การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าอาคารเก็บสินค้าของแดงมีกําหนดเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป ตกลงชําระค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือน สัญญาเช่าอาคารมีข้อความสําคัญ คือ

ข้อ 5. “หากผู้เช่าเช่าครบกําหนด 5 ปี ผู้ให้เช่าให้คํามั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่ออีก 5 ปี โดยผู้เช่าต้อง ชําระค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท และผู้ให้เช่าต้องไปจดทะเบียนการเช่าให้ผู้เช่าเช่าต่อภายใน วันที่ 31 มีนาคม 2559”

ข้อ 6. “ผู้ให้เช่าได้รับเงินประกันสัญญาเช่าจากผู้เช่าไว้เป็นเงิน 500,000 บาท หากครบกําหนด สัญญาเช่า 5 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มีนาคม 2559 ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินประกันสัญญาเช่าให้กับผู้เช่าทั้งหมด โดยที่ผู้เช่าจะต้องไม่กระทําผิดสัญญาเช่าด้วย”

ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อขาวเช่าอาคารหลังนี้ได้เพียง 3 ปี แดงได้ขายอาคารนี้ให้กับมืดโดยสัญญา ซื้อขายทําถูกต้องตามกฎหมาย ขาวจึงต้องส่งค่าเช่าให้กับมืดมาตลอดสัญญาเช่าครบ 5 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ขาวจึงไปขอเช่าอาคารต่อไปอีก 5 ปีจากมืด และตกลงจะชําระค่าเช่าให้เดือนละ 120,000 บาท ตามข้อ 5. ที่เขียนไว้ในสัญญาเช่าและมืดตกลงยินยอมที่จะให้ขาวเช่าต่อไปอีก 5 ปี เช่นกัน ดังนั้นขาวจึงแจ้งให้มืดไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาวต่อไปอีกในวันที่ 30 มีนาคม 2559 แต่กลับถูกมืดปฏิเสธไม่ยอมไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าต่อไปอีก 5 ปี และขาวได้เรียกให้มืดคืนเงินประกันสัญญาเช่าให้ขาว 500,000 บาท ตามสัญญาข้อ 6. เพราะขาวไม่เคยผิดสัญญาเลย มืดก็ปฏิเสธไม่ยอมคืนเงินให้ขาวอีกเช่นกัน ให้วินิจฉัยว่า การปฏิเสธของมืดทั้ง 2 ประการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 538 ได้กําหนดไว้ว่า สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์จะสามารถฟ้องร้อง บังคับคดีกันได้ ก็ต่อเมื่อได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ และถ้าเป็นการเช่าที่มีกําหนดเวลาเกิน 3 ปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

และตามบทบัญญัติมาตรา 569 ได้กําหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป และมีผลทําให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน ตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาเช่าอาคารเก็บสินค้าระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกําหนดเวลา 5 ปี ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่า สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายและสามารถใช้บังคับกันได้ 5 ปี ตาม มาตรา 538 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากขาวเช่าอาคารหลังนี้ได้เพียง 3 ปี แดงได้ขายอาคารหลังนี้ ให้กับมืด โดยสัญญาซื้อขายได้ทําถูกต้องตามกฎหมาย กรณีเช่นนี้ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับ ขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปแต่อย่างใดตามมาตรา 569 วรรคหนึ่ง โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของแดงผู้โอนที่มีต่อขาวผู้เช่าด้วยตามมาตรา 569 วรรคสอง กล่าวคือ มืดจะต้องให้ขาวเช่าอาคารเก็บ สินค้าหลังนี้ต่อไปจนครบกําหนด 5 ปี

สําหรับข้อกําหนดตามสัญญาเช่าข้อ 5. ที่ว่า “หากผู้เช่าเช่าครบกําหนด 5 ปี ผู้ให้เช่าให้คํามั่น จะให้ผู้เช่าเช่าต่ออีก 5 ปี โดยผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท และผู้ให้เช่าต้องไปจดทะเบียนการเช่า ให้ผู้เช่าเช่าต่อภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559” นั้น เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคํามั่นจะให้เช่า ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า จึงไม่มีผลผูกพันมืดผู้รับโอน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อสัญญาเช่าครบ กําหนด 5 ปี ขาวได้ไปขอเช่าอาคารต่อไปอีก 5 ปีจากมืด และตกลงจะชําระค่าเช่าให้เดือนละ 120,000 บาท และมืดได้ตกลงยินยอมที่จะให้ขาวเช่าต่อไปอีก 5 ปีเช่นกัน ดังนั้น เมื่อขาวได้แจ้งให้มืดไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาวต่อไปอีกในวันที่ 30 มีนาคม 2559 มืดจึงต้องไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าต่อไปอีก 5 ปี การที่มืดปฏิเสธไม่ยอมไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าต่อไปอีก 5 ปีนั้น การปฏิเสธของมืดกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อกําหนดตามสัญญาเช่าข้อ 6. ที่ว่า “ผู้ให้เช่าได้รับเงินประกันสัญญาเช่าจากผู้เช่าไว้ เป็นเงิน 500,000 บาท หากครบกําหนด สัญญาเช่า 5 ปี ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินประกันสัญญาเช่าให้กับผู้เช่าทั้งหมด โดยที่ผู้เช่าจะต้องไม่กระทําผิดสัญญาเช่าด้วย” นั้น เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอื่น ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ ตามสัญญาเช่า จึงไม่มีผลผูกพันมืดผู้รับโอน ดังนั้น เมื่อขาวเช่าอาคารหลังนี้จนครบ 5 ปี และขาวไม่เคยกระทําผิด สัญญาเช่าเลยก็ตาม เมื่อขาวเรียกให้มืดคืนเงินประกันสัญญาเช่าให้ขาว 500,000 บาท มืดย่อมสามารถปฏิเสธไม่ยอม คืนเงินให้แก่ขาวได้ ซึ่งการปฏิเสธของมืดในกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การปฏิเสธของมืดกรณีไม่ยอมไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าต่อไปอีก 5 ปีนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการปฏิเสธของมืดที่ไม่ยอมคืนเงินให้แก่ขาว 500,000 บาท นั้น ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2.

(ก) น้ำเงินทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ม่วงเช่าบ้านของน้ำเงินมีกําหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือน เป็นค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท ในวันทําสัญญาเช่านั้น ม่วงได้ให้เงินประกันสัญญาเช่าเป็นเงินประกันความเสียหาย ไว้เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมทั้งม่วงได้ให้เงินค่าเช่าล่วงหน้าไว้ 2 เดือน เมื่อม่วงได้เข้าไปอยู่ ในบ้านเช่าแล้ว แต่ม่วงไม่ได้ชําระค่าเช่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 จนถึงเดือนมีนาคม 2559 ดังนั้นในวันที่ 31 มีนาคม 2559 น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับม่วงทันที โดยให้ม่วงส่งมอบ บ้านคืนในวันที่ 16 เมษายน 2559 การบอกเลิกสัญญาเช่าของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จงวินิจฉัย

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คําตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพราะเหตุใด จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชําระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งจึงกําหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าการชําระค่าเช่า กําหนดชําระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชําระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชําระอีกจึงจะบอกเลิก สัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ม่วงเช่าบ้านของน้ำเงินมีกําหนด 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือน เป็นค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท และม่วงได้ให้เงินค่าเช่าล่วงหน้าไว้ 2 เดือนนั้น เมื่อปรากฏว่าม่วงไม่ได้ชําระเงินค่าเช่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 จนถึงเดือนมีนาคม 2559 ดังนี้ การที่ม่วงได้ให้เงินค่าเช่าล่วงหน้าไว้ 2 เดือนเเล้วนั้น ย่อมถือว่าเป็นการจ่ายค่าเช่าให้แก่น้ำเงินแล้ว 2 เดือน คือเดือน มกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ (ส่วนเงินประกันสัญญาเช่าซึ่งเป็นเงินประกันความเสียหายจํานวน 50,000 บาท นั้น จะนํามาหักเป็นค่าเช่าไม่ได้) การที่ม่วงไม่ชําระค่าเช่าให้แก่น้ำเงินเลยย่อมถือว่าม่วงไม่ได้ชําระค่าเช่าในวันที่ 20 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นค่าเช่าของเดือนมีนาคม 2559 จึงมีผลทําให้น้ำเงินมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อตามสัญญาเช่านั้นมีการกําหนดชําระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน ดังนั้น น้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ น้ำเงินจะต้องบอกกล่าวให้ม่วงนําค่าเช่ามาชําระก่อน และต้องให้เวลาม่วง ไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งถ้าม่วงไม่นําค่าเช่ามาชําระน้ำเงินจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา 560 ดังนั้น การที่น้ำเงินได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับม่วงทันทีในวันที่ 31 มีนาคม 2559 โดยให้ม่วงส่งมอบบ้านคืนให้แก่น้ำเงินในวันที่ 16 เมษายน 2559 นั้น การบอกเลิกสัญญาเช่าของน้ำเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคหนึ่ง “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญา ในข้อที่เป็นส่วนสําคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย”

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ การที่ม่วงผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าซื้อในเดือนมีนาคม 2559 เพียงเดือนเดียว ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงงวดเดียว น้ำเงินจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้นการที่น้ำเงินได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คําตอบของข้าพเจ้าจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ 3. นายชาติชายมีอาชีพรับทํางานก่อสร้างอาคาร ได้ทําสัญญาจ้างนายตรี นายโท เป็นลูกจ้างมีกําหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2557 ตกลงชําระสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน นายอุทัยได้มาทําสัญญาจ้างนายชาติชายให้ก่อสร้างอาคารเก็บสินค้า 2 อาคาร โดยตกลงราคาค่าก่อสร้างอาคารละ 2 ล้านบาท

(ก) นายชาติชายทําการก่อสร้างอาคารที่ 1 เสร็จเรียบร้อย และกําลังก่อสร้างอาคารที่ 2 ได้ครึ่งหนึ่ง นายอุทัยเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนักจึงบอกเลิกสัญญาก่อสร้าง แต่นายชาติชายเห็นว่าได้ก่อสร้างไปแล้วบอกเลิกไม่ได้ เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

(ข) นายชาติชายเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก จึงบอกเลิกสัญญาจ้างนายโททันทีในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ โดยชําระสินจ้างให้ 15,000 บาท เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 587 “อันว่าจ้างทําของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทําการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสําเร็จ แห่งการที่ทํานั้น”

มาตรา 605 “ถ้าการที่จ้างยังทําไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น”

วินิจฉัย

โดยหลักในเรื่องสัญญาจ้างทําของนั้น ถ้าการที่จ้างยังทําไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ ที่เกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้กับ ผู้รับจ้าง (มาตรา 605)

ตามอุทาหรณ์ การที่นายอุทัยได้ทําสัญญาจ้างให้นายชาติชายก่อสร้างอาคารเก็บสินค้า 2 อาคาร โดยตกลงราคาค่าก่อสร้างอาคารละ 2 ล้านบาทนั้น สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้รับจ้างคือ นายชาติชายตกลงรับจะทํางานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้กับนายอุทัยผู้ว่าจ้าง และนายอุทัยตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสําเร็จของงานที่ทํานั้น จึงเป็นสัญญาจ้างทําของตามมาตรา 587 เมื่อปรากฏว่านายชาติชายได้ทําการ ก่อสร้างอาคารที่ 1 เสร็จเรียบร้อย และกําลังก่อสร้างอาคารที่ 2 ได้ครึ่งหนึ่ง นายอุทัยเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก จึงบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างกับนายชาติชาย ดังนี้ นายอุทัยย่อมสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ แต่นายอุทัย ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญานั้นให้แก่นายชาติชายด้วย ตามมาตรา 605 กล่าวคือ นายอุทัยจะต้องชําระสินจ้างให้นายชาติชายสําหรับอาคารที่ 1 เป็นเงิน 2 ล้านบาท และ สําหรับอาคารที่ 2 นั้น เมื่อได้ก่อสร้างไปแล้วครึ่งหนึ่ง นายอุทัยก็ต้องชําระสินจ้างให้นายชาติชายในส่วนซึ่งได้ ก่อสร้างไปแล้ว และต้องชําระค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้แก่ นายชาติชายด้วย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 575 “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทํางาน ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทํางานให้”

วินิจฉัย

โดยหลัก ในเรื่องสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 575 ถ้าเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกําหนดเวลาแน่นอน สัญญานั้นย่อมระงับลงเมื่อครบกําหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งถ้าฝ่ายลูกจ้างมิได้ทําผิดสัญญาตามกฎหมาย จ้างแรงงาน หรือผิดสัญญาตามที่ตกลงกันไว้ นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกําหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่นายชาติชายได้ทําสัญญาจ้างนายตรีและนายโท เป็นลูกจ้างมีกําหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2557 ตกลงชําระสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือนนั้น ถือว่าเป็น สัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 575 เมื่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมีกําหนด 1 ปี จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มี กําหนดเวลาแน่นอน ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่านายโทได้ทําผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงานหรือผิดสัญญา ตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่อย่างใด และการจ้างก็ยังไม่ครบกําหนด 1 ปี นายชาติชายจึงบอกเลิกสัญญาจ้างนายโททันที ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ไม่ได้

สรุป

(ก) นายอุทัยบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างได้ แต่จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายชาติชายตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น (ข) นายชาติชายจะบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายโทไม่ได้

 

Advertisement