การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3108 (LAW3008) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายหน่อไม้เป็นโจทก์ฟ้องว่า นายตะขบจําเลยใช้อาวุธปืนยิงนายมะละกอ บุตรชายของตนตาย โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) (โจทก์บรรยายฟ้อง ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) เมื่อศาลได้ตรวจคําฟ้องของนายหน่อไม้แล้วเห็นว่า นายหน่อไม้ ยื่นฟ้องถูกต้องตามเขตอํานาจศาล และทําคําฟ้องถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบัญญัติ อีกทั้งไม่ปรากฏว่านายหน่อไม้ยื่นฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือ เอาเปรียบจําเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึ่งได้โดยชอบ รวมถึงไม่ปรากฏว่า นายหน่อไม้เคยจงใจฝ่าฝืนคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจาก เหตุผลอันสมควร จึงสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่นายหน่อไม้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

Advertisement

ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง นายตะขบมาศาล ศาลมิได้สอบถามว่านายตะขบมีทนายความและต้องการทนายความหรือไม่ แต่ศาลเห็นว่านายตะขบไม่มีทนายความจึงมีคําสั่งแต่งตั้งให้นายดีเลิศเป็น ทนายความแก้ต่างให้

ดังนี้ การที่ศาลตั้งทนายความให้นายตะขบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 “ผู้ใด

(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษประหารชีวิต”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 165/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่มีโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จําเลยมีอายุ ไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ในการไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 165 ถ้าจําเลยมาศาลเมื่อใด และจําเลย ไม่มีทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ในการไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 165 ถ้าจําเลยมาศาลเมื่อใดให้ศาล ถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหน่อไม้เป็นโจทก์ฟ้องว่า นายตะขบจําเลยใช้อาวุธปืนยิงนายมะละกอ บุตรชายของตนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) ซึ่งมีระวางโทษ ประหารชีวิต และศาลได้สั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่นายหน่อไม้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง นายตะขบมาศาลและศาลมิได้สอบถามว่านายตะขบมีทนายความและต้องการทนายความ หรือไม่ แต่ศาลเห็นว่านายตะขบไม่มีทนายความ จึงมีคําสั่งแต่งตั้งให้นายดีเลิศเป็นทนายความแก้ต่างให้นายตะขบนั้น การที่ศาลตั้งทนายความให้นายตะขบย่อมชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 165/1 วรรคหนึ่ง เนื่องจาก คดีที่นายตะขบถูกฟ้องนั้นเป็นคดีที่มีโทษประหารชีวิต ดังนั้น เมื่อจําเลยมาศาลในวันไต่สวนมูลฟ้อง และศาลเห็นว่า จําเลยไม่มีทนายความ ศาลย่อมมีอํานาจแต่งตั้งทนายความให้จําเลยได้โดยไม่จําต้องถามจําเลยก่อน

สรุป การที่ศาลตั้งทนายความให้นายตะขบชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 72 (โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) ในวันที่นัดพิจารณาโจทก์จําเลยมาศาล ก่อนเริ่มพิจารณาศาลได้ถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ จําเลยตอบว่ามีทนายความแล้ว โดยทนายความของจําเลยมาศาลในวันนี้ด้วย ศาลชั้นต้นจึงได้ อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้วศาลได้ถามคําให้การจําเลย จําเลยแถลงให้การรับสารภาพ ตามฟ้อง โดยโจทก์และจําเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน

ดังนี้ หากศาลพิพากษาลงโทษจําเลย โดยที่โจทก์ไม่สืบพยานหลักฐานประกอบคํารับสารภาพ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทํา ความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึงยี่สิบปี”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนด อัตราโทษอย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะ
พอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อาญา มาตรา 288 และมาตรา 72 แม้ความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 288 จะมีระวางโทษตามที่กฎหมาย กําหนดให้ประหารชีวิต หรือจําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกสิบห้าปีถึงยี่สิบปี แต่เมื่อคําฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า จําเลยกระทําโดยบันดาลโทสะตาม ป.อาญา มาตรา 72 ซึ่งศาลจะลงโทษจําเลยน้อยกว่าที่กฎหมายได้กําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้นั้น ย่อมมีผลให้ความผิดตามฟ้องของโจทก์ไม่มีอัตราโทษจําคุกอย่างต่ํา จึงมิใช่ เป็นคดีที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลจะต้อง ฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คดีนี้เมื่อจําเลย ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงสามารถพิพากษาลงโทษจําเลยได้โดยไม่จําต้องสืบพยานหลักฐานต่อไป

การที่ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยในคดีนี้โดยโจทก์ไม่สืบพยานหลักฐานประกอบคํารับสารภาพจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป หากศาลพิพากษาลงโทษจําเลยโดยที่โจทก์ไม่สืบพยานหลักฐานประกอบคํารับสารภาพนั้นชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจําเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายศีล จึงใช้อาวุธปืนยิงเล็งตรงไปที่นายศีล กระสุนปืนถูกนายศีลได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษฐาน พยายามฆ่านายศีลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย ทุกประการ) หากทางพิจารณาได้ความแตกต่างจากฟ้องว่า แท้จริงแล้วจําเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผล ที่จะฆ่านายบุญ จึงใช้อาวุธปืนยังเล็งตรงไปที่นายบุญ แต่กระสุนปืนที่จําเลยยิงนั้นไม่ถูกนายบุญ แต่พลาดไปถูกนายศีลได้รับอันตรายสาหัส และจําเลยนําสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ ศาลจึงพิพากษา ลงโทษจําเลยฐานพยายามฆ่านายบุญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 บทหนึ่ง และ ฐานพยายามฆ่านายศีลโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 60 อีกบทหนึ่ง ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าคําพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคําขอ
หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง
ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่ โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายศีล จึงใช้อาวุธปืน ยิ่งเล็งตรงไปที่นายศีล กระสุนปืนถูกนายศีลได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่านายศีล ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 30 แต่ในทางพิจารณาได้ความแตกต่างจากฟ้องว่าจําเลยมีเจตนาประสงค์ ต่อผลที่จะฆ่านายบุญ จึงใช้อาวุธปืนยิงเล็งตรงไปที่นายบุญ แต่กระสุนปืนที่จําเลยยิงนั้นไม่ถูกนายบุญ แต่พลาดไป ถูกนายศีลได้รับอันตรายสาหัสนั้น ถือว่าการกระทําของจําเลยต่อนายศีลระหว่างข้อเท็จจริงตามฟ้องกับข้อเท็จจริง ที่ปรากฏในทางพิจารณา เป็นข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสําคัญระหว่างเจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาโดยพลาด และเมื่อจําเลยนําสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ จึงถือว่าจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจําเลย ฐานพยายามฆ่านายศีลโดยพลาด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 60 ได้ ตาม ป.วิ. อาญา มาตรา 192 วรรคสอง คําพิพากษาในส่วนนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนคําพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจําเลยฐานพยายามฆ่านายบุญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกระทําของจําเลยต่อนายบุญนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ กล่าวมาในฟ้อง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ต้องห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้น ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบวรรคสี่

สรุป คําพิพากษาของศาลให้ลงโทษจําเลยฐานพยายามฆ่านายศีลโดยพลาดชอบด้วยกฎหมายส่วนคําพิพากษาให้ลงโทษจําเลยฐานพยายามฆ่านายบุญไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. นายเมตตาบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นโจทก์ฟ้องว่า จําเลยใช้อาวุธมีดทําร้ายร่างกายเด็กหญิงกรุณาบุตรสาวของตนเป็นเหตุให้เด็กหญิงกรุณาได้รับอันตรายสาหัสหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว ขอให้ศาล พิพากษาลงโทษจําเลยฐานทําร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทําร้ายได้รับอันตรายสาหัส ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง จนเสร็จสํานวนแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นําสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องรับฟังไม่ได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิด คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง นายเมตตายื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นว่าพยานหลักฐาน ที่ตนนําสืบสามารถรับฟังได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิด คดีมีมูล ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งประทับรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 170 วรรคหนึ่ง “คําสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คําสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอํานาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา”

มาตรา 193 วรรคหนึ่ง “คดีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฎหมาย หรือกฎหมายอื่น”

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่ กรณีต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(1) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก
(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
(3) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือ
(4) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 170 วรรคหนึ่ง คําสั่งศาลที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอํานาจอุทธรณ์ฎีกา ต่อไปได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา และคดีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น (ป.วิ.อาญา มาตรา 193 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมตตาบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นโจทก์ฟ้องว่า จําเลยใช้อาวุธมีด ทําร้ายเด็กหญิงกรุณาบุตรสาวของตน เป็นเหตุให้เด็กหญิงกรุณาได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษ จําเลยฐานทําร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทําร้ายได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้น

ไต่สวนมูลฟ้องจนเสร็จสํานวนแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นํามาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องรับฟังไม่ได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิด คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องนั้น การที่นายเมตตายื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นว่าพยานหลักฐานที่ตน นําสืบสามารถรับฟังได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิด คดีมีมูล ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งประทับรับฟ้องของโจทก์ ไว้พิจารณา ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการชั่งน้ําหนักพยานหลักฐาน จึงเป็นการอุทธรณ์ใน ปัญหาข้อเท็จจริง และเมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จําคุกเกิน 3 ปี และปรับเกิน 6 หมื่นบาท กรณีนี้จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 193 ทวิ นายเมตตาจึงสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ ตามมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 170 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ได้

สรุป ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ได้

Advertisement