การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ของแดง มีกําหนด 6 ปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2558 โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันสิ้นเดือน สัญญาเช่าอาคารมีข้อความสําคัญดังนี้ คือ

ข้อ 5 “ผู้ให้เช่าและผู้เช่าตกลงว่าค่าเช่าปีแรกผู้เช่าต้องชําระเดือนละ 50,000 บาท ส่วนค่าเช่าปีต่อ ๆ ไปต้องชําระเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าเช่าเดิม”

ข้อ 6 “ถ้าครบกําหนดสัญญาเช่านี้แล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมจะไปจดทะเบียนการเช่าให้ผู้เช่า ๆ การ ต่อไปอีก 6 ปี แต่ผู้เช่าต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในวันที่ 15 เมษายน 2558 และผู้ให้เช่าจะปฏิเสธไม่จดทะเบียนการเช่าให้ผู้เช่าเช่ามิได้”

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า แดงได้ยกอาคารที่ขาวเช่านี้ให้กับม่วงพี่ชายบุญธรรมของแดงในปลายปี 2553 การยกให้ทําโดยชอบด้วยกฎหมาย ครั้นถึงปี 2554 ม่วงจึงเรียกค่าเช่าเพิ่มจากขาวอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ของค่าเช่าเดิม แต่ขาวปฏิเสธไม่ยอมตามความต้องการของม่วง อ้างว่าขาวไม่ผูกพันกับม่วงตาม สัญญาข้อ 5

ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของขาวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด และถ้าหากขาวอยู่ในอาคารมาจนครบกําหนดเวลา 6 ปี ขาวแจ้งให้ม่วงไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาว ในวันที่ 1 เมษายน 2558 ม่วงปฏิเสธไม่ไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาว ดังนี้ ข้อปฏิเสธของม่วงที่ไม่ ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 6 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 538 ได้กําหนดไว้ว่า สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์จะสามารถฟ้องร้อง บังคับคดีกันได้ ก็ต่อเมื่อได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ และถ้าเป็นการเช่าที่มีกําหนดเวลาเกิน 3 ปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

และตามบทบัญญัติมาตรา 569 ได้กําหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป และมีผลทําให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน ตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ระหว่างแดงกับขาว ซึ่งมีกําหนดเวลา 6 ปี ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่า สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายและสามารถใช้ บังคับกันได้ 6 ปี ตามมาตรา 538 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า แดงได้ยกอาคารที่ขาวเช่านี้ให้กับม่วงพี่ชายบุญธรรมของแดงในปลายปี 2553 กรณีนี้ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปแต่อย่างใด ตามมาตรา 569 วรรคแรก โดยม่วงผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของแดงผู้โอนที่มีต่อขาว ผู้เช่าด้วยตามมาตรา 569 วรรคสอง กล่าวคือ ม่วงจะต้องให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์นั้นต่อไปจนครบกําหนด 6 ปี ตามสัญญาเช่า

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในปี 2554 ม่วงได้เรียกเก็บค่าเช่าเพิ่มจากขาวอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ของค่าเช่าเดิม ดังนี้ ขาวย่อมไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของม่วงได้ เพราะขาวต้องผูกพันตามสัญญาเช่าข้อ 5 ซึ่งถือเป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสอง ที่ม่วงสามารถบังคับขาวได้ ดังนั้น ข้ออ้างของขาวที่ว่า ขาวไม่ผูกพันกับม่วงตามสัญญาข้อ 5 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อกําหนดตามสัญญาเช่าข้อ 6 ที่ว่า ถ้าครบกําหนดสัญญาเช่านี้แล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมจะไปจดทะเบียนการเช่าให้ผู้เช่า ๆ ต่อไปอีก 6 ปี นั้น เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคํามั่นจะให้เช่า ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ ตามสัญญาเช่า จึงไม่มีผลผูกพันม่วงผู้รับโอน ดังนั้น การที่ขาวอยู่ในอาคารมาจนครบกําหนดเวลา 6 ปี และ ได้แจ้งให้ม่วงไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาว ม่วงย่อมปฏิเสธไม่ไปจดทะเบียนการเช่าให้ขาวได้ ข้อปฏิเสธของม่วง ที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 6 จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป ข้ออ้างของขาวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนข้ออ้างของม่วงชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. (ก) แสดทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์บรรทุกของแสด มีกําหนดเวลา 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป ตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 25 ของแต่ละเดือน เป็นค่าเช่า เดือนละ 25,000 บาท แสดได้รับค่าเช่าล่วงหน้าในวันทําสัญญาเช่าเป็นเงิน 100,000 บาท เมื่อแสดส่งมอบรถยนต์ให้กับเหลือง เหลืองชําระค่าเช่ามาตลอด แต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เหลืองขัดสนเงินจึงไม่ชําระค่าเช่าให้กับแสดจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้น ในวันที่ 2 เมษายน 2558 แสดจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับเหลืองทันที เพราะเหตุที่เหลืองไม่ชําระค่าเช่าและให้เหลือง จ่ายค่าเช่าที่ค้างชําระให้ทั้งหมด และต้องส่งรถคืนให้แสดภายในวันที่ 15 เมษายน 2558

การบอกเลิกสัญญาของแสดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จงวินิจฉัย

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตาม (๑) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คําตอบจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชําระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกําหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าการชําระค่าเช่ากําหนด ชําระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชําระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชําระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เหลืองไม่ชําระค่าเช่าให้แสดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 จนถึง เดือนมีนาคม 2558 นั้น เมื่อหักค่าเช่าออก 4 เดือน ที่เหลืองชําระล่วงหน้าไว้ ย่อมถือว่าเหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่า เดือนมีนาคม 2558 ซึ่งมีผลให้แสดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญาเช่านั้นมีการกําหนด ชําระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน แสดจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้เหลืองนําค่าเช่ามา ชําระก่อน โดยต้องให้เวลาแก่เหลืองนค่าเช่ามาชําระอย่างน้อย 15 วัน ซึ่งถ้าเหลืองยังไม่ยอมชําระอีกแสดจึง จะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา 560 วรรคสอง ดังนั้นการที่แสดบอกเลิกสัญญาทันทีในวันที่ 2 เมษายน 2558 และให้เหลืองส่งรถคืนให้แสดภายในวันที่ 15 เมษายน 2558 การบอกเลิกสัญญาเช่าของแสดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิแสดที่จะเรียกเอาค่าเช่าที่ค้างชําระจากเหลือง

 

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคแรก “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญาในข้อ ที่เป็นส่วนสําคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย”

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตาม (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ เมื่อได้หักค่าเช่าซื้อล่วงหน้าออก 4 เดือนแล้ว เท่ากับเหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่าซื้อเพียง 1 คราว คือ ในเดือนมีนาคม 2558 จึงถือว่าเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงิน เพียง 1 คราว มิใช่เป็นการผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กันตามมาตรา 574 วรรคแรก ดังนั้น แสดจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ แต่เรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชําระ 25,000 บาทได้ การที่แสดบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีในวันที่ 2 เมษายน 2558 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ของแสดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของแสดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คําตอบของข้าพเจ้าจึงไม่แตกต่างกัน

 

 

ข้อ 3. (ก) นายสุเทพได้รู้จักกับ น.ส.ปวีณา ซึ่งทําอาหารเก่ง จึงชักชวนให้มาทํางานเป็นแม่ครัวที่ร้านอาหารที่กรุงเทพฯ นายสุเทพได้ให้เงินค่าเดินทางจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ โดยตกลงให้เป็นแม่ครัว 1 ปี ชําระสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 ในระหว่างที่ เดินทางมาในรถโดยสารได้พบกับ น.ส.อรสา น.ส.ปวีณาจึงได้ชักชวนให้ไปทํางานเป็นแม่ครัวด้วยกัน โดยโทรศัพท์ตกลงกับนายสุเทพ เมื่อทํางานครบหนึ่งปีในวันที่ 31 มีนาคม 2558 น.ส.ปวีณา และ น.ส.อรสา ขอเงินค่าเดินทางกลับไปยังเชียงใหม่ แต่ น.ส.ปวีณาจะอยู่ช่วย ทํางานที่ร้านของพี่ชายที่กรุงเทพฯ ไปก่อน เช่นนี้ นายสุเทพจะต้องให้เงินค่าเดินทางขากลับแก่ น.ส.ปวีณา และ น.ส.อรสา หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

(ข) นายพินิจจะจัดงานมงคลสมรสกับ น.ส.นัยนา จึงได้ทําสัญญาจ้างนายสมบัติให้สร้างบ้านเรือนหอมีกําหนดเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 โดยตกลงชําระสินจ้างเป็นงวด ๆ ตามความสําเร็จของงาน โดยนายพินิจได้แจ้งให้นายสมบัติทราบว่าต้องการจัดงานมงคลสมรสที่บ้านนี้ ในวันที่ 20 มกราคม 2558 แต่เมื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ปรากฏว่านายสมบัติสร้างบ้านไม่เสร็จ แต่จะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อทราบเช่นนั้นก็เสียใจมาก จึงอ้าง สาระสําคัญของสัญญาจ้างว่าจะจัดงานมงคลสมรสในวันที่ 20 มกราคม 2558 เมื่อเสร็จไม่ทันเวลา ก็ขอเลิกสัญญา เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 586 “ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กําหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจําต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดังต่อไปนี้ คือ

(1) สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทําหรือความผิดของลูกจ้าง และ

(2) ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุเทพได้จ้างนางสาวปวีณาจากจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นแม่ครัวที่กรุงเทพฯ โดยออกเงินค่าเดินทางจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ ให้นั้น โดยหลักแล้ว เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงนายสุเทพ จะต้องออกเงินค่าเดินทางขากลับให้แก่นางสาวปวีณา เพราะถือเป็นกรณีที่นายจ้างได้จ้างลูกจ้างมาแต่ต่างถิ่น โดยนายจ้างได้ออกเงินค่าเดินทางให้ตามมาตรา 586 แต่เนื่องจากเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว นางสาวปวีณา จะอยู่ช่วยทํางานที่ร้านของพี่ชายที่กรุงเทพฯ จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างไม่กลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร ซึ่งไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 586 (2) ดังนั้น นายสุเทพไม่จําต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้แก่ นางสาวปวีณา

ส่วนนางสาวอรสานั้น ไม่ใช่กรณีที่นายสุเทพได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นตามมาตรา 586 จึงไม่ต้องให้เงินค่าเดินทางกลับไปเชียงใหม่แก่นางสาวอรสาแต่อย่างใด

 

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 587 “อันว่าจ้างทําของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะ ทําการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสําเร็จ แห่งการที่ทํานั้น”

มาตรา 596 “ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทําไม่ทันเวลาที่ได้กําหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กําหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสําคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจ้างทําของนั้น หากผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทําไม่ทันเวลาที่ได้กําหนดไว้ในสัญญา ตามกฎหมายมาตรา 596 กําหนดให้ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างลงได้ หรือถ้าสาระสําคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ผู้ว่าจ้างก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพินิจได้ทําสัญญาจ้างนายสมบัติให้สร้างบ้านเรือนหอให้นั้น ถือเป็นกรณีที่นายสมบัติตกลงจะทําการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่นายพินิจ และนายพินิจตกลงที่จะจ่าย สินจ้างให้นายสมบัติเพื่อผลสําเร็จของการที่ทํานั้น ดังนั้น สัญญาจ้างระหว่างนายพินิจกับนายสมบัติจึงเป็น สัญญาจ้างทําของตามมาตรา 587

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสมบัติสร้างบ้านไม่เสร็จตามกําหนดเวลาคือวันที่ 31 ธันวาคม 2557 นายสมบัติย่อมต้องรับผิดตามมาตรา 596 คือ นายพินิจผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างที่ต้องจ่ายลงได้ และถ้าสาระสําคัญของสัญญาสร้างบ้านเรือนหออยู่ที่เวลา นายพินิจก็ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้

จากข้อเท็จจริง แม้นายพินิจจะกําหนดเวลาที่จะจัดงานมงคลสมรสในวันที่ 20 มกราคม 2558 ก็มิใช่กรณีที่สาระสําคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาตามมาตรา 596 อันจะทําให้นายพินิจมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายพินิจขอเลิกสัญญากับนายสมบัติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นายพินิจชอบที่จะเรียกร้องให้ลดสินจ้างลงด้วยเหตุที่นายสมบัติส่งมอบการที่ทําล่าช้าตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้

สรุป

(ก) นายสุเทพไม่ต้องให้เงินค่าเดินทางขากลับแก่นางสาวปวีณาและนางสาวอรสา

(ข) การขอเลิกสัญญาของนายพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นายพินิจชอบที่จะเรียกร้องให้ลดสินจ้างลงด้วยเหตุที่นายสมบัติส่งมอบการที่ทําล่าช้าได้

 

Advertisement