การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายจันทร์ขโมยรถยนต์ของนายอาทิตย์มาขายให้นายอังคาร นายอังคารซื้อโดยสุจริต หลังจากนั้น นายอังคารถูกศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้นายแดง นายอังคารไม่ปฏิบัติตาม คำพิพากษาในชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดรถยนต์คันนี้ขายทอดตลาด นายพุธเป็นผู้ประมูลซื้อได้ นายพุธซื้อมาแล้วรู้ความจริงว่ารถยนต์คันนี้ไม่ใช่ของนายอังคารและไม่อยากได้ไว้ และขายต่อให้นายพฤหัส ต่อมานายอาทิตย์มาพบรถยนต์คันนี้อยู่กับนายพฤหัส และขอให้นายพฤหัสคืน นายพฤหัสไม่คืน นายอาทิตย์ฟ้องขอให้ศาลบังคับนายพฤหัสคืนรถยนต์ของตนที่ถูกคนร้ายลักไป นายพฤหัสต่อสู้ว่าตนซื้อมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ตนจึงมีสิทธิในรถยนต์คันนี้ ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ข้อเท็จจริงตามที่นายอาทิตย์ฟ้อง และนายพฤหัสให้การต่อสู้ และมีคำพิพากษาให้นายพฤหัสเป็นฝ่ายแพ้คดี ให้คืนรถยนต์คันนี้ให้นายอาทิตย์
ดังนี้ ท่านเห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และนายพฤหัสจะเรียกร้องให้นายพุธรับผิดฐานที่ตนไม่สามารถครอบครองรถยนต์คันนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 475 หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น
มาตรา 482 ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดังกล่าวต่อไปนี้คือ
(2) ถ้าผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่า ถ้าได้เรียกเข้ามาคดีฝ่ายผู้ซื้อจะชนะ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัย คือ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 453 มีหลักอยู่ว่า ผู้ขายจะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายอยู่ในเวลาซื้อขายหรือไม่ก็ตาม ผู้ขายจะต้องให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ด้วยการชำระราคา ดังนั้น หากมีบุคคลภายนอกเข้ามารบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สินได้โดยปกติสุข เพราะบุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวในเวลาซื้อขาย หรือที่เรียกว่าการรอนสิทธิตามมาตรา 475 นั้นผู้ซื้อจะต้องต่อสู้ถึงสิทธิของผู้ขายว่ามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายอย่างไร เพื่อแสดงถึงสิทธิของตนในฐานะผู้ซื้อ
ตามข้อเท็จจริง การที่นายอาทิตย์เจ้าของรถยนต์ที่แท้จริง ฟ้องขอให้ศาลบังคับนายพฤหัสคืนรถยนต์ของตนนั้น นายพฤหัสจะต้องต่อสู้ถึงสิทธิของนายพุธผู้ขายว่า นายพุธได้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต นายพุธจึงมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้น (ตามมาตรา 1330) และเมื่อตนซื้อรถยนต์มาจากนายพุธ ตนย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นด้วย แต่เมื่อปรากฏว่า นายพฤหัสต่อสู้เพียงว่า ซื้อรถยนต์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยหาได้ต่อสู้ถึงสิทธิของนายพุธไม่ ดังนั้น นายพฤหัสจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้นายพฤหัสเป็นฝ่ายแพ้คดีและให้คืนรถยนต์คันนี้ให้นายอาทิตย์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
และประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า นายพฤหัสจะเรียกร้องให้นายพุธรับผิดฐานที่ตนไม่สามารถครอบครองรถยนต์คันนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า โดยหลักแล้ว หากมีการรอนสิทธิเกิดขึ้น ผู้ขายจะต้องรับผิดเพราะเหตุแห่งการรอนสิทธินั้นตามมาตรา 475 แต่หากผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าถ้าได้เรียกเข้ามา คดีฝ่ายผู้ซื้อจะชนะ ดังนี้ ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธินั้นตามมาตรา 482(2)
ตามข้อเท็จจริง การที่นายอาทิตย์ฟ้องขอให้ศาลบังคับนายพฤหัสคืนรถยนต์ของตนที่ถูกคนร้ายลักไปจนทำให้นายพฤหัสไม่สามารถครอบครองรถยนต์คันนี้ได้นั้น ย่อมถือเป็นกรณีที่นายพฤหัสผู้ซื้อถูกรอนสิทธิตามมาตรา 475 แต่เมื่อปรากฏว่า นายพฤหัสไม่ได้เรียกนายพุธเข้ามาในคดี นายพฤหัสจึงเรียกร้องให้นายพุธรับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้ เพราะนายพุธย่อมพิสูจน์ได้ว่า ถ้านายพฤหัสเรียกตนเข้ามาในคดี คดีนี้นายพฤหัสจะเป็นฝ่ายชนะคดีตามมาตรา 482(2)
สรุป คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว และนายพฤหัสจะเรียกร้องให้นายพุธรับผิดฐานที่ตนไม่สามารถครอบครองรถยนต์คันนี้ไม่ได้