การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 เอกชัยและเอกวิทย์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินซึ่งตกเป็นทางภาระจำยอมให้ทั้งสองคนใช้เป็นทางรถและใช้ในกิจการสาธารณูปโภคได้ โดยได้จดบันทึกภาระจำยอมไว้ที่พนักงานที่ดินแล้ว เพียงแต่เอกชัยไม่ได้ลงชื่อไว้ในบันทึกเท่านั้น ต่อมาอีกสองปี เอกภาพได้สมัครเป็นลูกจ้างของเอกชัย ทำหน้าที่ดูแลซ่อมแซมเครื่องจักรและสิ่งต่างๆภายในบริเวณโรงงาน
วันหนึ่ง เอกชัยได้สั่งให้เอกภาพทำการปักเสาคอนกรีต 4 ต้น ในทางซึ่งเอกภาพไม่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอมนั้น รวมทั้งยังสั่งให้ทำคานบนเสาและติดป้ายห้ามรถเข้าออก ห้ามปักเสาไฟฟ้าและท่อระบายน้ำด้วย เมื่อเอกภาพกระทำตามคำสั่งของนายจ้าง จึงทำให้เอกวิทย์ไม่สามารถนำรถเข้าออกผ่านทางภาระจำยอมนั้นได้ จะต้องขับอ้อมไปอีกทางหนึ่งซึ่งต้องเสียเวลาอีก 20 นาที
ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าเอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกชัยและเอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
วินิจฉัย
หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 ประกอบด้วย
1 เป็นบุคคลที่มี “การกระทำ” โดยรู้สำนึก และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้ ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2 ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
3 มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
4 ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ
กรณีตามอุทาหรณ์ เอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกชัยและเอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของเอกภาพ การที่เอกภาพได้ทำการปักเสาคอนกรีต 4 ต้น รวมทั้งทำคานบนเสาและติดป้ายห้ามรถเข้าออกในทางภาระจำยอม จนทำให้เอกวิทย์ไม่สามารถนำรถเข้าออกผ่านทางภาระจำยอมนั้นได้ แม้การกระทำของเอกภาพจะทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่เมื่อเอกภาพได้กระทำตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอม จะถือว่าเอกภาพได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายไม่ได้ การกระทำของเอกภาพจึงไม่เป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 ดังนั้นเอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดไม่ได้
กรณีของเอกชัย เมื่อการกระทำของเอกภาพซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อเอกวิทย์ ดังนั้นเอกชัยซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดกับเอกภาพ เพราะตามมาตรา 425 นั้นนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกันกับลูกจ้างก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้ทำละเมิดต่อบุคคลอื่น และได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การที่เอกชัยได้สั่งให้เอกภาพกระทำการดังกล่าวทั้งที่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอมและจะทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายต่อสิทธิในการใช้ทางภาระจำยอมนั้น ดังนั้นจึงถือว่าเอกชัยได้ทำละเมิดต่อเอกวิทย์ตามมาตรา 420 ด้วยตนเองโดยใช้เอกภาพเป็นเครื่องมือในการทำละเมิด เอกวิทย์จึงสามารถฟ้องร้องให้เอกชัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ตามมาตรา 420
สรุป เอกวิทย์สามารถฟ้องร้องให้เอกชัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ตามมาตรา 420 แต่จะฟ้องร้องเอกภาพไม่ได