การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จํานวน 3 ข้อ

ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้ได้ทําคําขอประนอมหนี้ร้อยละ 50 ที่ประชุมเจ้านี้ยอมรับโดยมติพิเศษ และมติพิเศษนั้นได้ส่งมายังศาลเพื่อพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ศาลสั่งไต่สวนโดยเปิดเผย โดยถามเจ้าหนี้ว่าพอใจในการประนอมหนี้ของลูกหนี้เท่านี้จริงหรือ ลูกหนี้มีทรัพย์สินเท่านี้หรือ มีเจ้าหนี้ท่านใดจะเพิ่มเติมหรือไม่ เจ้าหนี้คนหนึ่งยกมือขออนุญาต ต่อศาลว่า ข้าพเจ้าไม่ยอมรับมติพิเศษที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ร้อยละ 50 แล้ว ที่ข้าพเจ้ายอมรับ ครั้งแรกที่ประชุมเจ้าหนี้ เพราะว่าข้าพเจ้าไม่ทราบจริง ๆ ว่า ลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ซ่อนไว้อีก

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ในเมื่อเจ้าหนี้เสียงข้างมากยอมรับในมติพิเศษแล้ว จะมาคัดค้านว่าลูกหนี้ขอประนอมหนี้น้อยไปได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 42 วรรคแรก “เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทําให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจน ความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทําหรือละเว้นกระทําการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข”

มาตรา 45 “การยอมรับคําขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ยังไม่ผูกพัน เจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคําสั่งเห็นชอบแล้ว”

มาตรา 50 “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับการประนอมหนี้ กิจการ ทรัพย์สิน และความประพฤติของลูกหนี้ต่อศาลไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันที่ศาลนั่งพิจารณา”

มาตรา 52 “ในการที่ศาลจะมีคําสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณา รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ถ้ามี

เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้วมีอํานาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติ ยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 46 จะเห็นได้ว่า ในการ ประนอมหนี้นั้น จะต้องมีการพิจารณา 2 ชั้น ได้แก่

1) การพิจารณาในชั้นประชุมเจ้าหนี้ และ

2) การพิจารณาในชั้นศาล

กล่าวคือ ในการประนอมหนี้นั้นในชั้นแรก จะต้องได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้โดยมติพิเศษ และเมื่อผ่านชั้นประชุมเจ้าหนี้โดยมติพิเศษแล้ว ต้องส่งมติพิเศษนั้น ไปให้ศาลพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น

การประนอมหนี้ที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับโดยมติพิเศษจึงยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายแต่อย่างใด

และเมื่อศาลได้รับมติพิเศษแล้ว ศาลจะต้องสั่งไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยตามมาตรา 42 ซึ่งจะต้องมีในทุกคดีล้มละลาย เพื่อให้ทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และเพื่อให้ทราบว่าลูกหนี้มี ความประพฤติเป็นอย่างไร ทําไมจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว และในขณะที่ศาลไต่สวน ถ้าได้ความจริงว่าลูกหนี้ยังมี ทรัพย์สินอื่นอีก เจ้าหนี้ก็มีสิทธิคัดค้านได้ว่าลูกหนี้ขอประนอมหนี้น้อยไป ถึงแม้ว่าจะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม (มาตรา 50 ประกอบมาตรา 52)

ดังนั้นตามอุทาหรณ์ ในขณะที่ศาลไต่สวนคดีล้มละลายเรื่องดังกล่าว การที่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ยกมือขออนุญาตต่อศาล คัดค้านไม่ยอมรับมติพิเศษที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ร้อยละ 50 แล้ว ทั้งที่เจ้าหนี้คนนี้ เคยออกเสียงลงมติยอมรับในที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก และเจ้าหนี้เสียงข้างมากก็ยอมรับในมติพิเศษแล้ว ดังนี้ เจ้าหนี้ คนดังกล่าวก็มีสิทธิคัดค้านได้ว่าลูกหนี้ขอประนอมหนี้น้อยไปเพราะในขณะที่ตนยอมรับตามคําขอประนอมหนี้นั้น ตนไม่ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซ่อนอยู่อีก

สรุป เจ้าหนี้คนดังกล่าวมีสิทธิคัดค้านว่าลูกหนี้ขอประนอมหนี้น้อยไปได้

 

ข้อ 2 บริษัท สิริ จํากัด ได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีที่ธนาคาร ก. ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าตรวจสอบหนี้สินและทรัพย์สินของบริษัท สิริ จํากัด พบว่า นายเฉย เป็นหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท สิริ จํากัด อยู่จํานวน 14 งวด เป็นเงิน 3 แสนบาท จึงมี หนังสือทวงถามไปยังนายเฉย ให้ชําระหนี้ดังกล่าวโดยนายเฉยได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 นายเฉยใช้เวลาตรวจสอบหลักฐานพบว่า เป็นหนี้ค่าเช่าซื้ออยู่เพียง 12 งวด เป็นเงิน 250,000 บาท จึงมีหนังสือแจ้งปฏิเสธไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า การปฏิเสธไม่มีหลักฐานยืนยันและแจ้งปฏิเสธเลยกําหนด จึงมีหนังสือยืนยันให้นายเฉย ชําระหนี้ตามที่แจ้งจํานวน 3 แสนบาท นายเฉยจึงยื่นคําร้องต่อศาลให้ สังยกเลิกคําสั่งและหนังสือยืนยันของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากท่านเป็นศาลจะสังคําร้อง ของนายเฉย อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 119 วรรคแรก “เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชําระเงิน หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นให้ชําระเงิน หรือส่งมอบทรัพย์สินตามจํานวนที่ได้แจ้งไปและให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธ ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธ เป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ มิฉะนั้น จะถือว่า เป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจํานวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด”

วินิจฉัย

เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอํานาจในการทวงถาม ให้บุคคลซึ่งพบว่าเป็นหนี้ต่อลูกหนี้นั้นชําระหนี้ได้โดยการมีหนังสือทวงถามไปยังบุคคลนั้น และถ้าบุคคลที่ได้รับ หนังสือทวงถามพบว่าตนมิได้เป็นหนี้ตามหนังสือทวงถามต้องตอบปฏิเสธไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ มิฉะนั้นถือว่าเป็นหนี้ตามจํานวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตามมาตรา 119 วรรคแรก

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเฉยได้รับหนังสือทวงถามการเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท สิริ จํากัด ซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นจํานวนเงิน 3 แสนบาท แต่นายเฉยมิได้ตอบปฏิเสธไปยังเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง จึงต้องถือว่านายเฉยเป็นหนี้ตามหนังสือทวงถามคือ 3 แสนบาท แม้ว่าจะมีหลักฐานว่าเป็นหนี้เพียง 2.5 แสนบาทก็ตาม ดังนั้นศาลจึงไม่มีอํานาจลดหนี้ได้ตามนัยของมาตรา 119 วรรคแรก ต้องสั่งยกคําร้องของนายเฉย เพราะถือว่านายเนยเป็นหนี้ตามจํานวนในหนังสือทวงถามของเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เป็นการเด็ดขาดแล้ว

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งยกคําร้องของนายเฉยด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 กรณีที่ลูกหนี้ที่ประสงค์จะยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะต้องบรรยายคําร้องขออย่างไรบ้าง

ธงคําตอบ

ในกรณีที่ลูกหนี้ประสงค์จะยื่นคําร้องขอเพื่อให้ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้จะต้อง บรรยายคําร้องขอตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/6 โดยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง

(1) ความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้

(2) รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่รวมกันเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท

(3) เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ

(4) ชื่อและคุณสมบัติของผู้ทําแผน

(5) หนังสือยินยอมของผู้ทําแผน

(6) บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่โดยชัดแจ้ง ของเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมคําร้องขอ

 

Advertisement