันรอบนี้

–           ลำดับการแข่งขันร้องเพลงตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ใครเป็นผู้ชนะ

–           บรรยากาศหลังการแข่งขันจบลง ความรู้สึกของผู้ชนะ ความคิดเห็นของโค้ช และการแสดง ความยินดีของกองเชียร์

–           ประวัติของผู้ชนะ กำลังศึกษาอยู่ที่ไหน หรือเคยประกวดร้องเพลงได้รับรางวัลอะไร มาบ้าง

2.2       แหล่งข่าวและประเด็นที่จะให้ข้อมูลในข่าวดังกล่าว ได้แก่

–           ผู้จัดรายการเดอะวอยซ์ ไทยแลนด์ ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกติกาการแข่งขัน และรางวัล ที่ผู้ชนะจะได้รับ

–           กรรมการหรือโค้ชที่ผู้ชนะเป็นลูกทีม ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลที่ลูกทีมของตน ได้รับชัยชนะ รวมทั้งความคิดเห็นชองโค้ชคนอื่น ๆ

–           ตัวผู้ชนะการแข่งขัน/พ่อแม่พี่น้อง ซึ่งจะให้ข้อมูลเรื่องประวัติส่วนตัวต่าง ๆ และ ความรู้สึกที่ได้รับชัยชนะ

–           อธิการบดี/คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ เกียรติประวัติในด้านต่าง ๆ ที่ผู้ชนะเคยทำให้แก่มหาวิทยาลัย รวมทั้งความรู้สึกที่ลูกศิษย์ ได้รับชัยชนะและสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย

ข้อ 3. ในการเขียนข่าวการแข่งขันกีฬากับข่าวไฟไหม้ต้องระบุถึงคุณลักษณะ (Identification) อะไรบ้าง ในข่าว ไม่ต้องเขียนเนื้อข่าว     (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 119 – 122, (คำบรรยาย)

คุณลักษณะที่ต้องระบุในการเขียนข่าวการแข่งขันกีฬา 

1.         คุณลักษณะของบุคคล ได้แก่ ชื่อ-นามสกุลของนักกีฬา โค้ช และผู้เกี่ยวข้องในข่าวอายุของนักกีฬา ในกรณีที่อายุน้อยแต่คว้าแชมป์ได้ยศหรือตำแหน่งของผู้มีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องในข่าว เช่น นายกสมาคมกีฬาชนิดต่าง ๆเกียรติภูมิหรือชื่อเสียงของนักกีฬาที่เคยเป็นอดีตแชมป์ในรายการแข่งขันนั้น ๆ มาก่อนชื่อเล่นหรือฉายาของนักกีฬาดาวเด่น เป็นต้น

2.         คุณลักษณะของสถานที่ ได้แก่ สถานที่จัดการแข่งขันตั้งอยู่ที่ตำบล อำเภอ และจังหวัดใด หากอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหรือสถานที่ที่มีชื่อเสียงก็ต้องระบุลงไปด้วย ในกรณีที่สถานที่จัดการแข่งขันอยู่ในต่างประเทศก็ต้องระบุว่าอยู่ที่เมืองใด ประเทศอะไร หรือมีความสำคัญอย่างไร เช่น เป็นเมืองหลวง เมืองท่า ฯลฯ

3.         คุณลักษณะของเหตุการณ์ ได้แก่ ลำดับการแข่งขันกีฬาตั้งแต่ก่อนแข่ง บรรยากาศ เป็นอย่างไรจากนั้นการแข่งขันกีฬาดำเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร ใครแพ้ ใครชนะ และภายหลังจบเกมบรรยากาศ เป็นอย่างไร มีโปรแกรมการแข่งขันต่อไปอย่างไรบ้าง

คุณลักษณะที่ต้องระบุในการเขียนข่าวไฟไหม้ 

1.         คุณลักษณะของบุคคล ได้แก่ ชื่อ-นามสกุลของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และเจ้าหน้าที่ที่ เกี่ยวข้องอายุของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นเด็กอาชีพของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บยศหรือตำแหน่งของเจ้าหน้าทีตำรวจที่อยู่ของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ เป็นต้น

2.         คุณลักษณะของสถานที่ ได้แก่ สถานที่เกิดไฟไหม้ชื่ออะไร ตั้งอยู่ที่ซอย ถนน เขตอะไร ในกรุงเทพฯ หากอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหรือที่ที่รู้จักกันดีก็ต้องระบุลงไปด้วย

3.         คุณลักษณะของเหตุการณ์ ได้แก่ ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดไฟไหม้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เวลาที่เกิดเหตุ จากนั้นเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์จบลงแล้ว มีสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ คำพูดของผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บ และผู้รอดชีวิต รวมทั้งข้อสันนิษฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดไฟไหม้ หลักฐานที่พบ เป็นต้น

ข้อ 4. จากข้อมูลต่อไปนี้ จงเขียนเนื้อข่าว         (10 คะแนน)

สกิมเมอร์ คืออะไร

สกิมเมอร์ เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก ๆ ที่คนร้ายสร้างขึ้นด้วยการนำแถบแม่เหล็ก วงจรถอดรหัสและวงจรหน่วยความจำมาประกอบเข้าด้วยกัน สามารถพกพาได้ และใช้พลังงานจาก แบตเตอรี่ จากนั้นนำไปติดตั้งไว้ที่ช่องรูดบัตรของตู้เอทีเอ็ม เมื่อมีคนนำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิตมารูด หรือสอดบัตรเข้าช่องเสียบบัตร แล้วกดรหัส ตัวแถบแม่เหล็กของสกิมเมอร์ก็จะบันทึกข้อมูลแล้วส่งไป เก็บไว้ในหน่วยความจำ หรืออาจส่งข้อมูลต่อไปถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของมิจฉาชีพเลยก็ได้ จากนั้น หน้าจอเอทีเอ็มอาจแสดงข้อความว่า ขออภัย เครื่องไม่สามารถทำรายการได้” หรือ ท่านทำรายการ เรียบร้อยแล้ว กรุณารับเงิน” ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องอ่านบัตรปลอมที่ใช้

เมื่อมิจฉาชีพขโมยข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มและรหัสฝานไปแล้ว ก็จะนำข้อมูลนั้นไปสร้าง บัตรปลอมที่มีข้อมูลในแถบแม่เหล็กเหมือนกับบัตรจริง ซึ่งสามารถนำไปกดเงินหรือรูดซื้อสินค้าได้ เหมือนบัตรจริงทุกประการ ทั้งนี้คนร้ายบางคนอาจไม่นำข้อมูลไปทำบัตรปลอม แต่นำข้อมูลไปขายต่อ ในอินเทอร์เน็ตอีกทอดก็มี

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตู้เอทีเอ็มตู้ไหนปลอดภัย ไร้สกิมเมอร์ ???

เนื่องจากมิจฉาชีพมักซ่อนเครื่องสกิมเมอร์ไว้อย่างแนบเนียนมาก ดังนั้นการตรวจสอบ อาจทำได้ไม่ง่ายนัก แต่อย่างน้อยก็มีแนวทางที่จะช่วยให้เราสังเกตเบื้องต้น เพื่อดูว่าตู้เอทีเอ็มนั้นเสี่ยง ต่อการใช้งานหรือไม่ นั่นก็คือ

ตรวจดูสิ่งผิดปกติรอบตู้เอทีเอ็มก่อนใช้งาน เพื่อดูว่ามีกล้องตัวเล็กซุกซ่อนอยู่หรือไม่ โดย มิจฉาชีพอาจติดกล่องใส่ใบปลิวไว้บริเวณเครื่องเพื่อใช้ซ่อนกล้อง ถ้าพบเห็นกล่องใส่ใบปลิวแปลก ๆ ไม่ควรใช้เครื่องดังกล่าว และควรแจ้งให้ธนาคารทราบทันที/

ตรวจสอบบริเวณที่สอดบัตร หรือตรงแป้นกดตัวเลขว่า มีอุปกรณ์แปลกปลอมติดอยู่ หรือไม่ หากสังเกตเห็นอุปกรณ์แปลกปลอม ให้รีบแจ้งให้ธนาคารทราบ/

ลองขยับหรือโยกอุปกรณ์ต่าง ๆ ของตู้เอทีเอ็มดู เพราะหากมีตัวสกิมเมอร์ติดอยู่ การโยก อาจจะทำให้ตัวสกิมเมอร์หลุดออกมาได้ เนื่องจากปกติแล้วคนร้ายจะไม่ติดตั้งเครื่องนี้ไว้อย่างแน่นหนา เท่าใดนัก เพราะต้องถอดเครื่องสกิมเมอร์ไปใช้ติดตั้งตู้อื่น ๆ ด้วย/

หากเครื่องเอทีเอ็มเกิดขัดข้องและบัตรติดอยู่ในเครื่อง ให้รีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัตร ทันที เพราะการที่เครื่องขัดข้องอาจเป็นเล่ห์กลของคนร้ายที่ใช้เศษไม้ หรือไม้จิ้มฟันใส่เข้าไปในช่องอ่านบัตร เพื่อให้บัตรของผู้ใช้บริการติดอยู่ที่เครื่อง แล้วจะทำทีเข้ามาช่วยเหลือกดรหัสให้/

หากใส่บัตรไปในเครื่องแล้วไม่มีไฟกะพริบรอบช่องเสียบบัตร ควรเปลี่ยนใช้ตู้อื่น เพราะตู้นั้นอาจมีการติดตัวสกิมเมอร์ไว้ดูดข้อมูล/

*** ข้อมูลจากกระปุก ดอทคอม http://highUght.kapook.com/view/93328

แนวคำตอบ หน้า 91 – 118, (คำบรรยาย)

เนื้อข่าว

จากข้อมูลในเว็บไซต์กระปุก ดอทคอม ระบุวิธีใช้เครื่องเอทีเอ็มอย่างปลอดภัยว่า เนื่องจาก มิจฉาชีพมักซ่อนเครื่องสกิมเมอร์ไว้อย่างแนบเนียนมาก ดังนั้นการตรวจสอบอาจทำได้ไม่ง่ายนัก แต่อย่างน้อยก็มี แนวทางที่จะช่วยให้ผู้ใช้บริการสังเกตเบื้องต้น เพื่อดูว่าเครื่องเอทีเอ็มนั้นเสี่ยงต่อการใช้งานหรือไม่ คือ ก่อนใช้บริการ ให้ดูสิ่งผิดปกติรอบเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อดูว่ามีกล้องตัวเล็กซุกซ่อนอยู่หรือไม่ โดยมิจฉาชีพอาจติดกล่องใส่ใบปลิวไว้ บริเวณเครื่องเพื่อใช้ซ่อนกล้อง ถ้าพบเห็นกล่องใส่ใบปลิวแปลก ๆ ไม่ควรใช้เครื่องดังกล่าว และควรแจ้งให้ธนาคาร ทราบทันที นอกจากนี้ควรตรวจสอบบริเวณที่สอดบัตร หรือตรงแป้นกดตัวเลขว่า มีอุปกรณ์แปลกปลอมติดอยู่หรือไม่ หากสังเกตเห็นอุปกรณ์แปลกปลอม ควรรีบแจ้งให้ธนาคารทราบ จากนั้นลองขยับหรือโยกอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเครื่อง เอทีเอ็มดู เพราะหากมีตัวสกิมเมอร์ติดอยู่ การโยกอาจจะทำให้ตัวสกิมเมอร์หลุดออกมาได้ เนื่องจากปกติแล้ว มิจฉาชีพจะไม่ติดตั้งเครื่องนี้ไว้อย่างแน่นหนาเท่าใดนัก เพราะต้องถอดเครื่องไปใช้ติดตั้งเครื่องอื่น ๆ ด้วย

ในกรณีที่เครื่องเอทีเอ็มเกิดขัดข้องและบัตรติดอยู่ในเครื่อง ให้รีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัตร ทันที เพราะการที่เครื่องขัดข้องอาจเป็นเล่ห์กลของมิจฉาชีพที่ใช้เศษไม้ หรือไม้จิ้มฟันใส่เข้าไปในช่องอ่านบัตร เพื่อให้บัตรของผู้ใช้บริการติดอยู่ที่เครื่อง แล้วจะทำทีเข้ามาช่วยเหลือกดรหัสให้ และเมื่อใส่บัตรไปในเครื่องแล้ว ไม่มีไฟกะพริบรอบช่องเสียบบัตร ควรเปลี่ยนไปใช้เครื่องอื่น เพราะเครื่องนั้นอาจมีการติดตั้งตัวสกิมเมอร์ไว้ดูดข้อมูล

สำหรับสกิมเมอร์นั้น เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก ๆ ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นด้วยการนำ แถบแม่เหล็กวงจรถอดรหัสและวงจรหน่วยความจำมาประกอบเข้าด้วยกัน สามารถพกพาได้ และใช้พลังงานจาก แบตเตอรี่โดยมักนำไปติดตั้งไว้ที่ช่องรูดบัตรของเครื่องเอทีเอ็ม เมื่อมีคนนำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิตมารูด หรือสอดบัตรเข้าช่องเสียบบัตร และกดรหัส ตัวแถบแม่เหล็กของสกิมเมอร์ก็จะบันทึกข้อมูลแล้วส่งไปเก็บไว้ใน หน่วยความจำ หรืออาจส่งข้อมูลต่อไปถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของมิจฉาชีพเลยก็ได้ จากนั้นหน้าจอเครื่องเอทีเอ็ม อาจแสดงข้อความว่า ขออภัย เครื่องไม่สามารถทำรายการได้ หรือท่านทำรายการเรียบร้อยแล้ว กรุณารับเงิน ซึ่งก็ ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องอ่านบัตรปลอมที่ใช้

อย่างไรก็ตามเมื่อมิจฉาชีพขโมยข้อมูลจากบัตรเอทีเอมและรหัสผ่านไปแล้ว ก็จะนำข้อมูลนั้น ไปสร้างบัตรปลอมที่มีข้อมูลในแถบแม่เหล็กเหมือนกับบัตรจริง ซึ่งสามารถนำไปกดเงินหรือรูดซื้อสินค้าได้เหมือน บัตรจริงทุกประการ ทั้งนี้มิจฉาชีพบางคนอาจไม่นำข้อมูลไปทำบัตรปลอม แต่นำข้อมูลไปขายต่อในอินเทอร์เน็ต อีกทอดก็มี

ข้อ 5. หากนักศึกษาเป็นผู้สื่อข่าวที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามรายงานข่าวเรื่องสกิมเมอร์ (จากข้อมูลในข้อ 4.)

นักศึกษาจะรายงานข่าวในประเด็นใดบ้าง และหาข้อมูลจากแหล่งข่าวใดบ้าง          (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 15 – 17, (คำบรรยาย)

ประเด็นที่ต้องรายงานในข่าวดังกล่าว 

–           มีจำนวนผู้เสียหายในกรณีนี้กี่คน และมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเป็นเงินเท่าไร

–           เครื่องเอทีเอ็มที่ติดตั้งตัวสกิมเมอร์มักพบอยู่บริเวณใด จังหวัดอะไร

–           การดำเนินคดีและวางแผนจับกุมผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

–           แก๊งมิจฉาชีพส่วนใหญ่เป็นคนชาติใด มีวิธีการก่อเหตุ และยักยอกเงินของผู้เสียหายอย่างไร

–           มาตรการป้องกันของธนาคาร และการเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าว

–           มาตรการแก้ไขและวิธีป้องกันภัยในกรณีดังกล่าวจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

–           ผู้เสียหาย

–           เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าของคดี

–           ธนาคารที่เป็นเจ้าของเครื่องเอทีเอ็ม ผู้อำนวยการสาขา หรือกรรมการผู้จัดการของ ธนาคารนั้น ๆ

–           ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี หรือนักวิชาการคอมพิวเตอร์

–           กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

–           เนคเทค (NECTEC)

–           กล้องวงจรปิด

ข้อ 6. จากเหตุการณ์ม็อบชัดดาวน์กรุงเทพฯ ที่ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ได้รับการรายงานเป็นข่าวในสื่อมวลชนไทย เพราะมีคุณค่าเชิงข่าว (News Values) อะไรบ้าง  (10 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 2-6, (คำบรรยาย)

เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการรายงานเป็นข่าวในสื่อมวลชนไทย เนื่องจากมีคุณค่าเชิงข่าว (News Values) ดังนี้

1.         เร้าความสนใจของมนุษย์ คือ ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ตื่นเต้น ตกใจ สะใจ โกรธ เกลียด ฯลฯ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ฝ่ายม็อบ/ฝ่ายรัฐบาล)

2.         ความเกี่ยวพันกับผู้รับสาร/ผลกระทบ คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวพันกับผู้รับสาร ทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ยังเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากที่อาศัย อยู่ในกรุงเทพฯ เพราะมีการปิดการจราจร ปิดสถานที่ราชการ ทำให้ข้าราชการไม่สามารถไปทำงานและให้บริการแก่ ประชาชนที่มาติดต่อได้

3.         ความเปลี่ยนแปลง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไป จากสภาพปกติที่เคยเป็น

4.         ความใกล้ชิด คือ เป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัว เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นความใกล้ชิดทางกาย ระหว่างผู้อ่านกับตัวเหตุการณ์

5.         ความโดดเด่น/ดัง/ชื่อเสียง คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความโดดเด่นในตัวเหตุการณ์ และ ความมีชื่อเสียงของแกนนำ ดารานักร้องที่เข้าร่วมชุมนุม รวมทั้งสถานที่ราชการที่ม็อบเดินทางไปปิด

6.         ความไม่คาดคิด/เงื่อนงำ/ฉงนสนเท่ห์ คือ เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และยัง เป็นเหตุการณ์ที่มีเงื่อนงำว่าจะจบลงอย่างไร ม็อบจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป รัฐบาลจะยอมตามที่ม็อบ เรียกร้องหรือไม่ ทำให้ผู้อ่านเกิดความฉงนสนเท่ห์ จึงต้องติดตามเรื่องราวต่อไป

7.         ความขัดแย้ง/การเผชิญหน้า คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งทั้งทางกายและ ความคิดเห็นทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีการเผชิญหน้าต่อสู้ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับม็บ มีการยิง แก๊สน้ำตา ปาระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ

8.         ความทันต่อกาลเวลา คือ เป็นเหตุการณ์ที่สดใหม่ หรือเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ 

ข้อ 7. ตามหลักการที่ศึกษามาในการรายงานข่าวบุคคลเสียชีวิต สามารถรายงานในมิติ/ประเด็นใดได้บ้าง อธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ      (20 คะแนน)

แนวคำตอบ หน้า 131 – 139, (คำบรรยาย)

การรายงานข่าวบุคคลเสียชีวิตสามารถรายงานได้หลายแบบตามสาเหตุการเสียชีวิต เช่น ข่าวมรณกรรมของบุคคลสำคัญหรือคนดังในสังคม ข่าวอุบัติเหตุที่ส่งผลให้เสียชีวิต เช่น ข่าวฆาตกรรม (ถูกฆ่าตาย) ข่าวอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) เป็นต้น

ตัวอย่างข่าวบุคคลเสียชีวิตในกรณีข่าวมรณกรรมของบุคคลสำคัญ สามารถรายงานในมิติ หรือประเด็นต่อไปนี้

–           ผู้ตายเป็นใคร เช่น ชื่อ-นามสกุล อายุ อาชีพ ยศหรือตำแหน่งสูงสุดในปัจจุบัน ฯลฯ

–           สาเหตุการเสียชีวิต เช่น ป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจวาย ฯลฯ

–           สถานที่เสียชีวิต/วันที่-เวลาที่เสียชีวิต เช่น เป็นการป่วยและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ที่บ้าน ในวันที่-เวลาใด

–           เหตุการณ์ตื่นเต้นในขณะที่ผู้ตายใกล้จะเสียชีวิต ลางร้าย หรือลางสังหรณ์ก่อนเสียชีวิต

–           ผลงานของผู้ตาย/เคยทำอะไรมาบ้าง เช่น เป็น ส.ส. พรรคอะไร เคยดำรงตำแหน่งใด มาบ้าง หรือมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอะไรบ้าง

–           ประวัติส่วนตัว/ความเป็นมา เช่น ผู้ตายมีบิดา-มารดา สามี-ภรรยา บุตร-ธิดา หรือญาติ พี่น้องที่เป็นคนดัง นอกจากนี้ผู้ตายมีประวัติการศึกษาจบชั้นมัธยม ปริญญาตรี/โท/เอก หรือปริญญากิตติมศักดิ์อะไรมาบ้าง

–           รายละเอียดของพิธีศพ เช่น พิธีสวดพระอภิธรรมจัดที่ใด ใช้เวลากี่วัน ผู้ใดเป็นเจ้าภาพ สวดพระอภิธรรม กำหนดภารบรรจุศพ และกำหนดการฌาปนกิจ

ข้อ 8. จากข้อมูลต่อไปนี้ จงเขียนความนำของข่าว       (10 คะแนน)

และเขียนหัวข่าว          (10 คะแนน)

พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของวัยรุ่น จาก http://www.gotoknow.org/posts/410843

–           พฤติกรรมด้านบวก

มือถือกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของวัยรุ่น เพราะมือถือก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อย เป็นทั้งเครื่องมือ การสื่อสารที่ย่นทั้งระยะทางและระยะเวลาระหว่างกัน เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านมือถือนั้นสร้าง ความสะดวกสบายให้กับวัยรุ่นได้อย่างมาก บางครั้งที่มีอุบัติเหตุหรือต้องการความช่วยเหลือด่วน มือถือ ก็จะมีประโยชน์มากในช่วงเวลานั้น หรือบางทีมือถือยังทำหน้าที่สร้างและกระชับความสัมพันธ์ของคน ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรือกลุ่มเพื่อน ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกันมากแต่ก็เชื่อมความสัมพันธ์กันได้ ด้วยมือถือ ยิ่งปัจจุบันนี้มือถือมีเทคโนโลยีก้าวหน้ากว่าเดิมมาก ซึ่งนอกจากจะดูหนังฟังเพลงแล้วยัง สามารถใช้อินเทอร์เน็ต และยังสามารถเล่นได้เกือบทุกที่ทุกเวลา ยิ่งทำให้การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามการใช้โทรศัพท์มือถือให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นต้องคำนึงถึงความจำเป็น ใช้แต่พอเพียงเท่านั้นเพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสของมือถือ

– พฤติกรรมด้านลบ

โรคที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือที่มีผลกระทบในเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนไทย ได้แก่

1)         โรคเห่อตามแฟชั่น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นนิยมเปลี่ยนมือถือตามแฟชั่นเพื่อให้อินเทรนด์ ดูทันสมัย ไม่ตกรุ่น ทัดเทียมเพื่อน ดังนั้นมือถือจึงกลายเป็นเครื่องประดับที่บ่งบอกสถานภาพทางสังคมอีกทางหนึ่ง

2)         โรคทรัพย์จาง ซึ่งหลายคนต้องหาเงินเพื่อมาซื้อมือถือรุ่นใหม่ ทั้งนี้บางคนไม่มีเงินแต่รสนิยมสูง จึงเกิด สภาวะทรัพย์จางต้องไปกู้ยืมหนี้ยืมสินมาซื้อมือถือ เป็นต้น

3) โรคขาดความอดทนและใจร้อน เนื่องจาก คุณสมบัติของโทรศัพท์มือถือกดปุ๊บต้องติดปั๊บ ทำให้หลายคนกลายเป็นคนไม่มีความอดทน แม้แต่ เรื่องเล็ก ๆ เช่น นัดเพื่อนไว้ช้าแค่ 5 นาที ต้องโทรตาม จึงกลายเป็นคนเร่งรีบ ร้อนรน และไม่รอบคอบ

4) โรคขาดกาลเทศะและไร้มารยาท ซึ่งการโทรศัพท์ไปหาบุคคลที่เราอยากจะพูดทุกเวลา โดยไม่ดูเวลา หรือกาลเทศะที่ควรโทร บางคนโทรขายประกัน ขายเครื่องกรองน้ำ ชวนสมัครบัตรเครดิตทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกัน ทำให้ผู้รับสายเกิดความรำคาญใจ

5) โรคขาดมนุษยสัมพันธ์ คนส่วนใหญ่จะใช้มือถือพูดคุยกับญาติสนิท ขาดความใส่ใจที่จะสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น หลบมุมโทรไปคุยกับเพื่อนแทนที่จะพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือทำกิจกรรมที่ทำให้ความสัมพันธ์ในบ้านห่างเหิน ซึ่งจะเกิดอาการเฉาหรือเหงาหงอย กลายเป็นคน แยกตัวออกจากสังคมมีโลกของตัวเองและเป็นโรคติดโทรศัพท์ในที่สุด

6)โรคไม่จริงใจ เนื่องจากการ พูดคุยทางโทรศัพท์ไม่ต้องเห็นหน้าตา ท่าทาง สายตา และปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ทำให้หลายคน สามารถใช้คำหวานหลอกลวง หรือพูดโกหกผู้อื่น หรือนิยมส่ง SMS ไปยังอีกฝ่าย ทำเสมือนรักใคร่ ผูกพัน หรือห่วงใย

จากผลสำรวจของกรุงเทพโพล โดยเก็บข้อมูลจากวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานครที่ใช้โทรศัพท์มือถือ จำนวนทั้งสิ้น 1,700 คน เป็นเพศชายร้อยละ 48.8 และเพศหญิงร้อยละ 51.2 สรุปผลว่า มีดังนี้ พูดคุยและส่ง SMS ร้อยละ 57.7 ฟังเพลง ฟังวิทยุ ร้อยละ 20.3 ถ่ายรูป ถ่ายคลิปวิดีโอ ร้อยละ 11.6 เล่นเกม ร้อยละ 5.6 เล่นอินเทอริเน็ต ร้อยละ 4.8

แนวคำตอบ หน้า 29 – 3063 – 80, (คำบรรยาย)

หัวข่าว

วัยโจ๋เสี่ยง 6 โรคใหม่ ภัยของคนติดมือถือ

ความนำ

เว็บไซต์โกทูโนวระบุวัยรุ่นเสี่ยงเป็น 6 โรคใหม่ หากตกเป็นทาสของมือถือ นำโดยโรคเห่อตาม แฟชั่น โรคทรัพย์จาง โรคขาดความอดทนและใจร้อน โรคขาดกาลเทศะและไร้มารยาท โรคขาดมนุษยสัมพันธ์ ตบท้ายด้วยโรคไม่จริงใจ ด้านผลสำรวจพบวัยรุ่นนิยมพูดคุยและส่ง SMS มากที่สุด ร้อยละ 57.7 แต่เล่นเน็ตน้อยสุด แค่ร้อยละ 4.8

Advertisement