การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1102 (LAW1002) หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 กฎหมายต้องมีคุณลักษณะเช่นไร และกฎหมายตามเนื้อความ และกฎหมายตามแบบพิธีหมายความว่าอย่างไร อธิบาย

ธงคําตอบ

กฎหมาย คือ ส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีต่อกันภายในองค์กร ทางสังคมที่มนุษย์เป็นสมาชิกสังกัดอยู่ นอกจากนี้กฎหมายยังหมายรวมถึงกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับองค์กรทางสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่และในหมู่ประเทศที่มีอารยะด้วย ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของประเทศเหล่านั้น สําหรับกฎหมายในส่วนนี้ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศนั่นเอง

สําหรับสิ่งที่เป็นกฎหมายต้องมีลักษณะ ดังนี้

1 กฎหมายต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ มาจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอํานาจสูงสุดของรัฐ หรือของประเทศในการตรากฎหมาย

2 กฎหมายต้องเป็นคําสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป คือ กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้วย่อมมี ผลใช้บังคับกับบุคคลทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือในประเทศนั้น ๆ อย่างเสมอภาค ไม่จํากัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่อาจจะมีข้อยกเว้นบ้างในบางกรณี เช่น ในกรณีของทูต หรือกงสุลที่เข้ามาในประเทศไทย เป็นต้น

3 กฎหมายต้องใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก คือ เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิก กฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับอยู่เสมอ ซึ่งการยกเลิกกฎหมายอาจเป็นการยกเลิกโดย บทบัญญัติของกฎหมายนั้นเอง หรือมีกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า หรือมีการยกเลิกโดยปริยายเมื่อกฎหมายเก่า ขัดกับกฎหมายใหม่

4 กฎหมายนั้นประชาชนจําต้องปฏิบัติตาม ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องให้กระทําการ หรือเป็นเรื่องให้ละเว้นกระทําการก็ได้ ซึ่งถ้ามีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษ

5 กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ซึ่งสภาพบังคับตามกฎหมายนั้นมิได้ทั้งในทางอาญาและสภาพบังคับในทางอาญาและในทางแพ่ง

สภาพบังคับในทางอาญา คือ “โทษ” นั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายกําหนดไว้มี 5 ชนิด โดยเรียงจากโทษหนักที่สุดไปยังโทษเบาที่สุด ได้แก่

1 ประหารชีวิต

2 จําคุก

3 กักขัง

4 ปรับ และ

5 ริบทรัพย์สิน

สภาพบังคับในทางแพ่ง หรือความรับผิดในทางแพ่งนั้น คือ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่กัน ได้แก่ การคืนทรัพย์ การชดใช้ราคาแทนทรัพย์ รวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายด้วย ซึ่งกฎหมายที่มีลักษณะครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการ ดังกล่าวข้างต้นนั้น จัดเป็นกฎหมายประเภท ที่เรียกกันว่า “กฎหมายตามเนื้อความ”

ส่วนกฎหมายอีกประเภทหนึ่ง แม้จะผ่านกระบวนการบัญญัติกฎหมายตามปกติ แต่ก็มีลักษณะไม่ครบองค์ประกอบที่เป็นกฎหมายตามเนื้อความ เช่น ไม่มีบทบัญญัติกําหนดความประพฤติของมนุษย์ซึ่งหาก ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ กฎหมายจําพวกนี้มักจะเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เช่น การตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน หรือเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ แผ่นดินของฝ่ายบริหาร ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ เรียกว่า “กฎหมายตามแบบพิธี”

 

ข้อ 2 ให้ท่านอธิบายหลักเกณฑ์ในการนับอายุของบุคคลโดยละเอียดพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 16 “การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้น ตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการนับอายุของบุคคลซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1 ในกรณีที่รู้ว่าบุคคลนั้นเกิดวัน เดือน และปีใด ให้นับอายุของบุคคลนั้นตั้งแต่วันเกิด

2 ในกรณีที่ไม่รู้ว่าบุคคลนั้นเกิดวันใด แต่รู้เดือนและปีที่เกิด ให้นับวันที่หนึ่งของเดือนนั้น เป็นวันเกิด เช่น รู้ว่าเกิดเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 แต่ไม่รู้ว่าเป็นวันที่เท่าไร ให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2550

3 ในกรณีที่ไม่รู้ว่าบุคคลนั้นเกิดวันและเดือนใด แต่รู้ปีที่เกิด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดตั้งแต่วันต้นปี ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด เช่น รู้ว่าเกิดปี พ.ศ. 2550 แต่ไม่รู้ว่าเกิดวันที่เท่าไรและเดือนอะไร ให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550

4 ในกรณีที่ไม่รู้ว่าบุคลนั้นเกิดวันที่เท่าไร เดือน และปีอะไร ให้คาดเดาจากการวินิจฉัยของแพทย์ หรือสอบถามจากเพื่อนบ้าน หรือใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เป็นเกณฑ์กําหนดอายุของบุคคลนั้น

 

ข้อ 3 นายเมฆคนไร้ความสามารถมีนายหมอกเป็นผู้อนุบาล นายเมฆนําเงินจํานวน 3,500 บาท ไปซื้อจักรยานโดยได้รับความยินยอมจากนายหมอกผู้อนุบาลแล้ว

ดังนี้ สัญญาซื้อขายจักรยานที่นายเมฆได้กระทําลงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น (ต้องให้ ผู้อนุบาลทําแทน) ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทํานิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายเมฆคนไร้ความสามารถได้นําเงิน 3,500 บาท ไปทํานิติกรรมโดยไปซื้อจักรยานนั้น แม้การทํานิติกรรมดังกล่าวของนายเมฆจะได้รับความยินยอมจากนายหมอกผู้อนุบาลแล้วก็ตาม นิติกรรมในรูปของสัญญาซื้อขายดังกล่าวก็มีผลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 29

สรุป สัญญาซื้อขายจักรยานที่นายเมฆคนไร้ความสามารถได้กระทําลงมีผลเป็นโมฆียะ

Advertisement