การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน) 

ข้อ 1. แดงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ของแดงมีกําหนดเวลา 3 ปี โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันสิ้นเดือนเดือนละ 50,000 บาท สัญญาเช่าฉบับนี้ครบกําหนด 3 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2561 นี้ และสัญญาเช่ามีข้อความสําคัญดังนี้ คือ

ข้อ 5. “ผู้ให้เช่ายินยอมจะให้ผู้เช่าต่อสัญญาเช่าไปได้อีก 3 ปี หากครบกําหนดตามสัญญาเช่าแล้ว แต่จะต้องมีการตกลงค่าเช่ากันใหม่”

ข้อ 6. “ในระหว่างเวลาเช่าผู้เช่าจะนําอาคารพาณิชย์ไปให้บุคคลภายนอกเช่าช่วง ผู้เช่าจะต้อง ขออนุญาตให้ผู้ให้เช่ายินยอมก่อนจึงจะนําไปให้เช่าช่วงได้” 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขาวเช่าอาคารมาได้เพียง 1 ปี แดงได้ยกอาคารพาณิชย์นี้ให้กับเหลืองบุตรชาย ของแดง การให้ทําถูกต้องตามกฎหมาย และในปีที่ 2 ที่ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ ขาวได้นําอาคารพาณิชย์ ไปให้ดําเช่าช่วงโดยมิได้ขออนุญาตเหลืองเพราะขาวเห็นว่าเหลืองไม่ใช่ผู้ให้เช่า เหลืองทราบดังนั้น จึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวทันที การกระทําของเหลืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จงวินิจฉัย และหากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่าแดงไม่ได้ยกอาคารพาณิชย์หลังนี้ให้เหลือง ขาวได้เช่าอาคารพาณิชย์ มาครบ 3 ปี และได้แจ้งให้แดงทราบในวันที่ 30 กันยายน 2561 ว่าขาวขอเช่าต่อ แต่แดงก็มิว่ากระไร แดงกลับฟ้องขับไล่ขาวในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เพราะเห็นว่าขาวมิได้ส่งมอบอาคารพาณิชย์ให้แดง การกระทําของแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

มาตรา 544 “ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทําได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ในสัญญาเช่า

ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

มาตรา 564 “อันว่าสัญญาเช่านั้น ท่านว่าย่อมระงับไปเมื่อสิ้นกําหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ มิพักต้องบอกกล่าวก่อน”

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกําหนดเวลา 3 ปีนั้น เมื่อได้มีการทําสัญญาเป็นหนังสือจึงมีผลสมบูรณ์และใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 538 และเมื่อขาว เช่าอาคารพาณิชย์มาได้เพียง 1 ปี แดงได้ยกอาคารพาณิชย์หลังนี้ให้กับเหลืองและการให้ได้ทําถูกต้องตามกฎหมาย กรณีนี้ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา 569 วรรคหนึ่ง และเหลือง ผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าด้วย กล่าวคือ เหลืองจะต้องให้ขาวเช่าอยู่ ในอาคารพาณิชย์หลังนี้ต่อไปจนครบกําหนดเวลา 3 ปี ตามสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสอง และเหลือง ต้องรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าข้อ 6. ที่ว่า “ในระหว่างเวลาเช่าผู้เช่าจะนําอาคารพาณิชย์ไปให้ บุคคลภายนอกเช่าช่วง ผู้เช่าจะต้องขออนุญาตให้ผู้ให้เช่ายินยอมก่อนจึงจะนําไปให้เช่าช่วงได้” ดังนั้น ถ้าขาวจะ เอาอาคารพาณิชย์ไปให้เช่าช่วง ก็ต้องได้รับอนุญาตจากเหลืองก่อน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปีที่ 2 ที่ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ ขาวได้นําอาคารพาณิชย์ไปให้ดํา เช่าช่วงโดยมิได้ขออนุญาตเหลืองเพราะขาวเห็นว่าเหลืองไม่ใช่ผู้ให้เช่านั้น การกระทําของขาวจึงเป็นการกระทําที่ มิชอบตามมาตรา 544 ประกอบมาตรา 569 ดังนั้น เหลืองย่อมสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีตามมาตรา 544 วรรคสอง

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ถ้าแดงไม่ได้ยกอาคารพาณิชย์ให้เหลือง และขาวได้เช่าอาคารพาณิชย์มาครบ 3 ปี สัญญาเช่าระหว่างแดงและขาวย่อมระงับลงตามมาตรา 564 แม้ว่าตามสัญญาเช่าข้อ 5. จะมีข้อความว่า “ผู้ให้เช่ายินยอมจะให้ผู้เช่าต่อสัญญาเช่าไปได้อีก 3 ปี หากครบกําหนดตามสัญญาเช่าแล้ว แต่จะต้องมีการตกลง ค่าเช่ากันใหม่” ก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวมิใช่คํามั่นจะให้เช่า ดังนั้น แม้ว่าขาวจะได้แจ้งให้แดงทราบในวันที่ 30 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นวันครบกําหนดตามสัญญาเช่าว่าขาวจะขอเช่าต่อ แต่เมื่อแดงมิได้ว่ากระไร จึงไม่ก่อให้เกิด สัญญาเช่าใหม่ระหว่างแดงกับขาว เมื่อแดงได้ฟ้องขับไล่ขาวในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เพราะเห็นว่าขาวมิได้ส่งมอบ อาคารพาณิชย์ให้แดง การกระทําของแตงย่อมถือว่าเป็นการกระทําที่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การกระทําของเหลืองที่บอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวทันที และการกระทําของแดงที่ฟ้อง ขับไล่ขาวชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. (ก) ม่วงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้น้ำเงินเช่ารถยนต์บรรทุกของม่วงมีกําหนดเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน เป็นค่าเช่าเดือนละ 40,000 บาท ในวันทําสัญญาเช่าน้ำเงินได้ให้เงินประกันการชําระค่าเช่าไว้ 120,000 บาท เมื่อน้ำเงินได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าไปใช้แล้วแต่น้ำเงินไม่ได้ชําระค่าเช่าให้ม่วง อีกเลยจนถึงปัจจุบันนี้ ม่วงจึงมีหนังสือแจ้งให้น้ำเงินนําเงินค่าเช่าที่ค้างมาชําระในวันที่ 30 กันยายน 2561 โดยให้ชําระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2561 แต่น้ำเงินยังไม่ชําระค่าเช่าที่ค้างม่วงจึงฟ้องขับไล่น้ำเงินทันทีในวันที่ 17 ตุลาคม ดังนี้การกระทําของม่วงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด จงวินิจฉัย 

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คําตอบจะแตกต่างออกไปหรือไม่ จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชําระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งจึงกําหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าการชําระค่าเช่ากําหนด ชําระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชําระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชําระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ม่วงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้น้ำเงินเช่ารถยนต์บรรทุกของม่วง มีกําหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปโดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือนเป็นค่าเช่า เดือนละ 40,000 บาท และในวันทําสัญญาเช่าน้ำเงินได้ให้เงินประกันการชําระค่าเช่าไว้ 120,000 บาทนั้น เมื่อ ปรากฏว่าหลังจากน้ำเงินได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าไปใช้แล้ว แต่น้ำเงินไม่ได้ชําระค่าเช่าให้ม่วงอีกเลยจนถึงปัจจุบันนี้ การที่น้ำเงินได้ให้เงินประกันการชําระค่าเช่าไว้ 120,000 บาท ย่อมถือว่าเป็นการจ่ายค่าเช่าให้แก่ม่วงแล้วเป็นเวลา 3 เดือน คือเดือนมิถุนายน กรกฎาคม เละสิงหาคม โดยไม่ได้ชําระค่าเช่าเดือนกันยายนเพียง 1 เดือน ดังนั้น ม่วงย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ โดยม่วงจะต้องบอกกล่าวให้น้ำเงินนําค่าเช่ามาชําระก่อนโดยให้เวลาน้ำเงิน ไม่น้อยกว่า 15 วัน และถ้าน้ำเงินยังไม่ยอมชําระค่าเช่า ม่วงก็จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา 560 และเมื่อม่วงบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ก็จะมีผลทําให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงและม่วงย่อมสามารถฟ้องขับไล่น้ำเงินได้

แต่ตามข้อเท็จจริง เมื่อน้ำเงินไม่ได้ชําระค่าเช่าเดือนกันยายน ม่วงจึงมีหนังสือแจ้งให้น้ำเงิน นําเงินค่าเช่าที่ค้างชําระมาชําระในวันที่ 30 กันยายน 2561 โดยให้ชําระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2561 นั้น ถึงแม้ว่าม่วงจะได้บอกกล่าวให้น้ำเงินนําค่าเช่าที่ค้างชําระมาชําระโดยให้เวลาแก่น้ำเงินไม่น้อยกว่า 15 วันก็ตาม แต่เมื่อน้ำเงินยังไม่ชําระ ม่วงก็มิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแต่อย่างใด ดังนั้นย่อมถือว่าสัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดลง ม่วงจึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่น้ำเงิน การที่ม่วงฟ้องขับไล่น้ำเงินทันทีในวันที่ 17 ตุลาคม โดยที่ม่วงยังมิได้บอกเลิก สัญญาเช่าก่อน การกระทําของม่วงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคหนึ่ง “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญา ในข้อที่เป็นส่วนสําคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้รับเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินขอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย”

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตาม (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ เมื่อได้หักเงินประกันการชําระค่าเช่าออก 3 เดือนแล้ว เท่ากับน้ำเงินไม่ได้ชําระค่าเช่าซื้อเพียง 1 คราว คือในเดือนกันยายน 2561 จึงถือเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงิน เพียง 1 คราว มิใช่การผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน ตามมาตรา 574 วรรคหนึ่ง ม่วงจึงไม่มีสิทธิบอกเลิก สัญญาเช่าซื้อ มีสิทธิก็แต่เพียงเรียกให้น้ำเงินชําระค่าเช่าซื้อที่ค้างเท่านั้น ดังนั้น การที่ม่วงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันที ในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 การกระทําของม่วงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป 

(ก) การกระทําของม่วงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

(ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของม่วงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นคําตอบจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ 3. (ก) นายสุภาพได้ทําสัญญาจ้างนายอุดมเป็นลูกจ้างมีกําหนดเวลา 1 ปีนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 มีข้อตกลงให้จ่ายสินจ้างทุก ๆ วันสิ้นเดือน ทํางานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น ปรากฏว่าในเดือนกันยายนนายอุดมมาทํางานสายถึง 8 ครั้ง นายสุภาพ ก็ได้ทําการตักเตือนเป็นหนังสือให้ทราบแล้วว่าตามระเบียบของที่ทํางานต้องมาทํางานตั้งแต่ เวลา 08.00 น. แต่นายอุดมก็ยังมาทํางานสายอีกหลายครั้ง นายสุภาพต้องการเลิกสัญญาจ้างนายอุดม แต่นายอุดมต่อสู้ว่าสัญญาจ้างมีกําหนดเวลา 1 ปี ยังไม่ครบกําหนดสัญญา เช่นนี้ นายสุภาพจะสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างนายอุดมในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ได้หรือไม่เพราะเหตุใด ตามกฎหมายใด จงอธิบาย 

(ข) ถ้าผู้รับจ้างทําของส่งมอบการที่ทําไม่ทันกําหนดเวลาในสัญญาจ้างทําของ กฎหมายกําหนดให้ต้องรับผิดอย่างไร จงอธิบาย มีข้อยกเว้นอะไรบ้าง (ตามกฎหมายมาตราใด) ที่ผู้รับจ้างทําของไม่ต้องรับผิดถึงแม้ว่าจะส่งมอบ การที่ทําไม่ทันเวลาที่ได้กําหนดไว้ในสัญญา จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 575 “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทํางาน ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทํางานให้”

มาตรา 583 “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นําพา ต่อคําสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทําความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทําประการอื่น อันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุภาพได้ทําสัญญาจ้างนายอุดมเป็นลูกจ้างมีกําหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 โดยตกลงจ่ายสินจ้างทุก ๆ วันสิ้นเดือนนั้น เป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกําหนดเวลาตามมาตรา 575 ซึ่งโดยหลักแล้ว นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกําหนดเวลาไม่ได้ เว้นแต่จะต้องด้วย หลักเกณฑ์ตามมาตรา 583 ที่นายจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหม ทดแทนก็ได้

การที่นายอุดมมาทํางานสายในเดือนกันยายนถึง 8 ครั้ง และนายสุภาพก็ได้ทําการตักเตือน เป็นหนังสือให้ทราบแล้วว่าตามระเบียบของที่ทํางานนั้นต้องมาทํางานตั้งแต่เวลา 08.00 น. แต่นายอุดมก็ยังมาทํางานสายอีกหลายครั้ง ย่อมถือได้ว่านายอุดมได้ละเลยไม่นําพาต่อคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย เป็นอาจิณ ดังนั้น แม้สัญญาจ้างระหว่างนายสุภาพและนายอุดมจะมีกําหนดระยะเวลาก็ตาม นายสุภาพนายจ้าง ย่อมสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันทีในวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ตามมาตรา 583

สรุป

นายสุภาพสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันทีในวันที่ 31 ตุลาคม 2561

 

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 591 “ถ้าความชํารุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทํานั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคําสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่า สัมภาระนั้นไม่เหมาะ หรือว่าคําสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน”

มาตรา 596 “ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทําไม่ทันเวลาที่ได้กําหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กําหนดเวลาไว้ในสัญญา เมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสําคัญ แห่งสัญญาอยู่ที่เวลาก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้”

มาตรา 597 “ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทํานั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า”

ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ถ้าผู้รับจ้างทําของส่งมอบการที่ทําไม่ทันกําหนดเวลาใน สัญญาจ้างทําของ หรือถ้าไม่ได้กําหนดเวลาในสัญญา เมื่อล่วงพ้นเวลาอันสมควรแก่เหตุ มาตรา 596 ได้กําหนดว่า ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสําคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ผู้ว่าจ้างก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

แต่อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นอยู่ 2 ประการที่ผู้รับจ้างทําของไม่ต้องรับผิดถึงแม้ว่าจะได้ส่งมอบ การที่ทําไม่ทันเวลาที่ได้กําหนดไว้ในสัญญา ได้แก่

  1. ตามาตรา 591 ในกรณีที่ถ้าความชักช้าในการที่ทํานั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระ ซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ หรือเพราะคําสั่งของผู้ว่าจ้าง ดังนี้ผู้รับจ้างย่อมไม่ต้องรับผิด และ
  2. ตามมาตรา 597 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทํานั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ดังนี้ผู้รับจ้าง ย่อมไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

 

Advertisement