การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

 ข้อ  1  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่า  ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกลงมติไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย  ซึ่งจำเลยขอชำระหนี้เพียงร้อยละ  50  ขอศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย  ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา  จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่าประสงค์จะขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอีกครั้งหนึ่งโดยเสนอขอชำระหนี้ร้อยละ  75  ซึ่งเจ้าหนี้เสียงข้างมากและรวมจำนวนหนี้กันมากกว่า  3  ใน  4  ของจำนวนหนี้ทั้งหมดรับว่าจะตกลงยอมรับคำขอประนอมหนี้ครั้งใหม่ของจำเลย  ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งให้งดการพิพากษาไว้ก่อนและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปเรียกประชุมเจ้าหนี้ว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้ครั้งใหม่ของจำเลยหรือไม่  แล้วรายงานผลการประชุมเจ้าหนี้ต่อศาลโดยเร็วให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งศาลล้มละลายกลางดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  31  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด  เพื่อปรึกษาว่า  จะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้  หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป  การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก

มาตรา  45  เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น  ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวัน  นับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา  30  หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้

คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้  หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกันหรือผู้ค้ำประกัน  ถ้ามี

ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอนั้นหรือไม่

มาตรา  61  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า  เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป  ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี  หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี  หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี  หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี  ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย  และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย

มาตรา  63  วรรคแรก  เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว  ลูกหนี้จะเสนอคำขอประนอมหนี้ก็ได้  ในกรณีนี้ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่  6  ว่าด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้บังคับโดยอนุโลม  แต่ถ้าลูกหนี้ได้เคยประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้ว  ห้ามมิให้ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล

วินิจฉัย

การขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายนั้นตามมาตรา  45  กำหนดให้จำเลยหรือลูกหนี้ทำคำประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด  7  วัน  นับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา  30  หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้  และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่  และมาตรา  31  วรรคแรก  กำหนดว่าเมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด  เพื่อปรึกษาว่าควรจะยอนรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้  หรือควรพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย  และปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป  การประชุมนี้ให้เรียกว่าการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกตามมาตรา  31

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำสั่งศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานต่อศาลว่า  เจ้าหนี้ได้ลงมติในที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้  ซึ่งจำเลยขอประนอมหนี้เพียงร้อยละ  50  และขอศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย  กรณีเช่นนี้  ศาลต้องอยู่ในบังคับที่ต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายทันทีตามมาตรา  61  ซึ่งมีหลักคือ   เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า  เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป  ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี  หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี  หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี  หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี  ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย  ทั้งนี้เป็นบทบังคับเด็ดขาดศาลจะงดพิพากษา  หรือรอการพิพากษา  หรือพิพากษาเป็นอย่างอื่นไม่ได้   และกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้เพียงครั้งเดียว  หากจำเลยจะขอประนอมหนี้อีกก็ชอบที่จะเสนอคำขอได้ในตอนหลังเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้วตามมาตรา  63  วรรคแรก

การที่จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่าประสงค์จะขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายเข้ามาอีก  ซึ่งการที่จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าว  นอกจากจะมิใช่เป็นการแก้ไขคำขอประนอมหนี้ตามมาตรา  47  และยังเป็นการพ้นระยะเวลาตามมาตรา  45  แล้ว  การยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอีกครั้งจะทำให้คดีล้มละลายไม่อาจดำเนินไปได้โดยรวดเร็ว  ผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายล้มละลาย  จึงเป็นการไม่ชอบ

ดังนั้น  การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้งดการพิจารณาและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยอีกครั้ง  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 1350/2546)

สรุป  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ข้อ  2  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้เงินกู้จำนวน  
100,000  บาท  จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้  และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้วต่อมาลูกหนี้ตรวจสอบพบใบเสร็จค่าผ่อนชำระเงินกู้จำนวน  2  งวด  งวดละ  10,000  บาท  ที่ธนาคารออกให้

ดังนี้  ให้ท่านให้คำแนะนำแก่ลูกหนี้ว่าควรดำเนินการอย่างไรบ้าง  เพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้

ธนาคารได้รับชำระหนี้จำนวน  100,000  บาท  ดังกล่าว

ธงคำตอบ

มาตรา  108  คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งศาลได้สั่งอนุญาตแล้วนั้น  ถ้าต่อมาปรากฏว่าศาลได้สั่งไปโดยผิดหลง  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง  ศาลมีอำนาจยกคำขอรับชำระหนี้หรือลดจำนวนหนี้ที่ได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  108  ได้ให้อำนาจศาลในการแก้ไขคำสั่งของศาลที่อนุญาตตามคำขอชำระหนี้ของเจ้าหนี้ได้  แม้คำสั่งศาลจะถึงที่สุดแล้วก็ตาม  ถ้าต่อมาปรากฏว่าศาลได้สั่งไปโดยหลงผิดตามจำนวนที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้  โดยความจริงลูกหนี้ไม่ได้เป็นหนี้  หรือเป็นหนี้ไม่ถึงจำนวนตามที่อนุญาตไปแล้ว  แต่ทั้งนี้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล

ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งถึงที่สุดให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้เงินกู้จำนวน  100,000  บาท  จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้  ลูกหนี้ได้ตรวจพบใบเสร็จค่าผ่อนชำระเงินกู้  จำนวน  2  งวด  งวดละ  10,000  บาท  ที่ธนาคารออกให้   จึงเป็นกรณีที่ศาลสั่งไปโดยผิดหลงตามจำนวนที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้  โดยความจริงลูกหนี้เป็นหนี้ไม่ถึงจำนวนตามที่อนุญาตไปแล้ว  ซึ่งกรณีเช่นนี้ศาลก็มีอำนาจลดลงจำนวนที่ได้สั่งอนุญาตไปแล้ว  คือ  100,000  บาท  มาเป็นจำนวนเงินที่ถูกต้อง  คือ  80,000  บาท  ได้ ตามมาตรา  108  แต่อย่างไรก็ตาม  คำร้องตามมาตรา  108  นี้  กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้แก้ไขคำสั่งศาลที่อนุญาตให้ชำระหนี้โดยผิดหลง  ลูกหนี้เองไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้  ดังนั้นลูกหนี้จะต้องนำใบเสร็จค่าผ่อนชำระเงินกู้จำนวน  2  งวดดังกล่าว  ที่ธนาคารออกให้ไปมอบให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเดิมที่สั่งไปโดยผิดหลงที่อนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้มากเกินความจริง  (ฎ.5198/2547)

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำให้ลูกหนี้นำใบเสร็จค่าผ่อนชำระเงินกู้จำนวน  2  งวดดังกล่าวไปมอบให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเดิม 


ข้อ  3  ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกบุคคลเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  ลูกหนี้เสนอนายดำซึ่งเป็นผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน  นายแดงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้เสนอตัวเองเป็นผู้ทำแผนที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วลงมติเลือกนายแดงเป็นผู้ทำแผนด้วยคะแนนเสียงหกสิบในร้อยของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่มาประชุมและออกเสียงลงคะแนนในมติดังกล่าว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานให้ศาลพิจารณาว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งนายดำเป็นผู้ทำแผนหรือไม่  นายแดงไม่เห็นด้วยกับรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำปรึกษาแก่นายแดงประการใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  90/17  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคหก  ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผน  ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย  เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้  ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผนก็ดี  หรือลูกหนี้  เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยก็ดี  ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน

ในกรณีที่ลูกหนี้มิได้เสนอผู้ทำแผน  มติเลือกผู้ทำแผนต้องเป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมากซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น  แต่ในกรณีที่ลูกหนี้เสนอผู้ทำแผนด้วย  ให้ผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผน  เว้นแต่จะมีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนในการลงมติตามมาตรานี้  ให้เจ้าหนี้มีประกันออกเสียงได้เต็มตามจำนวนหนี้

ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานผลของการประชุมเจ้าหนี้ที่พิจารณาเลือกผู้ทำแผนทุกครั้งต่อศาลภายในสามวันนับแต่วันประชุม  เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป 

วินิจฉัย

ตามมาตรา  90/17  วรรคสอง  ได้กำหนดกลักเกณฑ์เกี่ยวกับมติในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนในกรณีที่ลูกหนี้เสนอผู้ทำแผน  โดยให้ผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผน  เว้นแต่จะมีมติของเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า  2  ใน  3  ของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้  ซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยในมตินั้น  กำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผน

กรณีตามอุทาหรณ์  ลูกหนี้ได้เสนอชื่อนายดำซึ่งเป็นผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน  และนายแดงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เสนอชื่อตัวเองเป็นผู้ทำแผน  ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วลงมติเลือกนายแดงเป็นผู้ทำแผนด้วยคะแนนเสียงหกสิบในร้อย  ซึ่งไม่ถึง  2  ใน  3  ของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้  ซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น  กรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่านายดำซึ่งลูกหนี้เป็นผู้เสนอชื่อ  เป็นบุคคลที่ได้รับมติเลือกเป็นผู้ทำแทน  ตามมาตรา  90/17  วรรคสอง

การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานให้ศาลพิจารณาว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งนายดำเป็นผู้ทำแผนหรือไม่จึงชอบแล้ว  เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่ต้องรายงานผลของการประชุมเจ้าหนี้ที่พิจารณาเลือกผู้ทำแผนทุกครั้งต่อศาลภายใน  3  วัน  นับแต่วันประชุม  เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งต่อไปตามมาตรา  90/17  วรรคหก

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายแดงว่า  ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานให้ศาลพิจารณาว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งนายดำเป็นผู้ทำแผนหรือไม่นั้น  ชอบแล้ว

Advertisement