การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. (ก) ให้นักศึกษาอธิบายถึงหลักเกณฑ์ทางกฎหมายของการเป็น “ผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย” มาให้เข้าใจ

(ข) นายสาทรสั่งจ่ายเช็คฉบับหนึ่ง ระบุชื่อนายแสนแสบเป็นผู้รับเงิน พร้อมทั้งขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือในเช็คออก แล้วส่งมอบชําระหนี้ให้แก่นายแสนแสบ ต่อมานายแสนแสบนําเช็คนั้น ไปสลักหลังลอยชําระหนี้ให้แก่นางสาวจอมทอง ต่อมานางสาวจอมทองได้ส่งมอบเช็คนั้น ชําระหนี้ให้แก่นางสาวสายไหม หลังจากนั้นนางสาวสายไหมเกิดความสงสัยว่าตนเป็นผู้มีสิทธิ ในเช็คนี้โดยชอบหรือไม่ จึงมาปรึกษานายนครไทย ซึ่งนายนครไทยบอกกับนางสาวสายไหมว่า นางสาวสายไหมมิใช่ผู้มีสิทธิในเช็คฉบับนี้ เนื่องจากมีการโอนเช็คมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ดังนี้ คําแนะนําของนายนครไทยที่ให้กับนางสาวสายไหมนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”

มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1208 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่า เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคล ผู้มีลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสีย และห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิ ของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจําต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มา ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย”

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทําให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินโดย ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้คือ

1 เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง คือมีการครอบครองหรือยึดถือตั๋วเงินนั้นด้วยเจตนา ยึดถือเพื่อตน

2 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลังในกรณีที่เป็นตัวเงิน ชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ หรืออาจครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะผู้ถือในกรณีที่เป็นตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ

3 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่น ได้ตั๋วเงินนั้นมาจากผู้สั่งจ่าย (หรือผู้ออกตั๋ว) หรือได้รับโอนตั๋วเงินนั้นมาโดยสุจริต

4 ในกรณีเป็นผู้ครอบครองตั๋วเงินในฐานะผู้รับสลักหลัง (ไม่ว่าจะเป็นผู้รับสลักหลังจากการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอย) จะต้องแสดงให้ปรากฏสิทธิในการสลักหลังทีไม่ขาดสายด้วย คือแสดง ให้เห็นว่าตั๋วเงินนั้นมีการสลักหลังโอนติดต่อกันมาตามลําดับโดยไม่ขาดตอน แม้ว่าการสลักหลังบางรายจะเป็น สลักหลังลอยก็ตาม

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”

มาตรา 905 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ใน ครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอย ก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่ง คําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้วท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย”

มาตรา 917 วรรคหนึ่ง “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 วรรคสอง “การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใด ก็ได้ คือ

(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลัง อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 914 ถึง 923”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อเช็คที่นายสาทรออกให้แก่นายแสนแสบเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (เพราะมีการขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือในเช็คออก) ดังนั้นถ้านายแสนแสบจะโอนเช็คฉบับนี้ให้แก่นางสาวจอมทอง นายแสนแสบก็จะต้องโอนเช็คโดยการสลักหลังและส่งมอบ ซึ่งการสลักหลังนั้นอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะ หรือสลักหลังลอยก็ได้ตามมาตรา 917 วรรคหนึ่ง และมาตรา 919 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายแสนแสบได้โอนเช็คฉบับนี้ให้แก่นางสาวจอมทองโดยการ สลักหลังลอย ดังนั้นเมื่อนางสาวจอมทองต้องการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไปให้แก่นางสาวสายไหม นางสาวจอมทอง ก็สามารถโอนได้โดยการสลักหลังและส่งมอบตามมาตรา 917 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง หรืออาจจะ โอนโดยการส่งมอบเช็คให้แก่นางสาวสายไหมโดยไม่มีการสลักหลังใด ๆ เลยก็ได้ตามมาตรา 920 (3) ประกอบ มาตรา 989 วรรคหนึ่ง และเมื่อปรากฏว่านางสาวจอมทองได้โอนเช็คฉบับนี้ให้แก่นางสาวสายไหมโดยการส่งมอบ ย่อมถือว่านางสาวสายไหมได้รับโอนเช็คมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย และให้ถือว่านางสาวสายไหมได้รับโอนเช็ค มาจากการสลักหลังลอยของนายแสนแสบ การสลักหลังโอนเช็คฉบับนี้จึงไม่ขาดสาย นางสาวสายไหมซึ่งครอบครองเช็คฉบับนี้อยู่จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 และมาตรา 905 วรรคหนึ่ง และย่อมมีสิทธิ ในเช็คฉบับนี้โดยชอบ ดังนั้นคําแนะนําของนายนครไทยที่ว่า นางสาวสายไหมมิใช่ผู้มีสิทธิในเช็คฉบับนี้ เนื่องจาก มีการโอนเช็คมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นจึงไม่ถูกต้อง

สรุป คําแนะนําของนายนครไทยที่ให้กับนางสาวสายไหมนั้นไม่ถูกต้อง

 

ข้อ 2. (ก) ผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินสามารถเป็นผู้รับอาวัลตั๋วเป็นได้หรือไม่

(ข) ชะมดสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 จํานน 1.1 ล้านบาท ระบุชื่อชะม้อย ขีดฆ่าหรือผู้ถือออก ก่อนเช็คถึงกําหนด ชะม้อยได้นําเช็คให้แช่มช้อยอาวัลตน (ชะม้อย) ไว้ด้านหน้าเช็คฉบับดังกล่าวทําอย่างถูกต้อง และชะม้อยได้ทําการสลักหลังส่งมอบเช็คต่อไปอีกให้แก่แฉล้มเพื่อชําระหนี้ แฉล้มรับเช็คไว้ และเดินทางไปต่างประเทศและหลงลืมนําเช็คไปขึ้นเงินจนกระทั่งวันที่ 9 มีนาคม 2561 นึกขึ้นได้จึงรีบนําเช็คไปเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คแต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเพราะเงินในบัญชี มีไม่พอจ่าย แฉล้มทวงถามชะม้อยในฐานะผู้สลักหลัง แต่ชะม้อยต่อสู้ว่าแฉล้มไปเรียกเก็บเงิน ล่าช้าเพราะเช็คต้องยื่นแก่ธนาคารภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันออกเช็คเป็นความล่าช้า ของแฉล้มเองที่ให้ล่วงพ้น 2 เดือน ตนจึงหลุดพ้นความผิดตามเช็คแฉล้มย่อมสิ้นสิทธิไล่เบี้ย ผู้สลักหลัง แช่มช้อยยกข้ออ้างว่าตนก็ไม่ต้องรับผิดเพราะชะม้อยซึ่งตนอาวัลหรือค้ำประกัน หลุดพ้นความรับผิด การรับอาวัลก็ต้องหลุดพ้นความผิดไปด้วย

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้ออ้างของแช่มช้อยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะอะไร (หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า แฉล้มติดต่อชะมดผู้สั่งจ่ายไม่ได้)

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณ์ชย์

มาตรา 938 “ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจํานวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า “อาวัล”

อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้”

มาตรา 939 “อันการรับอาวัลย่อมทําให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจําต่อ

ในการนี้จึงใช้ถ้อยคําสํานวนว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดทํานองเดียวกันนั้นและ ลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคํารับอาวัล แล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคํารับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย”

การอาวัลตัวเงิน คือการค้ำประกันหรือรับประกันการใช้เงินตามตัวเงิน ซึ่งอาจจะเป็นการค้ำประกันทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และบุคคลที่จะเข้ามารับอาวัลผู้เป็นคู่สัญญาในตั๋วเงินนั้น อาจเป็นบุคคลภายนอก หรืออาจจะเป็นคู่สัญญาเดิมในตั๋วเงิน เช่น ผู้สั่งจ่าย ผู้จ่าย หรือผู้สลักหลังก็ได้ (มาตรา 938)

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่ายจะเข้ามารับอาวัลคู่สัญญาในตั๋วเงิน ผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่าย จะต้องเขียนข้อความว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดที่มีความหมายเดียวกันลงไว้ในตั๋วเงินด้วยและต้อง ระบุไว้ด้วยว่าอาวัลผู้ใด จะลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าของตัวเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ (มาตรา 939)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 940 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคล ซึ่งตนประกัน

ถึงแม้ว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นอันใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทําผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์”

990 วรรคหนึ่ง “ผู้ทรงเช็คต้องยืนเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็ค ให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น ต้องยื่นภายในสามเดือน ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อ ผู้สั่งจ่ายด้วย เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยืนเช็คนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ชะมดสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับ ที่ออกเช็คลงวันที่ 9 มกราคม 2561 จํานวน 1.1 ล้านบาท โดยระบุชื่อชะม้อยและขีดฆ่าหรือผู้ถือออกนั้น เช็คฉบับนี้ ย่อมถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ ดังนั้น การโอนเช็คฉบับนี้ต่อไปจึงต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบ

การที่ชะม้อยได้ทําการสลักหลังและส่งมอบเช็คต่อไปให้แก่เฉล้ม โดยมีแช่มช้อยได้เข้ามารับอาวัลชะม้อยนั้น แช่มช้อยย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับชะม้อยบุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง และแม้ว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นอันใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจาก เพราะทําผิดแบบระเบียบ ข้อสัญญารับอาวัลของผู้รับอาวัลก็ยังคงสมบูรณ์ตามมาตรา 940 วรรคสอง

ดังนั้น การที่แฉล้มมิเด้นําเช็คดังกล่าวไปยื่นให้ธนาคารใช้เงินภายใน 1 เดือนนับแต่วันออกเช็ค เป็นเหตุให้ชะม้อยผู้สลักหลังหลุดพ้นจากความรับผิด กล่าวคือทําให้แฉล้มสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ขะม้อยตาม มาตรา 990 วรรคหนึ่งนั้น มิใช่เป็นกรณีเพราะทําผิดแบบระเบียบแต่อย่างใด แฉล้มจึงยังสามารถไล่เบี้ยเอาแก่แช่มช้อยผู้รับอาวัลได้ แช่มช้อยจะยกเอาเหตุที่ชะม้อยหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะเหตุดังกล่าวขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ว่าทําให้ตนในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยไม่ได้ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

สรุป ข้ออ้างของแช่มช้อยฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3. (ก) ผู้ทรงเช็คขีดคร่อมต้องทําอย่างไรจึงจะได้รับเงินตามเช็ค

(ข) สุดหล่อเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่ธนาคารกรุงสุโขทัยเป็นผู้จ่าย มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้ายด้านหน้าของเช็ค เมื่อถึงวันที่ลงในเช็คสุดหล่อนําเช็คไปขอคําแนะนําจากธนาคารกรุงทิพย์ ว่าจะต้องทําอย่างไรจึงจะได้เงินตามเช็ค ธนาคารกรุงทิพย์แนะนําให้สุดหล่อเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์กับธนาคารกรุงทิพย์ และทางธนาคารจะเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารกรุงสุโขทัยแล้วให้สุดหล่อมาเบิกเงิน ออกจากบัญชีในวันหลัง ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าคําแนะนําของธนาคารกรุงทิพย์ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่

ธงคําตอบ

(ก) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 994 ได้บัญญัติไว้ว่า

“ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคําว่า “และบริษัท” หรือคําย่อ อย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงินตาม เช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะ เช็คเช่นนั้นชื่อว่า เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น”

ตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คําว่า “เช็คขีดคร่อม” นั้น หมายถึงเช็คที่มีการขีดเส้น คู่ขนานไว้ที่ด้านหน้าเช็ค ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1 เช็คขีดคร่อมทั่วไป หมายถึง เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ด้านหน้า โดยในระหว่าง เส้นคู่ขนานนั้นอาจจะไม่มีข้อความอะไร.ลยหรือมีคําว่า “และบริษัท” หรือคําย่อใด ๆ ก็ได้ เช็คขีดคร่อมทั่วไปนี้ ผู้ทรงเช็คจะนําไปยื่นให้ธนาคารจ่ายเป็นเงินสดไม่ได้ จะต้องนําเช็คไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ทรงเพื่อให้ธนาคาร ผู้รับฝากเป็นผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารผู้จ่ายแล้วผู้ทรงค่อยไปเบิกเงินในวันหลัง เพราะเช็คชนิดนี้จะใช้เงิน ตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 994 วรรคหนึ่ง) เพียงแต่ผู้ทรงจะนําเช็คไปเข้าบัญชี ธนาคารใดธนาคารหนึ่งก็ได้

2 เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึง เช็คที่มีเส้นคู่ขนานขีดไว้ที่ด้านหน้าเช็ค และในระหว่าง เส้นคู่ขนานจะมีชื่อของธนาคารใดธนาคารหนึ่งลงไว้โดยเฉพาะ เช็คชนิดนี้จะมีการใช้เงินตามเช็คให้แก่ธนาคารที่ ระบุไว้เท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 994 วรรคสอง) ดังนั้นผู้ทรงเช็คจะต้องนําเช็คไปเข้าบัญชีกับธนาคารที่ระบุลงไว้ ในเส้นคู่ขนานเท่านั้น เป็นผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารผู้จ่ายแล้วผู้ทรงค่อยไปเบิกเงินในวันหลัง (และจะนําเช็คไปยื่นให้ธนาคารจ่ายเป็นเงินสดไม่ได้เช่นเดียวกัน)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 994 “ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคําว่า “และบริษัท หรือคําย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะ เช็คเช่นนั้นชื่อว่า เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น”

วินิจฉัย

ตามหลัก ป.พ.พ. มาตรา 994 ในกรณีที่เช็คนั้นเป็นเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้าย ด้านหน้าของเช็ค ย่อมถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อม ซึ่งเช็คขีดคร่อมนั้นถ้าไม่มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่ในรอยขีดคร่อม ถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป ซึ่งผู้ทรงจะนําเช็คนั้นไปเข้าบัญชีกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อม เฉพาะ คือเป็นเช็คที่มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่ในรอยขีดคร่อม ผู้ทรงจะต้องนําเช็คนั้นไปเข้าบัญชีกับธนาคารที่มี ชื่ออยู่ในรอยขีดคร่อมเท่านั้น จะไปเข้าบัญชีกับธนาคารอื่นเพื่อให้ธนาคารอื่นนั้นไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารผู้จ่ายไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สุดหล่อเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่ธนาคารกรุงสุโขทัยเป็นผู้จ่าย โดยเช็คนั้น มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้ายด้านหน้าของเช็คนั้น ถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป ดังนั้น การที่สุดหล่อนําเช็ค ไปขอคําแนะนําจากธนาคารกรุงทิพย์ว่าจะต้องทําอย่างไรจึงจะได้เงินตามเช็ค และธนาคารกรุงทิพย์ได้แนะนํา ให้สุดหล่อเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์กับธนาคารกรุงทิพย์ และทางธนาคารกรุงทิพย์จะเรียกเก็บเงิน ตามเช็คจากธนาคารกรุงสุโขทัยแล้วให้สุดหล่อมาเบิกเงินออกจากบัญชีในวันหลังนั้น คําแนะนําของธนาคารกรุงทิพย์ จึงถูกต้องตามมาตรา 994

สรุป คําแนะนําของธนาคารกรุงทิพย์ถูกต้องตามกฎหมาย

Advertisement