การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012  กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. หลักการกระจายอํานาจปกครอง หมายถึงอะไร การกระจายอํานาจปกครองมีกี่วิธี และการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินโดยการกระจายอํานาจปกครองนั้นมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ขอให้อธิบายมา โดยละเอียด

ธงคําตอบ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง หมายถึง หลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยส่วนกลาง จะมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่น ซึ่งไม่ใช่องค์กรของส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค เช่น การมอบอํานาจ ปกครองให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทําบริการสาธารณะด้วยตนเอง โดยมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ ในความบังคับบัญชาของส่วนกลาง แต่จะอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของส่วนกลาง

ตามหลักการกระจายอํานาจปกครองนั้น ได้มีการจําแนกวิธีกระจายอํานาจปกครองได้ 2 วิธี คือ

1 การกระจายอํานาจปกครองตามอาณาเขต หรือการกระจายอํานาจปกครองให้แก่ท้องถิ่น เป็นวิธีการกระจายอํานาจให้แก่ส่วนท้องถิ่น โดยให้ส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาแยกต่างหากจากส่วนกลาง และให้มีสภาพเป็นนิติบุคคล เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น แล้วส่วนกลางก็จะมอบอํานาจให้องค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นไปดําเนินจัดทํากิจการบริการสาธารณะ ตามอํานาจหน้าที่ ที่กฎหมายได้กําหนดไว้ โดยจะมีการกําหนดขอบเขตหรือพื้นที่ไว้ ซึ่งโดยหลักทั่วไปองค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นก็จะไปจัดทํา กิจการนอกเขตหรือนอกพื้นที่ที่กําหนดไว้ไม่ได้ นอกจากจะมีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้โดยเฉพาะ

วิธีกระจายอํานาจปกครองวิธีนี้เป็นวิธีกระจายอํานาจปกครองให้แก่ท้องถิ่นโดยการ มอบบริการสาธารณะหลาย ๆ อย่างให้แก่ท้องถิ่นไปจัดทําโดยเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเอง และด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการส่วนรวมของประชาชน ในท้องถิ่นนั้น ๆ

ตัวอย่างของการกระจายอํานาจทางเขตแดนหรือทางพื้นที่ ได้แก่ เทศบาล องค์การ บริหารส่วนตําบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีฝ่ายบริหารและ ฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง และสามารถดําเนินการบริการสาธารณะได้โดยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชา แต่อยู่ภายใต้อํานาจกํากับดูแลของส่วนกลาง

2 การกระจายอํานาจตามกิจการ เป็นวิธีกระจายอํานาจ โดยการที่ส่วนกลางจะมอบบริการ สาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวให้แก่องค์กรที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยมิได้อยู่ในสังกัดของส่วนกลาง ได้แก่ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน รับไปดําเนินงานด้วยเงินทุนและด้วยเจ้าหน้าที่ขององค์การนั้น ๆ เช่น การมอบอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถไฟทั่วทั้งประเทศให้แก่องค์การของรัฐคือการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือการมอบอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการจําหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น

ข้อดีของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1 ทําให้มีการสนองตอบต่อความต้องการเฉพาะในแต่ละท้องถิ่นได้ดี

2 เป็นการแบ่งเบาภาระของราชการบริหารส่วนกลางในกิจการเกี่ยวกับท้องถิ่นโดยเฉพาะไปได้มาก

3 การเลือกตั้งเจ้าหน้าที่จากราษฎรในท้องถิ่นนั้นเอง ทําให้ผู้ได้รับเลือกตั้งมีความสนใจในการปกครองท้องถิ่นและได้เรียนรู้วิธีการปกครองดีขึ้น โดยรู้จักสํานึกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ข้อเสียของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1 ถ้ากระจายอํานาจปกครองมากเกินไป อาจกระทบต่อความเป็นเอกภาพในการปกครองประเทศได้

2 ทําให้ราษฎรในท้องถิ่นเห็นประโยชน์ของท้องถิ่นของตนสําคัญกว่าประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

3 เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอาจใช้อํานาจหน้าที่โดยไม่สมควรได้

4 การจัดระเบียบการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจปกครองย่อมสิ้นเปลืองมากกว่าการจัดระเบียบการปกครองตามหลักการรวมอํานาจ เป็นต้น

 

 

ข้อ 2. ตามระเบียบของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 120 ว่าด้วยการสอบสวนเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2541 มิได้มีข้อกําหนดใดที่ให้สิทธิแก่ผู้ถูกสอบสวนในการมี ทนายความหรือที่ปรึกษาเข้ามาในกระบวนการสอบสวนแต่อย่างใด นายแดงเป็นเจ้าหน้าที่การรถไฟ ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดระเบียบของการรถไฟที่มาทํางานสายเป็นประจํา นายแดงจึงมาปรึกษา ท่านว่าหากนายแดงจะขอให้มีทนายความเข้ามาในกระบวนการสอบสวนตนดังกล่าวจะกระทําได้ หรือไม่ ท่านจะให้ความเห็นแก่นายแดงในเรื่องนี้อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 3 “วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กําหนด ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกําหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ และมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ํากว่าหลักเกณฑ์ที่กําหนด ในพระราชบัญญัตินี้ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งที่กําหนด ในกฎหมาย”

มาตรา 23 “ในการพิจารณาทางปกครองที่คู่กรณีต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ คู่กรณีมีสิทธินําทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้

การใดที่ทนายความหรือที่ปรึกษาได้ทําลงต่อหน้าคู่กรณีให้ถือว่าเป็นการกระทําของคู่กรณี เว้นแต่คู่กรณีจะได้คัดค้านเสียแต่ในขณะนั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้บัญญัติ ให้สิทธิแก่คู่กรณีที่จะนําทนายความเข้ามาในกระบวนการพิจาณาทางปกครองของตนได้นั้น ถือเป็นหลักประกัน ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อระเบียบของการรถไฟแห่งประเทศไทยมิได้มีข้อกําหนดใดที่ให้สิทธิ แก่ผู้ถูกสอบสวนในการมีทนายความหรือที่ปรึกษาเข้ามาในกระบวนการสอบสวน ระเบียบดังกล่าวจึงมีหลักเกณฑ์ ที่ประกันความเป็นธรรมต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ฉะนั้นการสอบสวนความผิดวินัยของการรถไฟ แห่งประเทศไทยจึงต้องนํามาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. วิธี ปฏิบัติราชการทางปกครองฯ กล่าวคือ นายแดงสามารถขอให้มีทนายความเข้ามาในกระบวนการสอบสวนตน ดังกล่าวได้

สรุป ข้าพเจ้าจะให้ความเห็นแก่นายแดงดังที่อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 3. คนงานของเทศบาลแห่งหนึ่งได้ทําการซ่อมแซมถนนในเขตเทศบาล และได้ทําการขุดถนนดังกล่าวโดยไม่ได้ปิดหลุมอีกทั้งไม่ได้ปักป้ายให้สัญญาณไว้ นายดําขับรถมาในเวลากลางคืนขับรถตกหลุม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์เป็นอย่างมาก ในกรณีเช่นนี้นายดําจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก เทศบาลได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อํานาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คําสั่งทางปกครองหรือคําสั่งอื่น หรือ จากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ

มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) กรณีที่จะถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ การกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเรียกว่า “ละเมิดทางปกครอง” และจะเป็นคดี ที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ดังนี้ คือ

1 เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ

2 เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 กรณีดังต่อไปนี้ คือ

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมาย

(2) การออกกฎ คําสั่งทางปกครอง หรือคําสั่งอื่น

(3) การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ

(4) การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คนงานของเทศบาลได้ทําการซ่อมแซมถนนในเขตเทศบาล และคนงาน ของเทศบาลได้ทําการขุดหลุมโดยไม่ได้ปิดหลุม ทั้งไม่ได้ปักป้ายให้สัญญาณไว้จนเป็นเหตุให้นายดําได้ขับรถตกหลุม ดังกล่าวนั้น การกระทําของเทศบาลไม่ถือว่าเป็นการละเมิดเนื่องจากการใช้อํานาจตามกฎหมายหรือการละเลยต่อ หน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด และไม่ใช่เป็นการละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีอื่น ๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่เป็นการละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทั่ว ๆ ไปของเทศบาล ซึ่งไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณี จึงไม่ใช่เป็นการกระทําละเมิดทางปกครอง ดังนั้นข้อพิพาทดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอํานาจของศาลปกครองที่จะรับไว้ พิจารณา นายดําจึงต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทําละเมิดทางแพ่งของเทศบาลต่อศาลยุติธรรม

สรุป นายดําจะต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเทศบาลเป็นคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรม เพราะ ข้อพิพาทดังกล่าวไม่อยู่ในอํานาจของศาลปกครองที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา

 

 

ข้อ 4. นายเขียวเคยสมัครสอบเข้าเป็นพนักงานในองค์การบริหารส่วนตําบลแห่งหนึ่ง แต่ถูกจับได้ว่ามีการทุจริตในการสอบจึงถูกตัดสิทธิในการสอบครั้งนั้น ต่อมาทางกระทรวงสาธารณสุขเปิดรับสมัคร บุคคลเข้ารับราชการ นายเขียวจะมาสมัครเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 36 ข. (11) “ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ข. ลักษณะต้องห้าม

(11) เป็นผู้เคยกระทําการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการหรือเข้าปฏิบัติงานใน หน่วยงานของรัฐ”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวเคยสมัครสอบเข้าเป็นพนักงานในองค์การบริหารส่วนตําบลแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และนายเขียวถูกจับได้ว่ามีการทุจริตในการสอบจึงถูกตัดสิทธิในการสอบครั้งนั้น ย่อมถือว่า นายเขียวเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (11) แล้ว ดังนั้น เมื่อต่อมาทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ นายเขียวจึงไม่สามารถที่จะมาสมัครเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุข ดังกล่าวได้

สรุป นายเขียวจะมาสมัครเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่ได้

Advertisement