การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายวินัยมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2551 ดังนี้
1 รายได้จากการให้คำปรึกษาในประเทศไทยหนึ่งล้านบาท แต่ได้รับเงินได้ดังกล่าวในต่างประเทศและ
2 เงินปันผลจำนวนเจ็ดแสนบาทโดยบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย หากในปีภาษี 2551 นายวินัยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน จงวินิจฉัยพร้อมยกมาตราประกอบคำอธิบายของท่านว่า
(ก) นายวินัยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมินทั้งสองรายการในประเทศไทยหรือไม่
(ข) หากนายวินัยต้องเสียภาษีจากกรณีเงินปันผล นายวินัยมีสิทธิได้รับเครดิตตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 41 วรรคแรก และวรรคสาม ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
มาตรา 47 ทวิ ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) ซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้นได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด
เครดิตภาษีที่คำนวณได้ตามความในวรรคหนึ่งให้นำมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้ายังขาดหรือเหลือเท่าใด ให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีสำหรับจำนวนที่ขาด หรือมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เหลือนั้นคืน
ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและมิได้เป็นผู้อยุ่ในประเทศไทย
(2) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) และ (4) ให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ เว้นแต่
(จ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้
วินิจฉัย
(ก) นายวินัยมีหน้าที่ต้องนำเงินได้จากการให้คำปรึกษาในประเทศไทยจำนวน 1 ล้านบาทมาเสียภาษีในประเทศไทย เพราะเงินได้ดังกล่าวเกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย เนื่องจากหน้าที่งานที่เกิดในประเทศไทย แม้เงินได้นั้นจะได้รับในต่างประเทศก็ต้องเสียภาษีให้ประเทศไทย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคแรก
ส่วนเงินปันผลจำนวน 7 แสนบาท ที่จ่ายโดยบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นายวินัยต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีในประเทศไทยโดยบริษัทผู้จ่ายเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50(2)(จ)
(ข) นายวินัยต้องเสียภาษีจากเงินปันผลโดยบริษัทผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ แต่นายวินัยไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามประมวลรัษฎากร เพราะผู้ที่มีสิทธิได้รับเครดิตเงินปันผลจะต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยและเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 47 ทวิวรรคสามประกอบมาตรา 41 วรรคสามแห่งประมวลรัษฎากร แต่กรณีตามอุทาหรณ์ นายวินัยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ถือว่านายวินัยไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเครดิตภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 ทวิ วรรคสาม
สรุป
(ก) นายวินัยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมินทั้ง 2 รายการในประเทศไทย
(ข) นายวินัยไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามประมวลรัษฎากร