การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3104 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดข้อหาชิงทรัพย์ (ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับ ตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท) โดยคดีดังกล่าวอยู่ในเขตศาลอาญาตลิ่งชัน แต่โจทก์นําคดี มาฟ้องที่ศาลอาญา ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดี ดังกล่าว ต่อมาจําเลยยื่นคําให้การว่าโจทก์ยื่นฟ้องผิดเขตศาล ศาลอาญาไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง

Advertisement

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ตามคําให้การของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 16 วรรคสองและวรรคสาม “ศาลแพ่งและศาลอาญา มีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี และศาลยุติธรรมอื่น ตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้

ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและศาลอาญา และคดีนั้นเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือ ศาลอาญา ศาลแพ่งหรือศาลอาญา แล้วแต่กรณี อาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งโอนคดี ไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอํานาจ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 16 วรรคสองและวรรคสามนั้น ศาลอาญามีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี และศาลยุติธรรมอื่นตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้ ในกรณีที่มีการยื่นคดีต่อ ศาลอาญา แต่คดีนั้นอยู่นอกเขตของศาลอาญา ศาลอาญาอาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่ง โอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอํานาจก็ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดอาญาข้อหาชิงทรัพย์ โดยคดีดังกล่าวอยู่ใน เขตศาลอาญาตลิ่งชัน แต่โจทก์นําคดีอาญามาฟ้องที่ศาลอาญา และเมื่อศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวนั้น ถือว่าศาลอาญาใช้ดุลยพินิจยอมรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว ตามมาตรา 16 วรรคสองและวรรคสาม ดังนั้น การที่จําเลยยื่นคําให้การว่าโจทก์ยื่นฟ้องผิดศาล ศาลอาญา ไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้ ขอให้ยกฟ้องนั้น ข้อต่อสู้ตามคําให้การของจําเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ตามคําให้การของจําเลยฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. จงอธิบายถึงอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นในการไต่สวนมูลฟ้อง และ มีคําสั่งในคดีอาญาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (3) พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)”

อํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น ในการไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งใน คดีอาญาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (3) นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ

1. คดีที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดไม่เกิน พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) คือ อัตราโทษอย่างสูงจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น มีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องคดีได้ตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (3) และเมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้วก็จะต้องมีคําสั่งในคดีอาญาตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 คือ

(1) ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาถ้าเห็นว่าคดีมีมูล หรือ

(2) พิพากษายกฟ้องถ้าเห็นว่าคดีไม่มีมูล ซึ่งการพิพากษายกฟ้องนี้ ผู้พิพากษาคนเดียว เป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น สามารถทําได้เลยโดยอาศัยอํานาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5)

2. คดีที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกิน พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) คือ อัตราโทษอย่างสูงจําคุกเกินสามปี หรือปรับเกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น มีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (3) และเมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ก็จะต้องมีคําสั่งในคดีอาญาตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 คือ

(1) ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาถ้าเห็นว่าคดีมีมูล หรือ

(2) ในกรณีที่เห็นว่าคดีไม่มีมูล ถือเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 29 (3) ต้องมีผู้พิพากษาอีกหนึ่งคนเข้าร่วมตรวจสํานวนลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษายกฟ้อง ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องคนเดียวไม่ได้

ตัวอย่าง เช่น นายหล่อเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุดรธานีข้อหาปลอมเอกสารตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ กับข้อหาปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทนั้น เมื่อนายโทผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานีได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาปลอมเอกสาร ส่วนคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่มีมูลและจะพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอม เอกสารสิทธินั้น โดยหลักแล้วนายโทผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจกระทําได้ตามมาตรา 25 (3) ที่ได้บัญญัติให้ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธินั้น เป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี จึงเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาได้ตามมาตรา 25 (5) จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 26 จึงถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้น ในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (1) ดังนั้น นายโทผู้พิพากษาคนเดียวของศาลจังหวัดอุดรธานีจะ พิพากษายกฟ้องคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่ได้ จะต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุดรธานีตรวจสํานวน และลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องด้วย ตามมาตรา 29 (3)

 

ข้อ 3. นายศักดิ์สิทธิ์ นายสนอง และนายสยาม ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะพิจารณาคดีอาญาคดีหนึ่ง ในความผิดซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งสามได้พิจารณาคดีจนเสร็จสํานวนแล้วแต่ยังมิได้ทําคําพิพากษา นายศักดิ์สิทธิ์ได้ล้มป่วยกะทันหันต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล นายสองและนายสยามจึงนําสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นายดํารัสผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกคนหนึ่งตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อในคําพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้นมีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(1) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกา”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายศักดิ์สิทธิ์ นายสนอง และนายสยาม ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะ พิจารณาคดีอาญาคดีหนึ่งในความผิดซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ เมื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งสามได้พิจารณาคดีจนเสร็จสํานวนแล้วแต่ยังมิได้ทําคําพิพากษา นายศักดิ์สิทธิ์ ได้ล้มป่วยกะทันหันต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้น กรณีนี้ถือว่านายศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถ ทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้ และถือว่าเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 30 ดังนั้น นายสนอง และนายสยามจึงต้องนําสํานวนคดีนั้นไปให้ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกาตรวจและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาตามมาตรา 29 (1)

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสนองและนายสยามได้นําสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นายดํารัสผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกคนหนึ่งตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อในคําพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย ดังนั้น คําพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement