การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายหนึ่งออกเช็คชําระหนี้ให้นายสอง 100,000 บาท นายสองโอนเช็คดังกล่าวชําระหนี้ให้นายสาม นายสามนําเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเมื่อเช็คถึงกําหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชี มาของการ นายหนึ่งไม่พอจ่าย นายสามนำเช็คมาคืนนายสองและได้รับเงินสด 100,000 บาทจากนายสองไปแล้ว
วันรุ่งขึ้นนายสองนําเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินที่ธนาคารอีกครั้งหนึ่ง ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วย เหตุผลเดิม นายสองจึงนําเช็คไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดําเนินคดีอาญานายหนึ่ง ตาม พ.ร.บ. เช็คฯ เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ ลงโทษนายหนึ่งตาม พ.ร.บ. เช็คฯ ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นายสองยื่นคําร้องต่อศาลขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาล จะวินิจฉัยคดีของพนักงานอัยการ และคำร้องของนายสองว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้
(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”
มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”
มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนใน ความผิดนั้นก่อน”
มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่ จะมีคําร้องทุกข์ตามระเบียบ”
วินิจฉัย
โดยหลัก ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ คือ ผู้ทรงเช็ค ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (คําพิพากษาฎีกาที่ 1035/2529) นายสามจึงเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2 (4) มิใช่นายสอง เพราะนายสองได้โอนเช็คให้นายสามแล้ว แม้จะได้รับเช็คคืนจากนายสามในภายหลัง
สําหรับการร้องทุกข์นั้น ผู้ร้องทุกข์ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดที่ร้องทุกข์ เมื่อปรากฎ ข้อเท็จจริงว่านายสองไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ การแจ้งความของนายสองจึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตามมาตรา 2 (7) และเมื่อความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็คฯ เป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อไม่มีคําร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอํานาจสอบสวนตามมาตรา 121 วรรคสอง ดังนั้นการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนดําเนินการไปจึงเป็นการสอบสวนที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องตามมาตรา 120 ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้อง
ส่วนคําร้องของนายสองที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการนั้น เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง คดีของพนักงานอัยการแล้ว จึงถือว่าไม่มีคําฟ้องของพนักงานอัยการอยู่ในศาล นายสองจึงเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่ได้ อีกทั้งกรณีนี้นายสองก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอํานาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 อีกด้วย
สรุป
ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และสั่งยกคําร้องของ นายสอง
ข้อ 2. นายเชิดลักรถจักรยานยนต์ของนายชอบที่จังหวัดราชบุรีและนํามาขายให้แก่นายชมที่จังหวัดนครปฐม นายชอบได้ร้องทุกข์ต่อร้อยตํารวจเอกชูชาติ พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองราชบุรี หลังจากร้อยตํารวจเอกขชาติได้รับคําร้องทุกข์แล้ว 3 วัน นายเชิดถูกดาบตํารวจชาติชายจับได้ที่ จังหวัดราชบุรีและถูกดําเนินคดี โดยพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายเชิดเป็นจําเลยในความผิดฐาน ลักทรัพย์เวลากลางคืน อันเป็นคดีลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ต่อศาลจังหวัดราชบุรี เมื่อศาลจังหวัด ราชบุรีได้พิพากษาลงโทษนายเชิดจําเลยไปแล้ว ปรากฏว่าสิบตํารวจเอกชูศักดิ์ซึ่งเป็นตํารวจ ประจําสถานีตํารวจภูธรเมืองนครปฐมจับนายชมได้ที่จังหวัดนครปฐมพร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ของ นายซอบที่ถูกนายเชิดลักไปและได้นําตัวนายชมไปส่งให้แก่ร้อยตํารวจเอกชิงชัย พนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรเมืองนครปฐม
ให้วินิจฉัยว่า
(ก) พนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีของนายชมในความผิดฐานรับของโจร
(ข) พนักงานอัยการจะฟ้องนายชมเป็นจําเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 19 “ในกรณีดังต่อไปนี้
(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทําต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่า ท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้ ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน
(ข) ถ้าจับตัวผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทําผิด ก่อนอยู่ในเขตอํานาจ”
มาตรา 24 “เมื่อความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันโดยเหตุหนึ่งเหตุใดเป็นต้นว่า
(1) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทําลงโดยผู้กระทําผิดคนเดียวกัน หรือผู้กระทําผิด หลายคนเกี่ยวพันกันในการกระทําความผิดฐานหนึ่งหรือหลายฐาน จะเป็นตัวการ ผู้สมรู้หรือรับของโจรก็ตาม
ดังนี้จะฟ้องคดีทุกเรื่อง หรือฟ้องผู้กระทําความผิดทั้งหมดต่อศาลซึ่งมีอํานาจชําระในฐาน ความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าไว้ก็ได้”
วินิจฉัย
(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเชิดลักรถจักรยานยนต์ของนายชอบที่จังหวัดราชบุรีและนํามาขาย ให้แก่นายชมที่จังหวัดนครปฐม ความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานรับของโจรในทรัพย์ชิ้นเดียวกันนั้น เป็น ความผิดต่อเนื่องตามความหมายของ ป.วิ.อาญา มาตรา 19 (3) ดังนั้นพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่ เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่งตอนท้าย (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 3903/2531)
เมื่อนายชอบได้ร้องทุกข์ต่อร้อยตํารวจเอกชูชาติพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมือง ราชบุรีและร้อยตํารวจเอกชูชาติได้รับคําร้องทุกข์ไว้แล้ว ร้อยตํารวจเอกชูชาติพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ ที่พบการกระทําความผิดก่อนย่อมมีอํานาจทําการสอบสวนได้และเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสอบสวนคดี ของนายชมในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ข) (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1126/2544)
(ข) แม้ความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเกิดที่จังหวัดราชบุรีกับความผิดฐานรับของโจรซึ่งเกิดขึ้นที่ จังหวัดนครปฐมเกิดต่างท้องที่กัน แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน คือรถจักรยานยนต์ ของนายชอบผู้เสียหาย โดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนําไปจําหน่ายให้แก่นายชมผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง จึงเป็นความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้กระทําความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการ ลักทรัพย์ ผู้สมรู้ และ รับของโจรตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 24 (1) (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2455/2550)
และตามกฎหมายความผิดฐานลักทรัพย์เวลากลางคืนมีอัตราโทษสูงกว่าความผิดฐานรับของโจร ดังนั้นพนักงานอัยการจึงฟ้องนายชมเป็นจําเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลจังหวัดราชบุรีที่มีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 24 วรรคสอง (เทียบ คําพิพากษาฎีกาที่ 2455/2550)
สรุป
(ก) พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองราชบุรีเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสอบสวนคดีของนายชมในความผิดฐานรับของโจร
(ข) พนักงานอัยการสามารถฟ้องนายชมเป็นจําเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้
ข้อ 3. นางสาวงดงามได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่านายโหดร้ายซึ่งพักอาศัยอยู่ในซอยเดียวกัน ได้กระชากเอาสร้อยคอทองคําหนัก 1 บาท ราคา 19,500 บาท ไปจากคอของนางสาวงดงามแล้ว วิ่งหลบหนีไป ต่อมาเจ้าหน้าที่ตํารวจจับนายโหดร้ายได้ และพนักงานอัยการได้มีคําสั่งฟ้องและยื่นฟ้อง นายโหดร้ายต่อศาลฐานวิ่งราวทรัพย์ พร้อมกับขอศาลมีคําสั่งให้นายโหดร้ายคืนหรือชดใช้ราคา สร้อยคอทองคําเป็นเงิน 19,500 บาท แก่นางสาวงดงามผู้เสียหาย แต่ก่อนเริ่มสืบพยาน นางสาวงดงาม ได้ยื่นคําร้องในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ว่าขณะที่นายโหดร้ายกระชากสร้อยได้ชกต่อยทําร้าย ร่างกายนางสาวงดงามเพื่อจะแย่งเอาสร้อยคอทองคําไปด้วย เป็นเหตุให้นางสาวงดงามได้รับบาดเจ็บ ปากแตก ขอให้นายโหดร้ายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 20,000 บาท อีกทั้งขณะนี้ราคาทองคําขึ้น ขอให้ชดใช้ราคาสร้อยคอทองคําเป็นเงิน 20,500 บาท
ให้วินิจฉัยว่า นางสาวงดงามยื่นคําร้องขอให้นายโหดร้ายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล เป็นเงิน 20,000 บาท และค่าสร้อยคอทองคําเป็นเงิน 20,500 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 43 “คดีลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก หรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทําผิดคืน เมื่อพนักงานยื่นฟ้องคดีอาญาก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย”
มารา 44/1 วรรคท้าย “คําร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคําขอประการอื่นที่มิใช่คําขอบังคับให้ จําเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทําความผิดของจําเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือ แย้งกับคําฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดําเนินการตามความใน มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 44/1 วรรคท้าย ได้บัญญัติหลักไว้ว่า คําร้องของผู้เสียหายที่ขอให้ ศาลบังคับจําเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคําฟ้อง ของพนักงานอัยการ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ฟ้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์อีกไม่ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการได้มีคําสั่งฟ้องคดีอาญาดังกล่าวและได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายโหดร้ายต่อศาลในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์สร้อยคอทองคําหนัก 1 บาท ราคา 19,500 บาท ของ นางสาวงดงามผู้เสียหายพร้อมกับขอศาลมีคําสั่งให้นายโหดร้ายจําเลยคืนหรือชดใช้ราคาสร้อยคอทองคําเป็นเงิน 19,500 บาท แก่นางสาวงดงามผู้เสียหาย ด้วยนั้น เมื่อปรากฏว่าก่อนเริ่มสืบพยาน นางสาวงดงามได้ยื่นคําร้องเข้ามา ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ว่า ขณะที่นายโหดร้ายกระชากสร้อยได้ชกต่อยทําร้ายร่างกายนางสางงดงาม เพื่อจะแย่งเอาสร้อยคอทองคําไปด้วยเป็นเหตุให้นางสาวงดงามได้รับบาดเจ็บปากแตกนั้น เป็นกรณีที่นางสาวงดงาม กล่าวหาว่านายโหดร้ายจําเลยกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์ ซึ่งแตกต่างจากคําฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ที่ฟ้อง ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คําร้องของนางสาวงดงามจึงขัดหรือแย้งกับคําฟ้องของพนักงานอัยการ ดังนั้น นางสาวงดงามจึงยื่นคําร้องขอให้นายโหดร้ายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 20,000 บาท ไม่ได้
และนอกจากนั้น เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องขอให้นายโหดร้ายจําเลยคืนหรือชดใช้ราคา สร้อยคอทองคําจํานวน 19,500 บาท แก่นางสาวงดงามผู้เสียหายแล้ว แม้ขณะนี้ราคาทองคําจะขึ้นสูงกว่า ในขณะเกิดเหตุ นางสาวงดงามก็จะยื่นคําร้องเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 44/1 วรรคท้าย ดังนั้น นางสาวงดงามจะยื่นคําร้องขอให้นายโหดร้ายชดใช้ราคาสร้อยคอทองคําเป็นเงิน 20,500 บาท ไม่ได้
สรุป
นางสาวงดงาม จะยื่นคําร้องขอให้นายโหดร้ายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่า รักษาพยาบาลเป็นเงิน 20,000 บาท และค่าสร้อยคอทองคําเป็นเงิน 20,500 บาท ไม่ได้
ข้อ 4.นางสับปะรดมีตึกแถวสองชั้น ชั้นหนึ่งของตึกแถวใช้เป็นร้านขายข้าวแกง ส่วนชั้นสองของตึกแถว นางสับปะรดและนายตะขบบุตรชายที่ชอบด้วยกฎหมายอายุ 22 ปี ใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยชั้นสอง ของตึกแถวไม่ให้บุคคลทั่วไปขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต วันหนึ่ง พ.ต.ต.กล้าหาญได้รับรายงานจากสายลับที่มีความน่าเชื่อถือว่านายตะขบมีเมทแอมเฟตามีน ซุกซ่อนอยู่กับตัว โดยขณะนี้นายตะขบอยู่ภายในร้านขายข้าวแกงซึ่งอยู่ชั้นหนึ่งของตึกแถวของ นางสับปะรด พ.ต.ต.กล้าหาญจึงรีบไปที่ร้านขายข้าวแกงของนางสับปะรดทันที เมื่อ พ.ต.ต.กล้าหาญ ไปถึงร้านขายข้าวแกงของนางสับปะรดในช่วงเวลาที่ร้านขายข้าวแกงยังเปิดทําการขายอาหารอยู่ พ.ต.ต.กล้าหาญได้เดินเข้าไปหานายตะขบและแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตํารวจและขอตรวจค้นตัว นายตะขบ เมื่อ พ.ต.ต.กล้าหาญได้ค้นตัวนายตะขบแล้วได้พบเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่ตัวของ นายตะขบ พ.ต.ต.กล้าหาญจะเข้าทําการจับนายตะขบ นายตะขบได้วิ่งหนีขึ้นไปที่ชั้นสองของตึกแถว พ.ต.ต.กล้าหาญจึงวิ่งตามขึ้นไปจับกุมนายตะขบที่ชั้นสองของตึกแถวทันที ดังนี้ การจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือ พบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”
มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”
มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้
(3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทําความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้น ควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น”
มาตรา 93 “ห้ามมิให้ทําการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตํารวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทําความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทําความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสับปะรดมีตึกแถวสองชั้น โดยชั้นหนึ่งของตึกแถวใช้เป็นร้าน ขายข้าวแกง โดยขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ร้านขายข้าวแกงยังคงเปิดทําการขายอาหารอยู่จึงเป็นที่สาธารณสถาน ส่วนชั้นสองของตึกแถวใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยไม่ให้บุคคลทั่วไปขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นที่รโหฐาน
การที่ พ.ต.ต.กล้าหาญแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตํารวจและขอตรวจค้นนายตะขบในร้าน ขายอาหารขณะเปิดทําการขายอาหารซึ่งเป็นที่สาธารณสถานนั้น โดยหลักแล้วไม่สามารถทําได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ความว่า พ.ต.ต.กล้าหาญได้รับรายงานจากสายลับที่มีความน่าเชื่อถือว่านายตะขบมีเมทแอมเฟตามีน ซุกซ่อนอยู่กับตัว จึงถือว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่านายตะขบมีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดซุกซ่อนอยู่ ดังนั้น พ.ต.ต.กล้าหาญจึงมีอํานาจค้นตัวนายตะขบซึ่งอยู่ที่ร้านอาหารซึ่งเป็นที่สาธารณสถานได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 93 และเมื่อพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่ตัวของนายตะขบ ซึ่งถือเป็นความผิดซึ่งหน้า พ.ต.ต.กล้าหาญจึง มีอํานาจจับตัวนายตะขบได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง
และเมื่อนายตะขบได้วิ่งหนีขึ้นไปที่ชั้นสองของตึกแถว และ พ.ต.ต.กล้าหาญได้วิ่งขึ้นไปจับกุม นายตะขบที่ชั้นสองของตึกแถวทันทีนั้น ถือว่าเป็นการจับในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้นอกจากต้องมีอํานาจ ในการจับแล้วยังต้องทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือต้องมีหมายค้นหรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นในที่รโหฐานได้โดยไม่ต้องมีหมาย ซึ่งตามอุทาหรณ์ พ.ต.ต.กล้าหาญได้ทําตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 92 (3) แล้ว เนื่องจากเป็นกรณีที่นายตะขบซึ่งได้กระทําความผิด ซึ่งหน้าขณะที่ถูก พ.ต.ต.กล้าหาญไล่จับหนีเข้าไปในที่รโหฐานนั้น พ.ต.ต.กล้าหาญจึงมีอํานาจตามเข้าไปจับ นายตะขบที่ชั้นสองของตึกแถวได้ ดังนั้น การจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญจึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1), มาตรา 80 วรรคหนึ่ง, มาตรา 81 และมาตรา 92 (3)
สรุป การจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญชอบด้วยกฎหมาย