การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางสาวสับปะรดอายุ 19 ปี ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดําเนินคดีกับนายมะไฟในความผิดฐานกระทําอนาจารนางสาวสับปะรดโดยใช้กําลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 โดยบิดามารดานางสาวสับปะรดไม่ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในการร้องทุกข์

พนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จจึงสรุปสํานวน พร้อมทําความเห็นควรสั่งฟ้องนายมะไฟและส่งสํานวนพร้อมความเห็นดังกล่าวไปให้พนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายมะไฟในความผิดฐานกระทําอนาจาร นางสาวสับปะรดซึ่งอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กําลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 (การกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 เป็นความผิดอันยอมความได้) ดังนี้

พนักงานอัยการมีอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิด นั้นก่อน”

มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะมี คําร้องทุกข์ตามระเบียบ

มาตรา 123 วรรคหนึ่ง “ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้”

วินิจฉัย

ความผิดฐานกระทําอนาจารแก่บุคคลซึ่งมีอายุกว่า 15 ปี โดยใช้กําลังประทุษร้ายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 เป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทําการสอบสวน เว้นแต่จะได้มีคําร้องทุกข์ตามระเบียบ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวสับปะรดอายุ 19 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงาน สอบสวนขอให้ดําเนินคดีกับนายมะไฟในความผิดฐานกระทําอนาจารนางสาวสับปะรดโดยใช้กําลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 นั้น นางสาวสับปะรดผู้เยาว์ย่อมมีอํานาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้ แม้ บิดามารดาของนางสาวสับปะรดจะไม่ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในการร้องทุกข์ก็ตาม เพราะตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคหนึ่งนั้น มิได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจาก บิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือบุคคลดังกล่าวจะต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วยแต่อย่างใด (คําพิพากษาฎีกาที่ 3915/2551)

เมื่อความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความกันได้ และนางสาวสับปะรด ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนจึง มีอํานาจสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง และเมื่อมีการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการ จึงมีอํานาจฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 20

สรุป

พนักงานอัยการมีอํานาจฟ้องคดีนี้

 

ข้อ 2. นายประมาทขับรถยนต์ชนรถยนต์ที่นางบริสุทธิ์ขับได้รับความเสียหายต้องการเสียค่าซ่อมรถเป็นเงิน 25,000 บาท พนักงานอัยการฟ้องนายประมาทฐานขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียวเป็นเหตุให้ ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ ศาลพิพากษาว่านายประมาทจําเลยกระทํา ความผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุด นางบริสุทธิ์จึงเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากนายประมาท เป็นค่าซ่อมรถ 25,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างที่ไม่มีรถยนต์ใช้ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000 บาท นายประมาทต่อสู้ว่าไม่ได้ทําละเมิดขับรถยนต์ชนรถยนต์ของนางบริสุทธิ์ แต่นางบริสุทธิ์เป็นฝ่ายประมาทขับรถยนต์เฉียวชนรถยนต์ของนายประมาท นางบริสุทธิ์อ้าง คําพิพากษาในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วว่า นายประมาทเป็นฝ่ายผิด

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลในคดีแพ่งจําต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคําพิพากษาคดีส่วนอาญาว่านายประมาทเป็นฝ่ายผิด หรือต้องให้คู่ความนําสืบข้อเท็จจริงกันใหม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 46 “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจําต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคําพิพากษาคดี ส่วนอาญา”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 46 กรณีที่ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคํา พิพากษาคดีส่วนอาญานั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้

1 ต้องเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

2 คําพิพากษาคดีส่วนอาญาต้องถึงที่สุดแล้ว

3 คู่ความในคดีอาญาและคดีส่วนแพ่งต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

4 ข้อเท็จจริงในคดีอาญาต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและได้รับการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้ว

โดยหลักแล้ว เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ย่อมถือว่าเป็นการฟ้องแทนผู้เสียหาย แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการฟ้องนายประมาทฐานขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียวเป็นเหตุให้ ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ นั้น เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ เป็นความผิด ต่อรัฐ รัฐเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาแทนนางบริสุทธิ์ซึ่งได้รับความ เสียหายจากการกระทําของนายประมาท ดังนั้น นางบริสุทธิ์จึงไม่ใช่คู่ความในคดีอาญา คําพิพากษาในคดีอาญา จึงไม่ผูกพันนางบริสุทธิซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแพ่ง เมื่อนางบริสุทธิ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากนายประมาท จึงไม่ถือว่าคู่ความในคดีอาญาและคดีส่วนแพ่งเป็นคู่ความเดียวกัน ดังนั้นศาลในคดีแพ่งจึงไม่จําต้องถือข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในคําพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ว่านายประมาทเป็นฝ่ายผิด ศาลจะต้องให้คู่ความนําสืบข้อเท็จจริงกันใหม่ ในคดีแพ่ง

สรุป

ศาลในคดีแพ่งไม่จําต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคําพิพากษาคดีส่วนอาญา ศาล จะต้องให้คู่ความในคดีแพ่งนําสืบข้อเท็จจริงกันใหม่

 

ข้อ 3. นายกล้าอายุ 16 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในระหว่างทําการสอบสวนนายกล้า พันตํารวจโทไพบูลย์พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสงคมสงเคราะห์และ พนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคํา และนายกล้าก็ไม่ได้ต้องการให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วม ในการสอบปากคําด้วย ให้วินิจฉัยว่า การสอบสวนนายกล้าผู้ต้องหาในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง “ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย อันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตาม กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจําคุกซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ การถามปากคํา ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทําเป็นส่วนสัดในสถานที่ ที่เหมาะสมสําหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการร่วม อยู่ด้วยในการถามปากคําเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคําเด็กคนใด หรือคําถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคําถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคําถามของ พนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร”

มาตรา 134/2 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวน ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 134/2 ที่กฎหมายกําหนดว่าต้องจัดให้ มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยนั้น ใช้บังคับกับกรณีที่ พนักงานสอบสวนจะถามปากคําผู้เสียหาย หรือพยาน และการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี และต้องเป็นคดีความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้ด้วย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายกล้าอายุ 16 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานแข่งรถในทางโดย ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 นั้น จะเห็นได้ว่า แม้ ในคดีนี้นายกล้าจะเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ก็ตาม แต่ความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 นั้น เป็นความผิดอื่นซึ่งมิใช่ความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวิ แต่อย่างใด

ดังนั้น ในระหว่างทําการสอบสวนนายกล้า การที่พันตํารวจโทไพบูลย์พนักงานสอบสวนไม่ได้ จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคํา อีกทั้งนายกล้าก็ไม่ได้ ต้องการให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคําด้วยนั้น จึงมิใช่การกระทําที่ขัดต่อบทบัญญัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง การสอบสวนนายกล้าผู้ต้องหาในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย (คําพิพากษาฎีกาที่ 3432/2557)

สรุป

การสอบสวนนายกล้าผู้ต้องหาในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. นายเทาคนจรจัดได้ชิงทรัพย์ของนายมะยงชิดผู้เสียหาย โดยในวันเกิดเหตุนายมะยงชิดได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว ต่อมานายมะยงชิดได้พบนายเทานั่งอยู่ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากศาลจังหวัดมาก และนายเทากําลังจะหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นายมะยงชิดจึงได้แจ้งให้ ร.ต.อ.คะน้าซึ่งยืนอยู่ในบริเวณนั้นจับกุมนายเทา โดยยืนยันว่านายเทาคือคนร้ายที่ชิงทรัพย์ของ นายมะยงชิดไปและนายมะยงชิดได้ร้องทุกขไว้แล้ว ร.ต.อ.คะน้าจึงทําการจับนายเทาทันทีโดยไม่มีหมายจับ ดังนี้ การจับของ ร.ต.อ.คะน้าขอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 66 “เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทําความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจําคุก อย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทําความผิดอาญาและมีเหตุอันควร เชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัว อันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี”

มาตรา 78 “ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่

(3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66

(2) แต่มีความจําเป็นเร่งด่วนที่ ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมะยงชิดได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าถูกนายเทาคนจรจัด ชิงทรัพย์ ต่อมานายมะยงชิดได้พบนายเทานั่งอยู่ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากศาลจังหวัดมาก และนายเทากําลังจะหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นายมะยงชิดจึงได้แจ้งให้ ร.ต.อ.คะน้าซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นจับกุมนายเทา โดยยืนยันว่านายเทาคือคนร้ายที่ชิงทรัพย์ของนายมะยงชิดไป และนายมะยงชิดได้ร้องทุกข์ไว้แล้วนั้น

การที่นายมะยงชิดยืนยันต่อ ร.ต.อ.คะน้าว่านายเทาคือคนร้ายที่ชิงทรัพย์ของนายมะยงชิดไป และนายมะยงชิดได้ร้องทุกข์ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่ามีหลักฐานตามสมควรว่านายเทาน่าจะได้กระทําความผิดอาญา และเมื่อนายเทาเป็นคนจรจัดจึงเป็นบุคคลไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 66 วรรคท้าย ให้ สันนิษฐานว่านายเทาจะหลบหนีและเนื่องจากนายเทานั่งอยู่ที่ท่าเรือแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากศาลจังหวัดมาก และนายเทากําลังจะหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาล ออกหมายจับบุคคลนั้นได้ ดังนั้น ร.ต.อ.คะน้าจึงมีอํานาจในการจับนายเทาได้โดยไม่มีหมายจับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (3) ประกอบมาตรา 66 (2) และเมื่อ ร.ต.อ.คะน้าทําการจับกุมนายเทา การจับของ ร.ต.อ.คะน้า จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

การจับของ ร.ต.อ.คะน้า ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement