การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (ข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แก้วเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทพัฒนาไทย จำกัด และดำ เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันตามลำดับ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า หนี้ตามสัญญากู้ระงับแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้องระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น

ก.      นายดำ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การไม่เข้ามาต่อสู้คดีทั้งที่หนี้ระงับแล้ว ทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายในทรัพย์สินแลหนี้สินของจำเลยที่ 1 ขอสอดเข้ามาต่อสู้คดีแทนจำเลยที่ 1

ข.      นายแดงกับนายเหลืองยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีเนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิผู้ร้องมีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย

ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตามคำร้องของนายดำ และนายแดงกับนายเหลืองอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1)   ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

วินิจฉัย

ก.      ตามมาตรา 57 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความ” อาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า การร้องสอดเข้ามาในคดีนั้นไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจ หรือด้วยถูกหมายเรียกเข้ามาในคดี ผู้ร้องสอดจะต้องเป็นบุคคลภายนอกคดีเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตามคำร้องของนายดำอย่างไร เห็นว่า คดีนี้แก้วเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทพัฒนาไทยจำกัด และนายดำเป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันตามลำดับ นายดำจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีอยู่แล้ว โดยถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ดังนั้นนายดำจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกคดี ไม่อาจร้องสอดเข้ามาในคดีแทนจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 57 ได้ (ฎ. 7709/2544)

ข.      กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตามคำร้องของนายแดงและนายเหลืองอย่างไร เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ เพียงแต่ขอให้บริษัทพัฒนาไทย จำกัด จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้อันเป็นการฟ้องบังคับเอาแก่นิติบุคคล ต่างหากจากนายแดงและนายเหลือง ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้น สิทธิของผู้ร้องทั้งสองมีต่อจำเลยที่ 1 อยู่อย่างไร ก็คงมีอยู่อย่างนั้น ไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ดังนั้นผู้ร้องทั้งสองจึงไม่อาจขอเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอด ตามมาตรา 57(1) (ฎ. 631/2545)

สรุป ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งยกคำร้องของนายดำจำเลยที่ 2 และของนายแดงกับนายเหลือง

 

ข้อ 2. ไก่ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็ดมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2552 ไก่และเป็ดเดินทางไปเที่ยวประเทศออสเตรเลีย โดยเดินทางไปและกลับด้วยเครื่องบินของสายการบินไทย ขณะที่ทั้งสองอยู่บนเครื่องบิน ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไก่ได้ทำสัญญากู้เงินเป็ดจำนวน 100,000บาท โดยสัญญาว่าจะชำระคืนเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ขากลับระหว่างที่เครื่องบินจอดอยู่ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็ดมีเรื่องทะเลาวิวาทและชกต่อยกับทอม คนสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้โดยสารคนหนึ่งบนเครื่องบิน เมื่อไก่และเป็ดกลับถึงประเทศไทย หากไก่ไม่ชำระหนี้คืนเป็ด และเป็ดไม่ชำระค่ารักษาพยาบาลแก่ทอม

ก.      เป็ดจะฟ้องไก่ได้ที่ศาลใด

ข.      ทอมจะฟ้องเป็ดได้ที่ศาลใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 3 เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง

(1)   ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ

มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1)   คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่

วินิจฉัย

“มูลคดี” หมายถึง เหตุอันก่อให้เกิดการฟ้องร้องกันขึ้นหรือต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง (ฎ. 2437/2540) ถ้าเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิด เหตุละเมิดเกิดขึ้นในเขตศาลใด ถือว่ามูลคดีเกิดในเขตศาลนั้น ถ้าเป็นการฟ้องให้รับผิดตามสัญญา ศาลที่มูลคดีเกิด ได้แก่ ที่ทำสัญญา และที่ประพฤติผิดสัญญา

สำหรับการเสนอคำฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนี้

1.                 มูลคดีที่เกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร กล่าวคือถ้าเหตุอันก่อให้เกิดการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่ามูลคดีได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร โดยให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเพียงศาลเดียว ตามมาตรา 3(1) เว้นแต่ ในกรณีที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร กรณีนี้ก็สามารถเสนอคำฟ้องได้ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ได้อีกศาลหนึ่งตามมาตรา 4(1)

2.                 มูลคดีเกิดขึ้นในราชอาณาจักรโดยตรง กล่าวคือ ถ้ามูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลใดก็เสนอคำฟ้องยังศาลนั้นได้ ตามมาตรา 4(1)

ก.      กรณีตามอุทาหรณ์ เป็ดจะฟ้องไก่ได้ที่ศาลใด เห็นว่า แม้ได้ความว่าสัญญากู้ระหว่างเป็ดและไก่จะทำกันบนเครื่องบินของการบินไทย ซึ่งเป็นอากาศยานไทยก็ตาม แต่ในขณะทำสัญญากันนั้นเครื่องบินจอดอยู่ที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิในประเทศไทย กรณีนี้มูลคดีมิได้เกิดในอากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 3(1) แต่เป็นกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในราชอาณาจักรโดยตรง ตามมาตรา 4(1) กรณีเช่นนี้ เป็ดต้องฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาหรือศาลจังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล

ข.      กรณีตามอุทาหรณ์ ทอมจะฟ้องเป็ดได้ที่ศาลใด เห็นว่า ในขณะที่เครื่องบินจอดอยู่ที่เมืองซิดนีย์ประเทศออสเตรเลีย เป็ดได้มีเรื่องทะเลาะวิวาทชกต่อยกับทอม ซึ่งเป็นผู้โดยสารในเครื่องบิน กรณีนี้ถือว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นอากาศยานไทยที่จอดอยู่นอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 3(1) ทอมจึงสามารถฟ้องเป็ดได้ที่ศาลแพ่ง ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจและทอมสามารถฟ้องเป็ดได้ที่ศาลจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาได้อีกแห่งหนึ่ง ตามมาตรา 4(1)

สรุป (ก) เป็ดจะฟ้องไก่ได้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ หรือศาลจังหวัดสมุทรปราการ

(ข) ทอมจะฟ้องเป็ดได้ที่ศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดลำปาง

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 9 มีนาคม 2552 เวลา 9.00 นาฬิกา ในวันนัดจำเลยและทนายจำเลยไม่สามารถเดินทางไปศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ทันเวลานัด เนื่องจากรถยนต์เกิดเหตุขัดข้องอยู่ที่จังหวัดลำปางไม่อาจซ่อมได้ทัน ทนายจำเลยจึงไปยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีที่ศาลจังหวัดลำปาง เมื่อเวลา 9.30 นาฬิกา ศาลจังหวัดลำปางได้สั่งในคำร้องของทนายจำเลยว่า “จัดการให้” ปรากฎว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาเมื่อเวลา 10.00 นาฬิกา และได้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2552 ฝ่ายจำเลยมาศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ตรวจสำนวนคดีจึงได้ทราบคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16 มีนาคม 2552 ทนายจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลจังหวัดเชียงใหม่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 10 ถ้าไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย คู่ความฝ่ายที่เสียหายหรืออาจเสียหายเพราะการนั้น จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นก็ได้ และให้ศาลนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งยุติธรรม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจังหวัดเชียงใหม่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับคดีนี้ว่าอย่างไร เห็นว่า ตามคำร้องของทนายจำเลยที่อ้างว่าไม่สามารถไปศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ทันกำหนดเวลานัด เพราะเหตุรถยนต์เกิดขัดข้องซ่อมไม่ทัน จึงได้ยื่นคำร้องดังกล่าวที่ศาลจังหวัดลำปาง เป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเหตุอำนาจเหนือคดีได้โดยเหตุสุดวิสัย กรณีเช่นนี้ ฝ่ายจำเลยสามารถยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดลำปางอันเป็นศาลที่ฝ่ายจำเลยอยู่ในเขตอำนาจได้ ตามมาตรา 10 และเป็นอำนาจของศาลจังหวัดลำปางที่จะพิจารณาสั่งคำร้องของทนายจำเลยว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทนายจำเลยได้ยื่นร้องขอเลื่อนคดีที่ศาลจังหวัดลำปาง และศาลจังหวัดลำปางได้สั่งในคำร้องว่า “จัดการให้”  กรณีเช่นนี้ แม้คำสั่งศาลจังหวัดลำปางจะไม่ชัดแจ้งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี แต่การที่ศาลจังหวัดลำปางมีคำสั่งว่า “จัดการให้” ก็ถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่อนุญาตให้เลื่อนคดีได้โดยปริยายแล้ว จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานแล้ว เพราะปรากฏว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่สั่งให้จำเลยขาดนัดพิจารณาภายหลังที่ศาลจังหวัดลำปางอนุญาตให้เลื่อนคดี กรณีจึงไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา (ฎ. 1644/2519(ประชุมใหญ่))

การที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วพิจารณาให้จำเลยแพ้คดี จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลจังหวัดเชียงใหม่จึงต้องสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 27

สรุป ศาลจังหวัดเชียงใหม่จึงต้องสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

 

ข้อ 4. เอกมีที่ดินติดกับโท เอกมีทางเดินออกสู่สาธารณะโดยต้องเดินผ่านที่ดินของโท เอกเคยฟ้องโทเป็นคดีเกี่ยวกับทางเดินนั้นและได้มีคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวให้ทางเดินในที่ดินของโท ตกเป็นทางจำเป็นตามกฎหมายแก่ที่ดินของเอก โดยจะไม่เรียกค่าใช้ทางจากเอกหรือผู้อยู่อาศัยในที่ดินของเอกอีก ต่อมาเอกได้ขายที่ดินของตนให้แก่ตรี และตรีได้ใช้ทางจำเป็นในที่ของโทตลอดมา ต่อมาโทถึงแก่ความตาย โทมีทายาทสองคน คือใหญ่และจิ๋ว ใหญ่ได้ขายที่ดินทั้งหมดของโทแก่จัตวา หากปรากฏว่า

ก.      จิ๋วฟ้องใหญ่ว่าสัญญาระหว่างใหญ่ และจัตวาไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างใหญ่และจัตวา

ข.      จิ๋วฟ้องตรีขอให้ตรีชำระค่าใช้ทางจำเป็นในที่ดินของโท ซึ่งตกทอดเป็นมรดกแก่จิ๋ว เพราะเห็นว่าตรีใช้ทางจำเป็นโดยไม่ได้จ่ายค่าใช้ทางจำเป็น

ท่านคิดว่าศาลจะพิพากษาคดีทั้งสองอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 145  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี

ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก…

วินิจฉัย

ก.      โดยหลักแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความเท่านั้น กรณีใดหากปรากฏว่าถ้าศาลพิพากษาคดีให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์จะทำให้กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกแล้วย่อมต้องห้าม ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะพิพากษาคดีว่าอย่างไร เห็นว่า การที่จิ๋วฟ้องใหญ่ว่า สัญญาระหว่างใหญ่และจัตวาไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างใหญ่กับจัตวานั้น กรณีเช่นนี้ หากศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างใหญ่กับจัตวาแล้ว ก็ย่อมเป็นการพิพากษาที่กระทบต่อสิทธิของจัตวาบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดี เมื่อคำฟ้องของจิ๋วจะมีผลกระทบถึงจัตวาซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ซึ่งจิ๋วไม่ได้ฟ้องจัตวาเป็นจำเลยในคดีนี้โดยตรง กรณีจึงต้องห้ามตามมาตรา 145 (ฎ. 7182/2539) ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้

ข.      ศาลจะพิพากษาคดีนี้ว่าอย่างไร เห็นว่า ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายและเป็นทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทางจำเป็นจึงเป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินและสามารถใช้ยันแก่บุคคลทั่วไปได้

ทางจำเป็นรายพิพาทนี้เจ้าของเดิมในที่ดิน มีสิทธิใช้ผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมีคำพิพากษาตามยอมให้ทางเดินในที่ของโทตกเป็นทางจำเป็นตามกฎหมายแก่ที่ดินของเอก โดยจะไม่เรียกค่าใช้ทางจำเป็นจากเอกหรือผู้อยู่อาศัยในที่ดินของเอกอีก กรณีเช่นนี้ตรีผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ย่อมได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิทางจำเป็น จึงรับโอนทั้งสิทธิและหน้าที่จากเจ้าของที่ดินเดิม แม้ตรีจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่เมื่อตรีได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาจากเอก ตรีจึงมิใช่บุคคลภายนอก จิ๋วซึ่งเป็นทายาทของโทและตรีจึงต้องผูกพันโดยคำพิพากษาในคดีก่อนด้วยกัน จิ๋วจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าใช้ทางจำเป็นจากตรีอีก ศาลต้องยกฟ้องจิ๋ว (ฎ. 4416/2541)

สรุป ก. ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องจิ๋วข. ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องจิ๋ว

Advertisement