การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ในศาลแขวงแห่งหนึ่งมีนายอภิชาติเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล นายอภิชิตเป็นผู้พิพากษา และนายอภิศักดิ์เป็นผู้พิพากษาอาวุโส นายอภิชาติได้จ่ายสํานวนคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยในข้อหากระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษ จําคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 พันบาท ให้แก่นายอภิศักดิ์ผู้พิพากษาอาวุโสเป็น เจ้าของสํานวน ในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์นัดแรก จําเลยให้การรับสารภาพ นายอภิศักดิ์จึง มีคําสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะเพื่อตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ในการกระทํา ความผิดของจําเลยก่อน พร้อมกับให้เลื่อนไปนัดฟังคําพิพากษาในเดือนถัดไป เมื่อถึงวันนัดฟัง คําพิพากษานายอภิศักดิ์ได้อ่านรายงานของพนักงานคุมประพฤติให้จําเลยฟังแล้ว จําเลยไม่คัดค้าน ซึ่งนายอภิศักดิ์เห็นว่า จําเลยเคยกระทําความผิดในลักษณะเดียวกันมาก่อนหลายครั้ง โดยมีความเห็น ที่จะพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยมีกําหนด 1 ปี และไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ นายอภิศักดิ์ จึงนําสํานวนไปปรึกษานายอภิชาติผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แต่ปรากฏว่านายอภิชาติผู้พิพากษา หัวหน้าศาลไปราชการนอกพื้นที่ นายอภิศักดิ์จึงนําสํานวนไปปรึกษานายอภิชิตผู้พิพากษาคนเดียว ที่เหลืออยู่ในศาล นายอภิชิตเห็นด้วยกับคําพิพากษาของนายอภิศักดิ์ จึงลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะ กับนายอภิศักดิ์ด้วย

ดังนี้ ท่านเห็นว่า คําพิพากษาของนายอภิศักดิ์ผู้พิพากษาอาวุโสที่มีนายอภิชิตลงลายมือชื่อเป็น องค์คณะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 9 วรรคสอง “เมื่อตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหรือผู้พิพากษาหัวหน้า ศาลแขวงว่างลง หรือเมื่อผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น เป็นผู้ทําการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับ ในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

ให้ผู้ทําการแทนในตําแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอํานาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้ว ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(2) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา 25 (5) แล้วเห็นว่าควรพิพากษา ลงโทษจําคุกเกินกว่าหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ” หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําพิพากษาของนายอภิศักดิ์ผู้พิพากษาอาวุโสที่มีนายอภิชิตลงลายมือชื่อ เป็นองค์คณะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า การที่นายอภิชาติผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่าย สํานวนคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยในข้อหากระทําความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 พันบาท ให้แก่นายอภิศักดิ์นั้น โดยหลักนายอภิศักดิ์ ย่อมมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านายอภิศักดิ์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาคนเดียว จะพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยมีกําหนดเกินกว่า 6 เดือน ดังนี้ จะกระทํามิได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 25 (5) จึงต้องมีผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งมาลงลายมือชื่อด้วย และในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ในระหว่างทําคําพิพากษาตามมาตรา 29 (3) และวรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2)

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายอภิชาติผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไปราชการนอกพื้นที่ คงเหลือแต่ นายอภิชิตซึ่งมีหน้าที่ทําการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตามมาตรา 9 วรรคสอง ดังนั้น การที่นายอภิศักดิ์นํา สํานวนไปปรึกษานายอภิชิตผู้พิพากษาคนเดียวที่เหลืออยู่ในศาลและเป็นผู้ทําการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ตามมาตรา 9 วรรคสอง คําพิพากษาของนายอภิศักดิ์ผู้พิพากษาอาวุโสที่มีนายอภิชิตลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะ จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป

ข้าพเจ้าเห็นว่าคําพิพากษาของนายอภิศักดิ์ผู้พิพากษาอาวุโสที่มีนายอภิชิตลงลายมือชื่อ เป็นองค์คณะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 2.นายเอกเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโทต่อศาลจังหวัดว่า นายโทได้ประมาทขับรถชนรั้วบ้านของนายเอก เสียหาย ซึ่งการกระทําของนายโทเป็นการละเมิดต่อนายเอก เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของนายเอก ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับนายโทซ่อมรั่วบ้านที่ชํารุดเสียหายคืนให้แก่นายเอก หากนายโท ไม่กระทํา ให้นายโทชดใช้ราคารั้วบ้านของนายเอกที่เสียหายเป็นเงิน 1 แสนบาท นายเก่งและนายกล้า ผู้พิพากษาศาลจังหวัดได้รับจ่ายสํานวนคดีดังกล่าวให้พิจารณาพิพากษา เมื่อถึงวันนัดพิจารณา นายเก่งและนายกล้าร่วมกันทําคําสั่งว่า คดีมีทุนทรัพย์ 1 แสนบาท อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษา ของศาลแขวง ดังนั้น ศาลจังหวัดไม่มีอํานาจพิจารณาพิพากษา จึงให้โอนคดีไปยังศาลแขวง ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งโอนคดีของนายเก่งและนายกล้าชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 16 วรรคท้าย “ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และคดีนั้นเกิดขึ้นในเขต ของศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวง ให้ศาลจังหวัดนั้นมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ”

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีแพ่งที่ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาไม่ได้ (มาตรา 25 (4) ประกอบกับมาตรา 17)

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งโอนคดีของนายเก่งและนายกล้าชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือไม่ เห็นว่า การฟ้องของนายเอกที่ขอบังคับให้นายโทซ่อมรั้วบ้านของนายเอกนั้นเป็นการฟ้องขอให้บังคับ จําเลยให้กระทําการ จึงถือเป็นคดีที่มีคําขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ (คดีไม่มีทุนทรัพย์) แม้นายเอกจะมีคําขอให้นายโทชดใช้ราคารั้วบ้านที่เสียหายเป็นเงิน 1 แสนบาทด้วย แต่ก็เป็นคําขอบังคับเมื่อ ไม่อาจบังคับตามคําขอในเรื่องการซ่อมรั้วบ้านได้ จึงไม่ทําให้คดีของนายเอกเป็นคดีมีทุนทรัพย์ คดีของนายเอก จึงไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลแขวงตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ดังนั้น คําสั่งโอนคดีของ นายเก่งและนายกล้าที่ให้โอนคดีไปยังศาลแขวงจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามมาตรา 16 วรรคท้าย

สรุป

คําสั่งโอนคดีของนายเก่งและนายกล้าไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. นายสมเกียรติต้องการฟ้องนายดํารงซึ่งเป็นนักธุรกิจมีชื่อเสียงและประชาชนรู้จักดีข้อหายักยอกทรัพย์อันเป็นความผิดอาญามาตรา 352 มีอัตราโทษจําคุก 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท และในฐานะนักธุรกิจจึงมีความผิดในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนจึง ผิดกฎหมายอาญามาตรา 354 อันมีอัตราโทษจําคุก 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาทอีกด้วย นายสมเกียรติจึงมาปรึกษาท่านว่าจะต้องนําคดีดังกล่าวนี้ไปยื่นฟ้องยังศาลใดระหว่างศาลจังหวัด หรือศาลแขวง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ใน อํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีอาญาที่ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) และหากเป็นคดีที่เป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท จะต้องดูโทษของบทที่หนักที่สุด หากเป็นอัตราโทษจําคุกเกินกว่า 3 ปี หรือปรับเกินกว่า 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ย่อมไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลแขวง จะต้องนําคดีไปฟ้องที่ศาลจังหวัดตาม มาตรา 18

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อคดีอาญาที่นายสมเกียรติต้องการฟ้องนายดํารงนั้น เป็นความผิดฐาน ยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 354 ซึ่งถือเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงต้อง ดูโทษใน ป.อ. มาตรา 354 เป็นหลัก เมื่อปรากฏว่ามีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท จึงเกินอัตราโทษที่ศาลแขวงจะมีอํานาจรับพิจารณาพิพากษาคดี ดังนั้น นายสมเกียรติจึงต้องนําคดีดังกล่าว ไปยื่นฟ้องยังศาลจังหวัดตามมาตรา 18

สรุป

หากนายสมเกียรติมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนํานายสมเกียรติให้นําคดีนี้ไป ฟ้องที่ศาลจังหวัด

Advertisement