การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1102 (LAW 1002) หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ช่องว่างของกฎหมายคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมายแพ่งต้องทําอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

ช่องว่างแห่งกฎหมาย คือ กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนํามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้ กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อนํามาปรับใช้แก่กรณีไม่พบนั่นเอง

โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมายเกิดจากการที่ผู้ร่างกฎหมายคิดไปไม่ถึงว่าจะมีช่องว่างในกฎหมาย อาจจะเป็นเพราะผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถที่จะนึกถึงช่องว่างของกฎหมายนั้นได้ เพราะยังไม่มีเหตุการณ์อันทําให้ช่องว่างนั้นเกิดขึ้น

ซึ่งหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า

“เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้น ก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

กล่าวคือ เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่อง ดังกล่าวไว้ ให้ศาลวินิจฉัยตามลําดับ ดังนี้

1 ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์ อักษรที่จะนํามาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนําเอาจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษร เพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี ซึ่งจารีตประเพณีก็คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็น เวลานานจนบุคคลทั่วไปรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับที่จะนํามาใช้ได้ และมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง เช่น จารีตประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ จารีตประเพณีเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น

2 ในกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ให้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หมายความว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มี จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนํามาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน เช่น การขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมรับปุ๋ย หรือหลุมรับขยะมูลฝอย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะขุดในระยะสองเมตรจากแนวเขตที่ดินไม่ได้ (มาตรา 1342) แต่หลุมที่รับกากสารเคมีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าขุดได้ หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเรื่องการขุดหลุมรับภากสารเคมี มีเหตุผลที่ควรจะห้ามมิให้ขุดในระยะที่ใกล้เคียงกับแนวเขตที่ดิน เพราะอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่บุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงนําเอามาตรา 1342 มาใช้เทียบเคียงกับการขุดหลุมรับกากสารเคมีได้ เป็นต้น

3 ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ให้วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป

กรณีนี้เป็นวิธีการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งประการสุดท้าย หมายความว่า ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์ อักษร ไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นําเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือ สุภาษิตของกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้ เช่น สัญญาต้องเป็นสัญญา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเกิดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งขึ้น ศาลจะต้องใช้หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย ตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เพื่อวินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้น จะยกฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ที่จะนํามาวินิจฉัยไม่ได้

 

ข้อ 2 นายเดวิทและนางเด็บบี้ สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หลังแต่งงานได้ไป ฮันนีมูนที่ประเทศฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2560 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2564 ปรากฏ ว่าเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ทั้งสองคนได้ขับรถไปดูแสงเหนือช่วงกลางดึก ปรากฏว่าเจอพายุ หิมะพัดรถพลิกคว่ำปลิวหายไป หลังจากนั้นไม่มีใครพบนายเดวิทและนางเด็บบี้อีกเลย

ให้วินิจฉัยว่า

(1) นายเดฟบิดาของนายเดวิท จะไปร้องขอให้นายเดวิทเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ และหากได้จะ ไปใช้สิทธิทางศาลได้เมื่อใด เพราะเหตุใด

(2) นางสาวบานาน่า เจ้าหนี้ของนางเด็บบี้ จะไปร้องขอให้นางเด็บบี้เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ และหากได้จะไปใช้สิทธิทางศาลได้เมื่อใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไป ในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทําลาย หรือสูญหายไป

(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้น ตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 61 กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญนั้น ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่และได้หายไปจนครบกําหนด 5 ปีหรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี และผู้ที่มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้นั้นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเดวิทและนางเด็บบี้ สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตาม กฎหมายได้ไปฮันนีมูนที่ประเทศฟินแลนด์ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2564 และ ปรากฏว่าในวันที่ 5 กันยายน 2564 ทั้งสองคนได้ขับรถไปดูแสงเหนือช่วงกลางดึก และปรากฏว่าเจอพายุหิมะ พัดรถพลิกคว่ำปลิวหายไป หลังจากนั้นไม่มีใครพบนายเดวิทและนางเด็บบี้อีกเลยนั้น ถือเป็นการสูญหายไปใน กรณีพิเศษ ตามมาตรา 61 วรรคสอง (2) และเมื่อปรากฏว่าทั้งสองได้หายไปตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2564 จําหนดระยะเวลา 2 ปี จึงครบกําหนดในวันที่ 5 กันยายน 2566 และถ้าผู้มีส่วนได้เสียจะไปร้องขอต่อศาล เพื่อให้ทั้งสองเป็นคนสาบสูญก็สามารถที่จะใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

ส่วนการที่นายเดฟบิดาของนายเดวิท และนางสาวบานาน่าเจ้าหนี้ของนางเด็บบี้ จะไปร้องขอให้ นายเดวิทและนางเด็บบี้เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) เมื่อนายเดฟเป็นบิดาของนายเดวิท ย่อมถือว่านายเดฟเป็นผู้มีส่วนได้เสียของนายเดวิท เพราะนายเดฟเป็นผู้มีสิทธิหรือได้รับสิทธิต่าง ๆ หากศาลได้สั่งให้นายเดวิทเป็นคนสาบสูญ ดังนั้น นายเดฟ จึงสามารถไปร้องขอเพื่อให้ศาลสั่งให้นายเดวิทเป็นคนสาบสูญได้ โดยสามารถไปใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

(2) เมื่อนางสาวบานาน่าเป็นเพียงเจ้าหนี้ของนางเด็บบี้ จึงไม่ถือว่านางสาวบานาน่าเป็นผู้มีส่วน ได้เสียของนางเด็บบี้ เนื่องจากการเป็นเจ้าหนี้นั้นเป็นเพียงผู้มีส่วนได้เสียในประโยชน์ของลูกหนี้ในระหว่างที่ลูกหนี้ ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในประโยชน์อันเกิดจากความตายของผู้เป็นลูกหนี้ ดังนั้น นางสาวบานาน่าจึงไม่สามารถที่จะไปร้องขอให้นางเด็บบี้เป็นคนสาบสูญได้

สรุป

(1) นายเดฟบิดาของนายเดวิทสามารถไปร้องขอให้นายเดวิทเป็นคนสาบสูญได้ โดยสามารถ ใช้สิทธิทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

(2) นางสาวบานาน่าจะไปร้องขอให้นางเด็บบี้เป็นคนสาบสูญไม่ได้

 

ข้อ 3 บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทํานิติกรรมโดยลําพัง จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1) นายแว่นคนเสมือนไร้ความสามารถ ให้เพื่อนยืมช้างซึ่งมีมูลค่า 1 ล้านบาท ไปลากซุง โดยไม่ได้ขออนุญาตจากใคร

(2) เด็กชายพาวเวอร์ไปซื้อจักรยานมือสองเพื่อขี่ไปโรงเรียนในราคา 500 บาท โดยไม่ได้ขออนุญาตจากผู้ปกครอง

(3) นายโยโย่คนวิกลจริตไปซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์จากร้านนายโกโก้ในขณะวิกลจริต แต่นายโกโก้ไม่ทราบว่านายโยโย่วิกลจริต

(4) นายโอริโอ้คนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนางโอเล่ผู้อนุบาลให้ไปซื้อทีวีดูช่วงกักตัว ในราคา 9,999 บาท จากนายอมยิ้ม

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทําลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 24 “ผู้เยาว์อาจทําการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอัน จําเป็นในการดํารงชีพตามสมควร”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริต กลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน แล้วจึงจะ ทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า การใดกระทําลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา วินิจฉัยได้ดังนี้คือ

(1) โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ได้โดยลําพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สําคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์ อันมีค่า คนเสมือนไร้ความสามารถจะทําต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

กรณีตามปัญหา การที่นายแว่นคนเสมือนไร้ความสามารถได้ให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์นั้น เมื่อการให้ยืมช้างดังกล่าว ถือเป็นกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจําหน่ายจ่ายโอนกันจะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) และเป็นนิติกรรมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนตามมาตรา 34 (3) ดังนั้น เมื่อนายแว่นให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ นิติกรรมการให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะ

(2) โดยหลัก ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทําขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกําหนดให้ ผู้เยาว์สามารถทําเองได้โดยลําพังตนเองและมีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําเองเฉพาะตัว นิติกรรมที่ จําเป็นในการดํารงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใด อันหนึ่ง เป็นต้น

กรณีตามปัญหา การที่เด็ การที่เด็กชายพาวเวอร์ไปซื้อจักรยานมือสองเพื่อไปโรงเรียนในราคา 500 บาท โดยไม่ได้ขออนุญาตจากผู้ปกครองนั้น เป็นกรณีที่เด็กชายพาวเวอร์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ทํานิติกรรมตาม มาตรา 24 คือเป็นนิติกรรมซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจําเป็นในการดํารงชีพตามสมควร ของผู้เยาว์ ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 21 ที่ผู้เยาว์สามารถทําได้โดยลําพังตนเองโดยไม่ต้องขอความยินยอม จากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายของเด็กชายพาวเวอร์จึงมีผลสมบูรณ์

(3) โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทํานิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทํานิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

กรณีตามปัญหา การที่นายโยโย่คนวิกลจริตได้ไปซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์จากร้านนายโกโก้ในขณะที่ กําลังวิกลจริตอยู่ เมื่อนายโกโก้ไม่ทราบว่านายโยโย่เป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์จึง มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

(4) ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทํานิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ (นิติกรรมที่เกี่ยวกับคนไร้ความสามารถต้องให้ผู้อนุบาลทําแทน)

กรณีตามปัญหา การที่นายโอริโอ้คนไร้ความสามารถได้ทํานิติกรรมโดยไปซื้อทีวีราคา 9,999 บาทจากนายอมยิ้มนั้น แม้การทํานิติกรรมดังกล่าวของนายโอริโอ้จะได้รับความยินยอมจากนางโอเล่ ผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

สรุป

(1) การที่นายแว่นคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุง มีผลเป็นโมฆียะ

(2) การที่เด็กชายพาวเวอร์ไปซื้อจักรยานมือสองเพื่อไปโรงเรียน มีผลสมบูรณ์

(3) การที่นายโยโย่คนวิกลจริตไปซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์ มีผลสมบูรณ์

(4) การที่นายโอริโอ้คนไร้ความสามารถไปซื้อทีวี มีผลเป็นโมฆียะ

Advertisement