การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012 กฎหมายปกครอง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ผู้บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย  ได้รับมอบหุ้นจากบริษัท  ประสิทธิ์การช่าง  จำกัด  ที่จะรับว่าจ้างก่อสร้างทางด่วน  ต่อมาจึงได้อนุมัติให้จัดทำสัญญาว่าจ้างกับบริษัทดังกล่าว  ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า  คำสั่งอนุมัติให้จัดทำสัญญาดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  วิธีพิจารณาราชการทางปกครอง  พ.ศ.  2539  มาตรา  5  คำสั่งทางปกครอง  หมายความว่า

(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การวินิจฉัย  อุทธรณ์  การรับรอง  และการรับจดทะเบียน  แต่ไม่ไหมายความรวมถึงการออกกฎ

มาตรา  13  เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้

(1)  เป็นคู่กรณีเอง

(2) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี

(3) เป็นญาติของคู่กรณี  คือ  เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ  หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงสามชั้น  หรือเป็นญาติเกี่ยวกันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น

(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี

(5) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้  หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี

(6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

และมาตรา  16  บัญญัติหลักไว้ว่า

ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา  13  เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง  เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในการพิจารณาทางปกครองนั้น  ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ใดมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  13  เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้  หรือถ้าในกรณีที่มีพฤติกรรมอันแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองจะไม่มีความเป็นกลาง  เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็จะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้เช่นเดียวกัน  (มาตรา 16)  ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว  และได้มีการออกคำสั่งทางปกครอง  คำสั่งทางปกครองที่ออกมาย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่ผู้บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย  ได้รับมอบหุ้นจากบริษัท  ประสิทธิ์การช่าง  จำกัด  ที่จะรับว่าจ้างก่อสร้างทางด่วน  ดังนี้จะเห็นได้ว่าผู้บริหารฯในฐานะเจ้าหน้าที่กับบริษัทฯในฐานะคู่กรณีนั้น  แม้จะไม่มีความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวตามมาตรา  13  ก็ตาม  แต่โดยพฤติการณ์แล้วถ้าให้ผู้บริหารฯ  ดังกล่าวทำการพิจารณาแล้ว  ผู้บริหารย่อมมีแนวโน้มที่จะอนุมัติให้มีการจัดทำสัญญาว่าจ้างกับบริษัทฯดังกล่าวได้  เพราะการที่ได้รับมอบหุ้นของผู้บริหารฯนั้น  อาจเป็นเหตุจูงใจให้ผู้บริหารฯ สั่งการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทฯนั้นได้  กรณีนี้จึงถือได้ว่ามีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางได้  ดังนั้นตามมาตรา  16  ผู้บริหารฯดังกล่าวจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนี้ไม่ได้  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้บริหารฯได้พิจารณาและได้มีการอนุมัติให้จัดทำสัญญาว่าจ้างกับบริษัทฯ  คำสั่งอนุมัติดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา  5  จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะเป้นคำสั่งที่ออกมาโดยฝ่าฝืนมาตรา  16

สรุป  คำสั่งอนุมัติให้จัดทำสัญญากับบริษัทดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 


ข้อ  2  นายแดงเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง  และเคยเป็นบุคคลล้มละลาย  ต้องการสมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง  ขอให้ท่านวินิจฉัยว่าหน่วยงานราชการแห่งนั้นจะรับสมัครนายแดงเข้ารับราชการได้หรือไม่  เพราะเหตุใด ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.2551  มาตรา  36 ข. (5) และ(6)  ได้บัญญัติไว้ว่า

ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน  ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

ข. ลักษณะต้องห้าม

(5) เป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง

(6)  เป็นบุคคลล้มละลาย

วินิจฉัย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวในข้อ ข. (5)  จะเห็นว่าลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนนั้น  กฎหมายห้ามเฉพาะ  การเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองเท่านั้น  แต่ไม่ได้ห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง  และในข้อ ข.(6)  กฎหมายก็ห้ามเฉพาะการเป็นบุคคลล้มละลายเท่านั้น  แต่ไม่ได้ห้ามบุคคลที่ “เคยเป็น”  บุคคลล้มละลายแต่อย่างใด

ดังนั้นตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง  และเคยเป็นบุคคลล้มละลายนั้น  นายแดงจึงไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน  เมื่อนายแดงต้องการสมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานราชการ หน่วยงานราชการแห่งนั้นย่อมสามารถที่จะรับสมัครนายแดงเข้ารับราชการได้

สรุป  หน่วยงานราชการแห่งนั้นสามารถรับสมัครนายแดงเข้ารับราชการได้  เพราะนายแดงไม่มีคุณสมบัติที่เข้าลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

 


ข้อ  3  การจัดระเบียบราชการในจังหวัดเชียงใหม่  และกรุงเทพมหานคร  เป็นไปตามหลักการใด  มีสาระสำคัญอย่างไร  มีลักษณะเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร  จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคำตอบ

1       การจัดระเบียบราชการในจังหวัดเชียงใหม่  ก็เหมือนกับการจัดระเบียบราชการในจังหวัดต่างๆทั่วๆไป  (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร)  คือ  เป็นไปตามหลักการรวมอำนาจ  แบบการกระจายการรวมศูนย์อำนาจปกครองหรือการแบ่งอำนาจปกครอง  ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่นั้นถือว่าเป็นราชการส่วนภูมิภาค  และการจัดระเบียบบริหารราชการนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการในจังหวัดไว้ดังนี้  คือ

(1)    ให้รวมท้องที่หลายๆอำเภอตั้งขึ้นเป็นจังหวัด  มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(2)   ในจังหวัดหนึ่ง  ให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล  คณะรัฐมนตรี  กระทรวง  ทบวง  กรม  มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน  และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหาร  ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดและรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอ  และจะให้มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด  หรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด  หรือทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด  เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้  ผู้ว่าราชการจังหวัด  รองผู้ว่าราชการจังหวัด  และผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด  สังกัดกระทรวงมหาดไทย

(3)   ในจังหวัดหนึ่งนอกจากจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว  ให้มีปลัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด  ซึ่ง  กระทรวง  ทบวง  กรมต่างๆส่งมาประจำ  ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัดและมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาค  ซึ่งสังกัดกระทรวง  ทบวง  กรม  นั้นในจังหวัดนั้น

(4)   ให้แบ่งส่วนราชการของจังหวัดดังนี้

(ก)   สำนักงานจังหวัด  มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไป  และการวางแผนพัฒนาจังหวัดนั้น  มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานจังหวัด

(ข)   ส่วนราชการต่างๆ ซึ่ง  กระทรวง  ทบวง  กรม  ได้ตั้งขึ้น  มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง  ทบวง  กรมนั้นๆ  มีหัวหน้าราชการประจำจังหวัดนั้นๆเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชา

2       การจัดระเบียบราชการในกรุงเทพมหานคร  เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจกรุงเทพมหานครถือเป็นราชการส่วนท้องถิ่นระบบพิเศษ  โดยการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร  พ.ศ. 2528  ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครไว้ดังนี้

(1)    ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.)  มีฐานะเป็นนิติบุคคล  และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  มีระเบียบการบริหารตามพระราชบัญญัติดังกล่าว  และมีอาณาเขตท้องที่ตามที่กรุงเทพมหานครมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ

(2)   ให้แบ่งพื้นที่การบริหารกรุงเทพมหานคร  เป็นเขตและแขวงตามพื้นที่เขตและแขวงที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ

(3)   การบริหารกรุงเทพมหานคร  ประกอบด้วย  สภากรุงเทพมหานคร  และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร  และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ  4  ปี

(4)   การจัดระเบียบราชการของกรุงเทพมหานคร

(ก)    ส่วนราชการของกรุงเทพมหานคร  มีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้บังคับบัญชา  ข้าราชการกรุงเทพมหานคร  และลูกจ้างกรุงเทพมหานคร  และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร  โดยมีการจัดระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร  ดังนี้  สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร  สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร  สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร  สำนักหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น  ซึ่งมีฐานะเป็นสำนัก  สำนักงานเขต  และสภาเขต

(ข)   สภาเขต  ในเขตหนึ่งๆให้มีสภาเขตประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งมีจำนวนอย่างน้อยเขตละ  7  คน  ถ้าเขตใดมีราษฎรเกินหนึ่งแสนคน  ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตในเขตนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อราษฎรหนึ่งแสนคน  อายุของสภาเขตมีกำหนดคราวละ  4  ปีนับแต่วันเลือกตั้ง 

 


ข้อ  4  นายทองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ  ได้ถูกประชาชนร้องเรียนว่าทุจรติต่อหน้าที่ในการรับสินบน  นายอำเภอจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ  และสั่งสอบสวนเป็นการลับ  คณะกรรมการสอบสวนฯจึงไม่ได้มีการแจ้งให้นายทองทราบข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหา  และให้สิทธิในการโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานแต่อย่างใด  จากการสอบสวนนายอำเภอได้ผลสรุปแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่าเป็นไปตามที่มีการร้องเรียนจริง  และเสนอให้นายทองพ้นจากตำแหน่ง  ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดฯได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้นายทองพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ  และได้ระบุในคำสั่งที่แจ้งแก่นายทองว่าหากไม่เห็นด้วยสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน  30  วัน  หลังจากนั้นอีก  2  เดือนนายทองจึงได้อุทธรณ์ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว  ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ปฏิเสธการรับพิจารณาอุทธรณ์  ดังนั้น  หากนายทองประสงค์จะฟ้องกรณีนี้เป็นคดีต่อศาลปกครอง  ท่านจะแนะนำนายทองในกรณีนี้อย่างไร

 ธงคำตอบ

ตาม พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5)  พ.ศ. 2546  มาตรา  92  หากปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล … กระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน  หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่  ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว  ในกรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล  มีพฤติกรรมดังกล่าวจริง  ให้นายอำเภอเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง  ทั้งนี้  คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด

ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 วรรคแรก  ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี  เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ  และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

ตาม พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 มาตรา 9 วรรคแรก  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่อง  ดังต่อไปนี้

(1)  คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่  หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น

มาตรา  42  วรรคแรก  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย  หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง  หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา  9  และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา  72  ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

มาตรา  72  ในการพิพากษาคดีศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1)    สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน  ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  9  วรรคแรก (1)

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  ประกอบกับหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่นายทอง  ดังนี้คือ

ประเด็นที่  1  การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้นายทองพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ  ตามที่นายอำเภอเสนอนั้น  ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกระทำได้ตาม พ.ร.บ. สภาตำบล  และองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546  และคำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นให้เป็นที่สุด

อนึ่ง  ที่ว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุดนั้น  หมายความเฉพาะให้เป็นที่สุดภายในของฝ่ายปกครองเท่านั้น  ถ้าหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า  คำสั่งทางปกครองนั้น   (คำสั่งให้นายทองพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ)  เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ต้องห้ามในการที่จะนำคดีนั้นไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งนั้นได้  โดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

ประเด็นที่  2  แม้นายอำเภอจะให้มีการสอบสวนเป็นการลับ  แต่เมื่อคำสั่งฯที่ออกมานั้น  มีผลกระทบต่อสิทธิของนายทองโดยตรง  การที่คณะกรรมการฯมิได้แจ้งให้นายทองทราบข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งทำให้นายทองไม่สามารถโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนได้เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา  30  แห่ง พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539

ประเด็นที่ 3  เมื่อนายทองเห็นว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  นายทองสามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวได้  ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา  9  วรรคแรก (1)  ประกอบมาตรา  72(1)  เนื่องจากนายทองเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย  หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา  42  วรรคแรก

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่นายทองว่า  นายทองสามารถฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งฯนั้นได้ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

Advertisement