การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นางชนิกามีบุตร 1 คน ชื่อนายประกอบ อายุ 22 ปี นางชนิกายังได้จดทะเบียนรับนางสาวสุพรอายุ 16 ปี เป็นบุตรบุญธรรมอีกคนหนึ่ง นางสาวสุพรถูกนายวิชัยขับรถยนต์โดยประมาทชนถึงแก่ความตาย นางชนิกายื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายวิชัยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางสาวสุพรถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูล ประทับฟ้องคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ปรากฏว่านางชนิกาป่วยถึงแก่ความตายไปเสียก่อน
นายประกอบเป็นทายาทที่มีเพียงคนเดียวและได้รับมรดกทั้งหมดของนางชนิกาได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอรับมรดกความอาญาเข้ามาดำเนินคดีนายวิชัยแทนนางชนิกาต่อไป ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายประกอบว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
มาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(2) ผู้เสียหาย
มาตรา 29 เมื่อผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้
ถ้าผู้เสียหายที่ตายนั้นเป็นผู้เยาว์ ผู้วิกลจริต หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมผู้อนุบาลหรือผู้แทนเฉพาะคดีได้ยื่นฟ้องแทนไว้แล้วผู้ฟ้องแทนนั้นจะว่าคดีต่อไปก็ได้
วินิจฉัย
การที่นางสาวสุพรอายุ 16 ปี ถูกนายวิชัยขับรถยนต์โดยประมาทถึงแก่ความตายกรณีนี้ถือว่านางสาวสุพรเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย อันถือว่านางสาวสุพรเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงและเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ตามมาตรา 2(4)
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นางสาวสุพรผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของนางชนิกา กรณีย่อมถือว่านางชนิกาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมมีอำนาจจัดการแทนนางสาวสุพรผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดที่กระทำต่อนางสาวสุพรได้ด้วยการฟ้องคดีโดยอาศัยมาตรา 2(4) ประกอบมาตรา 5(1) และมาตรา 28 มิใช่การฟ้องคดีตามมาตรา 5(2) เพราะนางชนิกาและนางสาวสุพรไม่ได้เป็นผู้บุพกรรีและผู้สืบสันดานซึ่งกันและกัน เนื่องจากผู้บุพการีและผู้สืบสันดานนั้นต้องถือตามความเป็นจริง (ฎ. 1384/2516 (ประชุมใหญ่))
อนึ่งเมื่อนางชนิกาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 5(1) ได้ฟ้องคดีแล้วตายลง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในกรณีนี้จึงมีว่า นายประกอบอายุ 22 ปี ซึ่งเป็นทายาทเพียงคนเดียวและได้รับมรดกทั้งหมดของนางชนิกาจะยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความทางอาญาเพื่อดำเนินคดีกับนายวิชัยแทนนางชนิกาต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่าการรับมรดกตามมาตรา 29 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่แท้จริงยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วตายลงเท่านั้นที่ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้นั้นจึงจะเข้ามารับมรดกความทางอาญาได้ (ฎ. 1187/2543, ฎ. 2231/2521) เมื่อนางชนิกาผู้ตายยื่นฟ้องต่อศาลในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นเพียงผู้มีอำนาจจัดการแทนนางสาวสุพรผู้เยาว์ ตามมาตรา 5(1) เท่านั้น มิใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงแต่ประการใด ดังนั้นนายประกอบแม้จะเป็นผู้สืบสันดานตามความเป็นจริงของนางชนิกาและบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจเข้ารับมรดกความทางอาญาต่อจากนางชนิกาได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29 ศาลต้องมีคำสั่งยกคำร้องของนายประกอบ
สรุป ศาลต้องมีคำสั่งยกคำร้องของนายประกอบ