การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายชะอมมีบุตรนอกสมรสชื่อนายสับปะรดอายุ 16 ปี นายเทาขับรถยนต์โดยประมาทชนนายสับปะรด นายชะอมซึ่งยืนอยู่บริเวณนั้นได้นําตัวนายสับปะรดไปส่งที่โรงพยาบาล เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์ ผู้เชียวชาญได้วินิจฉัยว่า ผลจากการที่ถูกขับรถชนเป็นเหตุให้นายสับปะรดได้รับบาดเจ็บต้องพัก รักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการทุกขเวทนาไม่สามารถจะจัดการเองได้เกินกว่าหนึ่งปี หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ นายชะอมยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเทาฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้นายสับปะรดได้รับบาดเจ็บสาหัส

ดังนี้ นายชะอมมีอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์ หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(2) ผู้เสียหาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสับปะรดถูกนายเทาขับรถยนต์โดยประมาทชนได้รับบาดเจ็บ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการทุกขเวทนาไม่สามารถจะจัดการเองได้เกินกว่าหนึ่งปีนั้น ถือว่านายสับปะรด เป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส อันถือได้ว่านายสับปะรดเป็นผู้เสียหายโดยตรงและเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4)

เมื่อนายสับปะรดมีอายุ 16 ปีซึ่งถือว่าเป็นผู้เยาว์ นายชะอมซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของนายสับปะรดจึงไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสับปะรด นายชะอมจึงไม่สามารถจัดการแทนผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (1) อย่างไรก็ตาม เมื่อนายชะอมเป็นบิดาตามความเป็นจริงของนายสับปะรดซึ่งถือว่า เป็นผู้บุพการี ดังนั้น เมื่อนายสับปะรดถูกนายเทากระทําจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ นายชะอมจึงมีอํานาจจัดการแทนนายสับปะรดผู้เสียหายในการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเทาฐานกระทํา โดยประมาทเป็นเหตุให้นายสับปะรดได้รับอันตรายสาหัสได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) ประกอบมาตรา 28 (2)

สรุป นายชะอมมีอํานาจฟ้องคดีนี้

 

ข้อ 2. นายหินเห็นนายถั่วลันเตาคู่อริยืนอยู่ที่ตลาดจึงใช้ปืนที่นําติดตัวมายิงไปที่นายถั่วลันเตา นายถั่วลันเตาหลบได้แต่กระสุนพลาดไปถูกนายคะน้า ทําให้นายคะน้าถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุนางละมุด มารดาของนายคะน้าเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนและ เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จ จึงทําการสรุปสํานวนพร้อมทําความเห็น ควรสั่งฟ้องส่งไปให้พนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายหินต่อศาลฐานฆ่านายคะน้า โดยเจตนา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์ ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี นายถั่วลันเตายื่นฟ้องนายหินฐาน พยายามฆ่านายถั่วลันเตา

ดังนี้ นายถั่วลันเตาจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายหินฐานพยายามฆ่านายถั่วลันเตาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) กรณีที่สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องระงับ เมื่อมีคําพิพากษา เสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1 จําเลยในคดีเรกและคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน

2 การกระทําของจําเลยเป็นการกระทํากรรมเดียวกัน

3 ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหินใช้ปืนยิ่งไปที่นายถั่วลันเตา นายถั่วลันเตาหลบได้แต่กระสุน พลาดไปถูกนายคะน้าทําให้นายคะน้าถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายหินถือเป็นการกระทํากรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท คือ การกระทําของนายหินต่อนายถั่วลันเตาเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านายถั่วลันเตา และการกระทําของนายหินต่อนายคะน้าเป็นความผิดฐานฆ่านายคะน้าโดยเจตนา (โดยพลาด) เมื่อพนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องนายหินต่อศาลฐานฆ่านายคะน้าโดยเจตนา และศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจาก พยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือนั้น ย่อมถือว่าศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น การที่นายถั่วลันเตาซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทําของนายหินจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายหินฐาน พยายามฆ่านายถั่วลันเตานั้นย่อมไม่อาจฟ้องได้เพราะสิทธิในการนําคดีอาญามาฟ้องได้ระงับไปแล้วตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) เนื่องจากจําเลยในคดีแรกและจําเลยในคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน และการกระทําของจําเลย เป็นการกระทํากรรมเดียวกัน ซึ่งถ้าหากนายถั่วลันเตาจะฟ้องนายหินอีกก็จะเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

สรุป

นายถั่วลันเตาจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายหินฐานพยายามฆ่าอีกไม่ได้

 

ข้อ 3. ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมพบนายลองกองกําลังวิ่งไล่จับนายมะไฟมาตามทางสาธารณะและได้ยินนายลองกอง ความไม่ร้องตะโกนว่า “จับที จับทีมันขโมยสร้อยทอง” ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมได้เข้าทําการจับนายมะไฟหลังจากทําการจับ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมได้ค้นตัวนายมะไฟแล้วพบว่ามีสร้อยทองของนายลองกอง อยู่ในกระเป๋ากางเกงของนายมะไฟ ดังนี้ การจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมค้นตัว นายมะไฟหลังจากทําการจับ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”

มาตรา 80 “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือพบใน อาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ

อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดังระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่าความผิดนั้น เป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีดังนี้

(1) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทําโดยมีเสียงร้องเอะอะ”

มาตรา 85 วรรคหนึ่ง “เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้ มีอํานาจค้นตัวผู้ต้องหาและ ยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมพบนายลองกองกําลังวิ่งไล่จับนายมะไฟมาตาม ทางสาธารณะ และได้ยินนายลองกองร้องตะโกนว่า “จับที จับทีมันขโมยสร้อยทอง” นั้น ถือเป็นความผิดซึ่งหน้า ประเภทที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคสอง (1) เนื่องจากการที่นายลองกองร้องเอะอะว่า “จับที จับทีมันขโมยสร้อยทอง” นั้น การกระทําของนายมะไฟ คือผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุอยู่ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับ นายมะไฟถูกนายลองกองวิ่งไล่จับดังว่านายมะไฟได้กระทําความผิดมา ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมจึงมีอํานาจในการจับ นายมะไฟแม้ไม่มีหมายจับ ดังนั้น การจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมในกรณีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนการที่ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมได้ค้นตัวนายมะไฟหลังจากทําการจับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อการจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมชอบด้วยกฎหมายแล้ว ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมย่อมมีอํานาจค้นตัวนายมะไฟ ผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 85 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมค้นตัวนายมะไฟหลังจากทําการจับ จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

สรุป

การจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมชอบด้วยกฎหมาย และการที่ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมค้นตัว นายมะไฟหลังทําการจับก็ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

 

ข้อ 4. พ.ต.ต.เก่งกล้าพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนนายตะขบผู้ต้องหาอายุ 28 ปี ในข้อหาส่งเสียงทําให้เกิดเสียงหรือกระทําความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทําให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 370 หากก่อนเริ่มถามคําให้การ พ.ต.ต.เก่งกล้าไม่ได้สอบถามนายตะขบว่ามีทนายความหรือไม่ แต่ได้ แจ้งข้อหา และแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง ให้ทราบก่อนถามคําให้การ หลังจากที่นายตะขบได้ฟังการแจ้งสิทธิมาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง นายตะขบแจ้งกับ พ.ต.ต. เก่งกล้าว่า นายตะขบไม่ต้องการให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตน

พ.ต.ต.เก่งกล้าจึงถามคําให้การนายตะขบโดยที่ไม่มีทนายความ และนายตะขบยอมให้การโดย เต็มใจ พ.ต.ต.เก่งกล้าจึงจดคําให้การไว้

ดังนี้ การที่ พ.ต.ต.เก่งกล้าไม่ได้สอบถามนายตะขบว่ามีทนายความหรือไม่ก่อนเริ่มถามคําให้การ สามารถกระทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทําให้เกิดเสียงหรือกระทําความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทําให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 134/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหา มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหา ว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความ หรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้”

มาตรา 134/2 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวน ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี”

มาตรา 134/3 “ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้”

มาตรา 134/4 “ในการถามคําให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า

(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคําที่ผู้ต้องหาให้การนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคําให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้

ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่ จะดําเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดของผู้นั้นไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ พ.ต.ต.เก่งกล้าพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนนายตะขบผู้ต้องหา อายุ 28 ปี ในข้อหาส่งเสียงทําให้เกิดเสียงหรือกระทําความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทําให้ประชาชนตกใจ หรือเดือดร้อนตาม ป.อาญา มาตรา 370 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทนั้น เมื่อคดีดังกล่าวไม่ใช่คดีที่มี อัตราโทษประหารชีวิต หรือคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี หรือคดีที่มีอัตราโทษจําคุกตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แต่เป็นคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว ดังนั้น กรณีที่ พ.ต.ต.เก่งกล้าไม่ได้สอบถามนายตะขบ ว่ามีทนายความหรือไม่ก่อนเริ่มถามคําให้การ แต่ได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อาญามาตรา 134/4 วรรคหนึ่งให้นายตะขบทราบก่อนถามคําให้การ และหลังจากที่นายตะขบได้ฟังการแจ้งสิทธิตามมาตรา 134/4 วรรคหนึ่งแล้ว นายตะขบได้แจ้งกับ พ.ต.ต.เก่งกล้าว่าตนไม่ต้องการให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟัง การสอบปากคําของตน และ พ.ต.ต.เก่งกล้าจึงถามคําให้การนายตะขบโดยไม่มีทนายความ และนายตะขบ ยอมให้การโดยเต็มใจ พ.ต.ต.เก่งกล้าจึงจดคําให้การไว้นั้น ถือว่าการสอบสวนของ พ.ต.ต.เก่งกล้าขอบด้วย กฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/4 ประกอบมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 แม้ก่อนเริ่ม ถามคําให้การ พ.ต.ต.เก่งกล้าจะไม่ได้สอบถามนายตะขบว่ามีทนายความหรือไม่ก็ตาม

สรุป

การที่ก่อนเริ่มถามคําให้การ พ.ต.ต.เก่งกล้าไม่ได้สอบถามนายตะขบว่ามีทนายความ หรือไม่นั้น สามารถกระทําได้

Advertisement