การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างบ้านในที่ดินของจันทร์ สัญญาจ้างระบุว่าอังคารจะต้องเริ่มลงมือทำงานจ้าง ณ สถานที่ก่อสร้างภายในวันที่ 20 มกราคม 2559 โดยที่สัญญาจ้างมิได้ระบุถึงเรื่องส่งมอบพื้นที่ไว้ปรากฏว่าอังคารได้บอกกล่าวไปยังจันทร์ว่าอังคารได้เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการก่อสร้างบ้านไว้พร้อมที่จะเข้าทำการก่อสร้างภายในวันที่ 20 มกราคม 2559 แล้ว แต่จันทร์ปฏิเสธไม่ส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารจนล่วงพ้นกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญา ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ

อันจะอ้างกฎหมายไต้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ”

มาตรา 208 วรรคสอง “แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชำระหนี้ก็ดี หรือเพื่อที่จะชำระหนี้จำเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่า ได้เตรียมการที่จะชำระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าคำบอกกล่าวของลูกหนี้นั้นก็เสมอกับคำขอปฏิบัติการชำระหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ต้องกระทำการบางอย่างก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามมาตรา 208 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อจันทร์ว่าจ้างอังคารให้สร้างบ้านในที่ดินของจันทร์ แม้ในสัญญาจ้างจะมิได้ระบุถึงเรื่องส่งมอบพื้นที่ไว้ก็ตาม จันทร์ก็ต้องกระทำการส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของจันทร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ต้องกระทำเพื่อที่จะรับชำระหนี้การก่อสร้างจากอังคารซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา 208 วรรคสอง

และจากข้อเท็จจริง เมื่ออังคารลูกหนี้ได้บอกกล่าวไปยังจันทร์เจ้าหนี้แล้วว่า อังคารได้เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการก่อสร้างบ้านไว้พร้อมที่จะเข้าทำการก่อสร้างแล้ว แต่จันทร์เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคาร จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายไต้ จึงถือว่าจันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 ประกอบมาตรา 208 วรรคสอง

สรุป จันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

 

ข้อ 2. นายเก่งเป็นเจ้าของร้านขายส่งสินค้าในช่วงสงกรานต์ของทุกปีนายเก่งจะขายปืนฉีดน้ำแบบต่าง ๆแก่ลูกค้าขาประจำที่มาซื้อไปขายต่อ สร้างผลกำไรแก่นายเก่งไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000 บาท แต่สินค้ามีข้อจำกัดคือไม่สามารถเก็บไว้ขายในปีต่อไปได้เพราะวัตถุดิบเสื่อมคุณภาพในเวลาอันรวดเร็ว นายเก่งสั่งซื้อจากโรงงานผลิตปืนฉีดน้ำของนายขอบเพียงแห่งเดียวมาตั้งแต่ปี 2550 สำหรับในปีนี้นายเก่งได้สั่งซื้อไปยังโรงงานของนายขอบตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2558 จำนวน 1,000 กระบอกเช่นทุกปี มีข้อตกลงว่านายขอบจะต้องนำสินค้ามาส่งที่ร้านของนายเก่งในวันที่ 1 เมษายน 2558 เพื่อจะได้จัดเตรียมการส่งมอบแก่ลูกค้าของนายเก่งที่สั่งซื้อไว้ล่วงหน้ารวม 5 ราย รายละ 200 กระบอก

โดยนายเก่งนัดให้มารับสินค้าตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนถึงวันที่ 6 เมษายน แต่นายขอบผลิตสินค้าไม่ทันเพราะปีนี้มีคำสั่งซื้อมากกว่าปกติ นายขอบนำสินค้าทั้ง 1,000 กระบอกมาส่งมอบแก่นายเก่งในวันที่ 15 เมษายน 2558 นายเก่งไม่ยอมรับสินค้าทั้งหมดไว้ และเป็นเหตุให้นายเก่งไม่มีสินค้าส่งมอบแก่ลูกค้าทั้งห้ารายของตน นายเก่งต้องจ่ายค่าเสียหายให้ไปรายละ 5,000 บาท ต่อมานายเก่งมาปรึกษานักศึกษาซึ่งเป็นทนายความ ให้นักศึกษาให้คำปรึกษาแก่นายเก่งว่าจะสามารถเรียกร้องอะไรจากนายขอบได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการขำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 216 “ถ้าโดยเหตุผิดนัด การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับขำระหนี้และจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้”

มาตรา 222 “การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น

เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษหากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว”

มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายเก่งดังนี้ คือ

นิติสัมพันธ์ระหว่างนายเก่งกับนายขอบเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าปีนฉีดน้ำที่มีคุณสมบัติข้อจำกัดเฉพาะตัว 1,000 กระบอก ซึ่งนายขอบจะต้องชำระหนี้คือต้องนำสินค้าดังกล่าวมาส่งมอบให้แก่นายเก่งตามวันที่กำหนดในปฏิทินตามมาตรา 204 วรรคสอง คือ วันที่ 1 เมษายน 2558 เมื่อนายขอบนำสินค้ามาส่งมอบให้แก่นายเก่งในวันที่ 15 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นการส่งมอบเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกัน จึงถือว่านายขอบลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และเป็นการผิดนัดชำระหนี้โดยมิพักต้องเตือนก่อน และการที่นายขอบนำสินค้ามาส่งมอบให้แก่นายเก่งในวันที่ 15 เมษายน 2558 นั้น ทำให้การชำระหนี้เป็นอันไร้ประโยชน์แก่นายเก่ง ดังนั้น นายเก่งจึงมีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายขอบได้ตามมาตรา 216 และในกรณีที่ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกเป็นจำนวนเงินค่าเสียหาย นายเก่งย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินค่าเสียหายนั้นด้วยตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

สำหรับค่าเสียหายนั้น นายเก่งสามารถเรียกค่าขาดกำไรจากการขาย 50,000 บาท เนื่องจากนายเก่งซื้อสินค้าจากนายขอบซึ่งเป็นผู้ผลิตก็เพื่อนำมาขายต่อให้แก่ลูกค้าของนายเก่ง ซึ่งนายเก่งย่อมประสงค์จะได้กำไรจากการขายนั้นเป็นธรรมดา ดังนั้น เมื่อนายขอบไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้นายเก่งนำไปขายต่อได้ ค่าเสียหายจำนวนนี้จึงเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่นายขอบไม่ชำระหนี้ตามมาตรา 222 วรรคหนึ่ง

ส่วนค่าเสียหายที่นายเก่งต้องชดใช้แก่ลูกค้าทั้ง 5 รายของตนรวมเป็นเงิน 25,000 บาทนั้น แม้จะไม่ใช่ค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการไม่ชำระหนี้ แต่เนื่องจากนายขอบทราบจากการที่เคยค้าขายกับนายเก่งมาหลายปี โดยมีข้อตกลงกันว่านายขอบต้องนำสินค้ามาส่งในวันที่กำหนดเพื่อลูกค้าจะได้มารับไปขายต่อ พฤติการณ์แสดงว่านายขอบคาดเห็นได้อยู่แล้วว่าหากนายเก่งไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าของนายเก่งนำไปขายต่อได้ นายเก่งย่อมต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าของบายเก่ง ดังนั้น ค่าเสียหายจำนวนนี้จึงเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่นายขอบได้คาดเห็นล่วงหน้าก่อนแล้ว นายเก่งจึงสามารถเรียกร้องให้นายขอบรับผิดได้ตามมาตรา 222 วรรคสอง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยในต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการตกลงกันไว้เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยผิดนัด นายเก่งจึงสามารถเรียกได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

สรุป เมื่อนายเก่งมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายเก่งตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. วันทนีย์ขายบ้านหลังเก่าพร้อมที่ดินให้โฉมฉายในราคาห้าล้านห้าแสนบาท ผู้ซื้อขอให้โอนกรรมสิทธิ์และนำไปจำนองธนาคารประกันเงินกู้เพื่อนำมาชำระให้ผู้ขาย โดยชำระแล้วห้าล้านบาท ที่ค้างอยู่ห้าแสนบาท ขอทำสัญญากู้ไว้แทน และออกเช็คล่วงหน้าประกอบสัญญาไว้ห้าใบ ใบละหนึ่งแสนบาทเช็คถึงกำหนดเดือนละใบไม่มีดอกเบี้ยซึ่งผู้ขายยินยอมเมื่อเช็คถึงกำหนดเดือนที่ 1 – 2 ผู้ขายเบิกเงินจากธนาคารไม่ได้ วันทนีย์มาปรึกษาท่านจากข้อเท็จจริงดังกล่าวตนอาจจะบังคับหรือรักษาสิทธิ์ได้อย่างไรบ้าง ให้แนะนำโดยยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 229 “การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพระเขามีบุริมสิทธิหรือมีสิทธิจำนำจำนอง”

มาตรา 349 วรรคหนึ่ง “เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่วันทนีย์ว่า วันทนีย์อาจจะบังคับหรือรักษาสิทธิของตนได้ดังนี้คือ

ประการแรก วันทนีย์อาจจะรักษาสิทธิของตนโดยการรับช่วงสิทธิตามมาตรา 226 วรรคหนึ่งในฐานะเจ้าหนี้สามัญ โดยการเข้าชำระหนี้ให้กับธนาคารผู้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนตนเพราะมีบุริมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง และเมื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนองแล้ว วันทนีย์ก็เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิผู้รับจำนองแทนธนาคารตามมาตรา 229 (1)

ประการที่ 2 การที่โฉมฉายเป็นหนี้ค่าซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินกับวันทนีย์เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท แล้วโฉมฉายขอทำสัญญากู้ไว้แทนและออกเช็คล่วงหน้าประกอบสัญญากู้ไว้ 5 ใบ ใบละ 100,000 บาทนั้น

ถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของหนี้ คือการเปลี่ยนมูลหนี้จากหนี้ตามสัญญาซื้อขายเป็นหนี้ตามสัญญากู้ ส่งผลให้หนี้ตามสัญญาซื้อขายจำนวน 500,000 บาทระงับไป และเกิดความผูกพันตามหนี้ใหม่คือหนี้ตามสัญญากู้จำนวน 500,000 บาท (ตามนัยมาตรา 349 วรรคหนึ่ง)

ดังนั้น เมื่อเช็คจำนวน 2 ใบ เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ที่ออกประกอบสัญญากู้เบิกเงินกับธนาคารไม่ได้ วันทนีย์ย่อมสามารถดำเนินการบังคับหรือรักษาสิทธิของตนได้ โดยการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการเรื่องเช็คได้

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่วันทนีย์ในการที่จะบังคับหรือรักษาสิทธิของตนตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4. นายกอล์ฟและนายกัสเป็นลูกหนี้ร่วมในเงินค้าสินค้าเชื่อนางสาวแนทตี้จำนวน 500,000 บาทต่อมาเมื่อหนี้รายดังกล่าวถึงกำหนดชำระ นายกอล์ฟและนายกัสยังหาเงินสดมาชำระหนี้ให้แก่นางสาวแนทตี้ไม่ได้ นายกอล์ฟแต่เพียงผู้เดียวจึงได้อาสาไปเจรจากับนางสาวแนทตี้ขอลดจำนวนยอดหนี้ลงและขอทำสัญญากู้เงินมอบให้นางสาวแนทตี้เก็บไว้แทนเป็นเงินจำนวน 300,000 บาทเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งนางสาวแนทตี้ได้ตกลงตามข้อเสนอของนายกอล์ฟ เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระนายกอล์ฟได้นำเงินจำนวน 300,000 บาท ไปชำระให้แก่นางสาวแนทตี้ตามสัญญาดังนี้ให้วินิจฉัยว่า

(ก) นางสาวแนทตี้จะเรียกให้นายกัสลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งชำระหนี้ค่าสินค้าเชื่อที่ยังขาดอยู่อีกจำนวน 200,000 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) เมื่อนายกอล์ฟชำระหนี้เงินกู้จำนวน 300,000 บาท ให้แก่นางสาวแนทตี้แล้วจะสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยจากนายกัสได้หรือไม่ เพียงใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 229 ‘‘การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น”

มาตรา 292 วรรคหนึ่ง “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย”

มาตรา 296 “ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร ลูกหนี้คนอื่น ๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป”

มาตรา 349 วรรคหนึ่ง “เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายกอล์ฟลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งแต่เพียงผู้เดียวได้อาสาไปเจรจากับนางสาวแนทตี้ขอลดยอดหนี้ค่าสินค้าเชื่อจำนวน 500,000 บาทลง และขอทำสัญญากู้เงินมอบให้นางสาวแนทตี้เก็บไว้แทนเป็นจำนวนเงิน

300.000 บาท ซึ่งนางสาวแนทตี้ได้ตกลงตามข้อเสนอของนายกอล์ฟนั้น ถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของหนี้ ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนมูลหนี้จากหนี้ตามสัญญาซื้อสินค้าเชื่อเป็นหนี้ตามสัญญากู้ ส่งผลให้หนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อจำนวน 500,000 บาทระงับไป และเกิดความผูกพันตามหนี้ใหม่คือ

หนี้ตามสัญญากู้จำนวน 300,000 บาท (ตามนัยมาตรา 349 วรรคหนึ่ง) และการกระทำของนายกอล์ฟนั้นถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนการชำระหนี้ตามนัยของมาตรา 292 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การกระทำของนายกอล์ฟจึงเป็นประโยชน์แก่นายกัสลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งด้วย กล่าวคือ ทำให้นายกัสหลุดพ้นจากการชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อจำนวน 500,000 บาทไปด้วย เนื่องจากหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อได้ระงับไปแล้วด้วยการแปลงหนี้ใหม่นั่นเอง

ดังนั้น เมื่อนายกอล์ฟได้นำเงินจำนวน 300,000 บาท ไปชำระไห้แก่นางสาวแนทตี้ตามสัญญาเงินกู้ ทำให้หนี้ดังกล่าวระงับสิ้นไป นางสาวแนทตี้จะเรียกไห้นายกัสลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อที่ยังขาดอยู่อีกจำนวน 200,000 บาทไม่ได้ ตามมาตรา 349 ประกอบมาตรา 292 วรรคหนึ่ง

(ข) เมื่อนายกอล์ฟชำระหนี้เงินกู้จำนวน 300,000 บาท ให้แก่นางสาวแนทตี้ตามสัญญาแปลงหนี้ใหม่ (สัญญากู้) แล้ว เมื่อถือว่าการแปลงหนี้ใหม่คือการกระทำแทนการชำระหนี้และถือว่ามีผลเช่นเดียวกันกับการชำระหนี้

ดังนั้น นายกอล์ฟลูกหนี้ร่วมผู้ชำระหนี้ตามสัญญาแปลงหนี้ใหม่ ย่อมสามารถรับช่วงสิทธิของนางสาวแนทตี้เจ้าหนี้ตามมาตรา 229 (3) ในอันที่จะไล่เบี้ยเอาจากนายกัสลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งได้เป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท ตามนัยมาตรา 296 ซึ่งได้วางหลักในเรื่องของส่วนแบ่งความรับผิดของลูกหนี้ร่วมไว้ว่า ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นลูกหนี้ร่วมต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน

สรุป

(ก) นางสาวแนทตี้จะเรียกให้นายกัสลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งชำระหนี้ค่าสินค้าเชื่อที่ยังขาดอยู่อีกจำนวน 200,000 บาท ไม่ได้

(ข) เมื่อนายกอล์ฟชำระหนี้เงินกู้จำนวน 300,000 บาท ให้แก่นางสาวแนทตี้แล้ว นายกอล์ฟสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยจากนายกัสได้เป็นจำนวน 150,000 บาท

 

Advertisement