การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

LAW 3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. (ก) ธนาคารออมสินเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ประสงค์ จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท มหาชน จํากัด แห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอให้ท่านวินิจฉัยว่าคําสั่งของธนาคารออมสินโดยนายแดงผู้อํานวยการธนาคารออมสินที่สั่งซื้อ หุ้นสามัญของบริษัท มหาชน จํากัด ดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นคําสั่งทางปกครอง หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข) นายเขียวเรียนจบปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ มาสมัครรับราชการและได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ต่อมา ก.พ. ตรวจสอบ พบว่า ปริญญาตรีที่นายเขียวศึกษาจบมานั้น ก.พ. ไม่รับรอง ดังนั้นหากท่านเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะดําเนินการทางกฎหมายกับนายเขียวได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย

ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้ “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”

วินิจฉัย

กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองโดยนัยของมาตรา 5 (1) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ธนาคารออมสินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 และเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยนายแดงผู้อํานวยการธนาคารออมสินได้มีคําสั่งให้ซื้อหุ้นสามัญ ของบริษัท มหาชน จํากัด แห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น คําสั่งให้ซื้อหุ้นฯ ดังกล่าวเป็นเพียง การทําคําสนองรับคําเสนอขายหุ้นตามกระบวนการทําสัญญาซื้อขายตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น มิได้เป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่อันจะถือว่าเป็นการทําคําสั่งทางปกครองแต่อย่างใด ดังนั้น คําสั่งของธนาคารออมสินฯ ดังกล่าว จึงไม่เป็นคําสั่งทางปกครอง

สรุป คําสั่งของธนาคารออมสินที่สั่งซื้อหุ้นสามัญของบริษัท มหาชน จํากัด ดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์นั้น ไม่เป็นคําสั่งทางปกครอง

(ข) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 62 วรรคสาม “ในกรณีที่ ก.พ. กําหนดให้ปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือคุณวุฒิใด เป็นคุณสมบัติเฉพาะสําหรับตําแหน่ง ให้หมายถึงปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณวุฒิที่ ก.พ. รับรอง

มาตรา 67 “ผู้ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งใด ตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง มาตรา 55 มาตรา 56 มาตรา 63 มาตรา 64 และมาตรา 65 หากภายหลังปรากฏว่า ขาดคุณสมบัติทั่วไปหรือมีลักษณะต้องห้ามโดยไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 36 หรือขาดคุณสมบัติเฉพาะสําหรับ ตําแหน่งนั้นโดยไม่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ตามมาตรา 62 ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการโดยพลัน แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอํานาจและหน้าที่และการรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้น….”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวเรียนจบปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในฟิลิปปินส์ มาสมัครรับราชการและได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และต่อมา ก.พ. ตรวจสอบพบว่า ปริญญาตรีที่นายเขียวศึกษาจบมานั้น ก.พ. ไม่รับรอง ย่อมถือว่าเป็นการขาดคุณสมบัติเฉพาะสําหรับตําแหน่งนั้นโดยไม่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ตามมาตรา 62 และเมื่อเป็นการตรวจสอบพบภายหลังจากที่ นายเขียวได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว กรณีดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะตามบทบัญญัติมาตรา 67 กล่าวคือ นายเขียวเป็นผู้ที่ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญแล้ว ต่อมาภายหลังปรากฏว่านายเขียว ขาดคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งนั้น ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะต้องสั่งให้นายเขียวออกจากราชการทันที

แต่อย่างไรก็ตาม การสั่งให้นายเขียวออกจากราชการได้ทันทีนั้น ตามมาตรา 67 ได้บัญญัติไว้ว่า จะไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่นายเขียวได้ปฏิบัติไปตามอํานาจและหน้าที่และการรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้น ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาจะเรียกเงินเดือนและ ประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้นไม่ได้

สรุป ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะต้องสั่งให้นายเขียวออกจากราชการทันทีแต่จะเรียกเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้นไม่ได้

 

ข้อ 2 ในการพิจารณาว่าคดีใดเป็นคดีปกครองมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไรบ้าง และคดีที่อยู่ใน อํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีกี่ประเภท ได้แก่อะไรบ้าง จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

1 ในการพิจารณาว่าคดีใดเป็นคดีปกครองนั้น มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่ 3 ประการ คือ

(1) จะต้องพิจารณาถึงคู่พิพาทในคดี กล่าวคือ คู่พิพาทในคดีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย จะต้องเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามคํานิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้น ถ้าคู่พิพาทในคดีเป็นบุคคลอื่นซึ่งมิใช่หน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีนั้นก็จะมิใช่คดีปกครอง

(2) ข้อพิพาทในคดีจะต้องเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมาย หรืออันเนื่องมาจากการดําเนินกิจการทางปกครอง

(3) ในการพิจารณาว่าคดีใดเป็นคดีปกครองนั้น จะต้องพิจารณารายละเอียดจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ หรือกฎหมายอื่นประกอบด้วย

2 คดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธี พิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีอยู่ 6 ประเภท ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คือ

(1) คดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎหรือคําสั่งโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกฎหรือคําสั่งดังกล่าว หรือฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการปกครองอย่างอื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ศาลสั่งห้ามการกระทําดังกล่าว

(2) คดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่ กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด

(3) คดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําละเมิดหรือมีความ รับผิดอย่างอื่นอันเกิดจากการใช้อํานาจตามกฎหมาย จากกฎ จากคําสั่งทางปกครอง จากการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สิน หรือให้กระทําการหรืองดเว้นกระทําการ

(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

(5) คดีที่มีกฎหมายกําหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทําหรือละเว้นกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด

(6) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่กฎหมายกําหนดให้อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครอง

 

ข้อ 3 นายเอก (ผู้เช่า) ทําสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จํากัด (ผู้ให้เช่า) บริเวณพื้นที่ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และได้ทําการก่อสร้างอาคารลงบนพื้นที่ดินที่ได้เช่าดังกล่าว ต่อมานายกเทศบาลเมืองปากช่องมีคําสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับอนุญาต ก่อสร้างอาคาร นายเอกได้ยื่นคําขอใบอนุญาตก่อสร้างตามแบบ ข. 1 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม อาคาร พ.ศ. 2522 โดยได้แนบสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จํากัด ประกอบ แบบ ข. ซึ่งเป็นรายการเอกสารสําคัญที่ต้องแนบประกอบด้วย แต่ในสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าว มิได้ระบุว่าบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จํากัด (ผู้ให้เช่า) เป็นเจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิใด ๆ นายกเทศมนตรีเมืองปากช่องจึงมีคําสั่งปฏิเสธการอนุญาตก่อสร้างอาคารแก่นายเอก โดยให้เหตุผลว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ นายเอกเห็นว่าคําสั่งปฏิเสธดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตนเองมีสิทธิครอบครองที่ดินตามสัญญาเช่าถูกต้อง และในบริเวณใกล้เคียงยังมีบุคคลอื่น ดําเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ คําสั่งปฏิเสธดังกล่าวอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดเนื่องจากการกระทําโดยไม่มีอํานาจหรือคําสั่งนอกเหนืออํานาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็น สาระสําคัญที่กําหนดไว้สําหรับการกระทํานั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จําเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกเทศมนตรีเมืองปากช่องซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อํานาจตามกฎหมายควบคุมอาคารปฏิเสธการอนุญาตการก่อสร้างอาคารแก่นายเอก ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานภาพ ของสิทธิหรือหน้าที่ของนายเอก คําสั่งปฏิเสธการอนุญาตการก่อสร้างอาคารดังกล่าว จึงเป็นคําสั่งทางปกครอง ตามนัยของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

แต่อย่างไรก็ดี การที่นายเอกยื่นคําขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารตามแบบ ข. 1 โดยแนบสัญญา เช่าที่ดินระหว่างนายเอกกับบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จํากัด โดยมิได้ระบุว่าบริษัทฯ เป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีเอกสารสิทธินั้น นายกเทศมนตรีเมืองปากช่องก็ชอบที่จะปฏิเสธการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและเป็นแบบรายการอันเป็นสาระสําคัญที่กําหนดไว้ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ส่วนกรณีที่นายเอกอ้างว่านายกเทศมนตรีเมืองปากช่องเลือกปฏิบัตินั้น นายเอกจะอ้างได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่นายเอกผู้ถูกปฏิบัติมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ได้รับสิทธินั้น แต่ถ้ากรณีนั้นนายเอกไม่มีสิทธิตามกฎหมายแล้ว นายเอกจะอ้างว่ามีบุคคลอื่นฝ่าฝืนกฎหมายดําเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นกันยังไม่ถูกดําเนินการอันเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหาได้ไม่

ดังนั้น เมื่อคําสั่งปฏิเสธการอนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อยู่ใน อํานาจที่ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

สรุป คําสั่งปฏิเสธการอนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าว ไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

 

ข้อ 4 กรุงเทพมหานครได้ประกาศผลสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่การเงินและเนื่องจากกรณีนี้กฎหมายไม่ได้กําหนดขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งไว้ กรุงเทพมหานครจึงกําหนดให้ ผู้สมัครสอบซึ่งไม่ปรากฏชื่อสามารถยื่นคําขอทราบเหตุผลการไม่ผ่านคัดเลือกได้ภายใน 7 วัน วันรุ่งขึ้นนายแดงซึ่งไม่ปรากฏชื่อในประกาศฯ ได้มีหนังสือขอทราบเหตุผลฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งให้ทราบในวันถัดมาว่าเนื่องจากไม่ผ่านการทดสอบความเหมาะสมกับตําแหน่ง เพราะในการตรวจสอบประวัติเคยทุจริตในการสอบระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคําแหงวันต่อมานายแดงได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครและผู้ว่าฯ เป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศผลสอบคัดเลือกฯ เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ประกาศให้นายแดง เป็นผู้สอบคัดเลือกได้ ดังนี้หากท่านเป็นศาลปกครองจะมีคําสั่งหรือคําพิพากษาในคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผลในการตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

มาตรา 44 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดย รัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองเป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คําสั่ง ทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว”

และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดเนื่องจากการกระทําโดยไม่มีอํานาจหรือนอกเหนือ อํานาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสําคัญ ที่กําหนดไว้สําหรับการกระทํานั้น…..

มาตรา 42 วรรคสอง “ในกรณีที่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนหรือวิธีการสําหรับการแก้ไขความ เดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทําได้ต่อเมื่อมีการดําเนินการ ตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควร หรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกําหนด”

มาตรา 72 “ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอํานาจกําหนดคําบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคําสั่ง หรือสั่งห้ามการกระทําทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 (1) …”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ หากข้าพเจ้าเป็นศาลปกครองจะมีคําสั่งหรือคําพิพากษาในคดีนี้อย่างไรนั้นแยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และเป็นหน่วยงานทางปกครอง ได้ประกาศผลสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุบุคคลเป็นเจ้าหน้าที่การเงินนั้น ประกาศผลสอบคัดเลือกฯ ดังกล่าว ถือเป็นคําสั่งทางปกครองตามนัยของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ

2 การที่นายแดงซึ่งไม่ปรากฏชื่อในประกาศผลสอบฯ ได้มีหนังสือขอทราบเหตุผลการไม่ผ่าน คัดเลือกนั้น ไม่ถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองตามนัยของมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครองฯ และการที่กรุงเทพมหานครได้แจ้งให้ทราบถึงเหตุผลของการสอบไม่ผ่านการคัดเลือกของนายแดงนั้น จึงไม่อาจถือว่าเป็นการแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้นายแดงทราบ

3 การที่นายแดงจะยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครและผู้ว่าฯ เป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ ศาลเพิกถอนประกาศผลสอบคัดเลือกฯ ดังกล่าว เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 (1) ประกอบมาตรา 72 (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ นั้น นายแดงจะต้องอุทธรณ์คําสั่ง (ประกาศ) นั้นก่อนตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ แม้ว่ากรณีนี้กฎหมายไม่ได้กําหนดขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์ โต้แย้งไว้ก็ตาม นายแดงก็จะต้องอุทธรณ์คําสั่งนั้นก่อนตามหลักเกณฑ์ทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ

4 เมื่อข้อเท็จจริงกรณีตามอุทาหรณ์ปรากฏว่านายแดงได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครและผู้ว่าฯ เป็นคดีต่อศาลปกครอง โดยมิได้ดําเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายก่อนนําคดีมาฟ้องศาลปกครองตาม มาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ (ไม่ได้อุทธรณ์คําสั่งนั้นก่อน) ดังนั้น นายแดงจึงไม่อาจนําคดี มาฟ้องต่อศาลปกครองได้ และเมื่อนายแดงได้ยื่นฟ้องกรณีนี้เป็นคดีต่อศาลปกครอง หากข้าพเจ้าเป็นศาลปกครอง ข้าพเจ้าจะมีคําสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา

สรุป หากข้าพเจ้าเป็นศาลปกครอง ข้าพเจ้าจะมีคําสั่งไม่รับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา

Advertisement