การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายเอกทำสัญญากู้เงินนายโทเป็นเงิน 70,000 บาท ขณะทำสัญญาเงินกู้ นายเอกได้จดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า 50,000 บาท ไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้รายนี้ หลังจากนั้นนายโทได้จดทะเบียนปลดจำนองให้นายเอก อีก 2 วันต่อมานายตรีได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือโดยขอรับผิดร่วมกับนายเอกลูกหนี้ชั้นต้น ต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชำระหนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า
1) นายตรีจะอ้างให้นายโทเจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอากับที่ดินของนายเอกได้หรือไม่
2) นายตรีจะอ้างเรื่องการปลดจำนองเพื่อขอหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 689 ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน
มาตรา 691 ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689, และ 690
มาตรา 697 ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น
วินิจฉัย
การที่นายเอกทำสัญญากู้เงินนายโทเป็นเงิน 70,000 บาท ขณะทำสัญญากู้เงินนายเอกได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน มูลค่า 50,000 บาท ไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้รายนี้ หลังจากนั้นนายโทได้จดทะเบียนปลดจำนองให้นายเอก อีก 2 วัน ต่อมานายตรีได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือโดยขอรับผิดร่วมกับนายเอก ลูกหนี้ชั้นต้น ต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชำระหนี้
1) นายตรีจะอ้างให้นายโทเจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอากับที่ดินของนายเอกได้หรือไม่ เห็นว่า นายตรีผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันโดยรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ จึงหมดสิทธิที่จะเรียกให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนตามมาตรา 688 – 690 ดังนั้นนายตรีจึงไม่มีสิทธิเกี่ยงให้นายโทเจ้าหนี้บังคับเอากับที่ดินของนายเอกลูกหนี้ชั้นต้นก่อนได้ ตามมาตรา 691 ประกอบมาตรา 689
2) นายตรีจะอ้างเรื่องการปลดจำนองเพื่อขอหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เห็นว่าขณะที่นายตรีผู้ค้ำประกันได้เข้าทำสัญญาค้ำประกัน หนี้ประธานคือหนี้เงินกู้ไม่มีทรัพย์สินใดเป็นหลักประกัน จึงไม่ใช่กรณีที่เพราะการกระทำของนายโทเจ้าหนี้เป็นเหตุให้นายตรีผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ เนื่องจากไม่มีหลักประกันใดที่นายตรีจะรับช่วงสิทธิอยู่ในขณะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 697
สรุป
1 ) นายตรีไม่มีสิทธิเกี่ยง ตามมาตรา 689 ประกอบมาตรา 691
2 ) นายตรีไม่อาจอ้าง มาตรา 697 เพื่อหลุดพ้นจากความรับผิดได้