การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดง ดํา และขาว ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน โดยมิได้ กําหนดเวลาจะเลิกห้างกันเมื่อใด ห้างฯ นี้ได้เปิดดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ผลประกอบการก็ไม่ค่อยจะมีกําไรเท่าใด เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 แดงจึงขอลาออกจากห้างฯ โดยดําและขาวก็ไม่ขัดข้อง แต่ก่อนที่แดงจะขอลาออกจากห้างฯ ดําหุ้นส่วนผู้จัดการได้กู้ยืมเงิน จากนายเทวามาใช้จ่ายในห้างฯ จํานวน 5 ล้านบาท และยังมิได้ชําระหนี้เลย ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 เกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาดหนักทําให้ห้างฯ ขาดทุนมาก จึงไม่มีเงินใช้หนี้เงินกู้ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา นายเทวาจึงได้มีหนังสือทวงถามให้ห้างฯ ชําระหนี้ แต่ห้างฯ ก็ไม่อาจชําระหนี้ได้ นายเทวาจึงฟ้องห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเป็นจําเลยที่ 1 และฟ้องหุ้นส่วนทุกคนรวมทั้งแดงที่ลาออกจากห้างฯ ไปแล้วด้วย ให้เป็นจําเลยร่วมกับห้างฯ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าแดงได้ออกจากห้างฯ ไปเมื่อใดหรือไม่

Advertisement

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าแดงจะต้องร่วมรับผิดร่วมกับห้างฯ หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1023 วรรคหนึ่ง “ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์ แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสารหรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้”

มาตรา 1050 “การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขาย ของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกัน โดยไม่จํากัดจํานวนในการชําระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น”

มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”

มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่แดง ดํา และขาว ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียน และต่อมาดําหุ้นส่วนผู้จัดการได้กู้ยืมเงินจากนายเทวามาใช้จ่ายในห้างฯ จํานวน 5 ล้านบาทนั้น ถือเป็นกรณีที่ดําได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ดังนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน คือ แดง ดํา และขาวจึงต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 1050

การที่แดงได้ขอลาออกจากห้างฯ โดยดําและขาวไม่ขัดข้องนั้น แดงก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้เงินกู้ยืม ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ของห้างฯ ที่เกิดขึ้นก่อนที่แดงจะได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 และเมื่อห้างฯ ดังกล่าวเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน โดยหลักแล้วแดงจะต้องรับผิดโดยจํากัดเวลาเพียง 2 ปีนับแต่เมื่อแดง ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วน กล่าวคือถ้านายเทวาจะฟ้องให้แดงรับผิดในหนี้ดังกล่าว นายเทวาจะต้องฟ้องแดง ภายในกําหนด 2 ปีนับแต่วันที่แดงได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1068

อย่างไรก็ตาม การที่แดงได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น ตามกฎหมายแดงจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนฯ ด้วยเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วนและจะต้องนําความไปจดทะเบียนด้วย ถ้าไม่นําความไปจดทะเบียนผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาข้อความที่บังคับให้จดทะเบียนนั้นขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้ตามมาตรา 1023 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่แดงได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนนั้น แดงมิได้นําความไปจดทะเบียนแต่อย่างใด ชื่อในทางทะเบียนย่อมมีชื่อแดงปรากฏอยู่ด้วย และแม้ว่านายเทวา เจ้าหนี้จะฟ้องให้แดงรับผิดในหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวเมื่อพ้นกําหนด 2 ปีนับแต่วันที่แดงได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน ไปแล้ว แดงจึงไม่อาจยกเอาข้อกําหนดจํากัดความรับผิด 2 ปีนั้นขึ้นต่อสู้นายเทวาได้ตามมาตรา 1023 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แดงจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วย

สรุป แดงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวร่วมกับห้างฯ

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองมีนายแสงเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดลงหุ้นด้วยเงิน 100,000 บาท นายทองเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดลงหุ้นด้วยแรงงานโดยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนฯ มีวัตถุประสงค์ค้าขายยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี ก่อนจดทะเบียนจัดตั้ง นายแสง ได้กู้ยืมเงินจากนายฟ้ามาลงหุ้นจํานวน 100,000 บาท โดยมีนายทองเป็นผู้ค้ําประกันเงินกู้รายนี้ ต่อมาได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด นายทองได้มอบหมายให้นายแสงไปซื้อปุ๋ยเคมี มาจําหน่ายในห้างฯ เป็นจํานวนเงิน 150,000 บาท และห้างฯ ยังมิได้ชําระหนี้ค่าปุ๋ย ปรากฏว่า ในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ฝนตกน้ําท่วมโกดังเก็บปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ทําให้ปุ๋ยและ ยาปราบศัตรูพืชเสียหายทั้งหมด ห้างฯ จึงไม่มีเงินชําระหนี้ ส่วนหนี้กู้ยืมเงินที่นายแสงนายฟ้า มาเป็นทุนในการลงหุ้น นายแสงก็ผิดนัดชําระหนี้

ดังนี้ถามว่า นายฟ้าจะฟ้องให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองชําระหนี้ได้หรือไม่ และหนี้ค่าปุ๋ยเคมี เจ้าหนี้จะฟ้องนายแสงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็น ห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด จํานวน จนกว่าจะได้จดทะเบียน”

มาตรา 1087 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัดจํานวน”

มาตรา 1095 วรรคหนึ่ง “ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้าง ย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายแสงกู้ยืมเงินจากนายฟ้ามาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองจํานวน 100,000 บาท โดยมีนายทองเป็นผู้ค้ําประกันนั้น หนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวถือเป็นหนี้ส่วนตัวของนายแสง มิใช่หนี้สินที่ห้างหุ้นส่วนจํากัด เป็นผู้กู้ นายแสงจึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ดังนั้น นายฟ้าจะฟ้องห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองไม่ได้ จะต้องฟ้อง นายแสงเป็นการส่วนตัว เนื่องจากนายแสงกู้เงินมาเพื่อนํามาลงหุ้น และสามารถฟ้องนายทองผู้ค้ําประกันได้ด้วย กรณีนี้จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1079 แต่อย่างใด

2. การที่นายแสงเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด ได้รับมอบหมายจากนายทองหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ไปซื้อปุ๋ยเคมีมาจําหน่ายในห้างฯ เป็นเงินจํานวน 150,000 บาท และห้างฯ ยังมิได้ชําระค่าปุ๋ยนั้น การกระทํา ของนายแสงดังกล่าว แม้จะเป็นการจัดกิจการตามวัตถุประสงค์ของห้างฯ ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นการสอดเข้าไป จัดกิจการงานของห้างฯ ซึ่งนายแสงไม่มีอํานาจกระทําเนื่องจากเป็นเพียงหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดตาม มาตรา 1087 และมาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายแสงจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าปุ๋ยเคมีด้วย และเจ้าหนี้สามารถ ฟ้องให้นายแสงรับผิดได้แม้ห้างฯ จะยังไม่เลิกกันก็ตาม เพราะกรณีนี้ถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง

สรุป นายฟ้าจะฟ้องให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองชําระหนี้ที่นายแสงกู้ยืมเงินของตนจํานวน 100,000 บาทไม่ได้ ส่วนหนี้ค่าปุ๋ยเคมี เจ้าหนี้สามารถฟ้องนายแสงได้

 

ข้อ 3. นายเก่ง นายกล้า และนายกวง เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจํากัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง นายเก่งและนายกล้าได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายอาคารของนายอํานวย เพื่อไว้ใช้เป็นที่ทําการของบริษัทที่จะจัดตั้ง เมื่อได้ทําสัญญามาแล้ว นายกวงได้ตรวจสอบดูก็พบว่า อาคารของนายอํานวยติดภาระจํานองธนาคารกรุงไทยอยู่จึงไม่พอใจนายเก่งและนายกล้าที่ไม่รอบคอบไม่ตรวจสอบสิทธิให้ดีจึงเกิดทะเลาะกัน นายกวงจึงขอถอนตัวจากการเป็นผู้เริ่มก่อการบริษัท โดยนายเก่งและนายกล้าก็ไม่ขัดข้อง หลังจากที่นายกวงได้ถอนตัวจากการเป็นผู้เริ่มก่อการแล้ว

นายเก่งและนายกล้าได้ชักชวนนางสาวก้อยมาเป็นผู้ก่อการแทนนายกวง จนมีการจองซื้อหุ้นครบจํานวนที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิและได้มีการประชุมตั้งบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1108 แต่ที่ประชุมผู้เข้าซื้อหุ้นไม่อนุมัติให้ซื้ออาคารของนายอํานวยตามสัญญา จะซื้อจะขายเพราะติดจํานองธนาคาร นายอํานวยจึงเรียกค่าเสียหายจากนายเก่ง นายกล้า นายกวง และนางสาวก้อย แต่นายกวงต่อสู้ว่าตนได้ลาออกจากการเป็นผู้เริ่มก่อการไปแล้วและไม่เคยมายุ่งเกี่ยว อีกเลยจึงไม่ขอรับผิด ส่วนนางสาวก้อยต่อสู้ว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นในสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว เพราะตนเข้ามาเป็นผู้ก่อการภายหลัง อีกทั้งนายเก่งและนายกล้าก็ได้ออกเงินค่าจองซื้อหุ้นให้ตน โดยตนไม่มีเจตนาจะลงหุ้นในบริษัทเลย จึงไม่ขอรับผิด

ดังนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของนายกวงและนางสาวก้อยรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1113 “ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จํากัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1113 นั้น บัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องร่วมรับผิดร่วมกันโดยไม่จํากัดในบรรดาหนี้ และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้ที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้ว ผู้เริ่มก่อการก็ยังต้อง รับผิดอยู่จนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท ดังนั้นผู้เริ่มก่อการจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ของบริษัทก็ต่อเมื่อ
ที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติหนี้ดังกล่าวแล้วและบริษัทได้จดทะเบียนตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่ง นายกล้า และนายกวง เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจํากัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง นายเก่งและนายกล้าได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายอาคารของ นายอํานวยเพื่อไว้ใช้เป็นที่ทําการของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น เมื่อได้ทําสัญญากันแล้ว นายกวงได้ตรวจสอบดูก็พบว่า อาคารของนายอํานวยติดภาระจํานองธนาคารกรุงไทยอยู่ จึงไม่พอใจนายเก่งและนายกล้าที่ไม่รอบคอบ
ไม่ตรวจสอบสิทธิให้ดีจึงเกิดทะเลาะกัน นายกวงจึงขอถอนตัวจากการเป็นผู้เริ่มก่อการบริษัท โดยนายเก่งและ นายกล้าก็ไม่ขัดข้อง ต่อมานายเก่งและนายกล้าได้ชักชวนนางสาวก้อยเข้ามาเป็นผู้เริ่มก่อการแทนนายกวง และเมื่อ มีการจองซื้อหุ้นครบจํานวนที่ระบุในหนังสือบริคณห์สนธิและได้มีการประชุมตั้งบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1108 แต่ที่ประชุมผู้เข้าซื้อหุ้นไม่อนุมัติให้ซื้ออาคารของนายอํานวยตามสัญญาจะซื้อจะขายเพราะติดจํานองธนาคารนั้น กรณีดังกล่าวย่อมมีผลตามมาตรา 1113 กล่าวคือ ผู้เริ่มก่อการบริษัททุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จํากัด ในบรรดาหนี้สินและการจ่ายเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้น เมื่อนายอํานวยเรียกค่าเสียหายจากนายเก่ง นายกล้า นายกวง และนางสาวก้อย ดังนี้ นายกวงก็จะต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวนั้น เพราะแม้ว่านายกวงจะได้ลาออก จากการเป็นผู้เริ่มก่อการแล้ว นายกวงก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ เพราะสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวได้ทําขึ้น ในขณะที่นายกวงเป็นผู้เริ่มก่อการบริษัท ดังนั้น ข้ออ้างของนายกวงที่ว่าตนได้ลาออกจากการเป็นผู้เริ่มก่อการไปแล้วและไม่เคยมายุ่งเกี่ยวอีกเลยจึงไม่ขอรับผิดนั้นรับฟังไม่ได้

ส่วนนางสาวก้อย แม้จะเข้ามาเป็นผู้เริ่มก่อการในภายหลังที่ได้มีการทําสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมตั้งบริษัท นางสาวก้อยในฐานะของการเป็น ผู้เริ่มก่อการคนหนึ่งก็จะต้องร่วมรับผิดในหนี้สินดังกล่าวนั้นด้วยตามมาตรา 1113 จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า ตนเข้ามาเป็นผู้เริ่มก่อการในภายหลัง อีกทั้งนายเก่งและนายกล้าก็ได้ออกเงินค่าของหุ้นให้ตนโดยตนไม่มีเจตนา ที่จะลงหุ้นในบริษัทเลยนั้นไม่ได้เช่นกัน

สรุป ข้ออ้างของนายกวงและนางสาวก้อยรับฟังไม่ได้

 

Advertisement