การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  หนึ่งเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง  แต่เวลาออกกำลังกายมักจะมีอาการเจ็บที่หน้าอกบ่อยๆ  จึงชวนสองภริยาให้พาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อทำการตรวจและรักษา  แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่ากล้ามเนื้ออักเสบเพียงเล็กน้อย  กินยาสักระยะก็จะหายเป็นปกติ  หลังจากนั้นหนึ่งได้ไปทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง  โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะกับบริษัท  ประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  สัญญากำหนด  10  ปี  ระบุให้สองภริยาเป็นผู้รับประโยชน์  โดยหนึ่งได้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตว่าตนมีสุขภาพสมบูรณ์  เพราะออกกำลังกายเป็นประจำ  

หลังจากทำสัญญาได้  3  ปี  หนึ่งก็หัวใจวายเฉียบพลัน  และเสียชีวิตลงขณะที่วิ่งออกกำลังกายอยู่  ซึ่งแพทย์ของบริษัทประกันชีวิตได้ตรวจพบว่า  เขาได้ป่วยเป็นโรคนี้มาก่อนทำสัญญาประกันชีวิต  ดังนั้นบริษัทจึงบอกล้างสัญญาประกันชีวิตนี้  ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  และไม่จ่ายเงินให้กับสองผู้รับประโยชน์  จงวินิจฉัยว่า  การบอกล้างของบริษัทชอบด้วยกฎหมายอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด และบริษัทต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่สองในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์อย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

วินิจฉัย

หนึ่งทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ  จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุประกัน  สัญญามีผลผูกพันตามมาตรา  863  การที่หนึ่งได้ไปทำสัญญาประกันชีวิตโดยที่ไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคหัวใจมาก่อน  จึงไม่ได้เปิดเผยข้อความจริงเรื่องนี้ในเวลาทำสัญญานั้นถือว่าสัญญามีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  865  วรรคแรก  ส่วนอาการเจ็บที่หน้าอกบ่อยๆนั้น  ก็ไม่ใช่เรื่องที่อาจจะจูงใจให้บริษัทผู้รับประกันชีวิตเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นไปอีก  หรือบอกปัดไม่รับทำสัญญาแต่อย่างใดตามมาตรา  865  วรรคแรก  ดังนั้นบริษัทจึงบอกล้างตามมาตรา  865  วรรคสองไม่ได้  และต้องชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต  1  ล้านบาท  ให้แก่สองผู้รับประโยชน์ตามสัญญาตามมาตรา 890

สรุป  การบอกล้างของบริษัทไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และบริษัทต้องจ่ายเงิน  1  ล้านบาทให้แก่สองผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต

 

ข้อ  2  เมื่อวันที่  9  ธันวาคม  2535  นายดำทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  วงเงินเอาประกันภัย  3 ล้านบาท  กำหนดเบี้ยประกันภัย  5  หมื่นบาท  โดยคู่สัญญากำหนดเวลาเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยไว้ในวันที่  3  มกราคม  2536  ครั้นวันที่  28  ธันวาคม  2535  นายดำเปลี่ยนใจไม่ต้องการทำสัญญาประกันภัย  ดังนี้  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันภัยได้หรือไม่  และบริษัทประกันภัยมีสิทธิอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  872  ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย  ผู้เอาประกันภัยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  แต่ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้เบี้ยประกันภัยกึ่งจำนวน

วินิจฉัย

สัญญาประกันวินาศภัยรายนี้ทำไว้ในวันที่  9  ธันวาคม  2535  แต่สัญญากำหนดวันเริ่มต้นมีผลบังคับในวันที่  3  มกราคม  2536  ดังนั้นในวันก่อนเริ่มเสี่ยงภัยคือก่อนวันที่สัญญามีผลบังคับ  คือวันที่  28  ธันวาคม  2535  นายดำผู้เอาประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  872  แต่นายดำต้องเสียเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่งคือ  25,000  บาท  ให้แก่บริษัทประกันวินาศภัย

สรุป  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้  และบริษัทประกันมีสิทธิได้เบี้ยประกันครึ่งหนึ่ง

 

ข้อ  3  นายตรีประกันชีวิตตนเองไว้ในวงเงิน  1  ล้านบาท  ระบุให้นางพิมภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ต่อมาในระหว่างที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับนางพิมทราบว่านายตรีมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับหญิงอื่น  นางพิมโกรธแค้นมากจึงใช้ไม้ตีศีรษะนายตรี  1  ที  เป็นเหตุให้นายตรีถึงแก่ความตาย  ศาลพิพากษาว่านางพิมมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ดังนี้  บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงิน  1  ล้านบาท  ให้นางพิมหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

วินิจฉัย

นายตรีประกันชีวิตตนเองไว้ในวงเงิน  1  ล้านบาท  นายตรีจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันชีวิต  โดยสัญญาระบุให้นางพิมภริยาเป็นผู้รับประโยชน์  การที่นางพิมซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ได้ทำร้ายนายตรีถึงแก่ความตาย  จนศาลพิพากษาว่านางพิมมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  การกระทำของนางพิมไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  895(2)  ที่บริษัทประกันจะปฏิเสธไม่จ่ายเงินประกัน  เพราะข้อยกเว้นตาม  มาตรา  895(2)  ต้องเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา  แต่กรณีนี้เป็นการฆ่าโดยไม่เจตนา

สรุป  บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงิน  1  ล้านบาทให้นางพิม

Advertisement