การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 ให้อธิบายถึงขั้นตอน เค้าโครงการดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่มีการกระทำความผิดอาญาจนถึงศาลมาโดยสังเขป พร้อมอ้างหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
ขั้นตอน เค้าโครงการดำเนินคดีอาญา ตาม ป.วิ.อาญา มีดังนี้
1 เริ่มต้นด้วยการมีคำกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น คำกล่าวหาเช่นว่านี้ก็ได้แก่ คำร้องทุกข์โดยผู้เสียหาย ตาม ป.วิ. อาญา มาตรา 2(7) หรือคำกล่าวโทษตาม มาตรา 2 (8) โดยอาจเป็นการกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 123 และประกอบมาตรา 127 หรืออาจจะเป็นการกล่าวหาต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวนและเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 124 และประกอบมาตรา 127 กรณีของคำกล่าวโทษ
2 พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนตามคำกล่าวหา ซึ่งจะมีอำนาจสอบสวนได้ทั้งกรณีความผิดต่อส่วนตัวและความผิดต่ออาญาแผ่นดิน
3 เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดในการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้วก็ต้องสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นทางคดี เช่น งดการสอบสวน ควรให้งดการสอบสวน สั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง แล้วส่งสำนวนต่อไปยังพนักงานอัยการ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 140 , 141 และมาตรา 142)
4 เมื่อสำนวนส่งถึงพนักงานอัยการ พนักงานอัยการก็จะมีความเห็นทางคดี เช่น สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ถ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องก็ต้องส่งสำนวนเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 145) และถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณีมีความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ก็ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นที่แย้งกันไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด และกฎหมายกำหนดว่าให้แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีนี้ให้ผู้ต้องหาและผู้ร้องทุกข์ทราบด้วย และถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุมหรือขังอยู่ให้จัดการปล่อยตัวไปหรือขอให้ศาลปล่อยแล้วแต่กรณี (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 146) และนอกจากนี้ มาตรา 147 ยังกำหนดไว้อีกว่า เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
5 ในกรณีพนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้อง กระบวนการพิจารณาก็จะไปสู่ศาลชั้นต้น คือพนักงานอัยการจะยื่นฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งในกรณีพนักงานอัยการฟ้องนี้จะไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 (2)) แต่ถ้ากรณีผู้เสียหายหรือราษฎรฟองกันเองต้องไต่สวนมูลฟ้องทุกกรณี (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 (1))
6 เมื่อได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว คดีก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลต่อไป ถึงแม้ว่าจะได้ฟ้องคดีต่อศาลแล้วก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 39 ก็ได้ บัญญัติคุ้มครองไว้ว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”