การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  เด็กชายโค่ง  อายุ  12  ขวบ  อยู่ในความดูแลของยายใสเป็นเวลาสองวันเพราะนางสวยมารดาของเด็กชายโค่งต้องไปต่างจังหวัด  จึงนำบุตรมาฝากให้ยายเลี้ยง  เด็กชายโค่งเป็นเด็กเกเร  ชอบคบเพื่อนเกเร  ซึ่งยายใสก็ตามใจหลานเพราะรักและเอ็นดูหลาน

วันเกิดเหตุ  เด็กชายโค่งได้นัดหมายเด็กชายเอกและเด็กชายโทซึ่งอยู่ในวัยเดียวกันไปจุดพลุหลายดอก  แล้วโยนเข้าไปในบ้านของนายโชคร้าย  ทำให้ทรัพย์สินของนายโชคร้ายเสียหาย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายโชคร้ายจะเรียกให้ใครรับผิดได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด  ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เด็กชายโค่งได้นัดหมายกับเด็กชายเอกและเด็กชายโท  ซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน  ไปจุดพลุหลายดอก  แล้วโยนเข้าไปในบ้านของนายโชคร้าย  จนทำให้ทรัพย์สินของนายโชคร้ายเสียหายนั้น  การกระทำของบุคคลทั้งสามถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำดังกล่าว  จึงถือว่าบุคคลทั้งสามได้ร่วมกันทำละเมิดต่อนายโชคร้ายตามมาตรา  420  ประกอบมาตรา  432  จึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโชคร้าย  ดังนั้น  นายโชคร้ายจึงเรียกให้เด็กชายโค่ง  เด็กชายเอก  และเด็กชายโทร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

และเมื่อปรากฏว่า  เด็กชายโค่งซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ  (ผู้เยาว์)  อยู่ในความดูแลของยายใส  และยายใสไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลเด็กชายโค่ง  ดังนั้น  นายโชคร้ายจึงเรียกร้องให้ยายใสร่วมรับผิดกับเด็กชายโค่งได้  เพราะถือเป็นผู้รับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถตามมาตรา  430  แม้จะเป็นการดูแลเพียงชั่วคราวก็ตาม

นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่า  เด็กชายโค่งเป็นบุตรของนางสวย  ดังนั้น  นายโชคร้ายจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นางสวยมารดาของเด็กชายโค่งซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ  (ผู้เยาว์)  รับผิดร่วมกับเด็กชายโค่งอีกด้วยตามมาตรา  429  แต่นางสวยก็สามารถยกข้อต่อสู้ขึ้นอ้างได้ตามมาตรา  429  ตอนท้ายที่ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลผู้เยาว์แล้วด้วยการนำไปฝากยายเลี้ยงไว้ในขณะที่ตนไม่อยู่บ้าน

สรุป  นายโชคร้ายสามารถเรียกให้เด็กชายโค่ง  เด็กชายเอก  และเด็กชายโท  ร่วมกันรับผิดตามมาตรา  420  ประกอบมาตรา  432  และเรียกให้ยายใสร่วมรับผิดกับเด็กชายโค่ง  ตามมาตรา  430  รวมทั้งเรียกให้นางสวยร่วมรับผิดกับเด็กชายโค่งได้  ตามมาตรา  429

 

 

ข้อ  2  นางอ้อมได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับนายโจ๋ซึ่งคบหาชอบพอกับนางสาวแอมบุตรสาวของนางอ้อมว่านายโจ๋เป็นพ่อค้ายาเสพติด  เคยติดคุกตะรางเพราะยาเสพติดมาแล้ว  ด้วยความเป็นห่วงบุตรสาว  นางอ้อมจึงรีบกลับมาที่บ้านพักกล่าวต่อหน้านางสาวแอมว่า

“อย่าคบหากับนายโจ๋ต่อไปเลยเพราะนายโจ๋เป็นพ่อค้ายาเสพติด  เคยติดคุกติดตะรางเพราะยาเสพติดมาแล้ว”  นายเป้ผู้ซึ่งแอบปีนเข้ามาในบริเวณบ้านของนางอ้อมได้ยินข้อความดังกล่าว  จึงนำไปกล่าวต่อนายป๊อดว่า  “นายโจ๋เป็นพ่อค้ายาเสพติด  เคยติดคุกติดตะรางเพราะยาเสพติดมาแล้ว”  แต่ในความเป็นจริงนายโจ๋ไม่เคยข้องแวะเกี่ยวกับยาเสพติดใดๆ  และไม่เคยติดคุกแต่อย่างใด

จงวินิจฉัยว่า  นายโจ๋จะเรียกให้นางอ้อมและนายเป้รับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  423  วรรคแรก  (หมิ่นประมาททางแพ่ง)  มีดังนี้

1       เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

2       ทำให้แพร่หลาย  กล่าวคือ  กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว  โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญของบุคคลอื่น

4       มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ตามอุทาหรณ์  กรณีที่นางอ้อมได้กล่าวต่อนางสาวแอมบุตรสาวนั้น  ถือได้ว่าเป็นการกล่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  ทำให้ข้อความนี้แพร่หลายต่อบุคคลที่สาม  คือ  นางสาวแอม  และเป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงของนายโจ๋  อันถือเป็นการหมิ่นประมาทนายโจ๋  ตามมาตรา  423  วรรคแรกแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม  นางอ้อมนั้นเป็นมารดาของนางสาวแอม  เมื่อได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับนายโจ๋  จึงรีบกลับมาบอกบุตรสาวด้วยความเป็นห่วง  ถือเป็นกรณีที่นางอ้อมส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  โดยนางอ้อมมีทางได้เสียโดยชอบในการส่งข่าวสารนี้  เพราะมารดาย่อมมีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องคู่ครองของบุตร  ดังนั้น  นางอ้อมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโจ๋ตามมาตรา  423  วรรคสอง

ส่วนกรณีที่นายเป้แอบปีนเข้ามาในบริเวณบ้านของนางอ้อม  และได้ยินข้อความดังกล่าวนั้น  ไม่อาจถือได้ว่านายเป้เป็นบุคคลที่สาม  เพราะนางอ้อมมิได้ตั้งใจจะให้นายเป้รับรู้ในข้อความดังกล่าว  จึงไม่ถือว่านางอ้อมทำให้ข้อความนั้นแพร่หลายต่อบุคคลที่สาม  อันจะถือเป็นการหมิ่นประมาทนายโจ๋ตามมาตรา  423  วรรคแรก  ดังนั้น  นางอ้อมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโจ๋ในกรณีนี้เช่นกัน

กรณีที่นายเป้ได้ยินข้อความดังกล่าวแล้วนำไปพูดต่อนั้นย่อมถือเป็นการกล่าวเช่นเดียวกัน  เมื่อได้กล่าวต่อบุคคลที่สามคือ  นายป๊อด  และข้อความนั้นฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงและเป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงของนายโจ๋  ดังนั้น  นายเป้จึงต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อนายโจ๋ตามมาตรา  423  วรรคแรก  และในกรณีนี้  นายเป้ไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา  423  วรรคสองได้  เพราะนายเป้หรือนายป๊อดไม่มีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องดังกล่าว

สรุป  นายโจ๋เรียกร้องให้นายเป้รับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนได้  แต่จะเรียกร้องให้นางอ้อมรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนไม่ได้

 

 

ข้อ  3  ณเดชท้าบัวขาวแข่งรถกัน  ระหว่างแข่งรถกันนั้น  ทั้งสองฝ่ายต่างขับรถด้วยความเร็วสูงทำให้รถเสียหลัก  และรถทั้งสองคันพุ่งเข้าชนกำแพงบ้านของเอกชัย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  เอกชัยจะเรียกให้ใครรับผิดได้บ้างอย่างไร  และหากว่า

ณเดชได้จ่ายเงินค่าซ่อมกำแพงให้แก่เอกภาพซึ่งเดินออกมาจากบ้านของเอกชัย  และต่อว่าทุกคนว่าขับรถมาทำให้กำแพงพัง  โดยจ่ายเต็มจำนวนค่าเสียหาย  ดังนี้  ณเดชจะยังต้องรับผิดต่อเอกชัยอีกหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  301  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด  ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

มาตรา  441  ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี  หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี  เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป  หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้นแม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น  เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตน  หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ณเดชและบัวขาวได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกันทำละเมิดหรือไม่  เห็นว่า  การจะถือว่าเป็นการ  “ร่วมกันทำละเมิด”  ตามบทบัญญัติมาตรา  432  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำร่วมมือร่วมใจกันกระทำมาตั้งแต่ต้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าณเดชและบัวขาวต่างคนต่างประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่เอกชัย  จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองมีเจตนาร่วมกันในการกระทำ  หรือได้ร่วมมือร่วมใจกันในการกระทำ  อันจะเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา  432  ดังนั้น  ณเดชและบัวขาวจึงมีความผิดฐานต่างคนต่างกระทำละเมิดต่อเอกชัยโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา  420

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ณเดชและบัวขาวต้องร่วมกันรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อถือว่าทั้งสองไม่ได้ร่วมกันกระทำละเมิด  ทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา  432  อย่างไรก็ดี  เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเสียหายที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดกันได้ว่า  ณเดชและบัวขาวก่อให้เกิดความเสียหายในส่วนใดอย่างไร  ความรับผิดของณเดชและบัวขาวจึงต้องเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  301

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า  ณเดชจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ต่อเอกชัยหรือไม่  เห็นว่า  การที่ณเดชจ่ายเงินค่าซ่อมกำแพงให้แก่เอกภาพนั้นถือเป็นเรื่องการใช้หนี้ผิดตัว  กล่าวคือ  เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง  ซึ่งตามมาตรา  441  บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ทำละเมิดซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายว่าให้เป็นอันหลุดพ้นในความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้น  ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นกรณีที่มีความเสียหายต่อ  “สังหาริมทรัพย์”  และเป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่  “ผู้ครองทรัพย์”  ในขณะนั้น  รวมทั้งต้องเป็นการใช้ให้ไปโดย  “ปราศจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”  ด้วยเท่านั้น  ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่ากำแพงบ้านไม่ใช่เป็นสังหาริมทรัพย์  จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ทำให้ณเดชหลุดพ้นจากการชำระหนี้ละเมิดต่อผู้เสียหายที่แท้จริงคือเอกชัยได้  ณเดชจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับเอกชัยอีก

สรุป  ณเดชยังต้องรับผิดต่อเอกชัยอีก

 

 

ข้อ  4  นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง  เมื่อนาง  ข  คลอดเด็กชายแดงแล้วต่อมาถึงแก่ความตาย  นาย  ก  ไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดง  แต่นาย  ก  ส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ  วันเกิดเหตุ  นายโหดขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อ  ชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  ดังนี้  เด็กชายแดงจะเรียกค่าปลงศพจากนายโหดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  443  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย  ซึ่งกรณีที่บุตรเรียกเอาค่าปลงศพของบิดานั้น  บุตรดังกล่าวจะต้องเป็นผู้สืบสันดานของบิดาตามกฎหมายด้วย  (ป.พ.พ. มาตรา  1629  (1))  กล่าวคือ  จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา  หรือเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือ  เด็กชายแดงนั้น ดังนี้ถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนาย  ก  แต่เมื่อนาย  ก  ส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ  ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว  จึงส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทของนาย  ก  ผู้ตาย  (ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  1627  และมาตรา  1629(1))  ดังนั้น  เมื่อนายโหดกระทำละเมิดโดยการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก ถึงแก่ความตาย  เด็กชายแดงจึงเรียกร้องค่าปลงศพจากนายโหดได้ตามมาตรา  443  วรรคแรก

สรุป  เด็กชายแดงเรียกร้องค่าปลงศพจากนายโหดได้

Advertisement