การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005  กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. พอลเป็นคนสัญชาติอเมริกัน เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยแต่งงานกับสมใจคนไทยอยู่กินกันที่จังหวัดอุดรธานี พอลได้กู้เงินจากเจมส์คนสัญชาติอังกฤษห้าแสนบาทโดยทำสัญญากู้ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 กันที่ประเทศลาว ต่อมาพอลเดินทางไปต่างประเทศพร้อมเจมส์โดยอากาศยานไทย ขณะที่อากาศยานไทยบินอยู่เหนือน่านฟ้าประเทศญี่ปุ่น พอลกับเจมส์เกิดโต้เถียงกันเรื่องเงินกู้ พอลทำร้ายร่างกายเจมส์ได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นพอลได้ย้ายภูมิลำเนากลับไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและผิดนัดไม่ชำระเงินกู้ ดังนี้ เจมส์ประสงค์จะยื่นฟ้องพอลในวันที่ 26 กันยายน 2554 ขอให้พอลชำระเงินกู้คดีหนึ่ง และให้ใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอีกคดีหนึ่ง เจมส์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลไทย ศาลใดได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 3 “เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง

(1)     ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ

(2)     ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร

(ก)     ถ้าจำเลยเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนดสองปีก่อนวันที่มีการเสนอคำฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1)     คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้นไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่จะต้องวินิจฉัย คือ เจมส์จะยื่นฟ้องพอลให้ชำระเงินกู้ในวันที่ 26 กันยายน 2554 เจมส์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลไทยศาลใด เห็นว่า ตามกฎหมายนั้น การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคลต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) ซึ่งคำว่า มูลคดี” ก็หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันทำให้เกิดอำนาจฟ้องนั่นเอง

ตามข้อเท็จจริง การที่พอลกู้เงินจากเจมส์โดยทำสัญญากู้กันที่ประเทศลาวนั้น ย่อมถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่ประเทศลาว และขณะที่เจมส์ประสงค์จะยื่นคำฟ้องขอให้พอลชำระหนี้เงินกู้ พอลไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากพอลได้ย้ายภูมิลำเนากลับไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าพอลเคยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและแต่งงานกับสมใจคนไทยอยู่กินกันที่จังหวัดอุดรธานี ย่อมถือว่าพอลเคยมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยมาก่อน และเป็นระยะเวลาภายใน 2 ปีก่อนที่เจมส์จะเสนอคำฟ้อง ดังนั้น เจมส์จึงยื่นฟ้องขอให้พอลชำระเงินกู้ต่อศาลจังหวัดอุดรธานีที่พอลเคยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) ประกอบมาตรา 3(2)(ก)

ส่วนประเด็นที่สองที่ต้องวินิจฉัย คือ เจมส์จะยื่นฟ้องพอลให้ใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดเจมส์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลไทยศาลใด เห็นว่า การที่พอลทำร้ายร่างกายเจมส์จนได้รับบาดเจ็บอันถือเป็นการกระทำละเมิดในอากาศยานไทยนั้น ได้เกิดขึ้นในขณะที่อากาศยานไทยบินอยู่เหนือน่านฟ้าประเทศญี่ปุ่น จึงถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในอากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร ดังนั้น เจมส์จึงสามารถยื่นฟ้องพอลได้ที่ศาลแพ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) ประกอบมาตรา 3(1)

สรุป คดีที่เจมส์จะฟ้องขอให้พอลชำระเงินกู้นั้น เจมส์จะต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ส่วนคดีที่เจมส์จะฟ้องพอลให้ใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด เจมส์จะต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลแพ่ง

 

ข้อ 2.  โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยบุกรุกที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่สุจริต จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของจำเลยซึ่งได้รับการยกให้จากมารดา ขอให้ยกฟ้อง ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากจำเลยและเข้าครอบครองตลอดมา ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์และจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดได้เข้าเป็นคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(1) ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ไม่ใช่ของจำเลย และผู้ร้องสอดให้ขับไล่จำเลย และผู้ร้องสอดออกจากที่ดินพิพาทและยกคำร้องสอด ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลยด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษานอกฟ้องและเกินคำขอ ดังนี้ อุทธรณ์ของผู้ร้องสอดฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

มาตรา 58 วรรคแรก ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (1) และ (3) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้อเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม

มาตรา 142 “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือคำสั่งให้สิ่งใดๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง…

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้ามาในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย โดยระบุในคำร้องว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากจำเลยและเข้าครอบครองตลอดมา ที่ดินไม่ใช่ของโจทก์และจำเลยนั้น ถือเป็นการร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(1) เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดได้เข้ามาเป็นคู่ความแล้ว ผู้ร้องสอดย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคแรก

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นได้พิจารณาและพิพากษาชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ของจำเลยและผุ้ร้องสอด ให้ขับไล่จำเลยและผู้ร้องสอดออกจากที่ดินพิพาทและยกคำร้องสอด ดังนี้ แม้โจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องสอดด้วยก็ตาม แต่โจทก์ได้มีคำขอให้ขับไล่จำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษาขับไล่ผู้ร้องสอดได้ โดยถือเสมือนว่าผู้ร้องสอดถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(1) ประกอบมาตรา 58 วรรคแรก คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ถือว่านอกฟ้อง และเกินคำขอตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 142 ดังนั้น อุทธรณ์ของผู้ร้องสอดที่ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลยด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษานอกฟ้อง และเกินคำขอจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  อุทธรณ์ของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้แทนสมชายผู้กู้ จำเลยให้การว่า สมชายไม่เคยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ สัญญากู้เป็นสัญญาปลอม ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รอฟังผลคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องสมชายเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ฟ้องสมชายเป็นจำเลยได้มีคำพิพากษาว่าสมชายได้กู้เงินโจทก์ไปจริงผิดนัดชำระหนี้คืนโจทก์ ให้สมชายชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของสมชายอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้นจะรับฟ้องของโจทก์ในคดีหลังนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 1 “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(8) การพิจารณา” หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่ง ก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง

มาตรา 39 “ถ้าการที่จะชี้ขาดตัดสินคดีเรื่องใดที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดจำต้องอาศัยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งคำชี้ขาดตัดสินบางข้อที่ศาลนั้นเองหรือศาลอื่นจะต้องกระทำเสียก่อน หรือจำต้องรอให้เจ้าพนักงานฝ่ายธุรการวินิจฉัยชี้ขาดในข้อเช่นนั้นเสียก่อน หรือถ้าปรากฏว่าได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้นซึ่งอาจมีการฟ้องร้องอันอาจกระทำให้การชี้ขาดตัดสินคดีที่พิจารณาอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงไป หรือในกรณีอื่นใด ซึ่งศาลเห็นว่าถ้าได้เลื่อนการพิจารณาไปจักทำให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งเลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไปจนกว่าจะได้มีการพิพากษาหรือชี้ขาดในข้อนั้นๆ แล้วหรือภายในระยะเวลาใดๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้

ถ้าศาลมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาดังกล่าวแล้วโดยไม่มีกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งให้เริ่มการนั่งพิจารณาต่อไปในวันใดๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา 132 “ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยขี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้น และให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร…

มาตรา 173วรรคสอง นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1)     ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ…

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การฟ้องซ้อนมีบัญญัติไว้ในมาตรา 173 วรรคสอง(1) ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้

1.       คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือ ศาลฎีกา

2.       คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

3.       คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

4.       ห้ามโจทก์ฟ้อง

5.       ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

          กรณีตามอุทาหรณ์ ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะรับฟ้องของโจทก์ในคดีหลังนี้หรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยผู้ค้ำประกันถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้แทนสมชายผู้กู้ และได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รอฟังผลคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องสมชายผู้กู้เป็นจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยชั่วคราวนั้น ถือเป็นกรณีที่คู่ความร้องขอให้ศาลชั้นต้นรอฟังผลของคำพิพากษาในคดีอื่น เพื่ออาศัยเป็นหลักในการชี้ขาดตัดสินคดีนี้ อันเป็นการร้องขอให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 39 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยชั่วคราวจึงมีผลเท่ากับมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไปนั่นเอง หามใช่การสั่งจำหน่ายคดีเสียจากระบบความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 132 ที่จะมีผลทำให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลไม่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1(18) ที่บัญญัติให้ การพิจารณา” หมายความว่า กระบวนการพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่ง ก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินคดีหรือจำหน่ายคดีเสียจากระบบความ ซึ่งกรณีนี้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้เริ่มการนั่งพิจารณาคดีต่อไปในวันใดๆตามที่เห็นสมควรก็ได้ เนื่องจากเป็นการเลื่อนการนั่งพิจารณาโดยไม่มีกำหนด (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 39 วรรคสอง)

ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยคู่ความเดิมในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของสมชายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีประเด็นอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกฟ้องของโจทก์ในคดีหลังนี้

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกฟ้องของโจทก์ในคดีหลังนี้

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าหนี้ระงับแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานและแจ้งให้คู่ความทั้งสองฝ่ายทราบวันนัดแล้ว และสั่งให้จำเลยนำสืบก่อน ในวันนัดสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาล ศาลเห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ในวันเดียวกันนั้นโจทก์มาศาลและยื่นคำร้องว่าเหตุที่โจทก์มาศาลช้าเนื่องจากน้ำท่วมถนน รถไม่สามารถแล่นผ่านได้ โจทก์ไม่จงใจขาดนัด ขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปหรือขอให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลสั่งจำหน่ายคดีไปแล้วไม่มีเหตุที่จะต้องสืบพยานต่อไป ให้ยกคำร้อง ดังนี้ คำสั่งของศาลที่ให้ยกคำร้องขอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 200 วรรคแรก ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา

มาตรา 201 “ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ

มาตรา 206 วรรคสาม ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลภายหลังที่เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้ว และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดีเมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลไม่เคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอของคู่ความฝ่ายนั้นมาก่อนตามมาตรา 199 ตรี ซึ่งให้นำมาใช้บังคับกับการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 207 ด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่…

วินิจฉัย

การขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 200 วรรคแรกนั้น หมายความว่า คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณาและหากคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ศาลก็ต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสรบบความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 201 โดยไม่มีข้อที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณาโดยจงจงหรือไม่จงใจเพราะการขาดนัดโดยจงใจหรือไม่จงใจจะใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะเมื่อมีการพิจารณาฝ่ายเดียว (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 202 และมาตรา 204) และมีการขอให้พิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 206 วรรคสาม เท่านั้น

                   กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน และศาลเห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 201) ย่อมทำให้คดีเสร็จสิ้นไปจากศาล ไม่มีการพิจารณาฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มาศาลและยื่นคำร้องว่าเหตุที่โจทก์มาศาลช้าเนื่องจากน้ำท่วมถนน รถไม่สามารถแล่นผ่านได้ โจทก์ไม่จงใจขาดนัด ขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปหรือขอให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไป ก็คือการขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่นั่นเอง ศาลจึงสามารถยกคำร้องของโจทก์โดยอ้างเหตุว่าศาลสั่งจำหน่ายคดีไปแล้วไม่มีเหตุที่จะต้องสืบพยานต่อไปได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลที่ให้ออกคำร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คำสั่งของศาลที่ให้ยกคำร้องชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement