การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  4  ข้อ

ข้อ  1  วิธีการเฝ้าตรวจมีกี่วิธีอะไรบ้าง

ธงคำตอบ

การเฝ้าตรวจบุคคล  สิ่งของ  และสถานที่  มีวิธีปฏิบัติอยู่  3  วิธี  คือ

1       การเฝ้าตรวจชนิดเคลื่อนที่  ได้แก่

            การเฝ้าตรวจโดยวิธีเดินสะกดรอย

            การเฝ้าตรวจแบบใช้ยานพาหนะ

2       การเฝ้าตรวจชนิดประจำที่  ได้แก่  การเฝ้าสังเกตเคหะสถาน  อาคาร  สถานที่ต่างๆ

3       การเฝ้าตรวจชนิดใช้เครื่องอิเล็คโทรนิคส์  เช่น  เครื่องลอบฟัง  เครื่องดักฟัง

ข้อ  2  ให้อธิบายลักษณะการตายของบุคคลที่ต้องชันสูตรพลิกศพและไม่ต้องชันสูตรพลิกศพ  โดยสังเขป

ธงคำตอบ

1       การตายที่ต้องชันสูตรพลิกศพ

            ปรากฏเหตุแน่ชัดมีเหตุสงสัย

–                    ฆ่าตัวตาย

–                    ถูกผู้อื่นทำร้ายให้ตาย

–                    ฯลฯ

            ตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน

2       การตายที่ไม่ต้องถูกชันสูตรพลิกศพ

            ป่วยตายมีหลักฐานปรากฏชัด

            ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย

 

ข้อ  3  นายเอกกับนางอ้อนอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  ต่อมาได้รับนายโอ่งเป็นบุตรบุญธรรม  ปรากฏว่านายโอ่งถูกนายอ้วนฆ่าตาย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  นายเอกจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายอ้วนในความผิดดังกล่าวนั้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2(4)  ในประมวลกฎหมายนี้

(1) ผู้เสียหาย  หมายความถึง  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5 และ  6

มาตรา  2(7)  ในประมวลกฎหมายนี้

(7) คำร้องทุกข์  หมายความถึง  การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม  ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย  และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดรับโทษ

มาตรา  3(1)  บุคคลดั่งระบุในมาตรา  4, 5  และ  6  มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

(1) ร้องทุกข์

มาตรา  5(2)  บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา  ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

วินิจฉัย

ภายใต้บทบัญญัติแห่ง  ป.วิอาญา  มาตรา  2(4)  ผู้เสียหายหมายความถึงบุคคล  2  จำพวก  คือ  ผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง  กับบุคคลอื่นที่อำนาจจัดการแทน  ซึ่งได้แก่บุคคลดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5 และ  6  ซึ่งตามมาตรา  5(2)  นั้น  เป็นการจัดการแทนกันระหว่างบุคคลสองคู่ด้วยกัน  คือ

1       ผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน

2       สามีกับภริยา

ซึ่งจะเห็นว่าบุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้สืบสันดานและผู้รับบุตรบุญธรรมก็ไม่ใช่บุพการีของบุตรบุญธรรม  นายเอกจึงไม่ใช่ผู้เสียหายประเภทเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน  ตามมาตรา  2(4)  ประกอบมาตรา  5(2)  นายเอกจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายอ้วน  ตามมาตรา  2(7)  ประกอบมาตรา  3(1)  ไม่ได้

ข้อ  4  นางสาวสวย  อายุ  17  ปี  ถูกนายเขี้ยวกระทำอนาจาร  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  นางสาวสวยซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยู่จะไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยตัวเองเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายเขี้ยวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2(4)  ในประมวลกฎหมายนี้

(4) ผู้เสียหาย  หมายความถึง  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5 และ  6

มาตรา  2(7)  ในประมวลกฎหมายนี้

(7) คำร้องทุกข์  หมายความถึง  การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม  ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย  และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดรับโทษ

วินิจฉัย

นางสาวสวยซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยู่สามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยตนเองเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายเขียวได้  ตามมาตรา 2(4) (7)  เนื่องจากศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่าการร้องทุกข์ไม่ใช่การทำนิติกรรม  เมื่อมีอายุพอสมควรย่อมร้องทุกข์เองได้  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด

Advertisement