การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. จันทร์เป็นลูกหนี้อังคารเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินกู้ยืมสามแสนบาทกำหนดชำระคืนในวันที่20มกราคม2558 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ จันทร์ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่อังคาร จำนวนสามแสนบาทโดยขอชำระด้วยเช็ค ดังนี้อังคารจะปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด การปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ของอังคาร จะทำให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 วรรคแรก “การชำระหนี้จะให้สำเร็จเป็นผลอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”

มาตรา 320 “อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่ ”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 207 กรณีที่จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น จะต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ

  1. ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว และ
  2. เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เป็นหนี้เงินกู้ยืมอังคารจำนวน 300,000 บาท และเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ จันทร์ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่อังคารจำนวน 300,000 บาท โดยขอชำระด้วยเช็คนั้น ถือว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นผิดไปจากที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยมิชอบตามมาตรา 208 วรรคแรก เจ้าหนี้จึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ได้ และลูกหนี้จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้ไม่ได้ตามมาตรา 320

ดังนั้น เมื่อจันทร์ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยมิชอบ และอังคารเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่รับชำระหนี้โดยมีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ตามมาตรา 208 วรรคแรก และมาตรา 320 การปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ของอังคาร จึงไม่ทำให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207

สรุป การปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ของอังคาร ไม่ทำให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด

 

 

ข้อ 2. นายเอกเช่าชุดกอล์ฟจากนายชา 1 เดือน เมื่อครบกำหนดส่งคืนในวันที่ 20 สิงหาคม 2558 นายเอกไม่ส่งมอบชุดกอล์ฟคืนนายชา วันที่ 20 กันยายน 2558 นายเอกทำชุดกอล์ฟดังกล่าวหาย วันที่ 20 ตุลาคม 2558 นายชายื่นฟ้องนายเอกต่อศาลมีคำขอท้ายฟ้องว่า ขอให้บังคับนายเอกคืนชุดกอล์ฟหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 20,000 บาทแทน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21สิงหาคม 2558 ถ้านักศึกษาเป็นศาลจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงนี้ว่าอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 198 “ถ้าการอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง แต่จะต้องกระทำเพียงการใดการหนึ่งแต่อย่างเดียวไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกทำการอย่างใดนั้นตกอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ”

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขตเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการขำระหนี้ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 217 “ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างเวลาที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้น ถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนดก็คงจะต้องเกิดมีอยู่นั่นเอง”

มาตรา 224 วรรคแรก “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น”

มาตรา 225 “ถ้าลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาวัตถุอันได้เสื่อมเสียไประหว่างผิดนัดก็ดี หรือวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัดก็ดีท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่จะต้องใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนคิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์และคำขอท้ายฟ้องของนายชาที่ขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนชุดกอล์ฟหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 20,000 บาทแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2558 นั้นเป็นกรณีที่ให้นายเอกต้องส่งมอบชุดกอล์ฟคืนก่อน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนพร้อมดอกเบี้ย จึงไม่ใช่เรื่องการกระทำเพื่อชำระหนี้ที่มีหลายอย่างแต่ต้องกระทำเพียงอย่างเดียว ซึ่งลูกหนี้มีสิทธิที่จะเลือกตามมาตรา 198 แต่ข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่นายเอกไม่ชำระหนี้คือไม่ส่งมอบชุดกอล์ฟคืนตามกำหนด จึงถือว่านายเอกลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลยตามมาตรา 204 วรรคสอง และการที่นายเอกได้ทำชุดกอล์ฟหายไปทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยในระหว่างที่นายเอกผิดนัด ดังนั้น นายเอกจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตามมาตรา 217

ส่วนกรณีการใช้ราคาแทนพร้อมดอกเบี้ยนั้น เนื่องจากวัตถุแห่งหนี้แต่เริ่มแรกเป็นทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่เงิน แต่เป็นหนี้เงินที่เกิดขึ้นภายหลังเนื่องจากการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยในระหว่างที่ลูกหนี้ผิดนัด ดังนั้นการใช้ราคาแทนในกรณีนี้จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อวัตถุที่ไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นในระหว่างผิดนัดตามมาตรา 225 นายชาจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินราคาชุดกอล์ฟได้โดยคิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคา ซึ่งมิใช่วันที่ 21 สิงหาคม 2558 อันเป็นวันเริ่มต้นการผิดนัดส่งมอบชุดกอล์ฟตามมาตรา 204 วรรคสอง แต่เป็นวันที่ 20 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่ชุดกอล์ฟหายไป และสามารถคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามมาตรา 224 วรรคแรก

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะวินิจฉัยให้นายเอกคืนชุดกอล์ฟ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 20,000 บาทแทนพร้อมตอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จ

 

 

ข้อ 3. นายดอกไม้ได้หลงรักนางชมพู จึงได้ยกรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงชิ้นเดียวให้กับนางชมพู หลังจากนั้นอีก 1 เดือนต่อมา แม่ฃองนายดอกไม้ล้มป่วยลงอย่างกะทันหัน นายดอกไม้จึงไปกู้ยืมเงินนางส้มจำนวน100,000 บาท ซึ่งนายดอกไม้ก็ทราบดีว่าตนไม่มีเงินและทรัพย์สินอื่นใดที่จะลามารถชำระหนี้ให้กับนางส้มได้ ต่อมานางล้มได้ทราบเรื่องที่นายดอกไม้ได้ยกรถยนต์ให้กับนางชมพู นางส้มจึงมาปรึกษาท่านว่านางส้มจะสามารถฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคแรก “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึง่เป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วยแต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล ซึ่งเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ตามมาตรา 237 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กล่าวคือ เป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำหลังจากที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้แล้ว และเป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อลูกหนี้ได้ทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

ตามอุทาหรณ์ การที่นายดอกไม้ได้ยกรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวของตนให้กับนางชมพูนั้น เป็นนิติกรรมที่นายดอกไม้ได้กระทำก่อนที่จะก่อหนี้กับนางส้ม คือก่อนที่จะไปกู้ยืมเงินจากนางส้มจำนวน 100,000 บาท ดังนั้น แม้นายดอกไม้จะทราบดีว่าตนไม่มีเงินและทรัพย์สินอื่นใดที่จะชำระหนี้ให้กันนางส้มได้ก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นนิติกรรมที่นายดอกไม้ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามมาตรา 237 วรรคแรก เพราะในขณะนั้นยังไม่มีเจ้าหนี้ ดังนั้น นิติกรรมดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล นางส้มจึงไม่สามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

สรุป นางส้มจะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ดังกล่าวไม่ได้ เพราะไม่ใช่นิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล

 

 

ข้อ 4. นายแสบและนายเปรี้ยวร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายรวยไปจำนวน 2,000,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2547 โดยมิได้กำหนดระยะเวลาชำระคืนไว้ ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2548 นายรวยทวงถามให้นายแสบและนายเปรี้ยวชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว ปรากฏว่านายแสบแต่เพียงผู้เดียวได้นำเงินไปชำระให้แก่นายรวยจำนวน 1,000,000 บาทในวันที่ 14มีนาคม 2549 หลังจากนั้นทั้งนายแสบและนายเปรี้ยวไม่ชำระเงินให้นายรวยอีก จนกระทั่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 นายรวยจึงยื่นฟ้องให้นายแสบและนายเปรี้ยวร่วมกันชำระเงินกู้ยืมที่ยังคงค้างอยู่อีกจำนวน 1,000,000 บาท

นายแสบให้การต่อสู้ว่าคดีที่นายรวยฟ้องขาดอายุความแล้ว อีกทั้งตนได้ชำระหนี้ส่วนของตนจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่นายรวยแล้ว นายรวยไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นายแสบชำระหนี้ได้อีก ส่วนนายเปรี้ยวให้การต่อสู้ประเด็นเดียวว่า คดีที่นายรวยฟ้องขาดอายุความแล้ว ด้งนี้ให้วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายแสบและนายเปรี้ยวฟ้งขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ยให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี”

มาตรา 203 วรรคนรก “ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน”

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเซิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง”

มาตรา 295 “ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้แห่งนั้นเอง

ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกับไปกับหนี้สิน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแสบและนายเปรี้ยวได้ร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายรวยไปจำนวน 2,000,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราดม 2547 โดยมิได้กำหนดระยะเวลาชำระคืนไว้นั้น นายรวยผู้ให้กู้ยืมย่อมมิสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามมาตรา 203 วรรคแรก อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันกู้ยืมตามมาตรา 193/12 และเมื่อการกู้ยืมเงินนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามมาตรา 193/30 และจะครบอายุความ 10 ปีในวันที่ 10 มกราคม 2557

การที่นายแสบแต่เพียงผู้เดียวได้นำเงินไปชำระให้แก่นายรวยจำนวน 1,000,000 บาท ในวันที่14 มีนาคม 2549 นั้น ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 และระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคแรก และให้นับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามมาตรา 193/15 วรรคสอง

กรณีนี้อายุความจึงขยายออกไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2559 ดังนั้นการที่นายรวยได้ยื่นฟ้องให้นายแสบและนายเปรี้ยวให้ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ยังคงค้างอยู่อีกจำนวน 1,000,000 บาท ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 นั้น ข้อต่อสู้ของนายแสบที่ว่าคดีที่นายรวยฟ้องตนนั้นขาดอายุความแล้วจึงฟังไม่ขึ้น และนอกจากนั้นการที่นายแสบได้ต่อสู้ว่าได้ชำระหนี้ส่วนของตนจำนวน 1,000,000 บาทให้แก่นายรวยแล้ว นายรวยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นายแสบชำระหนี้ได้อีกก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เนื่องจากโดยผลของการเป็นลูกหนี้ร่วมนั้น ลูกหนี้ร่วมทุกคนยังคงต้องผูกพันร่วมกันรับผิดต่อเจ้าหนี้จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง (ครบจำนวน 2,000,000 บาท) ตามมาตรา 291

ส่วนกรณีของนายเปรี้ยวนั้น การที่อายุความสะดุดหยุดลงนั้นมีผลเป็นคุณเป็นโทษเฉพาะตัวนายแสบเท่านั้น ไม่ส่งผลไปถึงนายเปรี้ยวลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งแต่อย่างใดตามมาตรา 295 ดังนั้น การที่นายรวยยื่นฟ้องนายเปรี้ยวให้ร่วมชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ยังคงค้างอยู่อีกจำนวน 1,000,000บาท ในวันที่ 15พฤษภาคม 2558จึงล่วงเลยกำหนดอายุความ 10 ปีแล้ว ข้อต่อสู้ของนายเปรี้ยวในประเด็นที่ว่า คดีที่นายรวยฟ้องขาดอายุความแล้วจึงฟังขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของนายแสบทั้งสองประการฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อต่อสู้ของนายเปรี้ยวฟังขึ้น

Advertisement