การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายส้มอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับ น.ส.แดง มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนายเหลือง นายส้มได้ทําสัญญาจะขายที่ดินของตน 1 แปลงกับนายเอก และนายส้มยังให้นายโทยืมรถยนต์ของตนเป็นเวลา 5 เดือน หลังจากนั้นอีก 2 เดือน นายส้มเดินทางไปต่างจังหวัดและประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

ดังนี้ นายเหลืองต้องขายที่ดินให้นายเอกและเรียกรถยนต์คืนจากนายโทได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1599 “เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น”

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตาย ตามมาตรา 1599 วรรคแรก นั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิหน้าที่และความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย โดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายส้มตายทรัพย์สินของนายส้มคือที่ดิน 1 แปลง และรถยนต์ที่ให้ นายโทยืมย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทตามมาตรา 1599 วรรคแรก ส่วนการที่นายเหลืองบุตรของนายสม จะต้องขายที่ดินให้นายเอกหรือไม่และจะเรียกรถยนต์คืนจากนายโทได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีนายสมทําสัญญาจะขายที่ดินกับนายเอกก่อนที่นายส้มจะตายนั้น หน้าที่และ ความรับผิดตามสัญญาจะขายที่ดินนั้น ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ดังนั้นเมื่อนายส้มตายหน้าที่และความรับผิดตามสัญญาจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นมรดกและตกทอดไปยัง ทายาทตามมาตรา 1600 และมาตรา 1599 วรรคแรก ซึ่งถ้าหากนายเหลืองเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายส้ม ผู้ตาย นายเหลืองก็จะต้องขายที่ดินให้นายเอก

 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายส้มได้อยู่กินฉันสามีภริยากับ น.ส.แดง โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรคือนายเหลือง นายเหลืองจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายส้ม และเมื่อตามข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่านายส้มได้รับรองว่านายเหลืองเป็นบุตรแต่อย่างใด จึงถือว่านายเหลืองเป็นบุตรนอกกฎหมาย ที่บิดายังไม่ได้รับรองกรณีดังกล่าว นายเหลืองจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานของนายส้มตามขนาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627

ดังนั้น เมื่อนายส้มตาย หน้าที่และความรับผิดตามสัญญาจะขายที่ดินแปลง ดังกล่าวจึงไม่ตกแก่นายเหลือง นายเหลืองจึงไม่ต้องขายที่ดินให้นายเอก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งนายเหลืองไม่มีสิทธิ ขายที่ดินให้แก่นายเอกนั่นเอง

2 กรณีนายส้มให้นายโทยืมรถยนต์เป็นเวลา 5 เดือนนั้น เป็นสัญญายืมใช้คงรูปซึ่งตาม กฎหมายสัญญายืมใช้คงรูปจะระงับไปก็ต่อเมื่อผู้ยืมตาย แต่ตามอุทาหรณ์คนที่ตายคือผู้ให้ยืมไม่ใช่ผู้ยืม สัญญายืม จึงไม่ระงับ อีกทั้งหน้าที่ของผู้ให้ยืมที่จะต้องให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนั้นตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพ แล้วก็ไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เมื่อนายส้มตาย หน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท แสะ ทายาทจะต้องให้นายโทใช้รถยนต์คันนั้นต่อไปจนครบ 5 เดือน จะเรียกรถยนต์คืนจากนายโทไม่ได้ ดังนั้น นายเหลือง แม้จะเป็นบุตรของนายส้มก็จะเรียกรถยนต์คืนจากนายโทไม่ได้

สรุป นายเหลืองไม่ต้องขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเอก และนายเหลืองจะเรียก รถยนต์คืนจากนายโทไม่ได้

 

ข้อ 2 นายแก่งอยู่กินกับนางส้มโดยไม่จดทะเบียนสมรส มีบุตรคือนายแก้วและนายกลิ่น ซึ่งนายแก่งได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา ต่อมานายแก่งได้แยกทางกับนางส้มและไปจดทะเบียนสมรสกับนางอิ่ม มีบุตรด้วยกันคือนางเดือน ในส่วนของนายกลิ่นนั้นนายกลิ่นได้ไปอยู่กินกับนางไก่มีบุตรด้วยกันคือ นายเป็ด ซึ่งนายกลิ่นได้ให้นายเป็ดใช้นามสกุล ต่อมานายเป็ดได้จดทะเบียนรับนายเดชมาเป็น บุตรบุญธรรม ส่วนนายแก้วได้จดทะเบียนรับนางธิดามาเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งนางธิดามีบุตร คือนายนิล นายแก่งทําพินัยกรรมยกมรดกเป็นเงินสดจํานวน 400,000 บาท ให้แก่นางเดือน โดยนางเดือนนั้น ต่อมาไปมีความสัมพันธ์กับนายช้างจนนางเดือนตั้งครรภ์นายช้างก็หนีไป นางเดือนคลอดบุตรคือ นายดิน ต่อมานางเดือนป่วยถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายเป็ดและนายกลินประสบอุบัติเหตุ ถึงแก่ความตาย ต่อมานายแก้วและนางธิดาประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายแก่ง ป่วยและถึงแก่ความตาย เช่นนี้ จงแบ่งมรดกของนายแก่งที่มีเงินสดนอกพินัยกรรมในธนาคาร จํานวน 2,000,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1536 วรรคแรก “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1604 วรรคแรก “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1631 “ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุด เท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิ์ในการรับมรดกแทนที่”

มาตรา 1634 “ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่ง ๆ ตาม บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 4 นั้นให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังนี้

(3) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”

มาตรา 1698 “ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทําพินัยกรรม”

มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอัน ไร้ผลด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแก่งได้ทําพินัยกรรมยกมรดกเป็นเงินสดจํานวน 400,000 บาท ให้แก่นางเดือนนั้น เมื่อปรากฏว่านางเดือนผู้รับพินัยกรรมตายก่อนนายแก่งผู้ทําพินัยกรรม ข้อกําหนดในพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป ดังนั้นจึงต้องนําเงินจํานวน 400,000 บาท ในส่วนนี้กลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรม ของนายแก่งต่อไปตามมาตรา 1698 (1) และมาตรา 1699 ทําให้จํานวนเงินซึ่งเป็นมรดกของนายแก่งมีจํานวน รวมทั้งหมด 2,400,000 บาท

และเมื่อนายแก่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย บุคคลที่มีสิทธิและไม่มีสิทธิในการรับมรดกของ นายแก่ง แยกพิจารณา

1 นางส้ม ซึ่งเป็นภริยาเก่าของนายแก่ง แต่เป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอยู่ใน กับนายแก่งโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดกของนายแก่งตามมาตรา 1629 วรรคท้าย

2 นางอิ่ม ซึ่งเป็นภริยาใหม่ของนายแก่ง และได้จดทะเบียนสมรสกับนายแก่ง จึงถือเป็น ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิรับมรดกของนายแก่งในฐานะคู่สมรส ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 1457

3 นางเดือน เป็นบุตรของนายแก่งกับนางอิม จึงถือเป็นผู้สืบสันดานอันเป็นบุตรที่ชอบ ด้วยกฎหมาย เพราะเกิดในระหว่างการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1536 และมีสิทธิได้รับมรดกของนายแก่ง ในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) แต่เมื่อนางเดือนได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก จึงถือว่านางเดือน ไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงไม่อาจรับมรดกได้ตามมาตรา 1604 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฏว่านางเดือนมีนายดินเป็นบุตร และถือเป็นบุตรที่ชอบด้วย กฎหมายของมารดาเสมอตามมาตรา 1546 นายดินจึงมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนางเดือน ดังนั้นเมื่อ นางเดือนซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย นายดินจึงมีสิทธิเข้ารับมรดก ของนายแก่งแทนที่นางเดือนได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643

4 นายแก้วและนายกลิ่น ซึ่งเป็นบุตรของนายแก่งแม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมาย แต่เมื่อ นายแก่งบิดาได้ให้การรับรองแล้วโดยการแจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา จึงถือว่านายแก้วและนายกลิ่นเป็น ผู้สืบสันดาน และมีสิทธิได้รับมรดกเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1629 (1) และมาตรา 1627 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายแก้วและนายกลินได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก จึงถือว่านายแก้วและ นายกลิ่นไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงไม่อาจรับมรดกได้ตามมาตรา 1604 วรรคแรก

แม้จะปรากฏว่านายแก้วมีบุตรบุญธรรมคือ นางธิดา และนางธิดามีบุตรคือนายนิล แต่ทั้งนางธิดาและนายนิลนั้นไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายแก้ว จึงเข้ารับมรดกแทนที่นายแก้วไม่ได้ ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643

ส่วนกรณีของนายกลิ่นนั้น นายเป็ดถือเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายกลิ่น เพราะ เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายกลิ่นรับรองแล้ว (ให้ใช้นามสกุล) ตามมาตรา 1627 นายเป็ดจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ นายกลิ่นตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643 แต่เมื่อปรากฏว่านายเป็ดได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ดังนั้น จึงต้องพิจารณาการเข้ารับมรดกแทนที่ในสายของนายกลินต่อไปตามมาตรา 1631 และเมื่อปรากฏอีกว่านายเดช เป็นเพียงบุตรบุญธรรมของนายเป็ด ซึ่งไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเป็ด นายเดชจึงเข้ารับมรดกแทนที่ นายกลินไม่ได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643

เมื่อบุคคลที่มีสิทธิได้รับมรดกของนายแก่งมี 2 คน คือ นางอิ่มซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วย กฎหมาย และนายดินโดยการเข้ารับมรดกแทนที่นางเดือน ดังนั้น นางอิ่มและนายดินย่อมได้รับมรดกเป็นส่วน เท่า ๆ กัน คือ คนละ 1,200,000 บาท ตามมาตรา 1634 (3) และมาตรา 1635 (1)

สรุป มรดกของนายแก่งจํานวน 2,400,000 บาท ตกแก่นางอิ่มและนายดินคนละ 1,200,000 บาท

 

ข้อ 3 นายช้างอยู่กินกับนางกวาง มีบุตรด้วยกันคือนายกันและนายเกิน ซึ่งนายช้างได้อุปการะเลี้ยงดูอย่างดีและแจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา โดยนายกันจดทะเบียนสมรสกับนางดินมีบุตรด้วยกันคือนายเด่น นายช้างได้ทําพินัยกรรมยกเงิน 20,000 บาท ให้นางกวาง ต่อมานายกันได้ข่มขู่นายช้างให้เพิ่มเติม ข้อกําหนดในพินัยกรรมโดยให้ตั้งนายกันเป็นผู้จัดการศพของนายช้างมิฉะนั้นจะทําร้ายนายช้าง นายช้างจึงเพิ่มข้อความดังกล่าวลงไปเพราะกลัวถูกนายกันทําร้าย ต่อมานายช้างป่วยและถึงแก่ความตาย โดยมีเงินสดในธนาคารทั้งหมด 240,000 บาท เช่นนี้ จงพิจารณาแบ่งมรดกของนายช้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1599 “เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น”

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทํา หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วน หรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหรือไม่ให้กระทําการดังกล่าวนั้น”

มาตรา 1620 วรรคสอง “ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทําพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจําหน่ายทรัพย์ หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จําหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรม ไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1631 “ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุด เท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายช้างตาย มรดกทั้งหมดของนายช้างย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม มาตรา 1599 วรรคแรก และเมื่อนายช้างได้ทําพินัยกรรมยกเงิน 20,000 บาทให้แก่นางกวาง นางกวางจึงเป็น ทายาทผู้รับพินัยกรรม และมีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมจํานวน 20,000 บาทนั้น ส่วนทรัพย์มรดกที่เหลืย อีก 220,000 บาท ซึ่งนายช้างผู้ตายไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ ก็จะต้องนําไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ต่อไปตามมาตรา 1620 วรรคสอง

ซึ่งทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกของนายช้างผู้ตาย ได้แก่ นายกันและนายเกินซึ่งเป็น บุตรนอกกฎหมายของนายช้าง แต่เมื่อนายช้างซึ่งเป็นบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้ว โดยได้อุปการะเลี้ยงดูและ ได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา ดังนั้นนายกันและนายเกินจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว จึงเป็น ผู้สืบสันดานและมีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1627 และมาตรา 1629 (1) โดยจะได้รับ ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือคนละ 110,000 บาท ตามมาตรา 1633 ส่วนนางกวางมิใช่คู่สมรสของนายช้างจึงไม่มีสินรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม (มาตรา 1629 วรรคสอง)

อนึ่ง แม้ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์จะปรากฏว่า นายกันได้ขมขู่นายช้างให้เพิ่มเติมข้อกําหนดใน พินัยกรรม โดยให้ตั้งนายกันเป็นผู้จัดการศพของนายช้าง มิฉะนั้นจะทําร้ายนายช้าง ทําให้นายช้างต้องเพิ่มข้อความ ดังกล่าวลงไป ดังนี้การกระทําของนายกันแม้จะเป็นการข่มขู่นายช้างเจ้ามรดกให้แก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อกําหนด ในพินัยกรรมก็ตาม แต่ก็เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อกําหนดที่ถือไม่ได้ว่าเป็นการทําให้บุคคลใดได้ ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในทรัพย์มรดกนั้น ดังนั้นนายกันจึงไม่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1606 (3)

สําหรับนายเด่นซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของนายช้างเจ้ามรดกตามมาตรา 1629 (1) นั้น เมื่อเจ้ามรดก มีบุตรคือนายกัน และนายกันซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ยังมิได้ถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดก ก่อนเจ้ามรดกตาย ดังนั้นนายเด่นซึ่งเป็นผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนาย งดาม มาตรา 1631 ประกอบมาตรา 1639 และมาตรา 1643

สรุป มรดกของนายช้างจํานวน 240,000 บาท จะตกได้แก่นางกวางในฐานะผู้รับพินัยกรรม 20,000 บาท และตกได้แก่นายกันและนายเกินในฐานะทายาทโดยธรรมคนละ 110,000 บาท

 

ข้อ 4 นายหนึ่งและนางน้อยเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายหนึ่งมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2 คน คือนายสองและนายสาม นายสองอยากมีบุตรมาก นายสองจึงจดทะเบียนรับนายสินเป็นบุตรบุญธรรม ตามกฎหมาย ต่อมานายหนึ่งโกรธนายสามที่ติดยาเสพติด นายหนึ่งจึงได้ทําหนังสือตัดนายสาม มิให้รับมรดกใด ๆ ของตนทั้งสิ้นมอบไว้แก่เพื่อนที่เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน วันหนึ่งนายหนึ่งได้ทะเลาะ กับนายสินอย่างรุนแรง นายสินได้ใช้ปืนยิงนายหนึ่งตายต่อหน้านายสอง นายสองไปแจ้งความต่า เจ้าพนักงานตํารวจว่านายหนึ่งถูกฆ่า แต่ไม่บอกว่านายสินเป็นผู้ฆ่านายหนึ่ง นายหนึ่งมีทรัพย์มรดก ทั้งสิ้น 300,000 บาท ดังนี้ จงแบ่งมรดกของนายหนึ่ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาแต่มิได้นําข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคน วิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง”

มาตรา 1608 “เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดง เจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม

(2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1620 วรรคแรก “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือ ถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา 1629 (1) แต่มีทายาทตามมาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิ ได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายหนึ่งตายมีมรดก 300,000 บาท และนายหนึ่งไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกของนายหนึ่งทั้งหมดจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคแรก และทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิ์ รับมรดกของนายหนึ่ง ได้แก่ นางน้อยซึ่งเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย และนายสองกับนายสาม ซึ่งเป็นน้องชาย ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายหนึ่งตามมาตรา 1629 (3) และวรรคสอง ซึ่งโดยหลักแล้ว นางน้อยจะได้รับกึ่งหนึ่ง คือ 150,000 บาท ส่วนนายสองและนายสามจะได้รับคนละ 75,000 บาท ตามมาตรา 1635 (2) และมาตรา 1633

กรณีของนายสาม การที่นายหนึ่งได้ทําหนังสือตัดนายสามมิให้รับมรดกใด ๆ ของนายหนึ่ง ทั้งสิ้นและมอบหนังสือไว้แก่เพื่อนที่เป็นเจ้าพนักงานที่ดินนั้น ถือว่าการตัดมิให้นายสามรับมรดกของนายหนึ่ง นั้นกระทําไม่ถูกต้องตามแบบที่กําหนดไว้ในมาตรา 1608 เพราะการตัดทายาทโดยธรรมคนใดมิให้รับมรดกนั้น

จะต้องแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งโดยการทําพินัยกรรมหรือทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ดังนั้น เมื่อการตัดมิให้นายสามรับมรดกกระทําไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้จึงไม่มีผลตามกฎหมาย กล่าวคือ ให้ถือว่านายสามมิได้ถูกตัดมิให้รับมรดก นายสามจึงมีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่งในฐานะทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 (3)

กรณีของนายสอง การที่นายสองได้รู้อยู่แล้วว่านายหนึ่งเจ้ามรดกถูกนายสินฆ่าตายโดยเจตนา แต่ได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตํารวจว่านายหนึ่งถูกฆ่า แต่ไม่บอกว่านายสินบุตรบุญธรรมของตนเป็นผู้ฆ่านายหนึ่ง กรณีเช่นนี้ ย่อมถือว่านายสองรู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นําข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่ จะนําตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ ดังนั้นนายสองย่อมถูกกําจัดมิให้รับมรดกของนายหนึ่งในฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามมาตรา 1606 (3) และกรณีนี้ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นการถูกกําจัดมิให้รับมรดกในฐานเป็นผู้ไม่สมควร เพราะนายสิน ให้ผู้มีบสันดานโดยตรงของนายสอง

ดังนั้น เมื่อนายหนึ่งตาย มรดกของนายหนึ่งจํานวน 300,000 บาท จึงตกได้แก่นางน้อยและ นายสามโดยจะได้รับส่วนแบ่งคนละ 150,000 บาท

สรุป มรดกของนายหนึ่งจํานวน 300,000 บาท ตกได้แก่นางน้อยและนายสามคนละ 150,000 บาท

Advertisement