การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เด็กหญิงแสนอายุ 15 ปี กู้เงินนายพัน 30,000 บาท เพื่อไปซื้อคอมพิวเตอร์ และไม่มีการทําหลักฐานการกู้ยืม นายพันกลัวว่าจะเรียกเงินคืนจากเด็กหญิงแสนไม่ได้ จึงให้นายหมื่นพี่ชายอายุ 22 ปีของ เด็กหญิงแสนที่มาด้วยทําสัญญาพร้อมทั้งลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้เงินกู้ดังกล่าว แต่ไม่มี การลงลายมือชื่อเด็กหญิงแสนกับนายพันในสัญญาค้ำประกัน ต่อมาหนี้ถึงกําหนดชําระนายพันเรียก ให้เด็กหญิงแสนและนายหมื่นชําระหนี้ นางสร้อยมารดาของเด็กหญิงแสนทราบเรื่องจึงบอกล้าง นิติกรรมการกู้ยืมดังกล่าว นายหมื่นจึงปฏิเสธไม่ชําระหนี้อ้างว่าสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันไม่สมบูรณ์ ดังนี้ข้ออ้างของนายหมื่นฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 “อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้

หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทําด้วยความสําคัญผิด หรือเพราะเป็น ผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสําคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้น ในขณะที่เข้าทําสัญญาผูกพันตน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เด็กหญิงแสนซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้กู้เงินนายพัน 30,000 บาท แม้การ กู้ยืมนั้นจะไม่มีการทําหลักฐานการกู้ยืมกันก็ตาม แต่ก็ยังถือว่ามีหนี้ที่คู่สัญญายังคงต้องผูกพันกัน เพียงแต่การกู้ยืม ดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เมื่อนางสร้อยมารดาของเด็กหญิงแสนทราบเรื่องและได้บอกล้างนิติกรรมการกู้ยืม ดังกล่าว นิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างเด็กหญิงแสนกับนายพันจึงตกเป็นโมฆะ และทําให้หนี้กู้ยืมนั้นกลายเป็นหนี้ อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถ

แต่อย่างไรก็ตาม หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะ มีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทําสัญญาผูกพันตน และ ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่านายหมื่นผู้ค้ำประกันได้รู้ว่าเด็กหญิงแสนเป็นผู้เยาว์ในขณะที่เข้าทําสัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 681 วรรคสาม และนายหมื่นได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้เงินกู้ดังกล่าวด้วย จึงถือว่าสัญญา ค้ำประกันดังกล่าวมีผลสมบูรณ์และมีหลักฐานเป็นหนังสือที่นายพันสามารถฟ้องร้องบังคับคดีให้นายหมื่นรับผิด ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง ดังนั้น การที่นายหมื่นปฏิเสธไม่ชําระหนี้โดยอ้างว่าสัญญากู้ และสัญญาค้ำประกันไม่สมบูรณ์นั้นข้ออ้างของนายหมื่นจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้ออ้างของนายหมื่นฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. นายปลาทองกู้เงินนายปลาทู 500,000 บาท ตกลงชําระคืนในวันที่ 2 ตุลาคม 2558 และนําที่ดิน 1 ไร่มูลค่า 400,000 บาท มาจดทะเบียนจํานองเป็นประกันในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2558 นายปลาทองปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัยบนที่ดินดังกล่าวทําให้มูลค่าของที่ดินและบ้าน เพิ่มเป็น 500,000 บาท ปรากฏว่าเกิดฝนตกและฟ้าผ่าในวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 ทําให้บ้าน บนที่ดินของนายปลาทองเสียหายบางส่วนมูลค่าบ้านและที่ดินจึงลดลงเหลือ 450,000 บาท ดังนี้ นายปลาทูจะบังคับจํานองได้ทันทีหรือไม่ และจะบังคับจํานองกับสิ่งใดได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 716 “จํานองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจํานองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชําระหนี้ แล้วบางส่วน”

มาตรา 719 วรรคแรก “จํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จํานองปลูกสร้างลงในที่ดิน ภายหลังวันจํานอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง”

มาตรา 723 “ถ้าทรัพย์สินซึ่งจํานองบุบสลาย หรือถ้าทรัพย์สินซึ่งจํานองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญหาย หรือบุบสลาย เป็นเหตุให้ไม่เพียงพอแก่การประกันไซร้ ท่านว่าผู้รับจํานองจะบังคับจํานองเสียในทันทีก็ได้ เว้นแต่ เมื่อเหตุนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของผู้จํานอง และผู้จํานองก็เสนอจะจํานองทรัพย์สินอื่นแทนให้มีราคาเพียงพอ หรือเสนอจะรับซ่อมแซมแก้ไขความบุบสลายนั้นภายในเวลาอันสมควรแก่เหตุ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปลาทองนําที่ดิน 1 ไร่ มาจดทะเบียนจํานองนั้นตามมาตรา 716 ให้ถือว่าจํานองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจํานองหมดทุกสิ่ง แต่อย่างไรก็ตามจะไม่ครอบไปถึงบ้านที่นายปลาทอง ปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย เพราะเป็นบ้านที่ปลูกสร้างภายหลังวันจํานอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะ ในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง (มาตรา 719 วรรคแรก) ดังนั้น ถ้านายปลาทูจะบังคับจํานอง ย่อมบังคับจํานองได้เฉพาะ ที่ดินเท่านั้น

ส่วนกรณีที่เกิดฝนตกและฟ้าผ่าทําให้บ้านบนที่ดินที่นายปลาทองได้ปลูกสร้างขึ้นนั้นเสียหายบางส่วน ทําให้มูลค่าของบ้านและที่ดินลดลงนั้น เมื่อกรณีดังกล่าวบ้านเป็นทรัพย์สินที่จํานองไม่ครอบไปถึง ดังนั้น แม้บ้านจะบุบสลายไปทําให้ราคาลดลง ก็ไม่กระทบถึงที่ดินที่จํานองซึ่งไม่ได้บุบสลายไปด้วยแต่อย่างใด นายปลาทูจึงจะบังคับจํานองทันทีไม่ได้ (มาตรา 723)

สรุป

นายปลาทูจะบังคับจํานองทันทีไม่ได้

 

ข้อ 3. นายเพื่อนกู้เงินนายแพง 100,000 บาท มีนางพิณนํานาฬิกามูลค่า 80,000 บาท มามอบให้นายแพงเก็บไว้เพื่อประกันหนี้ของนายเพื่อนแต่ไม่มีการทําสัญญาจํานําเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาหนี้ถึง กําหนดชําระนายเพื่อนไม่ชําระ และนายแพงต้องการขายนาฬิกาเพื่อนํามาชําระหนี้ แต่นางพิณไม่ยอม อ้างว่าไม่มีสัญญาจํานํา ดังนี้ข้ออ้างของนางพิณฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และถ้านายแพงต้องการ บังคับจํานํา จะต้องปฏิบัติอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําขอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายสัญญาจํานํานั้น เป็นสัญญาระหว่างผู้จํานําตกลงกับเจ้าหนี้ โดยส่งมอบ สังหาริมทรัพย์เพื่อประกันการชําระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้ ซึ่งผู้จํานําจะเป็นตัวลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกก็ได้ แต่บุคคล ผู้เข้าทําสัญญาจํานําต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น และสัญญาจํานํานั้นกฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องทําเป็นหนังสือ ดังนั้นสัญญาจํานําเพียงแต่ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จํานําก็เป็นสัญญาที่สมบูรณ์แล้ว (มาตรา 747)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางพิณนํานาฬิกามูลค่า 80,000 บาท มามอบให้นายแพงเก็บไว้เพื่อ ประกันหนี้ของนายเพื่อนที่กู้เงินจากนายแพงนั้น แม้นางพิณจะมิใช่ลูกหนี้ แต่เมื่อได้มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็น ประกันการชําระหนี้แล้วย่อมเป็นสัญญาจํานํา และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้การจํานําจะไม่มีการทําสัญญาจํานํา เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม (มาตรา 747) ดังนั้น การที่นางพิณอ้างว่าไม่มีสัญญาจํานํา ข้ออ้างของนางพิณจึงฟังไม่ขึ้น

และเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระนายเพื่อนลูกหนี้ไม่ชําระ การที่นายแพงต้องการบังคับจํานําคือ ต้องการขายนาฬิกาเพื่อนําเงินมาชําระหนี้นั้น นายแพงผู้รับจํานําย่อมมีสิทธิบังคับจํานําได้แต่จะต้องปฏิบัติตาม มาตรา 764 กล่าวคือ นายแพงจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชําระหนี้ ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชําระหนี้ ตามคําบอกกล่าว นายแพงสามารถนําทรัพย์สินคือนาฬิกานั้นออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764 แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการขายทอดตลาด นายแพงผู้รับจํานําจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังนางพิณผู้จํานําด้วยว่าจะขาย ทอดตลาดเมื่อใดและสถานที่ใด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จํานําเข้าสู้ราคาหรือไถ่ถอนการจํานํา

สรุป

ข้ออ้างของนางพิณที่ว่าไม่มีสัญญาจํานําฟังไม่ขึ้น และถ้านายแพงต้องการบังคับจํานํา ก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 764 ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement