การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายเอ อายุ 16 ปี ซื้อหนูนามาเลี้ยงดูเล่นหนึ่งตัว และนำไปใส่ไว้ในกรง แต่ไม่ได้คล้องกุญแจที่ประตูกรง เด็กชายบี อายุ 14 ปี เห็นดังนั้นจึงแกล้งปล่อยหนูออกมาจากกรง หนูจึงวิ่งหนีไปหลบอยู่ในตู้เสื้อผ้าของนายซี ต่อมานายซีเปิดตู้จึงเห็นหนูและตกใจจนเป็นลมสิ้นสติศีรษะฟาดพื้นได้รับบาดเจ็บสาหัส
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครจะเรียกร้องให้ใครรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้บ้าง หากว่านายเอเป็นเด็กกำพร้าที่ซุกซนและอยู่ในความดูแลของยายเพียงคนเดียว และเด็กชายบีเป็นบุตรของนางดี
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 429 บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
มาตรา 430 ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายซีเห็นหนูและตกใจเป็นลมสิ้นสติศีรษะฟาดพื้นได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ถือเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดจากสัตว์ คือ หนูของนายเอ ซึ่งตามมาตรา 433 กำหนดให้มีผู้รับผิดคือ เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของสัตว์ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายเอเป็นเจ้าของหนูและไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการเลี้ยงดูตามชนิด วิสัย และพฤติการณ์ของสัตว์นั้นที่ต้องระวังด้วยการคล้องกุญแจที่ประตูกรงไว้ด้วย เพราะหนูย่อมดันตัวเองออกมานอกกรงได้ง่าย ดังนั้น เมื่อหนูหลุดออกมาจากกรง และทำให้นายซีเสียหาย นายเอจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากหนูของตนเองต่อนายซีตามมาตรา 433 วรรคแรก
และเมื่อปรากฏว่า นายเอซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ (ผู้เยาว์) อยู่ในความดูแลของยายเพียงคนเดียวของตน นายซีจึงสามารถเรียกร้องให้ยายของนายเอร่วมรับผิดกับนายเอในการละเมิดที่เกิดขึ้นจากสัตว์ของนายเอได้ เพราะถือเป็นผู้รับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ ตามมาตรา 430
แต่อย่างไรก็ดี ทั้งนายเอและยายมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เด็กชายบีซึ่งเป็นผู้เร้าหรือยั่วสัตว์โดยละเมิด โดยการแกล้งปล่อยหนูออกมาจากกรง เป็นเหตุให้หนูไปก่อความเสียหายขึ้นต่อนายซีได้ตามมาตรา 433 วรรคสอง
นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่า เด็กชายบีเป็นบุตรของนางดี ดังนั้นนายเอและยายจึงสามารถเรียกร้องให้นางดี มารดาของเด็กชายบีซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ (ผู้เยาว์) รับผิดร่วมกับเด็กชายบีได้อีกด้วย ตามมาตรา 439
สรุป นายซีสามารถเรียกร้องให้นายเอและยายร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนได้ และนายเอและยายก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เด็กชายบีและนางดีได้