การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 นายเอก ได้กู้เงินจากนายข้อง 100,000 บาท โดยนายเอกได้เขียนข้อความลงในกระดาษด้วยลายมือตนเองว่า ข้าพเจ้านายเอก ได้ยืมเงิน 100,000 บาท ไปจากนายข้อง เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 แล้วนายเอกลงลายมือชื่อในกระดาษนั้นมอบกระดาษนั้นแก่นายข้อง นายข้องมอบเงินแก่นายเอกไป โดยกล่าวด้วยว่า ช่วงที่ยืมไปนี้ไม่คิดดอกเบี้ย เพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนกัน เวลาผ่านไปนานหลายปี นายข้องเห็นว่า นายเอกยังไม่ได้ชำระเงินดังกล่าวคืนแก่ตน นายข้องจึงมาปรึกษานักศึกษาว่า จะทำอย่างไรจึงจะได้รับเงินต้นพร้อมอัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดจากนายเอก จึงให้นักศึกษาแนะนำนายข้องว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง จึงจะเป็นไปตามที่นายข้องต้องการ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
มาตรา 203 วรรคแรก ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
มาตรา 204 วรรคแรก ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้น เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
มาตรา 224 วรรคแรก หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้เขียนข้อความลงในกระดาษด้วยลายมือตนเองว่า “ข้าพเจ้านายเอก ได้ยืมเงิน 100,000 บาท ไปจากนายข้อง เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548” แล้วนายเอกลงลายมือชื่อในกระดาษนั้น เห็นได้ชัดว่าข้อความในกระดาษซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แต่อย่างใด ทั้งตามพฤติการณ์ก็ไม่ปรากฏว่านายเอกกับนายข้องได้ตกลงกันในเรื่องนี้ไว้ด้วย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 203 วรรคแรกที่ว่า ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เช่นนี้ นายข้องเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้นายเอกลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และถือได้ว่าหนี้เงินกู้รายนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว (ฎ. 917/2539)
สำหรับดอกเบี้ยนั้น โดยหลักแล้วนายข้องจะคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้ยืมหาได้ไม่ เพราะนายข้องและนายเอกไม่มีเจตนาจะเรียกดอกเบี้ยแก่กัน กรณีจึงไม่ต้องบทบัญญัติมาตรา 7 ที่ว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน” ซึ่งหมายความเฉพาะกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันหรือมีเจตนาที่จะเรียกดอกเบี้ยจากกัน แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่านั้น นายข้องจึงเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากนายเอกในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามมาตรา 7 ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากนายข้องต้องการได้ดอกเบี้ย นายข้องจะต้องให้คำเตือนนายเอกลูกหนี้ด้วยการทวงถามให้นายเอกชำระหนี้เงินกู้ 100,000 บาท หากนายเอกไม่ชำระหนี้หลังจากนายข้องเตือนแล้ว นายเอกก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีตามมาตรา 204 วรรคแรก เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้และหนี้นั้นเป็นหนี้เงิน นายข้องย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่นายเอกผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ตามมาตรา 224 วรรคแรก
ดังนั้น ในกรณีนี้ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายข้องว่า นายข้องมีสิทธิเรียกเงินต้น 100,000 บาท คืนได้ทันที เพราะถือว่าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วตามมาตรา 203 วรรคแรก ส่วนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดนั้น นายข้องจะเรียกได้ก็ต่อเมื่อนายข้องได้เตือนให้นายเอกชำระหนี้แล้ว เมื่อนายเอกไม่ชำระหนี้ตามคำเตือนก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคแรก นายข้องก็จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรก ส่วนดอกเบี้ยก่อนหน้าที่นายเอกจะผิดนัด นายข้องไม่สามารถเรียกให้นายเอกชำระได้ เพราะคู่สัญญาไม่มีเจตนาจะเรียกดอกเบี้ยแก่กันเลย
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายข้องดังกล่าวข้างต้น