การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1004 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป
คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)
1. ระบบกฎหมายใดที่คำพิพากษาของศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย และศาลจะไม่บังคับใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือเคลือบแคลงสงสัย
(1) ระบบคอมมอน ลอว์ (Commom Law)
(2) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law)
(3) ระบบประมวลกฎหมาย (Code Law)
(4) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Written Law)
ตอบ 1 หน้า 22,25 ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ หรือระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายที่เกิดจากจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาล กล่าวคือ เมื่อมีคดีใดเกิดขั้น และศาลได้พิพากษาคดีนั้นไปแล้ว คำพิพากษาของศาลย่อมถือเป็นบรรทัดฐานในการใช้วินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้นอย่างเดียวกันได้ในภายหลังอีก แต่ทั้งนี้คงมีบางเรื่องที่ได้มีการบัญญัติกฎหมายเอาไว้ ซึ่งถ้ากฎหมายนั้นบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ศาลก็ต้องนำมาบังคับใช้แก่คดี แต่ถ้ากฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้นมีถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน หรือเคลือบแคลงสงสัย ศาลจะไม่นำมาบังคับใช้
2. กฎหมายโรมันเป็นรากฐานของระบบกฎหมายใด
(1) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี
(2) ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
(3) ระบบคอนมอน ลอว์ (Common Law)
(4) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law)
ตอบ 4 หน้า 21-22, (คำบรรยาย) ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายโรมัน เนื่องมาจากในสมัยพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม (สมัยโรมัน) ได้ทรงรวบรวมเอากฎหมายประเพณีซึ่งบันทึกไว้ในกฎหมายสิบสองโต๊ะและหลักกฎหมายของนักนิติศาสตร์ นำมาบันทึกไว้ในประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน ซึ่งถือเป็นรากฐานในการจัดทำประมวลกฎหมายของกฎหมายระบบซีวิล วอล์
3. นักกฎหมายชาวต่างประเทศชาติใดมีบทบาทในการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย
(1) ประเทศฝรั่งเศส
(2) ประเทศเยอรมัน
(3) ประเทศอิตาลี
(4) ประเทศญี่ปุ่น
ตอบ 1 หน้า 23-24 ประเทศไทยรับหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติของอังกฤษเข้ามาใช้บังคับในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปลายรัชกาลที่ 6จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบของกฎหมายไทย โดยรัฐได้ตัดสินใจทำประมวลกฎหมายขึ้นคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพที่ 1 และบรรพที่ 2 ซึ่งร่างโดยที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสและได้ประกาศใช้เป็นเวลา 2 ปี จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนจากการใช้ประมวลกฎหมายตามอย่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาใช้ประมวลกฎหมายแบบเยอรมัน
4. ระบบกฎหมายใดศาลปฏิเสธที่จะไม่นำจารีตประเพณีท้องถิ่นมาใช้ในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย
(1) ระบบคอมมอน ลอว์ (Common Law)
(2) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law)
(3) ระบบประมวลกฎหมาย (Code Law)
(4) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Written Law)
ตอบ 1 หน้า 25,93-94 การที่ศาลนำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายนั้นเป็นวิธีอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศไทย และเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายซีวิล ลอว์ ส่วนในกฎหมายระบบคอมมอน ลอว์นั้น ศาลจะไม่นำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย เนื่องจากระบบนี้ไม่นำหลักการเทียบเคียงกฎหมายหรือนำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่จะตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด
5. วิวัฒนาการของกฎหมายยุคใดที่ศีลธรรมและจารีตประเพณีไม่ได้แยกกันเด็ดขาด หากแต่กฎหมายศีลธรรม และจารีตประเพณีเป็นเรื่องเดียวกัน
(1) ยุดกฎหมายประเพณี
(2) ยุคกฎหมายชาวบ้าน
(3) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย
(4) ยุคกฎหมายเทคนิค
ตอบ 2 หน้า 8 ยุคกฎหมายชาวบ้าน เป็นยุคที่กฎหมายมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติที่ออกมาในรูปของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่มีอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากศีลธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของมนุษย์ว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วจะรู้สึกว่าเป็นความผิด ดังนั้นในยุคนี้มนุษย์จึงยังไม่สามารถแยกได้ว่าศีลธรรม ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี และกฎหมายแตกต่างกันอย่างไร กล่าวคือ กฎหมาย ศีลธรรม และจารีตประเพณี ยังคงเป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง
6. ข้อใดไม่ใช่การมีส่วนร่วมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
(1) การทำประชามติขับไล่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล
(2) การเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติตำบล
(3) การเข้าชื่อถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
(4) การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
ตอบ 1 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 286 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้, มาตรา 285 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง, มาตรา165 การทำประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้และมาตรา 72 บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
7. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ
(1) ใช้กำหนดงบประมาณของแผ่นดินเท่านั้น
(2) เป็นกฎหมายนิติบัญญัติโดยแท้
(3) มีผลบังคับใช้เมื่อผ่านความเห็นของรัฐสภา
(4) มีเนื้อหาใดก็ได้
ตอบ 2 หน้า 28-32 พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยผ่านนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายนิติบัญญัติโดยแท้ โดยผู้ที่มีอำนาจตรา คือ พระมหากษัตริย์ และมีนายกรัฐมาตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและมีผลใช้บังคับเมื่อประกาศให้ประชาชนทราบแล้วในราชกิจจานุเบกษา
8. ผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการในพระราชบัญญัติ ได้แก่
(1) นายกรัฐมนตรี
(2) ประธานรัฐสภา
(3) ประธานองคมนตรี
(4) ประธานวุฒิสภา
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 7 ประกอบ
9. เรื่องใดต้องตราเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
(1) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ
(2) ศาลรัฐธรรมนูญ
(3) การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย
(4) การเสนอขอประชามติ
ตอบ 4 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 138 บัญญัติว่า “ให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้ …(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” และมาตรา 165 วรรคแรกและวรรคท้ายบัญญัติว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ… หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ…” (สำหรับข้อ (1) (2) และ (3) นั้น มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรงแล้ว)
10. กฎหมายใดแม้พระมหากษัตริย์จะทรงลงประปรมาภิไธยแล้วแต่รัฐสภาอาจไม่อนุมัติให้ใช้มีผลบังคับต่อไปได้
(1) พระราชบัญญัติ
(2) พระราชกำหนด
(3) พระราชกฤษฎีกา
(4) พระบรมราชโองการ
ตอบ 2 หน้า 32-33,76 พระราชกำหนด คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี จึงถือเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยฝ่ายบริหาร โดยผู้เสนอร่างคือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนั้น ซึ่งการตราพระราชกำหนดนั้น จะต้องมีเงื่อนไขในการตรา กล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจึงต้องนำขึ้นทูบเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงปรมาภิไธย และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายชั่วคราวก่อน จนกว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจึงจะทำให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเสมือนเป็นพระราชบัญญัติต่อไป แต่ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติให้พระราชกำหนดนั้นตกไปแต่ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น