การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายคมถูกพนักงานสอบสวนจับกุมสอบสวนในข้อหาฉ้อโกง  นายหนึ่งและนายสอง  และทำร้ายร่างกายนายสองได้รับอันตรายสาหัส  ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายคมในข้อหาฉ้อโกงแต่มีคำสั่งฟ้องนายคมในข้อหาทำร้ายร่างกายนายสองได้รับอันตรายสาหัส  แล้วยื่นฟ้องนายคม  ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายคมตามฟ้อง  นายคมอุทธรณ์

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  นายสองได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ  ส่วนคดีข้อหาฉ้อโกง  นายหนึ่งได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง  ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น  นายสองได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายหนึ่ง  ให้วินิจฉัยว่า

 (ก)  นายสองมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  เป็นเหตุให้นายสองได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่  เพราะเหตุใด

 (ข)  นายสองมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายหนึ่งในความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  30  คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว  ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้

มาตรา  31  คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว  ซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว  พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้

 (ก)   วินิจฉัย

กำหนดระยะเวลาการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการนั้นตามมาตรา  30  ได้กำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเท่านั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษนายคมตามฟ้องแล้ว  ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  นายสองได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ  กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 30  ดังนั้น  นายสองจึงไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ (ฎ. 392/2512)

(ข)  วินิจฉัย

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา  30  และ  31  จะเห็นว่ากฎหมายประสงค์ให้มีการร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ  และกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายสำหรับคดีที่มิใช่วามผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น  สิทธิในการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญานอกจาก  2  กรณีดังกล่าวนี้แล้วย่อมไม่อาจมีได้

ดังนั้นกรณีนี้  เมื่อปรากฏว่านายหนึ่งได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาแล้ว  นายสองจึงต้องร้องเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ไม่ได้  เนื่องจาก  กรณีที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายด้วยกันไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้นั่นเอง 

สรุป

(ก)  นายสองไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

(ข)  นายสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายหนึ่งไม่ได้

 

ข้อ  2  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางเจ๋งเป็นจำเลยคดีอาญา  ฐานขับรถประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหายและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตาม  พ.ร.บ.  จราจรทางบก  พ.ศ. 2522  มาตรา  43157  และประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  300  จากเหตุที่นางเจ๋งขับรถประมาทชนรถของนางจิ๋มเสียหาย  และนางแจ๋วซึ่งนั่งโดยสารมาในรถของนางจิ๋มได้รับอันตรายสาหัสขาหัก  ศาลอาญาพิพากษาลงโทษนางเจ๋ง  ตามฟ้อง  คดีถึงที่สุด  แต่นางเจ๋งไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางจิ๋มและนางแจ๋ว  นางจิ๋มและนางแจ่วจึงต่างเป็นโจทก์ฟ้องนางเจ๋งเป็นจำเลยในคดีแพ่ง  ฐานละเมิดและเรียกค่าเสียหายโดยนางจิ๋มและนางแจ๋วต่างก็อ้างคำพิพากษาคดีอาญาที่พิพากษาลงโทษนางเจ๋งดังกล่าว ดังนี้  ศาลในคดีแพ่งจะวินิจฉัยคดีของนางจิ๋มและคดีของนางแจ๋วอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  2  ในประมวลกฎหมายนี้

(4) ผู้เสียหาย  หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5  และ  6

มาตรา  46  ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง  ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่จะถือเอาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิพากษาในคดีส่วนแพ่งได้นั้น  จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาซึ่งศาลได้วินิจฉัยไว้โดยแจ้ง  และคำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุดแล้ว  ประการสำคัญคือ  ผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันในคดีแพ่ง  จะต้องเป็นคู่ความในคดีอาญาเท่านั้น

คดีของนางจิ๋ม  เนื่องจากนางจิ๋มมิใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางเจ๋งเป็นจำเลยในฐานความผิดต่อ  พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ  จากเหตุที่นางเจ๋งขับรถประมาทชนรถของนางจิ๋มเสียหายตามมาตรา  2(4)  เพราะความผิดต่อ  พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ  เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ  รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดี  นางจิ๋มย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญา  จึงถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาแทนนางจิ๋ม  คำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ผูกพันนางเจ๋ง  ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง  ศาลจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา  ศาลในคดีแพ่งที่นางจิ๋มเป็นโจทก์ฟ้องนางเจ๋งจึงต้องพิจารณาและฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งใหม่  (ฎ. 1927/2514 , ฎ. 1997/2524 , ฎ. 778/2532)

คดีของนางแจ๋ว  นางแจ๋วเป็นผู้เสียหายโดยตรงตามมาตรา  2(4)  ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางเจ๋งเป็นจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา  300  พนักงานอัยการจึงอยู่ในฐานะฟ้องคดีอาญาแทนนางแจ๋ว  คำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงผูกพันนางเจ๋ง  และนางแจ๋ว  ดังนั้นในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง  ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่านางเจ๋งกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางแจ๋วได้รับอันตรายสาหัส  จะฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนั้นไม่ได้  (ฎ. 6598/2539)

สรุป  ศาลในคดีแพ่งที่นางจิ๋มเป็นโจทก์ฟ้องนางเจ๋ง  ต้องพิจารณาและฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งใหม่

ส่วนในคดีแพ่งที่นางแจ๋วเป็นโจทก์ฟ้องนางเจ๋ง  ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่านางเจ๋งกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางแจ๋วได้รับอันตรายสาหัส

 

ข้อ  3  นายแดงซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่าผู้อื่นได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน  เมื่อพนักงานสอบสวนได้ถามชื่อ  ที่อยู่แล้ว  ก็ได้แจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด  หลังจากนั้นก็แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นให้ทราบ  เมื่อผู้ต้องหาได้ทราบข้อหาแล้วจึงให้การสารภาพพนักงานสอบสวนจึงรีบบันทึกถ้อยคำรายละเอียดแห่งการรับสารภาพนั้น  เพราะกลัวจะบันทึกไม่ทันรายละเอียดแห่งคำรับสารภาพของผู้ต้องหา  หลังจากนั้นจึงได้บันทึกเกี่ยวกับการถามเรื่องทนายความ  และแจ้งให้ทราบว่าผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้  ถ้อยคำที่ให้การไปแล้วนั้นใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้  และผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการถามปากคำตนได้  ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องคดีนี้ต่อศาลและอ้างคำรับสารภาพของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นศาล

เช่นนี้  คำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนนั้นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหานั้นได้เพียงใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  134/4  ในการถามคำให้การผู้ต้องหา  ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า

(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้  ถ้าผู้ต้องหาให้การถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้

ถ้อยคำใดๆที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง  หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา  134/1  มาตรา  134/2  และมาตา  134/3  จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้

วินิจฉัย

เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว  ในการถามคำให้การผู้ต้องหา  พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า

(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้  ถ้าผู้ต้องหาให้การถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้

หากได้ความว่าพนักงานสอบสวนไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวหรือแจ้งสิทธิดังกล่าวไม่ครบ  ถ้อยคำของผู้ต้องหาที่ได้ให้ไว้  ย่อมไม่อาจรับฟังเป้นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้ตามมาตรา  134/4  วรรคแรก  (1) (2)  ประกอบวรรคท้าย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำสารภาพของนายแดงในชั้นสอบสวนนั้น  จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายแดงนั้นได้พียงใดหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อนายแดงผู้ต้องหาเข้ามอบตัว  ก่อนถามคำให้การพนักงานสอบสวนได้ถามเพียงชื่อ  ที่อยู่  และแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นให้นายแดงทราบเท่านั้น  แต่ไม่ได้แจ้งสิทธิตามกฎหมายให้นายแดงผู้ต้องหาทราบก่อนถามคำให้การ  ดังนั้นถ้อยคำรับสารภาพและรายละเอียดแห่งคำรับสารภาพที่นายแดงให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนนั้น  จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายแดงได้  ต้องห้ามตามมาตรา 134/4  วรรคท้าย  (ฎ. 769/2482 ฎ. 57/2498)

สรุป  คำรับสารภาพของนายแดงผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนนั้นจะรับเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดไม่ได้

 

ข้อ  4  พ.ต.ท. ปวัน  และ  ร.ต.อ มานเมตต์  พบนายรังสี  กำลังรอขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ  พ.ต.อ. ปวัน  บอก ร.ต.อ. มานเมตต์ว่า  เมื่อสองวันมาแล้วนายรังสีหลบหนีการควบคุมหลังจากการจับกุมของตนตามหมายจับในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัส  ร.ต.อ. มานเมตต์ได้เดินเข้าไปหานายรังสีแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งว่าต้องถูกจับ  ทั้งแจ้งข้อหาดังกล่าวกับแจ้งสิทธิตามกฎหมาย  จากนั้นได้จับนายรังสีนำส่งพนักงานสอบสวน

ดังนี้  การจับของ  ร.ต.อ.  มานเมตต์  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  66  เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน  หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

มาตรา  68  หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้  เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน

มาตรา  78  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใด  โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้  เว้นแต่

(3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา  66(2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การจับของ  ร.ต.อ. มานเมตต์  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  แม้ ร.ต.อ. มานเมตต์ไม่ใช่ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับ  และหมายจับใช้ไม่ได้เพราะจับตัวผู้ต้องหาตามหมายจับได้แล้วตามมาตรา  68  ก็ตาม  แต่  ร.ต.อ. มานเมตต์ก็มีอำนาจจับผู้ต้องหาได้เนื่องจากมีหลักฐานตามสมควรว่านายรังสีผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญาจนมีการออกหมายจับแล้วและมีเหตุอันควรเชื่อว่าน่าจะหลบหนี  เพราะเคยหลบหนีแล้ว  ประกอบกับมีความจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับนายรังสีได้  เพราะนายรังสีกำลังรอขึ้นเครื่องบิน  ดังนั้น  การจับของ  ร.ต.อ. มานเมตต์จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  78(3)  ประกอบมาตรา  66(2)

สรุป  การจับของ  ร.ต.อ. มานเมตต์ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement