การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 (ก) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 บัญญัติว่า การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนคดีนั้น เว้นแต่ (3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล ให้นักศึกษาอธิบายว่า ในคดีแพ่ง ข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่ถือว่าคู่ความรับกันแล้วในศาล
(ข) โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถโดยสารของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนเสาไฟฟ้าข้างถนนเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งนั่งมาในรถโดยสารคันดังกล่าวได้รับอันตรายแก่กาย ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล 5,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยสารด้วยความประมาท ความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เพราะมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถโดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยกะทันหัน ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 มาสมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้ไปทดลองขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
เช่นนี้ คดีมีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด
ธงคำตอบ
(ก) อธิบาย
ในคดีแพ่ง ข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ถือว่าคู่ความรับกันแล้วในศาล
1 เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน ซึ่งจำเลยจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีดังต่อไปนี้ แม้จำเลยจะให้การโดยไม่ชัดแจ้ง แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยยอมรับแล้ว หรือที่เรียกว่าเป็นการยอมรับโดยปริยาย ดังนี้
จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องข้อใด กล่าวคือ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องข้อใด ก็ถือโดยปริยายว่าจำเลยยอมรับโดยปริยายในฟ้องข้อนั้นแล้ว เว้นแต่ในเรื่องค่าเสียหายและในกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้โต้แย้งในเรื่องค่าเสียหาย หรือไม่ได้ยื่นคำให้การก็จะถือว่าจำเลยยอมรับในข้อนั้นไม่ได้
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยไม่ชัดแจ้ง เช่น ให้การว่า “นอกจากที่จำเลยให้การต่อไปนี้ขอให้ถือว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์” หรือ “นอกจากให้การไปแล้วให้ถือว่าปฏิเสธ” เป็นต้น ซึ่งคำให้การในลักษณะนี้ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องถือว่าจำเลยยอมรับตามฟ้อง
2 คำรับตามที่ศาลสอบถามในการชี้สองสถาน กล่าวคือ ในการชี้สองสถานแต่ละฝ่ายจะต้องตอบคำถามที่ศาลถามเอง หรือถามตามคำขอของคู่ความฝ่ายอื่น อันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่นยกขึ้นอ้าง ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุผลแห่งการปฏิเสธได้ขณะนั้น (ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคสอง)
3 คำรับตามที่คู่ความสอบถาม กล่าวคือ คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอ้างข้อเท็จจริงใดและขอให้คู่ความฝ่ายอื่นตอบรับว่าจะรับรองข้อเท็จจริงนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้ร้องขอต่อศาลในวันสืบพยานให้ศาลสอบถามคู่ความฝ่ายอื่น ว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าคู่ความฝ่ายนั้นไม่ยอมตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ในขณะนั้น ให้ถือว่าได้ยอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งในขณะนั้น กรณีเช่นนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นทำคำแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงมายื่นต่อศาลในเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ (ป.วิ.พ. มาตรา 100)
4 คำรับเกี่ยวกับเอกสาร กล่าวคือ การไม่ส่งต้นฉบับเอกสารในความครอบครองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 123, 124 ให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่ผู้ขอจะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น คู่ความฝ่ายที่ไม่ยื่นเอกสารดังกล่าวได้ยอมรับแล้ว หรือการไม่คัดค้านเอกสารโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนาไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ก็ถือว่าคู่ความฝ่ายที่ไม่ได้คัดค้านได้ยอมรับความถูกต้องในเอกสารนั้นแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125
5 คำรับตามข้อตกลง (คำท้า) กล่าวคือ เป็นการกระทำในศาลโดยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน แต่เงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าผลแห่งการดำเนินกระบวนการพิจารณานั้นสมความประสงค์ของคู่ความฝ่ายใดตามที่ท้ากันอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับตามข้ออ้างของฝ่ายที่สมประสงค์นั้นทั้งหมด
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 84/1 คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 437 วรรคแรก บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร่ายแรงแห่งละเมิด
วินิจฉัย
ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การของโจทก์จำเลยรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลรถโดยสารซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล และโจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงในส่วนนั้น ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงตองรับผิดในอันตรายแก่กายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้
ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางที่จ้างของจำเลยที่ 2 นกจากนี้ จำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับกันว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องด้วยเช่นกัน
ดังนั้น คดีตามอุทาหรณ์จึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1 ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่
2 จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่
3 โจทก์เสียหายเพียงใด
สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้
ประเด็นแรก ที่ว่า ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่ ในส่วนนี้เนื่องจากโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” ดังนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งสองที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัย ซึ่งหากจำเลยทั้งสองพิสูจน์ไม่ได้ จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์
ประเด็นที่สอง ที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ในส่วนนี้เมื่อโจทก์กล่าวอ้างจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ในประเด็นดังกล่าวนี้ แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้อ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ แต่ความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างเป็นเรื่องภายในของนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งบุคคลภายนอกย่อมไม่อาจรู้ดีกว่านายจ้างกับลูกจ้าง ดังนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งสอง
ประเด็นที่ 3 ที่ว่า โจทก์เสียหายเพียงใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การโต้แย้งจำนวนเงินค่าเสียหายด้วย ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนำสืบถึงจำนวนค่าเสียหาย) แต่โจทก์ไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เองตามสมควร โดยพิจาณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคแรก
สรุป คดีมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1 ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่จำเลยทั้งสอง
2 จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่จำเลยทั้งสอง
3 โจทก์เสียหายเพียงใด ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่โจทก์