การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

 ข้อ  1  เอกถูกเจ้าหนี้คนหนึ่งฟ้องให้ล้มละลาย  และขอพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว  ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเอก  หลังจากนั้นต่อมาโทฟ้องเอกเป็นคดีแพ่งให้ชำระหนี้เงินกู้  500,000  บาท  ตรีเป็นหนี้อีกคนหนึ่งฟ้องเอกเป็นคดีล้มละลายโดยอ้างว่าเอกเป็นหนี้ค่าสินค้า  1 ล้านบาท  และไม่ชำระหนี้เพราะเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว  เอกได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีแพ่งของโท  และจำหน่ายคดีของตรีเสียเพราะเอกถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวแล้ว  และอ้างว่าทั้งโทและตรีชอบที่จะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้  ไม่มีสิทธิฟ้องเอกเป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายอีก  หากท่านเป็นศาล  จะสั่งคำร้องของเอกประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  15  ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้องลูกหนี้นั้นเป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้  แต่เมื่อศาลได้สั่งให้คดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  ให้จำหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น

มาตรา  26  ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  เจ้าหนี้จะฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้  ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตราก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  เจ้าหนี้แต่ละรายจะฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายอีกคดีก็ได้  แต่เมื่อศาลเดียวกันหรือศาลหนึ่งศาลใดมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  ศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดีอื่นๆเสียคงเหลือไว้แต่คดีที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่เพียงคดีเดียวเท่านั้น  แต่ถ้าศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว  ดังนี้  ยังไม่ต้องจำหน่ายคดีอื่นๆแต่อย่างใด

การที่เอกถูกเจ้าหนี้คนหนึ่งฟ้องให้ล้มละลาย  และขอพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว  ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเอก  แต่เมื่อเอกยังไม่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  จึงไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้คนอื่นที่จะยื่นฟ้องเอกได้อีก  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย

ดังนั้น  ที่เอกยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีแพ่งของโทและจำหน่ายคดีล้มละลายของตรีเสีย  หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งยกคำร้องของเอกเสียทั้งสองเรื่อง  เพราะตราบใดที่ศาลยังไม่ได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  โทเจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ที่อาจขอชำระได้  ตามมาตรา  26  และตรีเจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องคดีล้มละลายได้เช่นกัน  ตามมาตรา  15

สรุป  หากข้าพเจ้าเป็นศาล  จะสั่งยกคำร้องของเอกเสียทั้งสองคดี


ข้อ  2  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  นางทุเรียนเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  อ้างว่าลูกหนี้ยืมเงินนางทุเรียนไป  
100,000  บาท  โดยมีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือและลูกหนี้นำแหวนเพชรวงหนึ่งมาจำนำกับนางทุเรียนไว้เป็นประกันด้วย  นางทุเรียนตีราคาแหวนเพชรวงนั้นเป็นเงิน  60,000  บาท  และขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่อีก  40,000  บาท  โดยนางทุเรียนได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่  10  เมษายน  2546  หลังจากนั้น  ปรากฏว่าราคาเพชรในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นมาก  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือถึงนางทุเรียนตีราคาไว้  นางทุเรียนมาปรึกษาท่านว่า  อยากได้แหวนเพชรวงนั้นไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยไม่ต้องการให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไถ่ถอน  ท่านจะให้คำปรึกษาแก่นางทุเรียนว่าอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  96  วรรคแรกและวรรคท้าย  เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว  ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่  ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควรเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน  ถ้าไม่ตกลงกัน  จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้  เมื่อขายได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ

ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งโดยหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนหรือตกลงให้ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสี่เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้  ให้ถือว่ายินยอมให้ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา  และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิทธิไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้น

วินิจฉัย

ภายหลังจากที่นางทุเรียนเจ้าหนี้มีประกัน  มายื่นคำขอชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่  10  เมษายน  พ.ศ. 2546  โดยได้ตีราคาแหวนเพชรที่จำนำเป็นประกันเป็นเงิน  60,000  บาท  และยื่นขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่อีก  40,000  บาท  ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  กรณีเช่นนี้  หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประสงค์จะใช้สิทธิไถ่ถอน  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้เพื่อทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนภายในกำหนดเวลา  4  เดือน  นับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอชำระหนี้  แต่ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งให้เจาหนี้ทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  ให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา  และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็หมดสิทธิที่จะไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้นตามมาตรา  96(4)  ประกอบวรรคสอง  ซึ่งตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนตามราคาที่เจ้าหนี้ตีมา  ในวันที่  7  ตุลาคม  พ.ศ.2546  อันถือว่าระยะเวลาแจ้งความประสงค์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ล่วงเลยมาเกิน  4  เดือนแล้ว  กรณีจึงต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยินยอมให้แหวนเพชรนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์  แก่นางทุเรียนเจ้าหนี้ตามราคาที่ได้ตีมา  ตามมาตรา  96(4)  ประกอบวรรคสอง

ดังนั้น  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นางทุเรียนว่า  กรณีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนภายในกำหนดเวลา  4  เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอชำระหนี้  ต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยินยอมให้แหวนเพชรตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่ได้ตีมา  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงหมดสิทธิไถ่ถอนแล้ว

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นางทุเรียนว่ากรรมสิทธิ์ในแหวนเพชรตกเป็นของนางทุเรียนแล้ว

 


ข้อ  3  นายแดงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัท  ก  จำกัด  ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท  ก  จำกัด  แต่ไม่เห็นสมควรตั้งนายแดงเป็นผู้ทำแผนตามที่นายแดงเสนอมาในคำร้องขอและมีคำสั่งแต่งตั้งบริษัท  ก  จำกัด  ซึ่งเป็นลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน  คำสั่งของศาลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  90/17  วรรคแรก  ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผน  ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย  เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้  ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผนก็ดี  หรือลูกหนี้  เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยก็ดี  ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน

วินิจฉัย

พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  90/17  วรรคแรก  ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งผู้ทำแผนไว้ดังนี้คือ

1       กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทำแผน  ศาลอาจมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้

2       กรณีที่ศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน  หรือลูกหนี้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย  ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดเร็วที่สุด  เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน  ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนไปเลยทีเดียวไม่ได้

นายแดงได้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท  ก  จำกัด  และศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  แต่ไม่เห็นสมควรตั้งนายแดงเป็นผู้ทำแผน ในกรณีเช่นนี้  ศาลอยู่ในบังคับที่จะต้องมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด  เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน  การที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งบริษัท  ก  จำกัด  ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนทันที  โดยมิได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ก่อน  ตามมาตรา  90/17  วรรคแรก  จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  คำสั่งของศาลที่ให้แต่งตั้งบริษัท  ก  จำกัดเป็นผู้ทำแผน  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement