การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 กฎหมายต้องมีคุณลักษณะเช่นไร และกฎหมายตามเนื้อความ และกฎหมายตามแบบพิธีหมายความว่าอย่างไร อธิบาย

ธงคําตอบ

กฎหมาย คือ ส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีต่อกันภายในองค์กร ทางสังคมที่มนุษย์เป็นสมาชิกสังกัดอยู่ นอกจากนี้กฎหมายยังหมายรวมถึงกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับองค์กรทางสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่และในหมู่ประเทศที่มีอารยะด้วย ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของประเทศเหล่านั้น สําหรับกฎหมายในส่วนนี้ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศนั่นเอง สําหรับสิ่งที่เป็นกฎหมายต้องมีลักษณะ ดังนี้

1 กฎหมายต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ มาจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอํานาจสูงสุดของรัฐ หรือของประเทศในการตรากฎหมาย

2 กฎหมายต้องเป็นคําสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป คือ กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้วย่อมมี ผลใช้บังคับกับบุคคลทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือในประเทศนั้น ๆ อย่างเสมอภาค ไม่จํากัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่อาจจะมีข้อยกเว้นบ้างในบางกรณี เช่น ในกรณีของทูต หรือกงสุลที่เข้ามาในประเทศไทย เป็นต้น

3 กฎหมายต้องใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก คือ เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิก กฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับอยู่เสมอ ซึ่งการยกเลิกกฎหมายอาจเป็นการยกเลิกโดย บทบัญญัติของกฎหมายนั้นเอง หรือมีกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า หรือมีการยกเลิกโดยปริยายเมื่อกฎหมายเก่า ขัดกับกฎหมายใหม่

4 กฎหมายนั้นประชาชนจําต้องปฏิบัติตาม ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องให้กระทําการ หรือเป็นเรื่องให้ละเว้นกระทําการก็ได้ ซึ่งถ้ามีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษในทางแพ่ง

5 กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ซึ่งสภาพบังคับตามกฎหมายนั้นมิได้ทั้งในทางอาญาและสภาพบังคับในทางอาญา คือ “โทษ” นั่นเอง

ซึ่งตามกฎหมายกําหนดไว้มี 5 ชนิด โดยเรียงจากโทษหนักที่สุดไปยังโทษเบาที่สุด ได้แก่

1 ประหารชีวิต

2 จําคุก

3 กักขัง

4 ปรับ และ

5 ริบทรัพย์สิน

สภาพบังคับในทางแพ่ง หรือความรับผิดในทางแพ่งนั้น คือ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่กัน ได้แก่ การคืนทรัพย์ การชดใช้ราคาแทนทรัพย์ รวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายด้วย

ซึ่งกฎหมายที่มีลักษณะครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการ ดังกล่าวข้างต้นนั้น จัดเป็นกฎหมายประเภท ที่เรียกกันว่า “กฎหมายตามเนื้อความ”

ส่วนกฎหมายอีกประเภทหนึ่ง แม้จะผ่านกระบวนการบัญญัติกฎหมายตามปกติ แต่ก็มีลักษณะ ไม่ครบองค์ประกอบที่เป็นกฎหมายตามเนื้อความ เช่น ไม่มีบทบัญญัติกําหนดความประพฤติของมนุษย์ซึ่งหาก ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ กฎหมายจําพวกนี้มักจะเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เช่น การตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน หรือเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ แผ่นดินของฝ่ายบริหาร ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ เรียกว่า “กฎหมายตามแบบพิธี

 

ข้อ 2 นางสาวชมพู่และนางสาวพลอยนัดกันไปเที่ยวน้ําตกแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2561 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ในขณะที่ทั้งสองกําลังเล่นน้ำตกกันอยู่ ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากพัดคนทั้งสองและนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ไปกับกระแสน้ำ

ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ได้มีผู้พบศพนางสาวชมพู่แต่หลังจากวันเกิดเหตุไม่มีใครพบหรือ ได้ข่าวของนางสาวพลอยอีกเลย

ให้วินิจฉัยว่า นายสมบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวชมพู่และนายสอนบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ของนางสาวพลอยจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุตรีของตนเป็นคนสาบสูญได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด และหากได้จะไปร้องขอได้ตั้งแต่เมื่อไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 15 วรรคหนึ่ง “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย”

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทําลาย หรือสูญหายไป

(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้น ตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 61 กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใด บุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญนั้น ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และได้หายไปจนครบกําหนด 5 ปีหรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี และผู้ที่มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียด้วย

ตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวพลอยได้สูญหายไปเนื่องจากน้ำป่าไหลหลากซึ่งเป็นเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตนั้น ถือเป็นการสูญหายในกรณีพิเศษตามมาตรา 61 วรรคสอง (3) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายสอน เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวพลอย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิไปร้องขอให้ศาลสั่งให้บุตรีของตนเป็นคนสาบสูญได้

และเมื่อเป็นการสูญหายไปในกรณีพิเศษ จึงมีผลทําให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้ เมื่อครบ 2 ปี นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตได้ผ่านพ้นไป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เกิดน้ำป่าไหลหลากและนางสาวพลอยได้สูญหายไปในวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 จึงครบกําหนด 2 ปีในวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 ดังนั้น นายสอนจะเริ่มไปใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไปตามมาตรา 61 วรรคสอง (3) ส่วนกรณีของนายสมบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวชมพู่นั้น ไม่สามารถจะไปร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้บุตรีของตนเป็นคนสาบสูญได้ เพราะเมื่อมีการพบศพนางสาวชมพู่ย่อมถือว่านางสาวชมพู่ ได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสภาพบุคคลโดยการตายธรรมดาตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง

สรุป นายสอนมีสิทธิไปร้องขอให้ศาลสั่งให้บุตรีของตนเป็นคนสาบสูญได้ โดยจะเริ่มไปใช้สิทธิ ทางศาลได้ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ส่วนนายสมไม่มีสิทธิไปร้องขอให้ศาลสั่งให้บุตรีของตน เป็นคนสาบสูญได้

 

ข้อ 3 บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทํานิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

(1) นายหนึ่งอายุ 18 ปีบริบูรณ์ได้ถอนเงินจากบัญชีส่วนตัว 10 ล้านบาทไปซื้อรถยนต์หรู 1 คัน จากบริษัท เอบีซี จํากัด โดยผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยแต่อย่างใด

(2) นายสองคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมเงินห้าร้อยบาทโดยมิได้รับความยินยอมจาก ผู้พิทักษ์

(3) นายสามคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากผู้อนุบาลให้ไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์ราคา 8 แสนบาทจากร้านนายไก่

(4) นายห้าคนวิกลจริตไปซื้อโทรทัศน์ใช้แล้วจากร้านนายหกในขณะวิกลจริต แต่นายหกไม่ทราบว่า นายห้าวิกลจริตในราคา 2 หมื่นบาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทําลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆยะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 24 “ผู้เยาว์อาจทําการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการ อันจําเป็นในการดํารงชีพตามสมควร

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะ ทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า การใดกระทําลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

(1) โดยหลัก ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทําขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกําหนดให้ ผู้เยาว์สามารถทําเองได้โดยลําพังตนเองและมีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําเองเฉพาะตัว นิติกรรมที่จําเป็นในการดํารงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใด อันหนึ่ง เป็นต้น

ตามปัญหา การที่นายหนึ่งอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ถอนเงินจากบัญชีส่วนตัว 10 ล้านบาท ไปซื้อรถยนต์หรู 1 คัน จากบริษัท เอบีซี จํากัด นั้น ไม่ถือว่าเป็นการทํานิติกรรมที่จําเป็นในการดํารงชีพ ของผู้เยาว์ตามมาตรา 24 หรือเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําเองเฉพาะตัว หรือเป็นนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไป ซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทําได้เองโดยลําพัง แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าการที่นายหนึ่งได้ไปซื้อรถยนต์จากบริษัทฯ ดังกล่าวนั้น ไม่ได้รับความยินยอมจาก ผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมการซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 21

(2) โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ได้โดยลําพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สําคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน คนเสมือนไร้ความสามารถ จะทําต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายสองคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมเงินเป็นจํานวน 500 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์นั้น การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวย่อมมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 34 (3) ประกอบวรรคท้าย

(3) ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น (ต้องให้ผู้อนุบาลทําแทน) ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทํานิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาล หรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายสามคนไร้ความสามารถได้ทํานิติกรรมโดยการไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ราคา 8 แสนบาทจากร้านนายไก่นั้น ถึงแม้ว่าการทํานิติกรรมดังกล่าวของนายสามจะได้รับอนุญาต คือ ได้รับ ความยินยอมจากผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

(4) โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทํานิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทํานิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายห้าคนวิกลจริตได้ไปซื้อโทรทัศน์ใช้แล้วจากร้านนายหกราคา 2 หมื่นบาท ในขณะที่กําลังวิกลจริตนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหกไม่ทราบว่านายห้าเป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างนายห้าและนายหกจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

สรุป

(1) สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายหนึ่งกับบริษัท เอบีซี จํากัด เป็นโมฆียะ

(2) การให้เพื่อนยืมเงินของนายสองเป็นโมฆียะ

(3) สัญญาซื้อขายรถมอเตอร์ไซค์ระหว่างนายสามกับนายไก่เป็นโมฆียะ

(4) สัญญาซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างนายห้ากับนายหกมีผลสมบูรณ์

Advertisement