การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเมฆมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือ นายหมอก นายเมฆให้นายชายยืมกระบือจํานวน 2 ตัวไปใช้เป็นเวลา 8 เดือน นอกจากนี้นายเมฆให้นางหญิงยืมข้าวสารจํานวน 4 กระสอบไปใช้เป็นเวลา 8 เดือนเช่นเดียวกัน หลังจากให้คนทั้งสองยืมแล้วเป็นเวลา 3 เดือน นายชายและนางหญิงก็ประสบ อุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ดังนี้ นายเมฆจะเรียกทรัพย์สินคืนจากทายาทของนายชายและทายาท ของนางหญิงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่และ ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท

กรณีตามอุทาหรณ์ นายเมฆจะเรียกทรัพย์สินคืนจากทายาทของนายชายและทายาทของ นางหญิงได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีนายเมฆให้นายชายยืมกระบือ

การที่นายเมฆให้นายชายยืมกระบือจํานวน 2 ตัว ไปใช้เป็นเวลา 8 เดือนนั้น เป็น สัญญายืมใช้คงรูป ซึ่งตามกฎหมาย สัญญายืมใช้คงรูปย่อมระงับไปเมื่อผู้ยืมตาย (ป.พ.พ. มาตรา 648) ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชายผู้ยืมได้ถึงแก่ความตาย สัญญายืมระหว่างนายเมฆกับนายชายจึงต้องระงับไป แม้ว่าจะยังไม่ครบกําหนด 8 เดือนก็ตาม เมื่อสิทธิในการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมโดยกฎหมายถือว่าเป็นการ เฉพาะตัวของผู้ตาย (ผู้ยืม) จึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทของผู้ยืม นายเมฆจึงสามารถเรียกกระบือ จํานวน 2 ตัว คืนจากทายาทของนายชายได้

2 กรณีนายเมฆให้นางหญิงยืมข้าวสาร

การที่นายเมฆให้นางหญิงยืมข้าวสารจํานวน 4 กระสอบไปใช้เป็นเวลา 8 เดือนนั้น เป็น สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งตามกฎหมายสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง เป็นสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น (ป.พ.พ. มาตรา 650) โดยจะต้องคืนเมื่อครบกําหนดเวลาที่ได้ตกลงกัน ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วไม่เป็นการเฉพาะตัวของ ผู้ให้ยืมและผู้ยืม สิทธิและหน้าที่ตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทได้ เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่าหลังจากนางหญิงได้ยืมข้าวสารจากนายเมฆไปได้ 3 เดือน นางหญิงถึงแก่ความตายสิทธิและหน้าที่ ตามสัญญายืมของนางหญิงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทของนางหญิง ดังนั้น นายเมฆจึงไม่สามารถ เรียกข้าวสารคืนจากทายาทของนางหญิงก่อนครบกําหนด 3 เดือน

สรุป

นายเมฆสามารถเรียกกระบือทั้ง 2 ตัว คืนจากทายาทของนายซายได้ แต่จะเรียก ข้าวสารจํานวน 1 กระสอบ คืนจากทายาทของนางหญิงก่อนครบกําหนด 8 เดือนไม่ได้

 

ข้อ 2 นายหนึ่งอยู่กินกับนางกันยามีบุตรคือนายสองและนายสาม ซึ่งนายหนึ่งได้อุปการะเลี้ยงดูอย่างดีนายสองได้จดทะเบียนสมรสกับนางเดือน ส่วนนายสามได้จดทะเบียนรับ ด.ช.สิงโตมาเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมานายสองประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายสามป่วยและถึงแก่ความตาย จากนั้นนายหนึ่งป่วยและถึงแก่ความตายโดยพบว่าหลังจากนายหนึ่งตายได้ 30 วัน นางเดือน ภรรยานายสองได้ตั้งครรภ์แล้วมีอายุครรภ์ 2 เดือน และต่อมาอีก 7 เดือนได้คลอดคือ ด.ช.ยิ่ง เช่นนี้ จงพิจารณาแบ่งมรดกของนายหนึ่งที่มีเงินสด 120,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่ วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น เบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1634 “ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่ง ๆ ตาม บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 4 นั้นให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังนี้

(3) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ เสืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบสาน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”

มาตรา 1644 “ผู้สืบสันดานจะรับมรดกแทนที่ได้ต่อเมื่อมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของนายหนึ่งคือเงินสด 120,000 บาท ย่อมตกได้แก่นายสองและนายสาม เพราะแม้ว่านายสองและนายสามจะเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายหนึ่ง แต่ การที่นายหนึ่งได้อุปการะเลี้ยงดูนายสองและนายสามอย่างดีนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายหนึ่งบิดาได้ให้การรับรอง แก่บุตรนอกกฎหมายแล้ว ดังนั้นนายสองและนายสามจึงมีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่งในฐานะผู้สืบสันดานตาม มาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 ส่วนนางกันยาเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายหนึ่ง จึงไม่ใช่ทายาท โดยธรรมในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสองและนายสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตาม มาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกจึงไม่อาจรับมรดกได้ จึงต้องพิจารณาว่าทายาทโดยธรรมผู้นั้น มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1639 หรือไม่

กรณีของนายสองนั้น มี ด.ช.ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายสอง และเป็นบุตรที่ชอบ ด้วยกฎหมายของนายสอง เพราะเป็นบุตรที่เกิดกับนางเดือนภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสองภายใน 310 วัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ด.ช.ยิ่งจึงมีสิทธิบริบูรณ์ในการเข้ารับมรดก แทนที่นายสองเพื่อรับมรดกของนายหนึ่งตามมาตรา 1639, 1643 และ 1644

ส่วนกรณีของนายสามนั้น การที่นายสามได้จดทะเบียนรับ ด.ช.สิงโตเป็นบุตรบุญธรรม ด.ช.สิงโต จึงมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายสาม จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายสาม

ดังนั้น มรดกของนายหนึ่งคือเงินสดจํานวน 120,000 บาท จึงตกได้แก่ ด.ช.ถึงแต่เพียงผู้เดียว ตามมาตรา 1630 (3)

สรุป มรดกของนายหนึ่งตกได้แก่ ด.ช.ยิ่งซึ่งเข้ารับมรดกแทนที่นายสองแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 3 นายหนึ่งและนางน้อยเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายหนึ่งมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2 คน คือ นางสาวสองและนายสาม นายหนึ่งมีป้าที่เลี้ยงดูนายหนึ่งมาตั้งแต่เด็ก ชื่อ นางไก่ นางสาวสอง อยู่กินกันฉันสามีภริยากับนายกรโดยไม่จดทะเบียนสมรสกัน วันหนึ่งนายสามมาขอเงินนายหนึ่ง เพื่อจะเอาไปลงทุนค้าขาย นายหนึ่งได้ให้เงินนายสามไป 200,000 บาท โดยนายสามทําสัญญากับ นายหนึ่งว่าเมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตาย นายสามจะขอสละมรดกทั้งหมดของนายหนึ่ง หลังจากนั้น นายหนึ่งได้ทําพินัยกรรมยกบ้าน 1 หลัง ราคา 300,000 บาท ให้กับนางสาวสอง ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ นายหนึ่งไม่ได้ทําพินัยกรรมยกให้ใคร ต่อมานายหนึ่งได้กล่าวหานายกรว่านายกรอยู่กินกับนางสาวสอง เพราะหวังทรัพย์สมบัติของนางสาวสอง นายกรโกรธนายหนึ่งมาก นายกรได้ใช้ปืนยิงนายหนึ่งตาย ต่อหน้านางสาวสอง นางสาวสองไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตํารวจว่านายหนึ่งถูกฆ่า แต่ไม่บอกว่านายกร เป็นผู้ฆ่านายหนึ่งเพราะนางสาวสองไม่อยากให้นายกรต้องรับโทษทางอาญา นายหนึ่งมีทรัพย์มรดก ทั้งสิ้นคือบ้าน 1 หลัง ราคา 300,000 บาท ตามพินัยกรรมและเงินสด 600,000 บาท ดังนี้ จงแบ่ง มรดกของนายหนึ่ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐา เป็นผู้ไม่สมควร คือ

(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาแต่มิได้นําข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่ จะเอาตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคน วิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 1619 “ผู้ใดจะสละหรือจําหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้า ในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้”

1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณีในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ผู้ตายเลย”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา 1629 (1) แต่มีทายาทตามมาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสามได้ทําสัญญากับนายหนึ่งว่าเมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตาย นายสามจะขอสละมรดกทั้งหมดของนายหนึ่งนั้น สัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นการสละมรดก เพราะการสละมรดก จะกระทําได้ต่อเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วเท่านั้น ดังนั้นการแสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืน บทบัญญัติมาตรา 1619 อีกทั้งการสละมรดกนั้นจะต้องทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทําเป็น

สัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 1612 เท่านั้น ดังนั้น นายสามจึงยังคงมีสิทธิได้รับมรดกของนายหนึ่ง ในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (3)

ส่วนกรณีของนางสาวสองนั้น เมื่อนางสาวสองรู้ว่า นายหนึ่งถูกนายกรฆ่าตายโดยเจตนา แต่ มิได้นําความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทําความผิดมาลงโทษ และกรณีที่นางสาวสองไปแจ้งความ ต่อเจ้าหน้าที่ตํารวจว่านายหนึ่งถูกฆ่า แต่ไม่บอกว่านายกรเป็นผู้ฆ่านั้น กรณีนี้ไม่เข้าข้อยกเว้นการถูกกําจัดมิให้รับ มรดกของนายหนึ่ง เพราะนายกรมิใช่สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวสอง ดังนั้น นางสาวสองจึงถูกกําจัด มิให้รับมรดกของนายหนึ่งตามมาตรา 1606 (3) และเมื่อนางสาวสองถูกกําจัดมิให้รับมรดกของนายหนึ่ง นางสาวสอง จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกคือบ้าน 1 หลัง ราคา 300,000 บาท ที่นายหนึ่งทําพินัยกรรมยกให้แก่นางสาวสองด้วย ดังนั้นบ้าน 1 หลังราคา 300,000 บาท จึงต้องนําไปรวมกับเงินสด 600,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรม เพื่อนําไปแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งต่อไปตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อนายหนึ่งตาย มรดกของนายหนึ่งรวมทั้งหมด 900,000 บาท จึงตกได้แก่ทายาท โดยธรรม ซึ่งได้แก่นายสามในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันตามมาตรา 1629 (3) และนางน้อยภริยาที่ชอบ ด้วยกฎหมายของนายหนึ่งในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย โดยนางน้อยมีสิทธิได้รับมรดกถึงหนึ่งคือ 450,000 บาท และนายสามจะได้รับ 450,000 บาท ตามมาตรา 1635 (2) ส่วนนางไก่ซึ่งเป็นป้าของนายหนึ่ง และเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1529 (6) ซึ่งเป็นทายาทในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง

สรุป

มรดกของนายหนึ่งตกได้แก่นายสามและนางน้อยคนละ 450,000 บาท

 

ข้อ 4 นายเสือจดทะเบียนสมรสกับนางสวย มีบุตร 2 คน ชื่อ นายหนึ่งและนายสอง นายหนึ่งมีบุตรชอบด้วยกฎหมายชื่อนางมุก ส่วนนายสองจดทะเบียนรับนางเพชรเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานายหนึ่งถึงแก่ความตายโดยอุบัติเหตุ นายเสือเสียใจมากจึงทําพินัยกรรมถูกต้องตามกฎหมาย ระบุยกแหวนเพชรประจําตระกูล 1 วง ราคา 500,000 บาท ให้นางมุก โดยมิได้กล่าวถึงทรัพย์สินอื่น หลังจากนั้นนายเสือถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์มรดกเป็นแหวนเพชรประจําตระกูล 1 วง กับเงิน 6,000,000 บาท นางมุกนําแหวนเพชรไปซ่อนเพื่อจะเอาไว้เป็นของตนแต่ผู้เดียว ส่วนนายสองทํา หนังสือมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตแสดงเจตนาว่าไม่ประสงค์จะรับมรดกของนายเสือ ขอสละมรดกทั้งหมด

ให้วินิจฉัยว่า ทรัพย์มรดกของนายเสือตกได้แก่ผู้ใด เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1605 “ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทําให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่ง เฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 1615 “การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น”

มาตรา 1620 วรรคสอง “ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทําพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจําหน่ายทรัพย์ หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จําหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรม ไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 16.30 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา1635

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้ เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (5) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดาน คนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้น รับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเสือทําพินัยกรรมระบุยกแหวนเพชรประจําตระกูล 1 วง ราคา 500,000 บาท ให้แก่นางมุกนั้น นางมุกในฐานะผู้รับพินัยกรรมจึงมีสิทธิได้รับแหวนดังกล่าว และแม้ว่านางมุกจะ นําแหวนเพชรวงนั้นไปซ่อนเพื่อจะเอาไว้เป็นของตนแต่ผู้เดียว ก็ไม่เป็นเหตุให้ถูกกําจัดมิให้ได้รับมรดกฐานยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกตามมาตรา 1605 วรรคหนึ่ง เพราะนางมุกเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ ซึ่งตาม

มาตรา 1605 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่ามิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างในวันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

ดังนั้น ทรัพย์มรดกของนายเสือ คือเงิน 6,000,000 บาท ซึ่งนายเสือมิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมว่า จะยกให้แก่ผู้ใด จึงต้องนํามาแบ่งปันให้เก่ทายาทโดยธรรมของนายเสือต่อไปตามมาตรา 1620 วรรคสอง ซึ่งผู้ที่ มีสิทธิได้รับมรดกของนายเสือได้แก่ นางสวยภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย และนายหนึ่งกับนายสองบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) โดยทั้ง 3 คน จะได้รับ ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือ 2,000,000 บาท ตามมาตรา 1633 และมาตรา 1635 (1)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหนึ่งได้ถึงแก่ความตายก่อนนายเสือเจ้ามรดก และนายหนึ่งมีนางมุกเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง นางมุกจึงเข้ารับมรดกแทนที่นายหนึ่งเฉพาะส่วนที่นายหนึ่งจะ ได้รับคืน 2,000,000 บาท ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643

ส่วนนายสองนั้น เมื่อได้ทําหนังสือมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตโดยระบุว่าไม่ขอรับทรัพย์มรดกของนายเสือ จึงเป็นการสละมรดกที่ถูกต้องตามมาตรา 1612 นายสองจึงไม่มีสิทธิรับมรดกในส่วนของตน แต่เมื่อ นายสองมีนางเพชรซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม และตามมาตรา 1627 ให้ถือว่าบุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดาน สัน นางเพชรจึงสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่นายสองจะได้รับคือ 2,000,000 บาท ตามมาตรา 1615 วรรคสอง

ดังนั้น มรดกของนายเสือจํานวน 6,000,000 บาท จึงตกได้แก่ นางสวย นางมุก และนางเพชร คนละ 2,000,000 บาท

สรุป ทรัพย์มรดกของนายเสือที่เป็นแหวนเพชร 1 วง ราคา 500,000 บาท ตกได้แก่นางมุก ส่วนเงิน 6,000,000 บาท ตกได้แก่ นางสวย นางมุก และนางเพชร คนละ 2,000,000 บาท

Advertisement