การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3102 (LAW 3002) ป.พ.พ.ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. เมื่อปี พ.ศ. 2556 นายโกศิลเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโอชาเป็นจําเลย โดยฟ้องว่าจําเลยประกอบ กิจการแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนสามัญฯ ของตนเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น โดยคําขอท้ายคําฟ้องคือขอให้จําเลยหยุดกิจการซึ่งค้าแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเดิมนั้นสืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2552 นายโกศลได้เข้าหุ้นกับนายโอชาโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ไม่จดทะเบียน มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลางของ ประเทศไทย บุคคลทั้งสองมิได้ตกลงเรื่องแต่งตั้งผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว

Advertisement

ห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังกล่าวมีนายทองโตเป็นลูกจ้าง ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวมีกําไรหลังหักภาษีจํานวน 100 ล้านบาท ทุกปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 นายโอชาตั้งกิจการค้าขายน้ํามันปาล์มส่วนตัวอีกกิจการหนึ่งเฉพาะ ในจังหวัดขอนแก่นแยกต่างหากจากกิจการที่ร่วมกับนายโกศิล โดยที่นายโกศลไม่ทราบเรื่อง กิจการใหม่ดังกล่าว นายโอชามีกําไรหลังหักภาษีจํานวนประมาณ 100 ล้านบาททุกปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 นายทองโตและนายโอชาได้ตกลงกันร่วมลงทุนตั้งห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์มจํากัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายต้นปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย และ สํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์มจํากัดตั้งอยู่ใกล้ชิดกับสํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนสามัญของนายโกศิลกับนายโอชา

โดยนายโอชาซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดถูกตั้งเป็นผู้จัดการ ส่วนนายทองโตเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์มจํากัดมีกําไรหลังหักภาษี จํานวนประมาณ 100 ล้านบาททุกปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 นายทรงพลตกลงร่วมลงทุนกับนายโอชา ตั้งห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มจํากัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะใน พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยนายทรงพลซึ่งเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดถูกตั้งเป็น ผู้จัดการ ส่วนนายโอชาเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มจํากัด มีกําไรหลังหักภาษีจํานวนประมาณ 100 ล้านบาททุกปี

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน นายโกศิล ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1038 “ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความ ยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกําไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหาย เพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทําการฝ่าฝืน”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1038 บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ประกอบกิจการที่มีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการค้าขายแข่งกับห้างฯ หากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นก็สามารถเรียกเอาผลกําไรทั้งหมด หรือ เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเพียงแต่ไปลงหุ้นกับผู้อื่นโดยมิได้เป็นผู้ดําเนินกิจการ ในห้างหุ้นส่วนอันใหม่นั้น แม้ว่ากิจการที่ร่วมลงหุ้นนั้นจะมีลักษณะเป็นการค้าขายแข่งขึ้นกับห้างหุ้นส่วนเดิมก็ไม่ถือว่าเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนเดิมแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายโกศิลเข้าหุ้นกับนายโอชาโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนในปี พ.ศ. 2552 มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย และมีนายทองโต เป็นลูกจ้าง เมื่อทั้งสองไม่ได้ตกลงเรื่องแต่งตั้งผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว ตามกฎหมายย่อมถือว่าทั้งสอง เป็นผู้จัดการ (มาตรา 1033)

ในปี พ.ศ. 2553 การที่นายโอชาได้ตั้งกิจการค้าขายน้ํามันปาล์มส่วนตัวอีกกิจการหนึ่ง เฉพาะในจังหวัดขอนแก่นแยกต่างหากจากกิจการที่ร่วมกับนายโกศล โดยที่นายโกศลไม่ทราบเรื่องกิจการใหม่
ของนายโอซาดังกล่าวนั้น การกระทําของนายโอชาไม่ถือว่าเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด เพราะแม้กิจการใหม่ของนายโอซาจะมีสภาพดุลเดียวกันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนที่ นายโอชาเป็นหุ้นส่วนกับนายโกศลก็ตาม แต่กิจการใหม่ของนายโอชาเป็นกิจการเฉพาะในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งกิจการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมิได้เป็นกิจการในภาคกลาง จึงไม่เป็นกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน ดังนั้น กรณีดังกล่าวนี้นายโอชาจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโกศิล

2. ในปี พ.ศ. 2554 การที่นายทองโตและนายโอซาได้ตกลงร่วมลงทุนตั้งห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์ม
จํากัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายต้นปาล์มเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทย และสํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์มจํากัด ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับสํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนสามัญของนายโกศิลกับนายโอชา โดยมีนายโอชาเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดและเป็นผู้จัดการนั้น กรณีดังกล่าวก็ไม่ถือว่านายโอชาได้กระทําการ ที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด เนื่องจากกิจการที่นายโอชาได้กระทํานี้เป็นกิจการ ค้าขายต้นปาล์ม จึงมิใช่กิจการที่มีสภาพดุจเดียวกันกับกิจการค้าขายน้ํามันปาล์มของห้างหุ้นส่วนสามัญเดิม ที่นายโอซาเป็นหุ้นส่วนกับนายโกศล แม้ว่ากิจการดังกล่าวจะเป็นกิจการเฉพาะจังหวัดภาคกลางของประเทศไทยและมีสํานักงานใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับสํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนสามัญเดิมก็ตาม ดังนั้น กรณีดังกล่าวนี้นายโอชาจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโกศิลเช่นเดียวกัน

3. ในปี พ.ศ. 2555 การที่นายทรงพลตกลงร่วมลงทุนกับนายโอซาตั้งห้างหุ้นส่วนภาคกลาง ค้าปาล์มจํากัด โดยมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โดยมีนายทรงพลเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดและนายโอชาเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนั้น กรณีดังกล่าวนี้ ย่อมถือได้ว่านายโอซาได้กระทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 แล้ว เนื่องจากการที่นายโอชาเป็นหุ้นส่วน ไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มจํากัด ย่อมถือว่านายโอชาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ

ซึ่งมีอํานาจในการจัดกิจการของห้างหุ้นส่วนจํากัดดังกล่าว และกิจการที่ทํานั้นก็เป็นกิจการที่มีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการค้าขายของห้างหุ้นส่วนสามัญเดิม และโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายโกศิล

ดังนั้น กรณีดังกล่าวนี้นายโกศิลย่อมสามารถฟ้องเรียกเอาผลกําไรซึ่งนายโอชาหามาได้ทั้งหมด หรือจะฟ้องเรียก เอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้นได้ตามมาตรา 1038 วรรคสอง แต่นายโกศิลจะฟ้องขอให้จําเลยหยุดกิจการซึ่งค้าแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเดิมนั้นไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

สรุป นายโกศลสามารถฟ้องนายโอชาให้รับผิดต่อตนได้เฉพาะกรณีที่นายโอชาได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มจํากัดร่วมกับนายทรงพล โดยสามารถฟ้องเรียกเอาผลกําไรทั้งหมดซึ่งนายโอชาหามาได้หรือจะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนสามัญเดิม ได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้นก็ได้ แต่จะฟ้องขอให้นายโอชาหยุดกิจการซึ่งค้าแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเดิมไม่ได้

 

ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายเชิงวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างหุ้นส่วนประเภทไม่จํากัดความรับผิดกับหุ้นส่วน ประเภทจํากัดความรับผิด อย่างน้อย 14 รายการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย หุ้นส่วนและบริษัท

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัด
ความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ

1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)

2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น
(มาตรา 1077)

3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวนไม่ว่า
หนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดโดย ไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น (มาตรา 1079)

4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)

5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)

6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)

7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวด
ไว้ด้วย (มาตรา 1085)

8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)

9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือ
จะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)

10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)

11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ห้างหุ้นส่วนจํากัดย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย จะไม่เป็นเหตุ ให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

12. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย ห้างหุ้นส่วนจํากัดย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย จะไม่เป็น เหตุให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

13. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตกเป็นคนไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนจํากัด ย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่ง ตกเป็นคนไร้ความสามารถ จะไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

14. ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนั้น คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนถือว่าเป็นสาระสําคัญ แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้น คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เป็นสาระสําคัญ

15. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)

 

ข้อ 3. ให้ท่านอธิบายเชิงวิเคราะห์หลักกฎหมายเรื่องการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัทจํากัด ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทโดยละเอียด

ธงคําตอบ

เรื่องการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัทจํากัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กําหนดหลักไว้ดังนี้

1. ประเภทของการประชุมใหญ่

การประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.1 การประชุมใหญ่สามัญ คือ การประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น ซึ่งกฎหมายบังคับให้บริษัทจํากัด จะต้องจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกภายในกําหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันจดทะเบียนบริษัท และในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (มาตรา 1171)

1.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ คือ การประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น ซึ่งได้เรียกประชุมกันเป็นพิเศษ ต่างหากจากการประชุมใหญ่สามัญ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น การประชุมใหญ่วิสามัญอาจ เกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ

1. เมื่อกรรมการเห็นสมควร ตามมาตรา 1172 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “กรรมการจะ เรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร

2. เมื่อบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจํานวนต้นทุน ตามมาตรา 1172 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจํานวนต้นทุน กรรมการต้องเรียกประชุมวิสามัญทันทีเพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบการที่
ขาดทุนนั้น”

3. เมื่อผู้ถือหุ้นมีจํานวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ร้องขอให้เรียกประชุม ตาม มาตรา 1173 ซึ่งบัญญัติว่า “การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้น ในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจํานวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า หนึ่งในหัวแห่งจํานวนหุ้นของบริษัท ได้เข้าชื่อกันทําหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น ในหนังสือร้องขอนั้น ต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด”

4. เมื่อตําแหน่งผู้สอบบัญชีว่างลง ตามมาตรา 1211 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ามีตําแหน่งว่างลง ในจํานวนผู้สอบบัญชี ให้กรรมการนัดเรียกประชุมวิสามัญเพื่อให้เลือกตั้งขึ้นใหม่ให้ครบจํานวน

2. วิธีเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

ในการบอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น มาตรา 1175 ได้กําหนดไว้ดังนี้

1. จะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และ

2. จะต้องส่งคําบอกกล่าวเป็นจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน

3. ในคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น จะต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการ ที่จะได้ประชุมปรึกษากันด้วย

3. องค์ประชุม และการเลื่อนประชุม

ตามมาตรา 1178 ได้กําหนดไว้ว่า ในการประชุมใหญ่นั้น จะต้องมีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมกัน แทนหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของทุนของบริษัทจึงจะถือว่าครบองค์ประชุมและสามารถประชุมเพื่อ ปรึกษากิจการกันได้ มิฉะนั้นแล้วที่ประชุมอันนั้นก็จะปรึกษากิจการอันใดไม่ได้

มาตรา 1179 ได้กําหนดไว้ว่า การประชุมใหญ่เรียกนัดเวลาใด เมื่อล่วงเวลานัดไปแล้วถึง ชั่วโมง จํานวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาเข้าประชุมยังไม่ครบถ้วนเป็นองค์ประชุม หากการประชุมใหญ่นั้นได้นัดเรียกเพราะ ผู้ถือหุ้นร้องขอก็ให้เลิกประชุม แต่ถ้าการประชุมใหญ่นั้นมิใช่ชนิดซึ่งเรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอ ก็ให้เรียกนัด ประชุมใหม่อีกคราวภายใน 14 วัน ซึ่งการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ กฎหมายกําหนดว่าไม่จําต้องครบองค์ประชุม

ส่วนการเลื่อนประชุมนั้น มาตรา 1181 ได้กําหนดไว้ว่า ผู้นั่งเป็นประธานจะเลื่อนการประชุมใหญ่ ใด ๆ ไปเวลาอื่นโดยความยินยอมของที่ประชุมก็ได้ แต่ในที่ประชุมซึ่งได้เลื่อนมานั้น ห้ามมิให้ปรึกษากิจการอันใด นอกไปจากที่ค้างมาแต่วันที่ประชุมก่อน

4. สิทธิในการลงมติ (ออกเสียงลงคะแนน)

โดยปกติแล้วผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ (มาตรา 1176) หรืออาจ ทําเป็นหนังสือมอบฉันทะให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนก็ได้ (มาตรา 1187) แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในการออกเสียง ลงมติในที่ประชุมใหญ่ ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงมตินั้น กฎหมายได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ คือ

1. จะต้องมีหุ้นเท่ากับจํานวนที่ข้อบังคับของบริษัทได้กําหนดไว้ ถ้าผู้ถือหุ้นหลายคนมี จํานวนหุ้นไม่เท่าจํานวนดังกล่าว ก็มีสิทธิที่จะนําหุ้นมารวมกันเพื่อให้เท่าจํานวนนั้น แล้วตั้งให้ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้รับมอบฉันทะในการลงมติออกเสียงแทน (มาตรา 1183)

2. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งได้ชําระเงินค่าหุ้นตามที่บริษัทได้เรียกเก็บเสร็จสิ้นแล้ว (มาตรา 1184)

3. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อ เว้นแต่จะเป็นหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือที่ได้นําใบหุ้นมาวางไว้
แก่บริษัทก่อนเวลาประชุม (มาตรา 1186)

4. จะต้องไม่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องซึ่งที่ประชุมจะลงมติ

5. การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน

ในการออกเสียงลงคะแนน และการนับคะแนนนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้ 2 วิธี คือ

1. การลงคะแนนโดยเปิดเผยหรือโดยวิธีชูมือ ให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนที่มาประชุมเอง หรือ มอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทนมีเสียงหนึ่งเป็นคะแนน (ผู้ถือหุ้น 1 คนต่อ 1 เสียง)

2. การลงคะแนนลับ ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น ได้มี ผู้ถือหุ้น 2 คนเป็นอย่างน้อยได้ร้องขอให้ลงคะแนนลับ (มาตรา 1190) และเมื่อมีการลงคะแนนลับการนับคะแนน ให้ถือว่าผู้ถือหุ้นทุกคนมีคะแนน 1 หุ้นต่อ 1 เสียง (มาตรา 1182)

ในการลงคะแนนไม่ว่าจะโดยวิธีที่ 1 หรือวิธีที่ 2 นั้น ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียงเพื่อเป็นเสียงชี้ขาด (มาตรา 1193)

6. มติของที่ประชุมใหญ่

ในการลงมติสําหรับกิจการต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่นั้น มติที่ใช้มิได้ 2 กรณี คือ

1. มติสามัญ คือ การลงมติตกลงในที่ประชุมใหญ่สําหรับกิจการธรรมดาทั่วไป ซึ่งกฎหมาย มิได้บังคับให้ลงมติด้วยมติพิเศษ การลงมติในลักษณะนี้จะใช้คะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

2. มติพิเศษ คือ การลงมติตกลงในที่ประชุมใหญ่สําหรับกิจการบางชนิดที่กฎหมายกําหนดว่า จะต้องใช้คะแนนข้างมากไม่ต่ํากว่า 3 ใน 4 ของจํานวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม และมีสิทธิออกเสียง
ลงคะแนน (มาตรา 1194)

7. การเพิกถอนมติของที่ประชุม

มาตรา 1195 ได้กําหนดให้กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใด สามารถที่จะร้องขอเพื่อให้ ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ได้ ถ้าการประชุมใหญ่นั้นได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืน บทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท แต่จะต้องร้องขอเพื่อให้ศาลเพิกถอนมติอันผิดระเบียบนั้น ภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันลงมตินั้น

Advertisement