การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 1234 เป็นของโจทก์ ถูกฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้าครอบครอง จำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ทั้งยังต่อสู้ว่าเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1342 อันเป็นที่ดินของฝ่ายจำเลย คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไร และฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 84/1 คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
วินิจฉัย
ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท
กรณีตามอุทาหรณ์ คดีมีประเด็นข้อพิพาทอย่างไรนั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 1234 เป็นของโจทก์ ถูกฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้าครอบครอง และจากคำให้การต่อสู้ของจำเลยที่ไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ทั้งยังต่อสู้ว่า เป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1342 อันเป็นที่ดินของฝ่ายจำเลย ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตโฉนดของฝ่ายใด (ฎ. 1992/2511)
สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ เมื่อโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้าง จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบตามหลัก ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 และในกรณีดังกล่าวนี้ ย่อมไม่อาจปรับเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ที่ว่า ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองได้ เพราะกรณีไม่ใช่เป็นการพิพาทกันว่า ใครมีสิทธิดีกว่ากันในที่ดินที่มีโฉนด แต่เป็นการพิพาทกันว่าที่พิพาทอยู่ในโฉนดของฝ่ายใด (ฎ. 2227/2533)
สรุป คดีมีประเด็นพิพาท คือ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในโฉนดของฝ่ายใด และหน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์
หมายเหตุ กรณีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีชื่อในโฉนดที่ดิน แต่พิพาทกันว่าที่พิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดของฝ่ายใด ในกรณีเช่นนี้โจทก์และจำเลยต่างไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน เพราะผู้มีชื่อในโฉนดหรือ น.ส. 3จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตโฉนดของฝ่ายใด เป็นของโจทก์หรือจำเลยแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่าเป็นของฝ่ายใดเป็นการพิพาทกันก่อนที่ข้อสันนิษฐานจะมีผลใช้บังคับ จึงต้องกลับไปใช้หลักทั่วไปที่ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ ดังนั้น คดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ก็ต้องมีภาระการพิสูจน์ (ฎ. 2227/2533 ฎ.467/2548)