การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายลักษณะการค้ำประกันตามหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 680 ในกรณีบุคคลที่จะเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันจำเป็นต้องเป็นลูกหนี้ด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
อธิบาย
จากบทบัญญัติมาตรา 680 วรรคแรก จะเห็นว่า การค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
เมื่อพิจารณาแล้วลักษณะของสัญญาค้ำประกันประการหนึ่ง ในกรณีของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันนั้น กฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นบุคคลภายนอกที่เข้ามาผูกพันกับเจ้าหนี้ คือเป็นบุคคลภายนอกสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่มิได้มีส่วนได้เสียในหนี้นั้น หนี้ที่ค้ำประกันจะต้องมีบุคคลสามฝ่ายเสมอ ดังนี้ลูกหนี้เองจะเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ของตนเอง หรือทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้ร่วมมิได้ แม้จะให้ลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันเจ้าหนี้ก็ไม่มีหลักประกันดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะการค้ำประกันเป็นการประกันด้วยบุคคล เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้อยู่แล้วแม้ลูกหนี้จะเอาตัวเองค้ำประกัน เจ้าหนี้ก็เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เหมือนเดิม ไม่ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิพิเศษอย่างใด ลูกหนี้จึงเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากการค้ำประกันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ผู้ค้ำประกันย่อมต้องเป็นผู้ชำระหนี้แทน
ตัวอย่างเช่น นาย ก และนาย ข ร่วมกันกู้ยืมเงินนาย ค ก จะทำสัญญาค้ำประกัน ข โดยทำสัญญากับ ค เจ้าหนี้ว่าถ้า ข ไม่ชำระหนี้ ตนจะชำระหนี้นั้นแทนทั้งหมด ดังนี้ ก ทำไม่ได้ เพราะ ก เป็นลูกหนี้ชั้นต้น จะทำสัญญาเป็นลูกหนี้ชั้นที่สองอีก เจ้าหนี้ก็มิได้หลักประกันอะไรเพิ่มขึ้นมา เจ้าหนี้ฟ้อง ก ให้ชำระหนี้ได้สิ้นเชิงอยู่แล้ว ผู้ค้ำประกันจึงต้องเป็นบุคคลอื่นที่เข้ามารับผิดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี บุคคลภายนอกที่ทำสัญญาค้ำประกันอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้าหากลูกหนี้จะค้ำประกันตนเองต้องให้ประกันด้วยทรัพย์ ซึ่งก็คือ การจำนองตามมาตรา 702 หรือการจำนำตามมาตรา 747