การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3112 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายแดงเป็นพนักงานการรถไฟถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาจึงตั้งคณะกรรมการ สอบสวนวินัยนายแดง เมื่อพิจารณาระเบียบของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 120 ว่าด้วย การสอบสวนเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2541 แล้ว ปรากฏว่า ระเบียบดังกล่าวมิได้มีข้อกําหนดใดที่ให้สิทธิแก่ผู้ถูกสอบสวนในการมีทนายความหรือที่ปรึกษาเข้ามาในกระบวนการสอบสวน นายแดงจึงมาปรึกษาท่านที่เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงว่าตนประสงค์จะนําทนายความเข้ามาในกระบวนการสอบสวนนี้ ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า นายแดง จะนําทนายความเข้ามาในกระบวนการสอบสวนทางวินัยของตนได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 3 “วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้

เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกําหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ํากว่าหลักเกณฑ์ที่กําหนดใน พระราชบัญญัตินี้ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งที่กําหนดใน กฎหมาย”

มาตรา 23 “ในการพิจารณาทางปกครองที่คู่กรณีต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ คู่กรณีมีสิทธินําทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้

การใดที่ทนายความหรือที่ปรึกษาได้ทําลงต่อหน้าคู่กรณีให้ถือว่าเป็นการกระทําของคู่กรณี เว้นแต่คู่กรณีจะได้คัดค้านเสียแต่ในขณะนั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้บัญญัติ ให้สิทธิแก่คู่กรณีที่จะนําทนายความเข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองที่คู่กรณีต้องมาปรากฏตัวต่อหน้า เจ้าหน้าที่ได้นั้น ถือเป็นหลักประกันความเป็นธรรมแก่คู่กรณีอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อระเบียบของการรถไฟแห่งประเทศไทยมิได้มีข้อกําหนดใดที่ให้สิทธิแก่ผู้ถูกสอบสวนในการมีทนายความหรือที่ปรึกษาเข้ามาในกระบวนการ สอบสวน ระเบียบดังกล่าวจึงมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ดังนั้นการสอบสวนความผิดวินัยของการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงต้องนํามาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวมาใช้บังคับตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ กล่าวคือ นายแดงสามารถนํา ทนายความเข้ามาในกระบวนการสอบสวนทางวินัยของตนได้

สรุป ข้าพเจ้าจะให้ความเห็นแก่นายแดงดังที่อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 ชาวบ้านที่จังหวัดอ่างทองเลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำ ต่อมาปรากฏว่าปลาที่เลี้ยงตายหมดนับแสนตัว ชาวบ้านจึงมาร้องเรียนอธิบดีกรมโรงงานให้มีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานผงชูรส ที่ตั้งใกล้บริเวณนั้น โดยอ้างว่าโรงงานผงชูรสได้ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำทําให้น้ำบริเวณนั้นเน่าเสีย และทําให้ปลาที่เลี้ยงตายจนหมด อธิบดีกรมโรงงานเชื่อในคํากล่าวอ้างของชาวบ้านและเห็นชาวบ้านเดือดร้อนจริง จึงมีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานผงชูรสทันที ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งของอธิบดีกรมโรงงานดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”

มาตรา 30 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้อง ให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ชาวบ้านจังหวัดอ่างทองเลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำ ได้มาร้องเรียนอธิบดี กรมโรงงานให้มีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานผงชูรสที่ตั้งใกล้บริเวณนั้น โดยอ้างว่าโรงงานผงชูรสได้ปล่อยน้ำเสีย ลงในแม่น้ำทําให้น้ำในบริเวณนั้นเน่าเสีย และทําให้ปลาที่เลี้ยงตายจนหมด อธิบดีกรมโรงงานเชื่อในคํากล่าวอ้าง ของชาวบ้านและเห็นชาวบ้านเดือดร้อนจริง จึงมีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานผงชูรสทันทีนั้น คําสั่งเพิกถอน ใบอนุญาตดังกล่าวถือเป็นคําสั่งทางปกครองตามนัยของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ เพราะเป็นคําสั่งที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลคือเจ้าของโรงงานผงชูรส

และเมื่อก่อนที่อธิบดีกรมโรงงานจะออกคําสั่งทางปกครองดังกล่าว อธิบดีกรมแรงงานไม่ได้ให้ เจ้าของโรงงานผงชูรสได้มีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน ของตน คําสั่งของอธิบดีกรมโรงงานดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

สรุป คําสั่งของอธิบดีกรมโรงงานดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 มหาวิทยาลัยรามทําการตระเตรียมงานรับปริญญาบัตรของนักศึกษาที่จบการศึกษา จึงได้ ทําสัญญากับนายเขียวให้ทําการตกแต่งสวนหย่อมหน้าคณะนิติศาสตร์ให้ดูสวยงาม ต่อมามีการ ผิดสัญญาบางข้อเกิดขึ้น โดยนายเขียวอ้างว่าทางมหาวิทยาลัยผิดสัญญา ขอให้ท่าน วินิจฉัยว่า นายเขียวจะฟ้องมหาวิทยาลัยให้รับผิดตามสัญญาได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใดขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง”

และตามมาตรา 3 ได้บัญญัติให้คํานิยามของ “สัญญาทางปกครอง” ไว้ว่า

“สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงาน ทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทําบริการ สาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ทําสัญญากับ นายเขียวให้ทําการตกแต่งสวนหย่อมหน้าคณะนิติศาสตร์ให้ดูสวยงามนั้น แม้สัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาที่ทําขึ้น ระหว่างหน่วยงานทางปกครองฝ่ายหนึ่งกับนายเขียวซึ่งเป็นเอกชนอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อวัตถุประสงค์ของ สัญญานั้นไม่ใช่สัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาที่ให้จัดทําบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาทางปกครอง ตามนัยของมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้นต่อมา เมื่อมีการผิดสัญญาบางข้อเกิดขึ้น โดยนายเขียวอ้างว่าทางมหาวิทยาลัยผิดสัญญา ข้อพิพาทเกี่ยวกับ การผิดสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองจึงไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ดังนั้น ถ้านายเขียวจะฟ้องมหาวิทยาลัยให้รับผิดตามสัญญา นายเขียวจะต้องฟ้องมหาวิทยาลัยที่ศาลยุติธรรม จะนําคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองไม่ได้

สรุป นายเขียวจะฟ้องมหาวิทยาลัยให้รับผิดตามสัญญาได้ที่ศาลยุติธรรม

 

ข้อ 4 นายดําเป็นข้าราชการพลเรือนไปงานสังสรรค์กับเพื่อน ในระหว่างขับรถกลับบ้านถูกตํารวจจับในความผิดฐานเมาสุราในระหว่างขับรถ ศาลตัดสินโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก 10 วัน หากท่าน เป็นผู้บังคับบัญชานายดําจะดําเนินการตามกฎหมายกับนายดําได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 110 “ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีอํานาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือน สามัญออกจากราชการเพื่อรับบําเหน็จบํานาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(8) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดต้องรับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกใน ความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือต้องรับโทษจําคุกโดยคําสั่งของศาลซึ่งยังไม่ถึงกับ จะต้องถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนไปงานสังสรรค์กับเพื่อน ในระหว่าง ขับรถกลับบ้านถูกตํารวจจับในความผิดฐานเมาสุราในระหว่างขับรถ และศาลได้ตัดสินโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้ จําคุก 10 วันนั้น ความผิดที่นายดําได้กระทําถือเป็นความผิดลหุโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 102 ดังนั้น หากข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับบัญชาของนายดํา ข้าพเจ้าจะมีคําสั่งให้นายดําออกจากราชการเพื่อรับบําเหน็จ บํานาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการตามมาตรา 110 (8)

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับบัญชาของนายดํา ข้าพเจ้าจะมีคําสั่งให้นายดําออกจากราชการ เพื่อรับบําเหน็จบํานาญตามมาตรา 110 (8)

 

Advertisement