การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ประเสริฐเกิดที่จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ.2480 จากบิดานายไถ่ แซ่ห่วง สัญชาติฝรั่งเศส และมารดานางตรัม แซ่ห่วง สัญชาติเวียดนาม บิดามารดาอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ประเสริฐสมรสกับนางเตียด เวียดนามอพยพ จดทะเบียนสมรสที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เกิดบุตรในประเทศไทย 6 คน ก่อนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ประเสริฐและบุตรได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
มาตรา 11 บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ก่อนวันที่พะราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
วินิจฉัย
ประเสริฐและบุตรทั้ง 6 คนได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ประเสริฐเกิดที่จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ.2480 กรณีถือว่าประเสริฐเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7(3)
ต่อมาเมื่อประเสริฐสมรสกับนางเตียด เวียดนามอพยพ และเกิดบุตรในประเทศไทย 6 คน ก่อนประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515) กรณีเช่นนี้บุตรทั้ง 6 คนย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิตตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 7(1) เพราะในขณะที่บุตรทั้ง 6 คนเกิด ประเสริฐบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย
และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ ประเสริฐจึงถูกถอนสัญชาติไทย เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว และได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)
แต่อย่างไรก็ดี การที่ประเสริฐถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ก็ไม่มีผลกระทบทั้ง 6 คน เนื่องจากในขณะที่บุตรทั้ง 6 เกิด ประเสริฐบิดายังมีสัญชาติไทยอยู่และการได้สัญชาติของบุตรทั้ง 6 คน เป็นการได้มาตามหลักสายโลหิต มิใช่หลักดินแดน แม้ต่อมาประเสริฐจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ถอนสัญชาติของบุตรด้วยแต่ประการใด (ฎ.1204 – 1205 / 2533 ฎ.1513 – 1514/2531)
อนึ่งเมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มีผลใช้บังคับแล้ว กรณีนี้ก็ไม่นำบทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ โดยผลของมาตรา 11 ไปใช้บังคับกับประเสริฐซึ่งทำให้ประเสริฐไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิดด้วย เพราะเป็นโทษกว่าประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ตามหลักที่ว่าเมื่อมีกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษหลายฉบับ ให้ใช้กฎหมายที่เป็นโทษน้อยที่สุด
สรุป ประเสริฐได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7(3) ต่อมาถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ส่วนบุตรทั้ง 6 คนได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 7(1)